สุวิทย์ วัดหนู
สุวิทย์ วัดหนู (20 ธันวาคม พ.ศ. 2495 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2550) เป็นนักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย สลัม และคนจนเมือง เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) , ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค เลขาธิการเครือข่ายคนเดือนตุลา มีบทบาทขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 และเข้าร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สุวิทย์ วัดหนู | |
---|---|
นายสุวิทย์ วัดหนู ขณะเข้าร่วมการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 | |
เกิด | 20 ธันวาคม พ.ศ. 2495 ตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี |
เสียชีวิต | 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 (54 ปี) โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 |
สาเหตุเสียชีวิต | โรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน |
สัญชาติ | ไทย |
การศึกษา | มหาวิทยาลัยบูรพา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตบางแสน) |
อาชีพ | นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ นักพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย |
ปีปฏิบัติงาน | พ.ศ. 2519 - 2550 |
มีชื่อเสียงจาก | เข้าร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แนวร่วมคนสำคัญของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย |
ส่วนสูง | cm |
คู่สมรส | นางสุวรรณี วัดหนู |
ญาติ | เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย |
ประวัติ
แก้สุวิทย์เกิดที่หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมทะเลในตำบลบางเสร่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ วิทยาเขตบางแสน (มหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน) และเริ่มเข้าร่วมงานกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนา ต่อมาเข้าเริ่มเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับรุ่นพี่คือ วิทยากร เชียงกูล และ จรัล ดิษฐาอภิชัย ภายในรั้วมหาวิทยาลัย และก้าวไปกับขบวนการประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ 3 ทรราช "ถนอม-ประภาส-ณรงค์" อันนำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516
ปี พ.ศ. 2518 เขาเพิ่งจบศึกษาศาสตร์บัณฑิต และเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนช่างกล พระราม 6 และมีบทบาทสำคัญในฐานะแกนนำ "แนวร่วมอาชีวะเพื่อประชาธิปไตย" ป้องกันกำลังจัดตั้งนักเรียนอาชีวะของฝ่ายขวาจัด ในการชุมนุมเรียกร้องของฝ่ายประชาธิปไตยอันนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 หลังจากถูกปราบปรามในเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาถูกสถานการณ์กดดันให้ต้องหนีเข้าป่า ไปประจำเขตงานทางใต้ (สุราษฏร์-ชุมพร) ใต้ร่มเงาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นานถึง 8 ปี
เมื่อออกจากป่าในปี พ.ศ. 2528 ก็เข้าทำงานกับมูลนิธิดวงประทีป และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2532 ก็เข้าทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเริ่มตั้งแต่ตำแหน่งเจ้าหน้าที่, เลขาธิการ และกรรมการมูลนิธิฯ จนกระทั่งเสียชีวิต
สุวิทย์เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเลขาธิการเครือข่ายคนเดือนตุลา และมีบทบาทขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535
หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เขาเก็บตัว ลดกิจกรรมที่เคยร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยลง เนื่องจากตั้งใจจะเคลื่อนไหวตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชนดังที่เคยคิดไว้กับผู้ร่วมอุดมการณ์ เพื่อผลักดันประชาธิปไตยในแนวทางรัฐสภา
สุวิทย์เสียชีวิตเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2550 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โดยนางสุวรรณี วัดหนู ภรรยาบอกว่า ก่อนหน้านั้นเขาไปประชุมกับเครือข่าย เมื่อกลับมาบ้านก็รับประทานอาหารและดูโทรทัศน์ จากนั้นได้บ่นปวดหลัง จึงให้ภรรยานวด และกินยานอนหลับ (ซึ่งทำเป็นประจำเมื่อมีอาการปวดหลัง) หลังจากอาบน้ำและเข้านอนตามปกติแล้ว คืนนั้นเธอแปลกใจที่ไม่ได้ยินเสียงเขานอนกรนเช่นที่เคยเป็น เมื่อลองเรียกก็ไม่เสียงตอบ กระทั่งไปปลุกพบว่าหมดสติไปแล้ว จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 แต่แพทย์ระบุว่าเสียชีวิตก่อนมาถึง