สุรางค์ ดุริยพันธุ์

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ (8 เมษายน พ.ศ. 2480 – 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563) เป็นนักร้องเพลงไทยประจำวงดนตรี "ดุริยประณีต" มีความชำนาญในด้านคีตศิลป์ไทยหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการขับร้องเพลงเกร็ด เพลงเถา เพลงละคร ขับเสภา มีความเชี่ยวชาญในการขับร้องเพลงประกอบการแสดงหุ่นกระบอก เคยมีผลงานในการบันทึกเสียง เป็นนักจัดรายการประจำสถานีวิทยุโทรทัศน์ ตลอดจนเป็นครูต้นแบบผู้คิดค้นนวัตกรรมการสอนขับร้องเพลงไทย ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2560[1]

สุรางค์ ดุริยพันธุ์

เกิด8 เมษายน พ.ศ. 2480
กรุงเทพมหานคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 (82 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
อาชีพนักร้อง ครูสอนขับร้อง นักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์
ผลงานเด่นเพลง "สามเสียงไพเราะ"
บุพการี
  • เหนี่ยว ดุริยพันธุ์ (บิดา)
  • แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ (มารดา)
รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พ.ศ. 2560

ประวัติ แก้

ชาติกำเนิด แก้

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2480 ในครอบครัวบ้านดนตรี "ดุริยประณีต" วงดนตรีปี่พาทย์ในย่านบางลำพู กรุงเทพมหานคร ในความควบคุมของศุข ดุริยประณีต ผู้มีศักดิ์เป็นตา[2][3] บิดาชื่อ เหนี่ยว ดุริยพันธุ์ มารดาชื่อ แช่มช้อย ดุริยพันธุ์ (ดุริยประณีต) ทั้งสองรับราชการเป็นคีตศิลปินประจำกองการสังคีต กรมศิลปากร นอกจากนี้ยังเป็นครูสอนขับร้องโรงเรียนนาฏศิลป[4][5] มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 6 คน เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงจำนวน 2 คน คือ ดวงเนตร ดุริยพันธุ์ และนฤพนธ์ ดุริยพันธุ์[3] ในวัยเด็กมักจะได้ติดตามบิดามารดาไปในงานแสดงดนตรีด้วยเสมอ ทำให้ได้ซึมซับเอาเรื่องของศิลปะการแสดงของไทยมาตั้งแต่นั้น นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องของศิลปะการแสดงจากสมาชิกในครอบครัวและครูดนตรีท่านอื่น ๆ อีกด้วย[4]

การศึกษา แก้

เริ่มเข้าศึกษาครั้งแรกที่โรงเรียนวรวุฒิวิทยาลัยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 ต่อมาย้ายมาศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ และภายหลังได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชาลัยจนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7[1][4]

เริ่มเรียนขับร้องเพลงไทยกับครูชม รุ่งเรือง (ดุริยประณีต) ผู้เป็นน้าสาว ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ตามคำแนะนำของคุณย่าแถม ดุริยประณีต[2] โดยเรียนเพลงมอญ เพลงเถา เพลงสามชั้น จนสามารถออกงานในวงดนตรีของคณะดุริยประณีตได้ และได้เรียนร้องเพลงกับครูชมจนถึงเมื่ออายุ 13 ปี[6] ซึ่งในระหว่างนั้นเคยเข้าร่วมการประกวดขับร้องเพลงไทยได้รับรางวัลชนะเลิศมาโดยตลอด โดยเฉพาะรางวัลชนะเลิศการประกวดขับร้องเพลงไทยระดับมัธยมศึกษาในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ได้รับความกรุณาจากหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ซึ่งโปรดน้ำเสียงและการขับร้องเป็นอย่างมาก[1] ต่อมาจึงได้เรียนกลวิธีการขับร้องเพลงไทยและต่อเพลงกับมารดาจนมีความสามารถในการขับร้องเพลงได้หลายประเภท ทั้งการขับเสภา การขับร้องหุ่นกระบอก และเพลงพื้นเมือง[7] นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำในด้านการขับร้อง และเรียนรู้การเล่นเครื่องดนตรีไทยจากครูอีกหลายท่าน เช่น สุดา เขียววิจิตร สุดจิตต์ ดุริยประณีต สืบสุด ดุริยประณีต เบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ ศรีนาฏ เสริมสิริ จิรัส อาจณรงค์ มนตรี ตราโมท ชิต แฉ่งฉวี สุเอ็ด คชเสนี[6] สำเนียง ฟักภู่ ฉวีวรรณ เปลี่ยนทันผล[5] เป็นต้น

การทำงาน แก้

หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับบรรจุเป็นข้าราชการครูสอนขับร้องเพลงไทยที่โรงเรียนราชินีในปี พ.ศ. 2502 ทำงานอยู่ได้ราว 3 ปี จึงได้รับการชักชวนจากจำนง รังสิกุล ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ให้มาทำงานในตำแหน่งครูสอนขับร้อง แผนกนาฏดุริยางค์ ฝ่ายจัดรายการโทรทัศน์ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด[1][2][4] ภายหลังได้ย้ายมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่นักจัดรายการ ส่วนรายการฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 9 องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.)[2]

ภายหลังเกษียณอายุการทำงาน ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนขับร้องเพลงไทย ให้กับสถาบันการศึกษาและชุมนุมดนตรีไทย เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โรงเรียนวัดปทุมวนาราม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนบุญวัฒนา เป็นต้น[7]

ผลงานทางวิชาชีพ แก้

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ มีผลงานการขับร้องเพลงละคร เพลงเกร็ด บันทึกเสียงกับห้างแผ่นเสียงต่าง ๆ อาทิ ห้างแผ่นเสียงนารายณ์เหยียบกอบัว ห้างแผ่นเสียงโคลัมเบีย ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ เป็นต้น[1] มีผลงานแถบบันทึกเสียงกับห้องบันทึกเสียง "เสริมมิตร" ในความควบคุมของ เสริม ศาลิคุปต[5] บรรเลงเผยแพร่ออกอากาศทางสถานีวิทยุมากกว่า 100 เพลง และมีงานบันทึกแผ่นซีดีอีกจำนวนมากในตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี[7]

งานแรกที่ได้ทำเมื่อเข้าทำงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม คือการสอนขับร้องเพลงไทยให้กับนักแสดงที่อยู่ในสังกัดคณะละคร อาทิ "นาฏศิลป์สัมพันธ์" ตัวอย่างนักแสดงที่มีชื่อเสียง เช่น นงลักษณ์ โรจนพรรณ ศิริพร วงศ์สวัสดิ์ ฉลอง สิมะเสถียร นันทวัน เมฆใหญ่ รอง เค้ามูลคดี[5] อีกทั้งได้เป็นนักร้องขับร้องเพลงไทยและขับเสภาประกอบประกอบการแสดงละครวิทยุโทรทัศน์ ในระหว่างนี้ยังได้ร่วมขับร้องเพลงไทยร่วมกับวงดนตรีไทย "ดุริยประณีต" และเคยได้รับเชิญให้ขับร้องเพลงไทยถวายหน้าพระพักตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสต่าง ๆ[6] อีกทั้งได้รับเชิญให้ขับร้องเพลงไทยร่วมกับวงดนตรีไทยอื่น ๆ เช่น "เสริมมิตรบรรเลง" เป็นต้น

ในด้านสื่อสารมวลชน ได้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดทำบทและดำเนินรายการวิทยุโทรทัศน์ เช่น "ไทยเพชรล้ำค่า" "คันธรรพศาลา" "เพลินเพลงกับนฤพนธ์" "รัตนสังคีต" "วรรณกรรมสังคีต" "อยู่อย่างไทย"[1] เป็นต้น และเป็นผู้จัดรายการลิเกโทรทัศน์ในชื่อคณะ "สุรางครัตน์"[2]

ผลงานทางวิชาการ แก้

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ ได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนรายวิชาคีตศิลป์ไทยให้สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ผลิตสื่อการเรียนที่เป็นทั้งเอกสารและสื่อโสตประกอบวิชาขับร้องเพลงไทยเอาไว้เป็นจำนวนมาก[7] เป็นวิทยากรให้ความรู้และกรรมการตัดสินการขับร้องเพลงไทยให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมศิลปากร กรมประชาสัมพันธ์ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อีกทั้งได้รับเชิญเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ ศิลปนิพนธ์ ให้แก่นิสิตนักศึกษา เช่น คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์[6] โดยมีผลงานเขียนทางวิชาการดนตรีศึกษาด้านกลวิธีการสอนขับร้องเพลงไทยเผยแพร่สู่สาธารณชน[2]

การสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานต่อสาธารณชน แก้

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ มีผลงานการประพันธ์ทางขับร้องเพลงไทย จำนวน 3 เพลง ได้แก่ "เทพรัญจวน เถา" "สุรินทราหู เถา"[6] "เทพนฤมิต เถา" และมีความคิดริเริ่มในการสร้างนวัตกรรมการสอนขับร้อง โดยได้ประพันธ์เพลงและทางขับร้องเพลงเพื่อใช้เป็นสื่อการสอนวิชาขับร้องเพลงไทยให้แก่นิสิตนักศึกษา[2] ได้แก่ "สามเสียงไพเราะ" "หัวใจเสียงเอื้อน" "กลวิธีการขับร้องเพลงไทย" และ "เสียงเอื้อนลูกกระทบ"[8]

มรณกรรม แก้

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร[9] ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ปอดติดเชื้อ ไตวาย สิริรวมอายุ 82 ปี ได้มีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตั้งบำเพ็ญกุศลศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส และเก็บศพเพื่อบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน[10] และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุด้านใต้ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

รางวัลเกียรติยศ แก้

สุรางค์ ดุริยพันธุ์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช 2560 จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

พงศาวลี แก้

ลำดับพงศาวลีของสุรางค์ ดุริยพันธุ์ เป็นดังนี้[3]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. คำประกาศเกียรติคุณ นางสุรางค์ ดุริยพันธุ์. 8 มีนาคม 2563. จากแหล่งข้อมูล ศิลปินแห่งชาติ National Artist. website : http://art.culture.go.th/art01.php?nid=307 เก็บถาวร 2020-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 สาขาวิชาดนตรีศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “สุรางค์ ดุริยพันธุ์ อัตชีวประวัติจากการให้สัมภาษณ์.” ใน ไหว้ครูดนตรีไทย 2552 งานมุทิตาจิต 72 ปี ครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์, 19-42. นครปฐม : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2552.
  3. 3.0 3.1 3.2 ราชบัณฑิตยสถาน. สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัตินักดนตรีนักร้อง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :ราชบัณฑิตยสถาน, 2549.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Passaponge Prerajirarat. "TEACHERS GIVE ON EDUCATION, MUSIC IS TO GIVE IT LIFE – ต้นแบบขับขานตำนานเพลงไทย." MiX Magazine. (ออนไลน์). 140; กรกฎาคม 2561. จากแหล่งข้อมูล MiX Magazine Thailand. website : https://www.mixmagazine.in.th/view.php?ref=00003556
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 พูนพิศ อมาตยกุล. รายการพบครูดนตรีไทย ตอนที่ 32. (ไฟล์เสียงดิจิทัล). นครปฐม มหาวิทยาลัยมหิดล : 2562จากแหล่งข้อมูล ห้องสมุดดนตรีสมเด็จพระเทพรัตน์ website: https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/music_teacher/surang-duriyaphan/
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ณัฐพล นาคะเต. “การศึกษาอัตลักษณ์และกระบวนการถ่ายทอดการขับร้องเพลงทยอยของครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์.” วิทยานิพนธ์, ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2555.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 ณรุทธ์ สุทธจิตต์. “การสอนการขับร้องเพลงไทยสำหรับผู้เรียนที่ไม่ใช่วิชาเอกขับร้องไทย โดย สุรางค์ ดุริยพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ.” วารสารครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 46 (4) : 118-135; ตุลาคม-ธันวาคม 2561.
  8. วัชรวรรณ มีศีล และคณะผู้จัดทำ. (2563). สาราคีตานุสรณ์ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://anyflip.com/bookcase/tgxt (ที่ระลึกพิธีพระราชทานเพลิงศพ คุณครูสุรางค์ ดุริยพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์))
  9. Khaosod Online. สิ้น ครูดนตรีไทย ‘สุรางค์ ดุริยพันธุ์’ ศิลปินแห่งชาติ เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 83 ปี. 14 กุมภาพันธ์ 2563. จากแหล่งข้อมูล ข่าวสด. website : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3575561
  10. Thai PBS News. สิ้นศิลปินแห่งชาติ “สุรางค์ ดุริยพันธุ์”. 14 กุมภาพันธ์ 2563. จากแหล่งข้อมูล สำนักงานข่าว Thai PBS. website : https://news.thaipbs.or.th/content/288966
  11. สำนักพระราชวัง. “เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ นางสาวสุรางค์ ดุริยพันธุ์ บ.ม. ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) พุทธศักราช 2560.” เลขที่ รล 00010/1345. 3 มีนาคม 2563.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้