อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง

อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง และอำเภอวิภาวดี เป็นอุทยานที่มีสภาพป่าเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีสถานที่น่ารื่นรมย์สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เช่น น้ำตก ลำน้ำ บ่อน้ำร้อน ภูเขา ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร มีเนื้อที่ประมาณ 338,125 ไร่ หรือ 541 ตารางกิโลเมตร แก่งกรุงเป็นชื่อแก่งขนาดใหญ่ในลำน้ำคลองยัน ในอดีตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการสำรวจเพื่อก่อสร้างเขื่อนอเนกประสงค์ ปัจจุบันได้ชะลอโครงการดังกล่าวไว้

อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
ตำแหน่งที่ตั้งในประเทศไทย
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
แผนที่แสดงที่ตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง
อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง (ประเทศไทย)
ที่ตั้งอำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอท่าชนะ และอำเภอวิภาวดี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
พิกัด9°18′0″N 98°52′0″E / 9.30000°N 98.86667°E / 9.30000; 98.86667
พื้นที่541 ตารางกิโลเมตร (338,000 ไร่)
จัดตั้ง5 ธันวาคม พ.ศ. 2534
ผู้เยี่ยมชม909 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ประวัติ แก้

จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มีโครงการสร้างเขื่อนแก่งกรุง บริเวณที่ดินป่าท่าชนะ อันจะก่อให้เกิดปัญหาบุกรุกพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ และกรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 1169/2532 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ให้ นายเดชาวุธ เศรษฐพรรค์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ไปสำรวจพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้น บริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำแก่งกรุง และพื้นที่ป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติท่าชนะ และป่าเตรียมการสงวนคลองสก-คลองแสง-คลองยัน ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าว เป็นป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์มากประกอบด้วยพันธุ์ไม้มีค่าหลายชนิดอย่างหนาแน่น มีสัตว์ป่าชุกชุม และนกนานาชนิด นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามและสำคัญยิ่ง คือ ป่าส่วนนี้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดชุมพร ต่อมากรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 892/2532 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2532 ให้ นายเดชาวุธ เศรษฐพรรค์ ไปดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และจัดตั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าท่าชนะ และป่าเตรียมการสงวนคลองสก-คลองแสง-คลองยัน ท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติได้รับรายงานจาก นายเดชาวุธ เศรษฐพรรค์ ตามหนังสือ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2532 เห็นสมควรใช้ชื่ออุทยานแห่งนี้ว่า "อุทยานแห่งชาติคลองยัน" เนื่องจากเป็นคลองสำคัญและเป็นจุดเด่นในพื้นที่ แต่กองอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวรัฐบาลมีโครงการสร้างเขื่อนแก่งกรุง ประกอบกับชื่อแก่งกรุง เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย จึงเห็นสมควรใช้ชื่ออุทยานแห่งนี้ว่า "อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง"

กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2533 เห็นสมควรให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าท่าชนะ ในท้องที่ตำบลคันธุลี ตำบลคลองพา ตำบลสมอทอง ตำบลประสงค์ อำเภอท่าชนะ ตำบลปากหมาก อำเภอไชยา ตำบลปากฉลุย และตำบลตะกุกเหนือ อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 108 ตอนที่ 211 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 69 ของประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศ แก้

ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนสองแนวเหนือ-ใต้ ประกอบด้วย เขาไฝ เขาแดน เขายายหม่อน มียอดเขาสูงสุดประมาณ 849 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่มีลักษณะเป็นเขาดิน แร่ที่สำคัญที่มีอยู่บริเวณนี้คือ แร่ดีบุก เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญคือ ลำน้ำคลองยัน ต้นแม่น้ำตาปีทางทิศใต้ และลำน้ำคลองสระ ต้นแม่น้ำหลังสวนด้านทิศเหนือ ซึ่งประกอบด้วยคลองและลำห้วยเล็ก ๆ มากมาย ได้แก่ คลองสระ คลองชง ห้วยลาชี ห้วยหินโล่ ห้วยเขาแดน ห้วยปลาย ห้วยป่าหมาก และคลองยัน

ลักษณะภูมิอากาศ แก้

สภาพโดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น จึงทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปีและมีอากาศค่อนข้างเย็น

ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า แก้

เนื่องจากอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนมีปริมาณฝนตกชุก ทำให้คลุมไปด้วยป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบมากมายทั้งประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจและน่าศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม้พุ่มพืชพื้นล่างชนิดต่างๆ เถาวัลย์ หวาย และปาล์มขึ้นปะปนกันอย่างหนาแน่น

พันธุ์ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่พบมาก ได้แก่ หลุมพอ จำปา และยางชนิดต่างๆ พืชพื้นล่างพวก เฟิร์น มีขึ้นทั่วไป รวมทั้ง กระโถนพระฤๅษี เถาวัลย์ชนิดต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ทำให้สภาพป่าแน่นทึบมาก

สัตว์ป่าที่อาศัยในอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ได้แก่ ช้างป่า เสือโคร่ง หมี กระทิง วัวแดง ชะนี ลิง ค่าง เก้ง กวางป่า หมูป่า ลิงเสน ค่างดำ นกปรอด นกชนหิน นกแซงแซวปากกา นกเขียวคราม และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน

อ้างอิง แก้