ภาวะระบายลมหายใจเกิน[1] (อังกฤษ: hyperventilation หรือ overbreathing) หมายถึงสภาวะที่มีการหายใจเร็วหรือลึกเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดอาการหน้ามืดหรืออาการอื่นๆ มักมีสาเหตุมาจากความกังวล อาการหายใจเร็วกว่าปกติอาจเป็นการตอบสนองต่อภาวะเลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (metabolic acidosis) ซึ่งเป็นสภาวะที่ส่งผลต่อค่า pH ในเลือดต่ำลง

Hyperventilation
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10R06.4
ICD-9786.01

ผลข้างเคียงนี้มิได้เกิดขึ้นจากการขาดออกซิเจนหรืออากาศของผู้ป่วยตามที่มักเข้าใจกัน หากแต่ว่าอาการหายใจเร็วกว่าปกตินี่เองทำให้ระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดต่ำลงกว่าระดับปกติ อันเป็นผลให้ค่า pH ในกระแสเลือดสูงขึ้น (ทำให้เลือดมีสภาวะเป็นเบสมากขึ้น) ทำให้เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงสมองหดตัว ขัดขวางการส่งถ่ายออกซิเจนและโมเลกุลอื่นที่จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท[2]

อาการหายใจเร็วกว่าปกติอาจทำให้เกิดอาการชาหรือรู้สึกยิบๆ ที่มือ ขาหรือริมฝีปาก อาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก พูดจาติดขัด ตื่นกลัว มึนงง หรือหมดสติ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเสมอไป

สาเหตุ แก้

ความเครียดและความวิตกกังวลมักจะก่อให้เกิดอาการหายใจเร็วกว่าปกติ ซึ่งรู้จักในนาม กลุ่มอาการหายใจเร็วกว่าปกติ (hyperventilation syndrome) อาการหายใจเร็วกว่าปกตินี้อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วยความตั้งใจจากการหายใจเข้าไปมากๆ หรืออาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากอาการเจ็บป่วยทางปอดบางชนิด การบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือโรคหลอดเลือดสมอง และประการสุดท้ายเมื่อร่างกายมีภาวะเลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (metabolic acidosis) ร่างกายใช้การหายใจเกินนี้เป็นกลไกที่ชดเชยเพื่อลดระดับความเป็นกรดในสมอง ซึ่งหากเกิดในภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) ผู้ป่วยจะหายใจลักษณะยาวและลึกซึ่งเรียกเฉพาะว่า การหายใจแบบคุสส์เมาล์ (Kussmaul breathing)

อาการหายใจเร็วกว่าปกติอาจจะเกิดขึ้นได้จากการออกกำลังกายเกินค่าการใช้ออกซิเจนสูงสุด (VO2 max) เมื่อร่างกายไม่สามารถแปลงออกซิเจนไปเป็นพลังงานได้มากกว่าระดับ ๆ หนึ่งจนต้องใช้การหายใจเกินเข้ามาช่วย

อาการหายใจเร็วกว่าปกตินี้ต่างไปจาก Hyperpnea

กลไก แก้

ในการหายใจตามปกติ ความลึกและความถี่ในการหายใจขึ้นอยู่กับระบบประสาทโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในระดับปกติและเพื่อการขนส่งออกซิเจนเข้าสู่เนื้อเยื่อของร่างกายอย่างเหมาะสม กลไกปกตินี้เกิดจากการวัดระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด โดยปกติระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงจะบอกถึงระดับออกซิเจนที่ต่ำเพราะมนุษย์หายใจเอาออกซิเจนเข้าและหายใจออกเพื่อคายคาร์บอนไดออกไซด์ในเวลาเดียวกัน และร่างกายใช้ออกซิเจนเพื่อการเผาผลาญโมเลกุล เกิดเป็นคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลพลอยได้ออกมา

ถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดเข้มข้นมาก ร่างกายจะเข้าใจว่าระดับออกซิเจนในร่างกายต่ำ และส่งผลให้หลอดเลือดในสมองขยายตัวเพื่อให้เลือดและออกซิเจนถูกลำเลียงมาเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ ในทางกลับกัน หากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำ (เช่นจากการหายใจเร็วกว่าปกติ) หลอดเลือดในสมองจะหดตัวเพื่อลดระดับการขนส่งโลหิตและออกซิเจนเข้าสู่สมอง จึงให้เกิดอาการวิงเวียนได้

แก๊สในถุงลมของปอดนั้นเกือบจะสมดุลกับแก๊สในกระแสเลือด ในการหายใจแต่ละครั้งโดยปกติแก๊สในถุงลมปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 10 ของปริมาตรถุงลมเท่านั้นที่จะถูกแลกเปลี่ยน[ต้องการอ้างอิง] การหายใจที่ลึกหรือถี่กว่าปกติ ดังปรากฏในภาวะหายใจเร็วกว่าปกตินี้ จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สในถุงลมกับอากาศภายนอกมากขึ้น และทำให้เกิดการขับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิออกจากร่างกายมากขึ้นเนื่องจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศปกตินั้นค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว

ผลจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดต่ำทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะเลือดมีคาร์บอนไดออกไซด์น้อย (hypocapnia) เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดนั้นถูกขนถ่ายในรูปของกรดคาร์บอนิก ซึ่งภาวะเลือดมีคาร์บอนไดออกไซด์น้อยดังกล่าวทำให้เลือดกลายเป็นเบส (alkaline) กล่าวคือค่า pH ในกระแสเลือดสูงขึ้น เรียกภาวะนี้ว่าภาวะเลือดเป็นด่างจากการหายใจ (respiratory alkalosis)

ภาวะที่เลือดกลายเป็นด่างทำให้หลอดเลือดหดตัว (vasoconstriction) ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะทำให้ใยกล้ามเนื้อมีความไวต่อแคลเซียมเพิ่มขึ้นในภาวะที่มี pH สูง

การที่ค่า pH ในกระแสเลือดสูงจากการหายใจเร็วกว่าปกติทำให้โปรตีนในน้ำเลือดมีความเป็นเบสมากขึ้นจึงจับกับแคลเซียมได้แน่นมากขึ้น แล้วปล่อยไอออนแคลเซียมอิสระออกมาลดลง จึงทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง (hypocalcemia) ซึ่งส่งผลต่อเส้นประสาทและกล้ามเนื้อทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือดและก่อให้เกิดอาการชาที่ผิวหนังตามมา

โดยสรุปจึงมีสองกลไกหลักที่ก่อให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดเลี้ยงสมองและทำให้เกิดอาการวิงเวียน ชา และเป็นลมที่มักพบในหายใจเร็วกว่าปกติ กลไกแรกคือจากการลดลงของคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด (hypocapnia) ทำให้ค่า pH ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น (ภาวะเลือดเป็นด่างจากการหายใจ) และทำให้หลอดเลือดหดตัว อีกกลไกคือการเป็นเบสของเลือด (alkalosis) ส่งผลให้ไอออนแคลเซียมอิสระในกระแสเลือดลดลง และทำให้เกิดความไม่เสถียรของเยื่อหุ้มเซลล์ และมีการหดตัวของหลอดเลือดและอาการชาตามมา

ถึงแม้ว่านี่จะดูเหนือสามัญสำนึกแต่การหายใจมากเกินไปส่งผลให้เกิดการลดลงของระดับออกซิเจนที่ไปเลี้ยงศีรษะ ซึ่งบางครั้งแพทย์ใช้ประโยชน์โดยการชักนำให้ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะหายใจเร็วกว่าปกติเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะ แต่การรักษาวิธีนี้ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก[3]

การรักษา แก้

สิ่งแรกที่ควรทำคือการแก้ต้นเหตุของอาการหายใจเร็วกว่าปกติ ผู้ป่วยควรจะได้รับการกระตุ้นให้ควบคุมการหายใจของตัวเอง ถ้าการควบคุมการหายใจทำไม่สำเร็จ อาจจะต้องให้ออกซิเจนเพื่อป้องกัน เนื้อเยื่อขาดออกซิเจน สำหรับการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดให้อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อการรักษาในบทความกลุ่มอาการหายใจเร็วกว่าปกติ การให้ยาอาจจะจำเป็นในบางครั้ง อาจพิจารณาให้ยาทางหลอดเลือดเพื่อลดความวิตกของผู้ป่วยหรือลดอัตราการหายใจ ยาไดแอซีแพม (Diazepam) หรือมิเดโซแลม (Midazolam) อาจจะถูกใช้ชั่วคราว

อ้างอิง แก้

  1. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน
  2. Kenneth Baillie and Alistair Simpson. "Hyperventilation calculator". Apex (Altitude Physiology EXpeditions). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-31. สืบค้นเมื่อ 2006-08-10. - Online interactive oxygen delivery calculator that mimics hyperventilation
  3. Stocchetti N, Maas AI, Chieregato A, van der Plas AA (2005). "Hyperventilation in head injury: a review". Chest. 127 (5): 1812–27. doi:10.1378/chest.127.5.1812. PMID 15888864.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)