อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้

อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ (จีนตัวย่อ: 议政王大臣会议; จีนตัวเต็ม: 議政王大臣會議; พินอิน: yìzhèng wáng dàchén huìyì; "ที่ประชุมมหาอำมาตย์และราชวงศ์เพื่อทรงหารือราชกิจ"; อังกฤษ: Deliberative Council of Princes and Ministers, Council of Princes and High Officials, หรือ Assembly of Princes and High Officials) เรียกโดยย่อว่า อี้เจิ้งชู่ (จีนตัวย่อ: 议政处; จีนตัวเต็ม: 議政處; พินอิน: yìzhèng chù; "ที่หารือราชกิจ"; อังกฤษ: Deliberative Council) เป็นคณะที่ปรึกษาของจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิจีนช่วงต้นราชวงศ์ชิง เกิดจากคณะบุคคลที่ประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤; ครองราชย์ ค.ศ. 1616–1626) ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์ชิง ทรงจัดตั้งขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1610–20 แล้วหฺวัง ไถจี๋ (黃台吉; ครองราชย์ ค.ศ. 1626–1643) จักรพรรดิพระองค์ถัดมา ทรงจัดตั้งอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1626 และมีการขยายองค์ประกอบใน ค.ศ. 1637 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นสูงชาวแมนจู ทำหน้าที่ถวายความเห็นด้านกลาโหมต่อหฺวัง ไถจี๋ รวมถึงผู้สืบราชสมบัติต่อมา คือ ชุ่นจื้อ (順治; ครองราชย์ ค.ศ. 1643–1661) และคังซี (康熙; ครองราชย์ ค.ศ. 1661–1722)[1] องค์กรดังกล่าวยังมีอำนาจมากในช่วงที่ตัวเอ่อร์กุ่น (多尔衮; ค.ศ. 1643–1650) สำเร็จราชการแทนชุ่นจื้อ และเอ๋าไป้ (鼇拜; 1661–1669) สำเร็จราชการแทนคังซี บุคคลทั้งสองใช้ที่ประชุมนี้ส่งเสริมอิทธิพลของตนอย่างยิ่ง[2]

ครั้นยงเจิ้ง (雍正; ครองราชย์ ค.ศ. 1722–1735) เถลิงราชสมบัติ ทรงจัดตั้งจฺวินจีชู่ (軍機處; "สภาความลับทหาร") ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ ขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษ 1720 เพื่อลดอิทธิพลของเหล่าอำมาตย์และราชวงศ์ อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้จึงมีบทบาทถดถอยลงเรื่อย ๆ จนยุบเลิกไปอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1792

การจัดตั้ง แก้

 
จักรพรรดิหฺวัง ไถจี๋ (ครองราชย์ ค.ศ. 1626–1643) ผู้ทรงก่อตั้งอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ขึ้นอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1627

โรเบิร์ต ออกซ์นัม (Robert Oxnam) นักประวัติศาสตร์ พรรณนาว่า กำเนิดของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้เป็น "กระบวนการที่ซับซ้อนและมักชวนงงงวย" (complicated and often confusing process)[3] จุดแรกเริ่มของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ คือ องค์กรอย่างไม่เป็นทางการที่จักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงตั้งขึ้นเพื่อให้ราชวงศ์ปรองดองกันมากขึ้น เพราะใน ค.ศ. 1601 หนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงจัดระเบียบสังคมแมนจูโดยแบ่งออกเป็นสี่กองธง ซึ่งต่อมาเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น แปดกองธงใน ค.ศ. 1615[4] ครั้น ค.ศ. 1622 พระองค์ให้ราชวงศ์แปดองค์กำกับแปดกองธงองค์ละกอง[4] แล้วให้ราชวงศ์ทั้งแปดประชุมหารือกันเกี่ยวกับนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะด้านกลาโหม[5] ที่ประชุมดังกล่าวเรียกว่า "อี้เจิ้งหวัง" (議政王; "ราชวงศ์หารือราชกิจ")[6]

ต่อมา หนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงแต่งตั้งขุนนางผู้ใหญ่ห้าคนกับตุลาการสิบคนให้กำกับดูแลงานด้านปกครองและตุลาการใน ค.ศ. 1615 และ 1616 ตามลำดับ[7] ออกซ์นัมอ้างว่า ที่ประชุมขุนนางผู้ใหญ่ดังกล่าวเรียกว่า "อี้เจิ้งต้าเฉิน" (議政大臣; "มหาอำมาตย์หารือราชกิจ") และมีหน้าที่ช่วยเหลือที่ประชุมอี้เจิ้งหวังของฝ่ายราชวงศ์[8] แต่ฟรานซ์ ไมเคิล (Franz Michael) แย้งว่า กลุ่มอำมาตย์เป็นที่ปรึกษาแต่ในนามของกลุ่มราชวงศ์เท่านั้น ไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง และซิลัส วู (Silas Wu) เห็นด้วย[9]

ครั้น ค.ศ. 1623 หนูเอ่อร์ฮาชื่อทรงแต่งตั้งขุนนางชั้นผู้ใหญ่แปดคนเป็นที่ปรึกษาราชกิจ แต่หน้าที่ส่วนใหญ่เป็นการตรวจราชการและรายงานให้ทรงทราบเกี่ยวกับการสมคบกันกบฏในหมู่ราชวงศ์[10]

เมื่อหฺวัง ไถจี๋ สืบบัลลังก์ต่อจากหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ก็ไม่ทรงดำเนินนโยบายส่งเสริมความปรองดองระหว่างราชวงศ์ดังเดิม แต่ทรงแสวงหาลู่ทางสร้างความเป็นปึกแผ่นอย่างแท้จริงให้แก่จักรวรรดิแทน โดยใน ค.ศ. 1627 ทรงให้กองธงทั้งแปดอยู่ในบังคับบัญชาของขุนนางผู้ใหญ่ทั้งแปดคนดังกล่าวแทนราชวงศ์ทั้งแปดองค์อย่างแต่ก่อน แต่ก็รับสั่งให้ขุนนางทั้งแปดต้องปรึกษากับราชวงศ์แปดองค์นั้นในด้านนโยบาย[11] ซิลัส วู เห็นว่า กลุ่มราชวงศ์และขุนนางสิบหกคนนี้เป็นที่มาของที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ ซึ่งกลายเป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายของหฺวัง ไถจี๋ เพราะหฺวัง ไถจี๋ ทรงปรึกษาหารือกลุ่มบุคคลดังกล่าวเกี่ยวกับการต่างประเทศและกลาโหม[12]

ครั้น ค.ศ. 1637 หฺวัง ไถจี๋ ทรงแก้ไของค์ประชุม โดยให้ราชวงศ์ทั้งแปดพ้นจากตำแหน่งในที่ประชุม[13] แล้วให้ที่ประชุมประกอบด้วยขุนนางกลาโหมแปดคนที่ภายหลังเรียก "ตูถ่ง" (都統) แต่ละคนมีผู้ช่วยสองคน เรียก "ฟู่ตูถ่ง" (副都統) มีหน้าที่บริหารแปดกองธง[14] การที่ทรงให้สมาชิกที่ประชุมมีแต่แม่ทัพนายกอง โดยปราศจากส่วนร่วมของพระญาติพระวงศ์นั้น แม้ทำให้พระราชอำนาจมากขึ้น และอิทธิพลของราชวงศ์น้อยลง[2] แต่ที่ประชุมก็ดำเนินมาตลอดรอดฝั่งในฐานะจุดสูงสุดของการปกครองราชวงศ์ชิงได้[15]

บทบาทต้นราชวงศ์ชิง แก้

 
เอ๋าไป้ ผู้ใช้อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้เป็นเครื่องมือกำหนดนโยบายของตัวในช่วง ค.ศ. 1661–1669 ระหว่างที่สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิคังซี

เมื่อจักรพรรดิหฺวัง ไถจี๋ สวรรคตใน ค.ศ. 1643 ชุ่นจื้อสืบราชสมบัติต่อ มีตัวเอ่อร์กุ่นกับจี้เอ่อร์ฮาหลาง (濟爾哈朗) เป็นผู้สำเร็จราชการ ครั้นปีถัดมา ภายใต้การนำของบุคคลดังกล่าว ราชวงศ์ชิงปราบราชวงศ์หมิงลงได้ และย้ายเมืองหลวงไปยังเป่ย์จิง ส่วนที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ก็กลายเป็นองค์กรหลักในการกำหนดนโยบายรัฐบาลช่วงที่ตัวเอ่อร์กุ่นสำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ[16] เพราะทันทีที่ย้ายมาเป่ย์จิง ตัวเอ่อร์กุ่นก็ให้ที่ประชุมควบคุมทั้งการทหารและพลเรือน ทั้งเพิ่มสมาชิกขึ้นให้ประกอบด้วยตูถ่งและฟู่ตูถ่งทุกคนในกองธงของแมนจูและมองโกล รวมตลอดถึงชาวแมนจูและมองโกลที่ดำรงตำแหน่งในเน่ย์เก๋อ (內閣; "ศาลาใน") หรือประธานกรรมการต่าง ๆ[16] ฉะนั้น แทนที่จะเป็นหน่วยงานทานอำนาจของตัวเอ่อร์กุ่น ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้กลับเป็นเครื่องมือที่ตัวเอ่อร์กุ่นใช้งัดข้อกับราชวงศ์ผู้หาญกล้าท้าทายอำนาจของเขา[17] ตัวอย่างเกิดในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1644 เมื่อเหาเก๋อ (豪格; ค.ศ. 1609–1648) พระโอรสของหฺวัง ไถจี๋ ทรงถูกกล่าวหาว่า ปลุกปั่นล้มล้างการปกครอง ตัวเอ่อร์กุ่นก็ให้คู่อริของเหาเก๋อมาให้การยืนยันความผิดของพระองค์ในที่ประชุม[18] แล้วใน ค.ศ. 1648 เขาก็ใช้วิธีเดียวกันกำจัดเหาเก๋อไปตลอดกาล[17]

เมื่อตัวเอ่อร์กุ่นสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1650 จักรพรรดิชุ่นจื้อรับสั่งให้สมาชิกที่ประชุมถวายฎีกาต่อพระองค์โดยตรงในเรื่องสำคัญของแผ่นดิน[19] ภายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1651 เมื่อผู้สนับสนุนตัวเอ่อร์กุ่นถูกกำจัดไปจากราชสำนักจนหมดสิ้นแล้ว จี้เอ่อร์ฮาหลาง ซึ่งยังเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ก็ตั้งคนจำนวนหนึ่งเข้าสู่ที่ประชุม หวังจะหล่อเลี้ยงให้ผู้คนนิยมภักดีต่อชนชั้นสูงชาวแมนจูต่อไป[20] โดยในช่วง ค.ศ. 1651–53 เขาตั้งสมาชิกใหม่ 30 คนเข้าที่ประชุม ทุกคนที่เขาตั้งไม่มีตำแหน่งหน้าที่ในกองธงหรือการปกครองเมืองหลวง[21] 2 คนในจำนวนนี้ยังเป็นชาวจีน คือ ฟ่าน เหวินเฉิง (范文程; ค.ศ. 1597–1666) และหนิงหวันหวั่ว (寗完我; ตาย ค.ศ. 1665) ซึ่งเป็นคนจีนสองในเพียงสามคนที่ได้รับแต่งตั้งเข้าที่ประชุม[21] ผู้ได้รับแต่งตั้งในคราวนั้นยังมีเอ๋าไป้, ซูเค่อซาฮา (蘇克薩哈), เอ้อปี้หลง (遏必隆; ตาย ค.ศ. 1673), และสั่วหนี (索尼; ค.ศ. 1601–1667) ซึ่งภายหลังได้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิคังซี[22]

ครั้น ค.ศ. 1656 จักรพรรดิชุ่นจื้อทรงยกเลิกข้อกำหนดที่ให้ชาวแมนจูและมองโกลที่ดำรงตำแหน่งในเน่ย์เก๋อได้เป็นสมาชิกที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้โดยอัตโนมัติ กระนั้น เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ใน ค.ศ. 1661 ที่ประชุมก็ยังมีสมาชิกมากกว่า 50 คน[21]

ในรัชกาลของชุ่นจื้อ ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้มักเรียกประชุมเพื่อตรวจสอบขุนนางคนสำคัญผู้ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ[23]

เมื่อชุ่นจื้อสวรรคตใน ค.ศ. 1661 แล้ว คังซีสืบราชอำนาจต่อ แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์ เอ๋าไป้, ซูเค่อซาฮา, เอ้อปี้หลง, และสั่วหนี จึงสำเร็จราชการแทน ในช่วงที่เอ๋าไป้สำเร็จราชการนี้ (ค.ศ. 1661–69) ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้กลายเป็น "สถาบันที่โดดเด่นที่สุดของแมนจู" (most prominent Manchu institution)[22] ผู้สำเร็จราชการทั้งสี่ดำรงตำแหน่งในที่ประชุมต่อไป และกำหนดให้สมาชิกที่ประชุมต้องเป็นตูถ่งจากกองธงของแมนจูและมองโกล กับผู้ดำรงตำแหน่งในหกกรม (六部) เท่านั้น[21] บุคคลทั้งสี่ยังกำหนดให้หัวหน้าหลี่ฟานเยฺวี่ยน (理藩院; "ฝ่ายบริหารเมืองขึ้น") เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุม[24] ภายใน ค.ศ. 1662 สมาชิกที่ประชุมจึงลดเหลือ 31 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวแมนจูชนชั้นสูงมากประสบการณ์ด้านทหารและพลเรือน[25]

เมื่อสิ้นอำนาจเอ๋าไป้ใน ค.ศ. 1669 แม้จักรพรรดิคังซีทรงล้มเลิกการปรับปรุงการปกครองของเอ๋าไป้หลายประการ แต่ก็ทรงพึ่งพาที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ต่อไป โดยทรงปรึกษาเกี่ยวกับกิจการหลายด้านในทางกลาโหมและพลเรือน โดยเฉพาะเรื่องที่ละเอียดอ่อนหรือซับซ้อนเกินกว่าที่ข้าราชการทั่วไปจะถวายความเห็นได้[26] คังซียังทรงให้หัวหน้าโตวฉาเยฺวี่ยน (都察院; "ฝ่ายตรวจการทั้งปวง") เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุม แต่เมื่อทรงปราบกบฏสามเจ้าศักดินา (三藩之乱) ได้ใน ค.ศ. 1683 พระองค์ก็มิให้ตูถ่งจากกองธงต่าง ๆ เป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุมอีก[21]

นับจากนั้น ที่ประชุมก็เบนเข็มไปทางการปกครองฝ่ายพลเรือนมากขึ้น[21] ส่วนกิจการทหารก็เข้าสู่ที่ประชุมบ้าง เช่น ในช่วงสงครามจุ่นก๋าเอ่อร์–ชิงระหว่าง ค.ศ. 1687–97 ซึ่งราชวงศ์ชิงทำสงครามกับรัฐข่านจุ่นก๋าเอ่อร์ (準噶爾汗國) คังซีทรงปรึกษาที่ประชุมเรื่องการรับมือกับก๋าเอ่อร์ตัน (噶尔丹) ข่านแห่งจุ่นก๋าเอ่อร์ และการรับมือกับมองโกลคาเอ่อร์คา (喀尔喀蒙古) คู่ปรับจุ่นก๋าเอ่อร์[27]

ในรัชกาลคังซีนั้น ที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้จะประชุมตามรับสั่งเท่านั้น แล้วจะถวายผลการหารือต่อจักรพรรดิ ซึ่งจักรพรรดิมักปฏิบัติตาม[28]

การยุบเลิก แก้

 
จักรพรรดิยงเจิ้ง (ครองราชย์ ค.ศ. 1722–1735) ผู้ทรงก่อตั้งจฺวินจีชู่ขึ้นเพื่อลดทอนอำนาจของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้

เมื่อจักรพรรดิคังซีสวรรคตใน ค.ศ. 1722 ยงเจิ้งสืบราชย์ต่อ หลังเกิดวิกฤติการณ์ที่ทำให้พระโอรสองค์ต่าง ๆ ของคังซีชิงราชสมบัติกันอย่างดุเดือด ขุนนางแมนจูหลายคนในที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้สนับสนุนคู่แข่งของยงเจิ้ง[29] แต่เพื่อมิให้ขุนนางเหล่านี้ตีตัวออกจากพระองค์หลังขึ้นทรงราชย์แล้ว ยงเจิ้งทรงรักษาที่ประชุมไว้ และทรงปรึกษาราชกิจด้านทหารหลายประการต่อไป แต่ก็ทรงหาวิธีบั่นทอนอำนาจของที่ประชุมไปด้วย[30]

หนทางของยงเจิ้ง คือ จัดตั้งองค์กรขนาดเล็กขึ้นหลายองค์กร มีสถานะเสมอที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ ประกอบด้วยข้าราชสำนักที่พระองค์ไว้พระทัย[29] แล้วถ่ายเทอำนาจในการหารือราชกิจไปสู่องค์กรเหล่านั้นอย่างช้า ๆ[31] กระทั่งราว ค.ศ. 1730 องค์กรซึ่งมีสถานะไม่เป็นทางการเหล่านี้ตกผลึกเป็นจฺวินจีชู่ (军机处; "สภาความลับทหาร")[29] ซึ่งต่างจากที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ตรงที่ที่ประชุมมีสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นชาวแมนจู แต่จฺวินจีชู่มีชาวจีนร่วมด้วยหลายคน[32] จฺวินจีชู่นี้ได้ทำหน้าที่เหมือนสภาองคมนตรีที่ถวายความเห็นด้านการกำหนดนโยบายของรัฐต่อองค์จักรพรรดิอีกหลายพระองค์ตลอดมาจนสิ้นราชวงศ์ชิง

การสถาปนาจฺวินจีชู่จนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในคริสต์ทศวรรษ 1730 ทำให้อิทธิพลของที่ประชุมอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ลดน้อยถอยลงตามลำดับ[21] ในรัชกาลเฉียนหลง (乾隆; ค.ศ. 1736–1796) ตำแหน่งสมาชิกที่ประชุมเหลือสถานะเพียงเป็นคำเรียกขานเพื่อยกย่อง[31] ชาวแมนจูซึ่งดำรงตำแหน่งในเน่ย์เก๋อยังคงเป็นสมาชิกโดยตำแหน่งของที่ประชุมต่อไป จนจักรพรรดิเฉียนหลงทรงยุบเลิกที่ประชุมนี้อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1792[33]

ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีการรื้อฟื้นตำแหน่งสมาชิกที่ประชุมนี้ขึ้น เพื่อมอบให้แก่เจ้าชายอี้ซิน (奕訢; ค.ศ. 1833–1898) และบุคคลอื่น ๆ ในคราวที่เจ้าชายอี้ซินรับตำแหน่งประธานจฺวินจีชู่[34]

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. Wakeman 1985, p. 851; Bartlett 1991, p. 267; Hucker 1985, p. 266; Rawski 1998, p. 123.
  2. 2.0 2.1 Oxnam 1975, p. 31.
  3. Oxnam 1975, p. 21, note 17.
  4. 4.0 4.1 Wu 1970, p. 10.
  5. Oxnam 1975, p. 21; Bartlett 1991, p. 25.
  6. Oxnam 1975, p. 21.
  7. Oxnam 1975, p. 21 (1615); Wu 1970, p. 11 (1616); Michael 1942, p. 67 (1616).
  8. Oxnam 1975, pp. 21 and 30 respectively.
  9. Michael 1942, p. 67; Wu 1970, p. 11.
  10. Wu 1970, p. 10; Wakeman 1985, p. 850.
  11. Oxnam 1975, pp. 30 and 31, note 38; Wakeman 1985, pp. 850-851.
  12. Wu 1970, p. 11; Oxnam 1975, p. 30 (main policymaking body); Wakeman 1985.
  13. Wu 1970, p. 10; Oxnam 1975, p. 30.
  14. Oxnam 1975, p. 30; Kessler 1976, p. 11.
  15. Wakeman 1985, p. 851.
  16. 16.0 16.1 Oxnam 1975, p. 43.
  17. 17.0 17.1 Wakeman 1985, p. 885.
  18. Wakeman 1985, p. 300, note 231
  19. Wakeman 1985, p. 896.
  20. Oxnam 1975, pp. 70–71.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 21.6 Oxnam 1975, p. 71.
  22. 22.0 22.1 Oxnam 1975, p. 70.
  23. Wakeman 1985, pp. 925, 948, and 985 (for three examples).
  24. Oxnam 1975, p. 69.
  25. Oxnam 1975, pp. 71 and 74.
  26. Oxnam 1975, pp. 72 and 199.
  27. Perdue 2005, pp. 148 and 159.
  28. Oxnam 1975, p. 74 (usually followed the council's advice); Wu 1970, p. 18 (rest of the information).
  29. 29.0 29.1 29.2 Bartlett 1991, p. 27.
  30. Bartlett 1991, p. 48 and p. 307, note 46.
  31. 31.0 31.1 Wu 1970, p. 105.
  32. Oxnam 1975, p. 89 (Manchu membership); Bartlett 1991, p. 267 (open to Chinese).
  33. Bartlett 1991, p. 308, note 61 (Manchu Grand secretaries, 1792), and p. 312, note 116 (abolition by Qianlong).
  34. Bartlett 1991, p. 312, note 116, and p. 350, note 23.

บรรณานุกรม แก้

  • Bartlett, Beatrice S. (1991), Monarchs and Ministers: The Grand Council in Mid-Ch'ing China, 1723–1820, Berkeley and Los Angeles: University of California Press, ISBN 978-0-520-08645-6.
  • Hucker, Charles O. (1985), A Dictionary of Official Titles in Imperial China, Stanford: Stanford University Press, ISBN 978-0-8047-1193-7.
  • Kessler, Lawrence (1976), K'ang-Hsi and the Consolidation of Ch'ing Rule, 1661–1684, Chicago: University of Chicago Press, ISBN 978-0-226-43203-8.
  • Michael, Franz (1942), The Origin of Manchu Rule in China: Frontier and Bureaucracy as Interacting Forces in the Chinese Empire, Baltimore: Johns Hopkins Press.
  • Oxnam, Robert B. (1975), Ruling from Horseback: Manchu Politics in the Oboi Regency, 1661–1669, Chicago and London: University of Chicago Press, ISBN 978-0-226-64244-4.
  • Perdue, Peter C. (2005), China Marches West: The Qing Conquest of Central Eurasia, Cambridge, Mass., and London, England: The Belknap Press of Harvard University Press, ISBN 0-674-01684-X.
  • Rawski, Evelyn S. (1998), The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institutions, Los Angeles and Berkeley: University of California Press, ISBN 978-0-674-12761-6.
  • Wu, Silas H. L. (1970), Communication and Imperial Control in China: Evolution of the Palace Memorial System, 1693–1735, Cambridge: Harvard University Press, ISBN 978-0-674-14801-7.
  • Wakeman, Frederic, Jr. (1985), The Great Enterprise: The Manchu Reconstruction of Imperial Order in Seventeenth-Century China, Berkeley and Los Angeles: University of California Press, ISBN 978-0-520-04804-1.