หม่อมอุบล หรือ เจ้าจอมอุบล ปรากฏใน คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า หม่อมเจ้าอภัย เป็นพระธิดาในกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[1][2] หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ครอบครัวของกรมหมื่นเทพพิพิธจึงตกระกำลำบาก หม่อมอุบลได้ตกเป็นภรรยาของนายแก่น ชายสามัญชนที่เมืองนครราชสีมา สุดท้ายได้รับราชการเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามลำดับ[3] หม่อมอุบลต้องโทษประหารชีวิตกับหม่อมฉิมบาทบริจาริกาอีกองค์หนึ่งด้วยการผ่าอกแล้วเอาเกลือทาจากข้อหาเป็นชู้กับฝรั่ง[3]

หม่อมอุบล
หม่อมเจ้า
พระสวามีนายแก่น
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (ประสูติ)
ธนบุรี (เสกสมรส)
พระบิดากรมหมื่นเทพพิพิธ

พระประวัติ

แก้

ชีวิตช่วงต้น

แก้

หม่อมอุบลหรือหม่อมเจ้าอภัยเป็นพระบุตรคนหนึ่งจากทั้งหมดหกคนของกรมหมื่นเทพพิพิธ (พระนามเดิมพระองค์เจ้าแขก) กับนางห้ามไม่ปรากฏนาม[1][2] นิธิ เอียวศรีวงศ์สันนิษฐานว่าพระองค์อาจมีเชื้อสายลาวผ่านพระอัยยิกาฝ่ายพระชนก[4]

ก่อนหน้านี้กรมหมื่นเทพพิพิธเคยมีข้อหากบฏต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศผู้เป็นพระบิดา จึงถูกเนรเทศไปเกาะลังกา แต่กษัตริย์แห่งลังกาหวั่นเกรงเจ้านายพระองค์นี้มาก จึงเนรเทศกรมหมื่นเทพพิพิธออกจากเกาะ[4] ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่พม่ากำลังล้อมกรุงศรีอยุธยาในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองจึงลักลอบเข้าอาณาจักรอยุธยาทางเมืองท่ามะริด[5] แล้วรวบรวมสมัครพรรคพวกแถบหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกไว้ได้[6] กรมหมื่นเทพพิพิธจึงยกทัพออกจากเมืองจันทบูรไปที่เมืองปราจิณ[7] ต่อมาได้แอบส่งคนสนิทนำหม่อมห้ามและพระบุตรรวมไปถึงหม่อมอุบลหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา[8] ทางรัฐบาลอยุธยาเองก็ไม่ไว้ใจกรมหมื่นเทพพิพิธมากนักเพราะเป็นเจ้านายชั้นสูงมีคนเคารพนับถือมาก รัฐบาลจึงจัดทัพไปรบหมายจะชิงตัวกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่การรบนั้นผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่ที่สุดทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธถูกทัพพม่าผลักออกไป[6] แล้วถูกพม่าตีแตก[7] กรมหมื่นเทพพิพิธจึงเสด็จขึ้นไปยังเมืองนครราชสีมาในฐานะเจ้านายชั้นสูงโดยปราศจากอำนาจทางทหาร และทิ้งสมัครพรรคพวกที่แตกฉานซ่านเซ็นไว้เบื้องหลัง[9] แต่ในเวลาต่อมาพระองค์ได้เกลี้ยกล่อมผู้คนจำนวนหนึ่งให้ไปตีเมืองนครราชสีมาจนสำเร็จ แต่ในระยะเวลาอันสั้นก็ถูกพวกหลวงแพ่งน้องชายเจ้าเมืองนครราชสีมาคนเก่าชิงเมืองคืน พระโอรสและคนสนิทต่างถูกฆ่าตาย ลูกสาวเมียสาวของพระองค์ก็ถูกพวกของหลวงแพ่งจับไปทำเมียหมด[4] โดยหม่อมอุบล แม้ตัวจะเป็นเจ้าแต่ก็ถูกนายแก่นชาวนครราชสีมาจับไปทำเมีย ส่วนหม่อมเสมนางห้ามคนหนึ่งของกรมหมื่นเทพพิพิธถูกกระทาชายชื่อนายย่นเอาไปทำเมีย[3][10] พระยาศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองพิมายเองก็คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ โดยใช้ประโยชน์ทางการเมืองของกรมหมื่นเทพพิพิธและมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาขึ้นใหม่ ทรงยอมเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองให้กับก๊กเจ้าพิมาย[11] ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาศรีสุริยวงศ์และบุตรชายอีกสองคนสังหารหลวงแพ่ง นายแก่น และนายย่นจนตาย ด้วยเหตุนี้หม่อมอุบลจึงตกพุ่มม่าย ส่วนหม่อมเสมได้กลับเป็นเป็นนางห้ามในกรมหมื่นเทพพิพิธตามเดิม[10]

ราชสำนักธนบุรีและจุดจบ

แก้

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพมาตีเมืองพิมาย เพราะทรงหวั่นเกรงพระบารมีและสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ พระยาศรีสุริยวงศ์และพระยามหามนตรีบุตรชายคนโตถูกฆ่าตาย ส่วนพระยาวรวงศาธิราชบุตรคนเล็กหนีไปเมืองเสียมราฐสาบสูญไม่มีใครจับตัวได้[10] ในขณะที่กรมหมื่นเทพพิพิธและครอบครัวพยายามหลบหนีออกจากนครราชสีมาแต่ถูกขุนชนะ (ปิ่น) จับมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี[12] แต่ภายหลังถูกสำเร็จโทษ[10] ส่วนหม่อมอุบลและหม่อมเสมนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรับเลี้ยงไว้เป็นบาทบริจาริกาต่อไป[13]

กล่าวกันว่าหม่อมอุบลนั้นปรนนิบัติพัดวีพระราชสวามีเป็นอย่างดีจนเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย ถวายงานคู่กับหม่อมฉิมธิดาเจ้าฟ้าจีดซึ่งรักใคร่เข้ากันได้ดีจึงให้บรรทมคู่ซ้ายขวา ดังปรากฏความใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุความไว้ว่า "...บุตรกรมหมื่นเทพพิพิธ หม่อมมงคล หม่อมพควม พี่หม่อมอุบล บุตรเจ้าฟ้าจีด [คือหม่อมฉิม] เลี้ยงเสมอกันทั้ง ๔ คน แต่โปรดหม่อมฉิม หม่อมอุบล ประทมอยู่คนละข้าง..."[3] ด้วยเหตุนี้บรรดาเจ้าหญิงที่รับราชการเป็นบาทบริกาท่านอื่นเกิดคิดริษยา โดยเฉพาะหม่อมประทุม (นามเดิมหม่อมมิตร) เพ็ดทูลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีว่าหม่อมฉิมและหม่อมอุบลเป็นชู้กับชิดภูบาลและชาญภูเบศร์มหาดเล็กฝรั่งที่คอยไล่จับหนูในราชสำนัก แล้วยังกล่าวหาอีกว่าฝรั่งสองคนนี้ยังเล่นชู้กับนางรำอีกสี่คน ดังปรากฏความว่า "...วิบัติหนูกัดพระวิสูตร รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่ให้เข้ามาไล่จับหนูใต้ที่เสวย (แล) ในที่ (บรรทม) ด้วย เจ้าประทุมทูลว่าฝรั่งเปนชู้กับหม่อมฉิม หม่อมอุบล กับคนรำ ๔ คน เปน ๖ คนด้วยกัน..."[3]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีพระดำรัสตรัสถาม แม้หม่อมอุบลจะทูลความจริงแต่พระราชสวามีก็มิทรงรับฟัง หม่อมฉิมซึ่งมีโวหารกล้าจึงเป็นผู้รับสัตย์แล้วกล่าวว่า "...ยังจะอยู่เปนมเหสีขี้ซ้อนฤๅ มาตายตามพ่อเจ้าเถิด..." เมื่อได้ยินความดังนั้นหม่อมอุบลจึงพลอยรับตาม ทั้งสองจึงถูกสำเร็จโทษโดยการเฆี่ยนแล้วเอาน้ำเกลือราดรด แล้วประหารชีวิตด้วยการผ่าอกเอาเกลือทา แล้วตัดมือตัดเท้าประจาน ซึ่งในขณะนั้นหม่อมอุบลมีครรภ์อยู่สองเดือน[3]

หลังการสำเร็จโทษ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงไม่สบายพระทัย แล้วตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบล ร้อนไปถึงท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามาชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมามีสติสมประดีแล้วจึงพระราชทานเงินแก่ผู้ตามเสด็จ[3]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง, หน้า 178
  2. 2.0 2.1 คำให้การชาวกรุงเก่า, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น, หน้า 628
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์), หน้า 59-61
  4. 4.0 4.1 4.2 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 155
  5. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 113
  6. 6.0 6.1 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 28
  7. 7.0 7.1 การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 26
  8. สตรีสยามในอดีต, หน้า 84
  9. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 29
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 สตรีสยามในอดีต, หน้า 85-87
  11. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 38
  12. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 267
  13. สตรีสยามในอดีต, หน้า 88-89
บรรณานุกรม
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์). กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2562. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2
  • ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553. 536 หน้า. ISBN 978-616-508-073-6
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2559. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9