อาสนวิหารกาออร์

อาสนวิหารกาออร์ (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Cahors) หรือมีชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญสเทเฟนแห่งกาออร์ (Cathédrale Saint-Étienne de Cahors)[1] เป็นอาสนวิหารโรมันคาทอลิกและที่ตั้งของมุขนายกประจำมุขมณฑลกาออร์ ตั้งอยู่ที่เมืองกาออร์ จังหวัดล็อต แคว้นอ็อกซีตานี ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญสเทเฟน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับสถาปัตยกรรมกอทิกได้อย่างดียิ่ง

อาสนวิหารกาออร์
Cathédrale Saint-Étienne de Cahors
ศาสนา
ศาสนาโรมันคาทอลิก
จังหวัดมุขมณฑลแห่งกาออร์
ภูมิภาคแคว้นอ็อกซีตานี
จารีตโรมัน
สถานะองค์กรอาสนวิหาร
ปีที่อุทิศ1135
สถานะเปิด
ที่ตั้ง
ที่ตั้งกาออร์,  ฝรั่งเศส
พิกัดภูมิศาสตร์44°26′50″N 01°26′35″E / 44.44722°N 1.44306°E / 44.44722; 1.44306
สถาปัตยกรรม
ประเภทโบสถ์
รูปแบบกอธิก, โรมาเนสก์
ลงเสาเข็ม1080
เสร็จสมบูรณ์1135

อาสนวิหารแห่งนี้ยังเป็นสถานที่บรรจุเรลิกสำคัญของพระเยซู ซึ่งเรียกว่า "Sainte Coiffe" ซึ่งเป็นหมวกผ้าคลุมศีรษะเพื่อใช้แต่งพระศพพระเยซูเมื่อตอนสิ้นพระชนม์ ซึ่งเรลิกชิ้นนี้ถูกนำกลับมาจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ โดยเฌโร เดอ การ์ดายัก

อาสนวิหารแห่งกาออร์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อ ค.ศ. 1862[2] รวมทั้งยังอยู่ในมรดกโลกโดยยูเนสโก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางซานเตียโกเดกอมโปสเตลาในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ ค.ศ. 1998

ลักษณะทั่วไป แก้

 
แผนผังของอาสนวิหารโดยรวม

อาสนวิหารแห่งนี้ได้รับการสร้างขึ้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 โดยมุขนายกเฌโร เดอ การ์ดายัก ซึ่งสร้างบนสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์เก่าที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 เพื่ออุทิศแด่นักบุญดีดีเยแห่งกาออร์ ได้รับการเสกโดยสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1119 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1135 ลักษณะของโบสถ์ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองนั้น มีความพิเศษคือกำแพงอันหนาราวกับป้อมปราการ ซึ่งในสมัยนั้นบิช็อปหรือมุขนายกถือเป็นผู้ปกครองและมีอำนาจสูงสุดในการบริหารตามระบบศักดินาของเมืองกาออร์

หน้าบันของอาสนวิหาร ซึ่งบูรณะอีกครั้งในปี ค.ศ. 1316–1324 โดยกีโยม เดอ ลาบรู พระญาติสนิทของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ได้กล่าวถึงอาสนวิหารแห่งนี้ว่ามีลักษณะเป็นปราการอันแข็งแรงหนาแน่น ประกอบด้วยซุ้มทางเข้าซึ่งมีหอนาฬิกาอยู่ด้านบนซึ่งถูกขนาบปิดด้วยหอคอยทั้งสองข้าง มีหน้าต่างหกบานบริเวณด้านหน้าซึ่งมีลักษณะแคบกว่าปกติ องค์ประกอบที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นโบสถ์ทางคริสต์ศาสนานั้น มีเพียงประตูทางเข้าอันสวยงามตกแต่งเป็นสามชั้น พร้อมด้วยระเบียงแนบขนาดเล็กอยู่ด้านบนประตูทางเข้า และเหนือขึ้นไปเป็นหน้าต่างกุหลาบ หลังคาเป็นแบบโดมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ พร้อมทั้งหน้าบันทางเข้าที่มีลักษณะเป็นป้อมปราการ และประตูทางเข้าแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1140–1150 ถือเป็นอีกหนึ่งปราการของวิหารทางทิศเหนือ

บริเวณกลางโบสถ์ แก้

 
แผนผังภายในอาคาร

บริเวณกลางโบสถ์มีขนาดกว้างถึง 20 เมตร ยาว 44 เมตร พร้อมด้วยหลังคาแบบโดมที่สูงถึง 32 เมตรในแบบสถาปัตยกรรมไบแซนไทน์ ซึ่งรับน้ำหนักโดยเสาโค้งขนาดใหญ่จำนวนหกเสา ซึ่งมีเฉพาะเพียงแค่อาสนวิหารนักบุญโซเฟียแห่งคอนสแตนติโนเปิลซึ่งมีเสาขนาดที่ใหญ่กว่า อนึ่ง ซึ่งสิ่งที่ผิดปกติจากวิหารทั่วไปคือ ไม่มีแขนกางเขน

โดมหนึ่งข้างตกแต่งด้วยงานเฟรสโก้ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14[3] บอกเล่าเรื่องราวของนักบุญสเทเฟนถูกลงโทษโดยการขว้างหินจนตาย พร้อมทั้งผู้เผยพระวจนะทั้งแปดซึ่งมาในแบบขี่สัตว์ที่เป็นพาหนะ เหมือนเทพฮินดูและกรีก นอกจากนี้บริเวณกำแพงยังพบรูปภาพอื่น ๆ สมัยยุคกลางประดับอยู่ด้วย

มุขโค้ง แก้

บริเวณมุขโค้งด้านสกัดของอาสนวิหารเป็นแบบกอทิกซึ่งมีฐานเป็นแบบโรมาเนสก์ (ตั้งแต่บริเวณฐานเสาขึ้นไปจนถึงบริเวณหัวเสา) ด้านในประกอบด้วยชาเปลจำนวนสามหลังพร้อมรูปปั้นประดับ ซึ่งทำให้ผสมผสานกันทางศิลปะได้อย่างดีระหว่างความขาวของมุขโค้งด้านสกัด ความหลายหลายของงานกระจกสี และงานภาพเขียนประดับบริเวณร้องเพลงสวด

ในอาสนวิหารมีหลุมฝังศพอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น หลุมฝังศพของบุญราศีอาแล็ง เดอ ซอลมีนียัก (Blessed Alain de Solminihac) และที่สำคัญคือ หมวกผ้าคลุมศีรษะของพระเยซู ซึ่งเป็นเรลิกสำคัญของที่นี่ ซึ่งถูกนำกลับมาฝรั่งเศสโดยมุขนายกเฌโร เดอ การ์ดายักจากแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เมื่อปี ค.ศ. 1113

 
ระเบียงคด

ซุ้มประตู แก้

 
รายละเอียดบริเวณหน้าบันซุ้มประตูทางเข้า

สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1135 ที่บริเวณทางเข้าทิศเหนือ โดยมีส่วนที่สวยงามคือ หน้าบันที่อยู่เหนือประตู เป็นงานปูนปั้นบอกเล่าเรื่องราวของเมโสส ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบเปลี่ยนผ่านระหว่างสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์กับสถาปัตยกรรมกอทิก

บนฉากหนี่งเป็นเรื่องราวของพระเยซู ที่ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการอวยพร ส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ไบเบิ้ล อยู่ในกรอบรูปไข่ที่แสดงถึงการขึ้นสวรรค์ของพระองค์ และยังถูกขนาบทั้งสองข้างด้วยนางฟ้าประหนึ่งพยายามอธิบายพระอภินิหารให้แก่อัครสาวกสิบสองค์ ซึ่งยืนล้อมรอบพระแม่มารี

บริเวณด้านซ้ายมือ มีรูปปั้นแสดงให้เห็นถึงบุคคลที่แต่งกายแตกต่างจากพระอัครสาวก ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นรูปปั้นแสดงถึงตัวผู้ปั้นนั้นเอง อีกส่วนหนึ่งแสดงถึงประวัติของนักบุญสเทเฟน ซึ่งเป็นนักบุญประจำอาสนวิหาร บริเวณกรอบด้านบนสุดมีนางฟ้าอีกสี่องค์ที่พาพระเยซูขึ้นสู่สวรรค์

ระเบียงคด แก้

ประตูที่อยู่ทางขวามือของบริเวณร้องเพลงสวดจะนำไปสู่ระเบียงคดแบบกอทิกฟล็องบัวย็อง (Flamboyant) ที่สร้างราวปี ค.ศ. 1504 โดยมุขนายกอ็องตวน เดอ ลูแซ็ก ในบริเวณประกอบด้วยรูปปั้นแสดงบทบาทในชีวิตประจำวัน ซึ่งคาดว่าน่าจะถูกลอกแบบมาจากที่โบสถ์แม่พระบังเกิดแห่งกาดวง (L'abbaye Notre-Dame de la Nativité de Cadouin)

บริเวณฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของชาเปลนักบุญโกแบร์ (Chapelle Saint Gaubert) ซึ่งมีเพดานโค้งที่ตกแต่งด้วยภาพวาดสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และบริเวณกำแพงโดยรอบยังมีงานเฟรสโกบอกเล่าเรื่องราวของการพิพากษาครั้งสุดท้าย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะทางศาสนา ซึ่งจัดแสดงภาพเขียนของมุขนายกแห่งกาออร์ทั้ง 93 องค์[4] พร้อมทั้งเครื่องแต่งกายพิธี

อ้างอิง แก้

  1. Mireille Bénéjeam-Lère, La cathédrale Saint-Étienne,(p.9-69) dans Congrès archéologique de France. 147eme session. Quercy. 1989, Société Française d'Archéologie, Paris, 1993
  2. http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_fr?ACTION=CHERCHER&FIELD_1=REF&VALUE_1=PA00094997 กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส
  3. Marie-Anne Sire, Cathédrale de Cahors. Les peintures murales du XIVe récemment découvertes dans le massif occidental, (p.71-77), dans Congrès archéologique de France. 147eme session. Quercy. 1989, Société Française d'Archéologie, Paris, 1993
  4. Georges Costa, Le trésor de la cathédrale de Cahors, (p.79-85), dans Congrès archéologique de France. 147eme session. Quercy. 1989, Société Française d'Archéologie, Paris, 1993

แหล่งข้อมูลอื่น แก้