หม่อมเสม เคยเป็นบาทบริจาริกาในกรมหมื่นเทพพิพิธ เจ้านายทรงกรมกรุงศรีอยุธยา ทว่าหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง หม่อมเสมเคยตกเป็นภรรยาของไพร่ชื่อนายย่น ชาวนครราชสีมา และหลังการโจมตีก๊กเจ้าพิมาย หม่อมเสมได้เข้าเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นที่สุด

หม่อมเสม
หม่อม
ภัสดากรมหมื่นเทพพิพิธ (ครั้งแรก)
นายย่น
กรมหมื่นเทพพิพิธ (ครั้งที่สอง)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (สมรส)
ธนบุรี (สมรส)

ประวัติ

แก้

ไม่ปรากฏประวัติของหม่อมเสมในช่วงเบื้องกำเนิด ปรากฏแต่เพียงว่าหม่อมเสมเข้ารับราชการเป็นนางห้ามในกรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และได้ติดตามกรมหมื่นเทพพิพิธไปยังเมืองนครราชสีมาเช่นเดียวกับหม่อมอุบล ซึ่งเป็นพระธิดาของกรมหมื่นเทพพิพิธ ในเวลาต่อมากรมหมื่นเทพพิพิธเกลี้ยกล่อมผู้คนจำนวนหนึ่งให้ไปตีเมืองนครราชสีมาจนสำเร็จ แต่ในระยะเวลาอันสั้นก็ถูกพวกหลวงแพ่ง น้องชายเจ้าเมืองนครราชสีมาคนเก่าชิงเมืองคืน พระโอรสและคนสนิทของพระองค์ต่างถูกฆ่าตาย ลูกสาวเมียสาวของกรมหมื่นเทพพิพิธก็ถูกพวกของหลวงแพ่งจับไปทำเมียหมด[1] หม่อมอุบลถูกนายแก่นชาวนครราชสีมาจับไปทำเมีย ส่วนหม่อมเสมถูกกระทาชายชื่อนายย่นเอาไปทำเมีย[2][3] พระยาศรีสุริยวงศ์เจ้าเมืองพิมายเองก็คิดตั้งตัวเป็นใหญ่ หวังใช้ประโยชน์ทางการเมืองของกรมหมื่นเทพพิพิธและมีแนวคิดที่จะฟื้นฟูอาณาจักรอยุธยาขึ้นใหม่ กรมหมื่นเทพพิพิธก็ทรงยอมเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองให้กับก๊กเจ้าพิมาย[4] ภายหลังกรมหมื่นเทพพิพิธให้พระยาศรีสุริยวงศ์และบุตรชายอีกสองคนสังหารหลวงแพ่ง นายแก่น และนายย่นจนตาย เพื่อแก้แค้น ด้วยเหตุนี้หม่อมอุบลจึงตกพุ่มม่าย ส่วนหม่อมเสมได้กลับเป็นเป็นนางห้ามในกรมหมื่นเทพพิพิธตามเดิม[3]

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพมาตีเมืองพิมาย เพราะทรงหวั่นเกรงพระบารมีและสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์ของกรมหมื่นเทพพิพิธ พระยาศรีสุริยวงศ์และพระยามหามนตรีบุตรชายคนโตถูกฆ่าตาย ส่วนพระยาวรวงศาธิราชบุตรคนเล็กหนีไปเมืองเสียมราฐสาบสูญไม่มีใครจับตัวได้[3] ในขณะที่กรมหมื่นเทพพิพิธและครอบครัวพยายามหลบหนีออกจากนครราชสีมาแต่ถูกขุนชนะ (ปิ่น) จับมาถวายพระเจ้ากรุงธนบุรี[5] แต่ภายหลังถูกสำเร็จโทษ[3] ส่วนหม่อมอุบลและหม่อมเสมนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงชุบเลี้ยงไว้เป็นบาทบริจาริกาต่อไป[6] ชีวิตในราชสำนักธนบุรีของหม่อมเสมไม่น่าจะติดขัดอะไร จนกระทั่งเกิดคดี "ฝรั่งจับหนู" อันนำไปสู่การประหารบาทบริจาริกาสองนาง คือ หม่อมฉิมและหม่อมอุบล ซึ่งคนหลังนี้มีศักดิ์เป็นลูกเลี้ยงของหม่อมเสม หลังเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่สบายพระทัย และตรัสว่าจะกระทำอัตวินิบาตกรรมตามหม่อมอุบล ร้อนไปถึงท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และเตี่ยหม่อมทองจันทน์นิมนต์พระเข้ามาชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเพื่อขอชีวิต เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกลับมามีสติสมประดีแล้วจึงพระราชทานเงินแก่ผู้ตามเสด็จ โดยหม่อมเสมได้ปรากฏในเอกสารอีกครั้งดังเนื้อความใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ความว่า[2]

"...สำเร็จโทษแล้วไม่สบายพระไทย คิดถึงหม่อมอุบล ว่ามีครรภ์อยู่ 2 เดือน ตรัสว่าจะตายตามหม่อมอุบลว่าใครจะตายกับกูบ้าง เสม เมียกรมหมื่นเทพพิพิธ ว่าจะตามเสด็จ หม่อมทองจันทน์ หม่อมเกษ หม่อมลา สั่งบุษบาตามเสด็จด้วย ประทานเงินคนละ 1 ชั่ง ให้บังสุกุลตัว ทองคนละ 1 บาท ให้ทำพระแล้ว ให้นั่งในแพหยวก นิมนต์พระเข้ามาบังสุกุลแล้วจะประหารชีวิตรคนที่ยอมตามเสด็จนั้นก่อน แล้วท่านจะแทงพระองค์ท่านตามไปอยู่กันเจ้าข้า พระสตินั้นฟั่นเฟือน เจ้าคุณใหญ่ทรงกันดาล กับเตี่ยหม่อมทองจันทน์ นิมนต์พระเข้ามามาก ชุมนุมสงฆ์ถวายพระพรขออย่างให้ทำหาควรไม่ ว่าที่จะได้พบกันนั้นหามิได้แล้ว ถวายพระพรขอชีวิตรไว้ ได้พระสติคืนสมประดีประทานเงินเติมให้แก่ผู้รับตามเสด็จนั้น..."

เรื่องราวของหม่อมเสมนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "เสมเมียกรมหมื่นเทพพิพิธที่ยอมตายตามเสด็จคนนี้ เคยตกไปเปนเมียนายย่นพวกหลวงแพ่งครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งเวลากรมหมื่นเทพพิพิธเปนเจ้าพิมายอยู่ดังนั้น ทีจะเปนคนแปดเหลี่ยมแปดคม"[2]

เชิงอรรถ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 155
  2. 2.0 2.1 2.2 พระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี, หน้า 61
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 สตรีสยามในอดีต, หน้า 85-87
  4. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 38
  5. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี, หน้า 267
  6. สตรีสยามในอดีต, หน้า 88-89

บรรณานุกรม

แก้
  • จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระพระราชวิจารณ์ ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552. 576 หน้า. ISBN 978-611-7146-02-2
  • นิธิ เอียวศรีวงศ์การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. 632 หน้า. ISBN 978-974-323-056-1
  • วิบูล วิจิตรวาทการ, น.พ.. สตรีสยามในอดีต. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2542. 362 หน้า. ISBN 974-7377-29-2