จฺวินจีชู่

องค์กรกำหนดนโยบายการปกครองแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ชิง

จฺวินจีชู่ (จีนตัวย่อ: 军机处; จีนตัวเต็ม: 軍機處; พินอิน: Jūnjīchù; "สภาความลับทหาร"; อังกฤษ: Grand Council) เป็นองค์กรสำคัญในการกำหนดนโยบายการปกครองแผ่นดินของประเทศจีนสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งจักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正帝) ทรงจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1733 เดิมมีอำนาจหน้าที่ทางทหารเท่านั้น แต่ภายหลังขยายขอบข่ายภารกิจมากขึ้น จนมีอำนาจหน้าที่เทียบเท่าสภาองคมนตรีในโลกตะวันตก ถึงขนาดมีบทบาทและความสำคัญยิ่งกว่าเน่ย์เก๋อ (內閣; "ศาลาใน") ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในระบบราชการจีน

สำนักงานของจฺวินจีชู่
สำนักงานของจฺวินจีชู่ เป็นอาคารอันไม่โดดเด่น อยู่ใกล้เขตพระราชฐานในพระราชวังต้องห้าม
ภาพมุมกว้าง

แม้มีบทบาทสำคัญในราชการ แต่สถานะของจฺวินจีชู่ในการเป็นหน่วยงานกำหนดนโยบายนั้นกลับไม่เป็นทางการ ทั้งสมาชิกของจฺวินจีชู่ก็ควบตำแหน่งอย่างอื่นในราชสำนักด้วย เดิมทีสมาชิกส่วนใหญ่ของจฺวินจีชู่เป็นชาวแมนจู แต่ภายหลังก็ได้ชาวฮั่นเข้ามาร่วมมากขึ้นตามลำดับ หนึ่งในสมาชิกชาวฮั่นกลุ่มแรก คือ จาง ถิงอฺวี้ (張廷玉)

จฺวินจีชู่มีสำนักงานอยู่ ณ อาคารเล็ก ๆ ทางด้านตะวันตกของประตูสู่พระที่นั่งเฉียนชิง (乾清宫) ในพระราชวังต้องห้าม

องค์ประกอบ

แก้

จำนวนสมาชิกของจฺวินจีชู่นั้นต่างกันไปในแต่ละยุค บางครั้งมีสาม บางครั้งมีสิบ แต่ปรกติแล้วมีห้า เป็นชาวแมนจูสอง ชาวฮั่นสอง และมีองค์ชายที่ดำรงฐานะเหอชั่วชินหวัง (和碩親王) อีกหนึ่งพระองค์เป็นประธาน ซึ่งในวงราชการเรียก "หลิ่งปานจฺวินจีต้าเฉิน" (領班軍機大臣; "แม่กองมหาอำมาตย์ความลับทหาร") แต่มิใช่คำเรียกอย่างเป็นทางการ

ประวัติ

แก้

อี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้

แก้

ในช่วงแรกของราชวงศ์ชิง อำนาจทางการเมืองนั้นอยู่ในเงื้อมมือของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ (議政王大臣會議; "ที่ประชุมมหาอำมาตย์และราชวงศ์เพื่อทรงหารือราชกิจ") อันจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1637 ประกอบด้วย องค์ชายแปดพระองค์ซึ่งควบตำแหน่งที่ปรึกษาในพระมหากษัตริย์ และข้าราชการชาวแมนจูอีกจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่ลงมติเกี่ยวกับนโยบายสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน มติของที่ประชุมมีอำนาจเหนือกว่ามติของเน่ย์เก๋อ หรือแม้แต่ของคณะเสนาบดี นอกจากนี้ จักรพรรดิหนูเอ่อร์ฮาชื่อ (努爾哈赤) ยังทรงบัญญัติให้ที่ประชุมมีอำนาจถอดถอนพระมหากษัตริย์ด้วย ครั้น ค.ศ. 1643 จักรพรรดิซุ่นจื้อ (順治帝) ทรงให้เพิ่มเจ้าหน้าที่ชาวฮั่นเข้าไปในที่ประชุม และขยายอำนาจของที่ประชุมให้ครอบคลุมกิจการสำคัญทั้งปวงของจักรวรรดิ แต่เมื่อมีการจัดตั้งหนานชูฝางและจฺวินจีชู่ขึ้น บทบาทของที่ประชุมก็ลดลงเรื่อย ๆ จนยุบทิ้งไปใน ค.ศ. 1717

หนานชูฝาง

แก้

หนานชูฝาง (南書房; "หอสมุดใต้") เป็นองค์กรกำหนดนโยบายสูงสุด จักรพรรดิคังซี (康熙帝) ทรงจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1677 และยุบเลิกไปใน ค.ศ. 1898 รัชกาลจักรพรรดิกวังซฺวี่ (光绪帝)

องค์กรนี้จัดตั้งขึ้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพระที่นั่งเฉียนชิง จึงมีคำว่า "ใต้" อยู่ในนาม บุคลากรขององค์กรเป็นบัณฑิตจากสำนักฮั่นหลิน (翰林院; "สำนักป่าพู่กัน") ซึ่งคัดเลือกโดยพิจารณาผลงานด้านอักษรศาสตร์เป็นหลัก พระมหากษัตริย์จะได้ทรงสะดวกในการปรึกษาและอภิปราย ผู้ใดได้รับเลือกเข้าองค์กรนี้ ก็มักเรียกว่า ได้ "เหยีบย่างหอสมุดใต้" (南書房行走) และโดยที่มีบทบาทได้รับใช้ใกล้ชิดยุคลบาท สมาชิกขององค์กรนี้จึงมีอิทธิพลสูงยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อจัดตั้งจฺวินจีชู่ขึ้นแล้ว องค์กรนี้ก็สูญสิ้นอำนาจหน้าที่ในการถวายคำปรึกษาไป แต่ยังคงเป็นองค์กรสำคัญในราชการอยู่

จฺวินจีชู่

แก้
 
จักรพรรดิยงเจิ้ง (ครองราชย์ ค.ศ. 1722–1735) ผู้ทรงก่อตั้งจฺวินจีชู่

ใน ค.ศ. 1729 จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเปิดศึกกับรัฐข่านจฺวิ่นก๋าเอ่อร์ (准噶尔汗国; Dzungar Khanate) และเกิดความวิตกกังวลกันว่า การที่เน่ย์เก๋อมีสำนักงานอยู่นอกประตูไท่เหอ (太和門; "ประตูมหาสันติ") จะทำให้ความลับทหารไม่ปลอดภัย จักรพรรดิยงเจิ้งจึงทรงจัดตั้งจฺวินจีชู่ขึ้น ณ ราชสำนักชั้นใน และทรงเลือกสมาชิกคณะเสนาบดีที่ทรงไว้วางพระทัยไปควบตำแหน่งในหน่วยงานใหม่นี้[1]

เมื่อทรงพิชิตรัฐข่านได้แล้ว จักรพรรดิยงเจิ้งทรงเห็นว่า หน่วยงานที่ทรงตั้งขึ้นใหม่นี้ช่วยลดความไร้ประสิทธิภาพในวงราชการได้ ดังนั้น ใน ค.ศ. 1732 จฺวินจีชู่จึงกลายสถานะจากหน่วยงานชั่วคราวเป็นสถาบันชั้นสูงในราชการ ภายหลังก็ค่อย ๆ กลืนอำนาจของอี้เจิ้งหวังต้าเฉินฮุ่ยอี้ และหนานชูฝาง จนที่สุดก็กลายเป็นองค์กรกำหนดนโยบายหลักของจักรวรรดิ

การจัดตั้งซ้ำ

แก้

เมื่อสิ้นรัชสมัยจักรพรรดิยงเจิ้งใน ค.ศ. 1735 แล้ว จฺวินจีชู่ก็เป็นอันสิ้นสุดลง แต่ก่อนจะสิ้นพระชนม์ จักรพรรดิยงเจิ้งได้ทรงตั้งองค์กรชั่วคราว เรียก "จ๋งหลี่ชื่ออู้ชู่" (總理事務處; "กรมกิจการนายก") ไว้ถวายความช่วยเหลือพระโอรสซึ่งจะขึ้นสืบราชย์ต่อมาเป็นจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆帝)[2] ไม่ช้าองค์กรนี้ก็มีบทบาททับซ้อนกับหน่วยงานหลายหน่วย จนมีขอบข่ายอำนาจกว้างขวาง[3] ที่สุดใน ค.ศ. 1738 จักรพรรดิเฉียนหลงจึงทรงยุบองค์กรดังกล่าวทิ้ง และจัดตั้งจฺวินจีชู่ขึ้นใหม่[4]

จฺวินจีชู่มีหน้าที่หลายประการในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง บางอย่างก็เป็นหน้าที่ธุรการ เช่น ติดตามหนังสือเวียน[5] ตลอดจนจัดกิจกรรม อย่างมหรสพในวัง และการประพาส[6] หน้าที่อย่างอื่นที่เกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจก็มี เช่น ร่างราชโองการ[7] และถวายความเห็นเรื่องนโยบายและปัญหาอื่น[8] ความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ราชสำนักชั้นใน และความลับทางราชการ รวมถึงสถานะที่ไม่เป็นทางการ ทำให้จฺวินจีชู่มีบทบาทเป็นหน่วยงานกลางในการปกครองแผ่นดิน ทั้งไม่อยู่ในความควบคุมของหน่วยงานราชสำนักชั้นนอกด้วย[9]

หลังรัชสมัยเฉียนหลง

แก้

ใน ค.ศ. 1796 จักรพรรดิเฉียนหลงทรงสละพระราชสมบัติให้พระโอรสเสวยราชย์สืบมาเป็นจักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉慶帝) ครั้น ค.ศ. 1799 จักรพรรดิเฉียนหลงสิ้นพระชนม์ จักรพรรดิเจียชิ่งทรงปฏิรูปจฺวินจีชู่หลายประการ รวมถึงลดจำนวนสมาชิกของจฺวินจีชู่ และขับเหอเชิน (和珅) ขุนนางคนโปรดของจักรพรรดิเฉียนหลงซึ่งเข้าอยู่ในจฺวินจีชู่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1776 ออกจากตำแหน่ง[10] จักรพรรดิเจียชิ่งยังทรงกำหนดโทษทางปกครองไว้สำหรับสมาชิกของจฺวินจีชู่[11] และทรงกำหนดให้การแต่งตั้งเสมียนของจฺวินจีชู่ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมขุนนาง[12]

สมัยพระพันปีฉือสี่

แก้
 
องค์ชายอี้ซิน (奕訢) ประธานจฺวินจีชู่ในสมัยพระพันปีฉือสี่

ครั้นพระพันปีฉืออัน (慈安太后) และพระพันปีฉือสี่ (慈禧太后) เข้าดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิถงจื้อ (同治帝) ร่วมกันใน ค.ศ. 1856 จฺวินจีชู่รับหน้าที่ลงมติทางการเมืองหลายประการ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งเพราะพระนางทั้งสองยังทรงไม่จัดเจนราชการนัก ครั้น ค.ศ. 1861 มีราชโองการวางรายละเอียดในการดำเนินงานเกี่ยวกับหนังสือราชการ โดยกำหนดให้หลายเรื่องเป็นไปตามมติของจฺวินจีชู่ ราชโองการนี้ระบุให้ส่งหนังสือราชการไปยังพระพันปีทั้งสองก่อน แล้วพระพันปีทั้งสองจะทรงส่งคืนไปยังองค์ชายอี้ซิน (奕訢) ผู้ดำรงฐานันดรศักดิ์กงชินหวัง (恭親王) และเป็นประธานจฺวินจีชู่[13] จากนั้น จฺวินจีชู่จะประชุมปรึกษา แล้วขอพระวินิจฉัยจากพระพันปีทั้งสอง ก่อนจะร่างมติตามนั้น แล้วส่งร่างให้พระพันปีทั้งสองทรงอนุมัติอีกชั้นหนึ่ง[14] กระบวนการดังกล่าวทำให้แม่ทัพเจิง กั๋วฟาน (曾國藩) กล่าวหลังเข้าเฝ้าใน ค.ศ. 1869 ว่า "ราชการแผ่นดินทั้งสิ้นทั้งปวงตกเป็นสิทธิ์ขาดของสมาชิกจฺวินจีชู่...ผู้ซึ่งมีอำนาจยิ่งกว่าราชครู" ("the state of affairs hinged entirely on the Grand Councillors....whose power surpassed that of the imperial master.")[15] ขั้นตอนดำเนินงานเช่นนี้ยังมีสืบมาจนถึงช่วงที่พระพันปีฉือสี่สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิกวังซฺวี่

ภายหลังจากที่จักรพรรดิกวังซฺวี่ทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองแล้ว ทั้งจักรพรรดิเองและจฺวินจีชู่ก็ยังขอพระวินิจฉัยจากพระพันปีฉือสี่ต่อไป หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญ คือ ใน ค.ศ. 1894 เมื่อเกิดสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งแรก จฺวินจีชู่ส่งสำเนาฎีกาไปถวายทั้งองค์จักรพรรดิและพระพันปี[16] ขั้นตอนเช่นนี้ปฏิบัติต่อมาจนถึง ค.ศ. 1898 เมื่อพระพันปีฉือสี่ทรงยึดอำนาจจากจักรพรรดิกวังซฺวี่

การยุบเลิก

แก้

เมื่อพระพันปีฉือสี่และจักรพรรดิกวังซฺวี่สิ้นพระชนม์ในเวลาไล่เลี่ยกันใน ค.ศ. 1908 องค์ชายผู่อี๋ (溥儀) สืบสันตติวงศ์ต่อมาเป็นจักรพรรดิเซฺวียนถ่ง (宣统帝) โดยมีพระบิดา คือ องค์ชายไจ้เฟิง (載灃) ซึ่งทรงดำรงฐานันดรศักดิ์ฉุนชินหวัง (醇親王) สำเร็จราชการแทน ครั้นเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1911 องค์ชายไจ้เฟิงทรงยุบเลิกจฺวินจีชู่ และจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (内阁) ขึ้นแทน เพื่อปฏิรูปประเทศ ทว่า ความพยายามนี้สายเกินไป จักรวรรดิชิงล่มสลายลงใน ค.ศ. 1912

สมาชิกที่มีชื่อเสียงของจฺวินจีชู่

แก้

อ้างอิง

แก้

เชิงอรรถ

แก้
  1. 梁章鉅《枢垣纪略》卷廿七
  2. Bartlett, Beatrice Monarchs and Ministers: The Grand Council in Mid-Ch'ing China, 1723–1820 (University of California Press, 1990) pg. 139 http://publishing.cdlib.org/ucpressebooks/view?docId=ft287004wt&brand=ucpress
  3. Bartlett, pg. 142
  4. Bartlett, pgs. 166 & 167
  5. Bartlett, pgs. 191-192
  6. Bartlett, pg. 195
  7. Bartlett, pg. 193
  8. Bartlett, pg. 194
  9. Bartlett, pg. 170
  10. Bartlett, pgs. 242-243
  11. Bartlett, pg. 243-244
  12. Bartlett, pg. 247
  13. Kwong, Luke S.K. A Mosaic of the Hundred Days: Personalities, Politics and Ideas of 1898 (Harvard University Press, 1984) pg. 21
  14. Kwong, pg. 21
  15. Kwong, pgs. 36 & 37
  16. Kwong, pgs. 27 & 28

บรรณานุกรม

แก้