ปลาหมอฟลามิงโก้
ปลาหมอฟลามิงโก้ | |
---|---|
![]() | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Actinopterygii |
อันดับ: | Perciformes |
วงศ์: | Cichlidae |
สกุล: | Amphilophus |
สปีชีส์: | A. citrinellus |
ชื่อทวินาม | |
Amphilophus citrinellus (Günther, 1864) | |
ชื่อพ้อง[1] | |
|
ปลาหมอฟลามิงโก้ หรือ ปลาหมอไมดาส (อังกฤษ: Red devil cichild, Midas cichlid; ชื่อวิทยาศาสตร์: Amphilophus citrinellus) เป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)
พบกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาใต้ จัดเป็นปลาหมอสีที่มีรูปร่างใหญ่ เมื่อโตเต็มที่จะยาวได้ 25–30 เซนติเมตร มีลักษณะลำตัวค่อนข้างแบนกว้าง ส่วนหัวจะมีโหนกนูนอย่างเห็นได้ชัดเจนเมื่อโตเต็มที่ ริมฝีปากหนา ตาสีดำ ครีบอกแผ่กว้างปลายมนเล็กน้อย ครีบกระโดงหลังจะเรียวยาวแผ่กว้างไปทางด้านหลัง ครีบท้อง 2 อันเท่ากัน ขณะที่ครีบทวารจะแผ่กว้างคล้ายครีบกระโดงแต่ไม่ยาวมาก ครีบหางแผ่กว้างปลายมนเล็กน้อย
ลำตัวมีสีหลากหลายทั้งสีส้ม, เหลือง, ขาว ปนอยู่ โดยมีแถบสีดำแซม ขึ้นอยู่กับที่การเปลี่ยนสี หรือ "การลอก" ในภาษาเฉพาะของวงการปลาสวยงามว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งปลาที่มีสีส้มหรือแดง นิยมเรียกว่า ปลาหมอเรดเดวิล หรือ ปลาหมอเรดอเมริกา
ปลาหมอฟลามิงโก้เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว หวงอาณาเขตเป็นปลาที่อยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว ชอบขุดคุ้ยซอกหิน ซอกไม้ ในการหลบซ่อนตัว โดยเฉพาะปลาตัวผู้ที่มีโหนกใหญ่บนหัวจะก้าวร้าวมาก
ปลาหมอฟลามิงโก้ นั้นสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยงตั้งแต่ขนาด 24 นิ้วขึ้นไป โดยวางไข่ติดไว้กับพื้นหรือหิน ตัวเมียเมื่อมีความสมบูรณ์เต็มที่จะออกไข่ได้ครั้งละ 400–800 ฟอง ลักษณะไข่มีสีเหลืองนวล ไข่ใช้เวลา 3 วัน ในการฟักเป็นตัว แยกเพศโดยการสังเกตที่ส่วนท้อง ช่องเพศของตัวเมียจะมีลักษณะกลมใหญ่กว่า ขณะที่ตัวผู้จะยาวแหลมยื่นออกมา และมีลำตัวและส่วนหัวใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด
ปลาหมอฟลามิงโก้ ถือเป็นปลาชนิดที่เป็นต้นแบบของปลาหมอลูกผสม หรือที่เรียกกันว่า ครอสบรีด เช่น ปลาหมอฟลาวเวอร์ฮอร์น เป็นต้น [2]
อ้างอิง
แก้- ↑ จาก itis.gov (อังกฤษ)
- ↑ ปลาหมอฟลามิงโก ต้นตระกูลของปลา Cross Breed, หน้า 100-102 คอลัมน์ มองปลาตากลม โดย ไม้น้ำ. นิตยสาร fishzone ฉบับที่ 24 ปีที่ 3: 15 พฤษภาคม-15 มิถุนายน พ.ศ. 2545
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Amphilophus citrinellus ที่วิกิสปีชีส์