กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทศีขรภูมิ

กลุ่มปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทที่รวมกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน มาเป็นอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือน และกำลังพิจารณาปราสาทกลุ่มราชมรรคาเป็นมรดกโลก

คำอธิบาย แก้

กลุ่มปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนาสามัคคี ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ตามรายทางสู่เมืองพระนครของขอม ในอดีตยังไม่มีความรับรู้ในเรื่องพรมแดนต่างประเทศ มีแต่เพียงแนวทิศเขาดงเร็ก เป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นผู้คนสองดินแดนไว้ คนโบราณมีการ ใช้เส้นทางผ่าช่องเขาที่มีอยู่ตลอดแนว ในบางช่องเขามีการสร้างปราสาทหินขนาดเล็ก เช่น ช่องสายตะกูมีปราสาทบายแบก แต่สำหรับที่ช่องตาเมือนหรือตาเมียงนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีปราสาทหินสามหลังอยู่ใกล้ๆกัน เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก เรียกว่ากลุ่มปราสาทตาเมือน โดยปราสาทแต่ละหลังมีขนาดและประโยชน์ที่ใช้สอยแตกต่างกันไป

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม อยู่ใกล้ดินแดนเขมรมากที่สุด ปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คงจะรับกับเส้นทางที่มาจากเขมรต่ำผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้ ปราสาทตาเมือนธม ซึ่งแปลตรงกับภาษาเขมรว่า ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน บรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือมีสระน้ำขนาดเล็กสองสระ

เนื่องจากปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดน การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก

ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ประมาณ 750 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ โดยเชื่อว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล รักษาพยาบาลของชุมชนหรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทตาเมือน (บายกรีม) อย่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา คือที่พักสำหรับคนเดินทาง

ปราสาทตาเมือนธม แก้

 
ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่ม (ธม เป็นภาษาเขมร แปลว่า ใหญ่) ตัวปราสาทอยู่บนเนินเขาสร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสยัมภูศิวลึงค์ และเป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม

ตัวปราสาทตาเมือนธม หันหน้าไปทางทิศใต้ ผิดแผกจากแห่งอื่นซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก รับกับเส้นทางที่มาจากเขมรต่ำผ่านมาทางช่องทางตาเมือนนี้

ปราสาทตาเมือนธมประกอบด้วยปราสาทประธาน มีอาคารอื่น คือปรางค์ก่อด้วยหินทรายสองหลัง อยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทประธาน มีบรรณาลัยศิลาแลงสองหลัง และนอกระเบียงคดทางทิศเหนือ มีสระน้ำขนาดเล็กสองสระ

ปราสาทแห่งนี้อยู่ใกล้เขตชายแดนไทย–กัมพูชามากที่สุด การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาทเพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัยนัก

ปราสาทตาเมือนโต๊ด แก้

 
ปราสาทตาเมือนโต๊ด

ปราสาทตาเมือนโต๊ด ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) เทือกเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทหลังหนึ่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน

ปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ห่างจากปราสาทตาเมือนธม ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 750 เมตร และอยู่ห่างจากปราสาทตาเมือน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 390 เมตร ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงล้อมรอบและมีสระน้ำขนาดเล็กอยู่ทางทิศเหนือหนึ่งสระ เชื่อกันว่าปราสาทแห่งนี้เป็นอโรคยาศาล หรือ สถานรักษาพยาบาลของชุมชน หรือตามรายทางที่เป็นเส้นทางคมนาคม ซึ่งนิยมสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทตาเมือน แก้

 
ปราสาทตาเมือน

ปราสาทตาเมือน หรือ ปราสาทบายกรีม ตั้งอยู่ในช่องเขาตาเมือน (หรือช่องเขาตาเมียง) ทิวเขาพนมดงรัก ในเขตบ้านหนองคันนาสามัคคี หมู่ 8 ตำบลบ้านตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน ซึ่งประกอบด้วยปราสาทหินสามหลัง เรียงลำดับจากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็ก คือ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือน

ปราสาทตาเมือน อย่ห่างจากปราสาทตาเมือนโต๊ด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 390 เมตร เป็นปราสาทที่เล็กที่สุด ก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นห้องยาว เชื่อว่าเป็นธรรมศาลา หรือที่พักสำหรับคนเดินทาง

กลุ่มปราสาทตาเมือนนี้นับได้ว่าเป็นกลุ่มปราสาทที่มีความสมบูรณ์ในด้านของการอำนวยประโยชน์ แก่ผู้คนที่ใช้เส้นทางผ่านช่องเขา ซึ่งไม่ปรากฏในถิ่นอื่น การที่มีกลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในบริเวณนี้เป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่า ในอดีตเส้นทางช่องเขาตาเมือนนี้คงจะมีชุมชนหรือเป็นเส้นทางผ่านช่องเขาสำคัญของภูมิภาค

ปราสาทศีขรภูมิ แก้

 
ทับหลังปรางค์ประธานปราสาทศีขรภูมิ
 
ปรางค์ประธานและหน้าบันปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง เป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดของอุทยาน ตั้งอยู่ข้างวัดบ้านปราสาท บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ปราสาทหลังนี้เป็นปราสาทที่งดงามที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และพระธิดาทั้ง 3 (มี หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นต้น) ได้เดินทางมาเยือนเมื่อ มกราคม - กุมภาพันธ์ 2472 (นับอย่างใหม่ต้องปี พ.ศ. 2473) และได้ถูกรวมเข้ากันกับอุทยานประวัติศาสตร์กลุ่มปราสาทตาเมือนและปราสาทศีขรภูมิ

ประวัติ แก้

จากลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย และในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง และยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้

ปี พ.ศ. 2531 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำ พระอาจารย์ของนักเรียนนายร้อย จปร. ได้มาศึกษาที่โบราณสถานแห่งนี้ และก็ได้มีการบูรณะปราสาทศีขรภูมิ ให้ดูงามเด่นเป็นสง่าน่าภาคภูมิใจแก่แขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนเมืองปราสาทหินโบราณแห่งนี้

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม แก้

ปราสาทศีขรภูมิ มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศอลาแลงกว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร โดยมีคูน้ำกว้าง 125 เมตร ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกอันเป็นทางเข้าไว้

ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมาโดยทับหลังชิ้นนับเป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสราถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ปราสาทตาควาย แก้

ปราสาทตาควาย (ปราสาทตาวาย) หรือ ปราสาทกรอเบย (เขมร: ប្រាសាទ​តា​ក្របី​ บฺราสาท​ตา​กฺรบี​) ตั้งอยู่บริเวณช่องตาควาย ในเขตบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ 17 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทหินศิลาแลง ตั้งทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือนธม ห่างไปประมาณ 12 กิโลเมตร

ปราสาทตาควายตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงรัก เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังของปราสาทเป็นรูปกากบาท ส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน จรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องมีประติมากรรม ลักษณะคล้ายสวายยัมภูวลึงค์ 1 ชิ้น

นักโบราณคดีกำหนดอายุจากรูปทรงของตัวปราสาท ว่าปราสาทนี้น่าจะสร้างในช่วงปลายสมัยนครวัด ต่อตอนต้นสมัยบายน ระหว่างรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 [1]

ปราสาทตาวายตั้งอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างห่างไกล ต้องเดินเท้าเป็นระยะ 3-4 กิโลเมตร

การเข้าชม แก้

เนื่องจากกลุ่มปราสาทนี้ตั้งอยู่ในเขตชายแดนประเทศไทย และเคยเป็นเขตอันตราย เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางเข้าชม ควรติดต่อหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนที่ตั้งด่านอยู่ที่หมู่บ้าน

การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางอำเภอปราสาทตามทางหลวงหมายเลข 214 จนมาถึงทางแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 24 ให้เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 24 จนถึงสามแยกบริเวณนิคมปราสาท ให้เลี้ยวซ้าย ไปตามป้ายบอกทางไปอำเภอพนมดงรัก ตามทางหลวงหมายเลข 2397 จนมาถึงแยกบริเวณ อบต. แนงมุด ให้เลี้ยวขวา ไปตามทางหลวงหมายเลข 224 จนพบป้ายบอกทางไปกลุ่มปราสาทตาเมือน ให้เลยป้ายไปอีกเล็กน้อยจนถึงแยกบ้านตาเมียง จะพบทางที่มีป้ายบอกไป ฉก. ตชด. 16 เลี้ยวไปตามถนนเส้นนี้ (2407) ตรงมาเรื่อยๆ จนพบห้าแยกเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 2407 ผ่านบ้านหนองคันนา ใช้ทางตรงมาเรื่อยจนพบทางแยก จะพบปราสาทตาเมือนก่อน ใกล้ๆกันนั้นมีหน่วยตระเวนชายแดนคุ้มครองนักท่องเที่ยว ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อความปลอดภัยในการเที่ยวชมปราสาท

การเดินทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 219 ที่จะไปบ้านกรวด จนมาถึงแยกที่ตัดกับทางหลวงหมายเลข 224 บริเวณนิคมปราสาท อำเภอบ้านกรวด เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 224 จนถึงแยกบ้านตาเมียง แล้วไปตามเส้นทางเช่นเดียวกับข้างต้น

อ้างอิง แก้

  1. ปราสาทตาควาย เก็บถาวร 2010-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงการแผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนไทย-กัมพูชา มหาวิทยาลัยมหิดล

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

14°20′57″N 103°15′59″E / 14.3492776°N 103.2662916°E / 14.3492776; 103.2662916 ส่วนปราสาทข้างๆนั้นคือปราสาทตาเมือนโต๊ดและตาเมือนปราสาทตาควาย