ชาย เมืองสิงห์

(เปลี่ยนทางจาก สมเศียร พานทอง)

ชาย เมืองสิงห์ มีชื่อจริงว่า สมเศียร พานทอง ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ขับร้อง-นักประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) ประจำปี พ.ศ. 2538 ชาย เมืองสิงห์ ได้รับฉายา "อแลง เดอลอง เมืองไทย" และในยุคถัดมาได้รับอีกฉายาเป็น "แมนซิตี้ไลอ้อน" ชาย เมืองสิงห์ เป็นนักร้องที่มีลีลาการร้องเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและมีความสามารถในการประพันธ์เพลง เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ ชาย เมืองสิงห์ คือ “เพลงมาลัยดอกรัก”และอีกมากมายหลายเพลง และผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ชาย เมืองสิงห์ มากที่สุด คือ "เพลงเมียพี่มีชู้" นอกจากนั้นยังได้ประพันธ์เพลงลูกทุ่งเอาไว้ประมาณ 1,000 เพลง ซึ่งก็มีทั้งเอาไว้สำหรับขับร้องเองและให้ผู้อื่นขับร้อง และหลายเพลงติดอันดับยอดนิยมทำให้ได้รับการขนานนามให้เป็น “นักร้องลูกทุ่งสามสมัย” คงความยอดนิยมไว้ได้ทุกยุค ชาย เมืองสิงห์ ได้รับรางวัลเกียรติคุณในฐานะศิลปินดีเด่นหลายรางวัล มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่ยอมรับในวงการเพลงไทยลูกทุ่งเป็นอย่างยิ่ง

ชาย เมืองสิงห์
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 (84 ปี)
สมเศียร พานทอง
ตำบลบางมัญ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี
คู่สมรสสมจิตร มุกดา
อาชีพนักร้อง, นักประพันธ์เพลง, นักแสดงละคร, นักแสดงภาพยนตร์
ปีที่แสดงพ.ศ. 2504 - ปัจจุบัน
สังกัดวงดนตรีจุฬารัตน์

ประวัติ แก้

ชาย เมืองสิงห์ มีชื่อจริงว่า สมเศียร พานทอง เกิดวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2482 [1]ที่ตำบลบางมัญ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นบุตรของนายสี พานทอง กับ นางป่วน พานทอง จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดหัวว่าว จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสิงหะวัฒนพาหะ (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนสิงห์บุรี) ในภูมิลำเนาคือ จังหวัดสิงห์บุรีในปี 2499 ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นคนที่ชอบการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ เมื่อเงินไม่พอใช้ก็จะอาศัยไปร้องเพลงเชียร์รำวง แต่เมื่อเรียนได้ถึงชั้นปีที่ 4 เขาก็ต้องเลิกเรียน เพราะทางบ้านประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก ชาย เมืองสิงห์ ที่ตัดสินใจสู้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงต้องพยายามออกหางานทำ ซึ่งงานที่ว่าที่สุดยอดนักร้องลูกทุ่งเคยทำมาก็อย่างเช่นรับจ้างตากผัก เพื่อนำมาทำเป็นผักกาดกระป๋อง , กรรมกรตอกเสาเข็ม , รับจ้างเขียนป้าย และวาดรูป ต่อมาได้รับการอุปถัมภ์จาก นายอารมณ์ คงกะพัน และ นางศรี เอี่ยมสุข ผู้กว้างขวางที่ขายของอยู่แถวตลาดพลู ที่คอยช่วยเหลือและผลักดันให้ชาย เมืองสิงห์ เข้าประกวดร้องเพลงตามที่ต่าง ๆ เช่น ผับ สถานบันเทิงต่าง ๆ ตามถนนราชดำเนิน หรือ ซอยบุปผาสวรรค์ เป็นต้น

พอถึงปี 2504 ชาย เมืองสิงห์ มีโอกาสพบกับครูเพลงมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงจุฬารัตน์ จึงได้ขอสมัครเป็นนักร้องในวง แต่ครูมงคลยื่นเงื่อนไขว่าจะรับเขามาร่วมวง ก็ให้ไปแหล่สด ๆ แข่งกับพร ภิรมย์ นักร้องดังในวงจุฬารัตน์ และนักร้องลูกทุ่งชั้นแนวหน้าของประเทศในยุคนั้น ซึ่งชาย เมืองสิงห์ ก็ฝ่าด่านหินนั้นมาได้ด้วยการมาแหล่สดๆออกอากาศโต้กับพร ภิรมย์ ซึ่งด้วยน้ำเสียงที่แปลกเป็นเอกลักษณ์ และไหวพริบปฏิภาณที่ยอดเยี่ยมทำให้เขาได้รับการชื่นชมจากแฟนเพลงที่ฟังรายการ จนครูมงคล ต้องยอมรับเขาเข้าร่วมวงตามที่ประกาศเอาไว้ รวมทั้งตั้งชื่อให้เขาว่าชาย เมืองสิงห์ ก่อนจะผลักดันให้มีโอกาสบันทึกเสียงผลงานเพลงของตัวเอง ซึ่งชาย เมืองสิงห์ ก็ทำผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้ชาย เมืองสิงห์ มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ด้วยความสามารถด้านการแสดงหน้าเวที จนโด่งดังและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และหน้าตาที่หล่อ จึงทำให้เขาได้รับฉายาว่าจนได้รับฉายาว่าเป็น "อแลง เดอลอง เมืองไทย" และต่อมา คณะตลกเมืองไทยก็ตั้งฉายาให้เขาว่า “แมน ซิตี้ไลอ้อน“ ตามชื่อที่ถอดความมาจากภาษาอังกฤษแบบตรงตัว และฉายานี้ก็ยิ่งทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากขึ้นไปอีก ในช่วงปี พ.ศ. 2504 - 2516 เป็นช่วงประสบความสำเร็จสูงสุดในอาชีพของ ชาย เมืองสิงห์

ชาย เมืองสิงห์ อยู่กับวงจุฬารัตน์ 6 ปี พอถึงปี 2510 ก็ออกมารับงานร้องเพลงทั่วไปเอง ในปีต่อมาก็ตั้งวงดนตรีเล็ก ๆ ชื่อ “วงหลังเขาประยุกต์ “ ต่อมาขยายวงและเปลี่ยนชื่อเป็น “ จุฬาทิพย์ “ เพื่อรำลึกถึงวงที่ทำให้เขาโด่งดัง ซึ่งในช่วงที่ทำวงนี้ ชาย เมืองสิงห์ ได้ปลุกปั้นให้ลูกวงของเขาโด่งดังขึ้นมาในระดับแนวหน้าในภายหลังหลายคน เช่น โชคดี พักภู่ , เพชร โพธิ์ทอง , ระพิน ภูไท , ดี๋ ดอกมะดัน , ดู๋ ดอกกระโดน , สีหนุ่ม เชิญยิ้ม , หนุ่ม เมืองไพร , ดาวไทย ยืนยง , ถนอม จันทรเกตุ

ชาย เมืองสิงห์ ทำวงอยู่ 10 ปี จนราว ๆ ปี 2521 ก็ยุบวงไป เพราะมรสุมชีวิต ทั้งปัญหาครอบครัว และพ่อแม่เสียชีวิต เขาจึงห่างหายจากวงการเพลงไปนาน เมื่อผันตัวไปเป็นเกษตรกรทำไร่นาสวนผสมที่บ้านเกิดนานถึง 10 ปี จนได้รางวัลเกษตรกรดีเด่นของจังหวัด

ต่อมาเมื่อมีการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1 ในปี 2532 ชาย เมืองสิงห์ ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง 4 รางวัล ชาย เมืองสิงห์จึงกลับเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งไทยอีกครั้ง โดยมีการนำเอาทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่มาบันทึกเสียงจวบจนถึงทุกวันนี้ [2]

ในปลายปี 2557 ชาย เมืองสิงห์ ได้สร้างความฮือฮาเมื่อได้นำเอาเพลง “เมียพี่มีชู้” หนึ่งในเพลงที่โด่งดังที่สุดของตัวเอง มาเรียบเรียงและขับร้องใหม่เป็นดนตรีลูกทุ่งร่วมสมัยมากขึ้น ในสังกัดอาร์สยาม ในเครือของอาร์เอส โดยมีนักร้องลูกทุ่งร่วมสมัยมาร่วมร้องด้วย คือ จ๊ะ อาร์สยาม และใบเตย อาร์สยาม[3][4][5]

ผลงานการแต่งเพลง แก้

ชาย เมืองสิงห์ ยังมีความสามารถด้านการแต่งเพลงชนิดที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง เขามีเพลงที่แต่งไว้มากมายถึงราว 1 พันเพลง และเพลงที่เขาแต่งไว้ร้องเอง หรือแต่งให้นักร้องคนอื่นร้อง ก็ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงหลายสิบเพลง เช่น

  • ทำบุญร่วมชาติ
  • มาลัยน้ำใจ
  • มาลัยลอยวน
  • พ่อลูกอ่อน
  • รอหน่อยน้องติ๋ม
  • ลูกสาวใครหนอ
  • มาลัยดอกรัก
  • แก่นแก้ว
  • หยิกแกมหยอก
  • นาวาสวรรค์
  • กิ่งทองใบหยก
  • สิบห้าหยกๆ
  • เรือล่มในหนอง
  • แม่ขนตางอน
  • หญิงม่าย
  • เบื่อผู้หญิง
  • ฝนตกบ้านน้อง ฟ้าร้องบ้านพี่
  • รวยรักเหลือเกิน
  • ใกล้เกลือกินด่าง
  • บ้านเรือนเคียงกัน
  • กาคาบพริก
  • ทุกข์ร้อยแปด
  • น้ำนิ่งไหลลึก
  • แม่สื่อแม่ชัก
  • เมรี
  • สถานีรวมรัก
  • เมียพี่มีชู้
  • มันยกร่อง
  • พี่ไปหลายวัน
  • จับแพะชนแกะ
  • พ่อแก่แม่เฒ่า
  • จ้ำม้ำ
  • ชะทิงนอยนอย
  • แม่ยอดยาหยี

เพลงพิเศษ แก้

  • คนขายฝัน - เพลงพิเศษจากมหกรรมคอนเสิร์ต "ถูกใจคนไทย ร่วมใจใช้สินค้าถูกกฎหมาย" (สิงหาคม 2545)
  • พุทธานุภาพ (2545)
  • ราชาแห่งราชัน (2554) - จัดทำขึ้นเพื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร
  • ศรีเมืองไทย (2559)

The Man City Lion Project แก้

การกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ของ ชาย เมืองสิงห์ กับ ค่ายอาร์สยาม ในโปรเจกต์พิเศษ The Man City Lion Project ซึ่งมีเพลงที่ชายเมืองสิงห์ ขับร้อง แต่งเนื้อร้อง ทำนอง และเรียบเรียง รวมกันทั้งหมด 14 เพลง

เพลงที่ ชื่อเพลง นักร้อง หมายเหตุ
1 เมียพี่มีชู้ ชาย เมืองสิงห์
ใบเตย อาร์สยาม
จ๊ะ อาร์สยาม
ขับร้อง / คำร้อง /ทำนอง
2 ชะทิงนองนอย ชาย เมืองสิงห์
จินตหรา พูนลาภ อาร์สยาม
ขับร้อง / คำร้อง /ทำนอง
3 ลั่นทม ปาน ธนพร คำร้อง /ทำนอง
4 เมรี กระแต อาร์สยาม
กระต่าย อาร์สยาม
คำร้อง /ทำนอง
5 มาลัยน้ำใจ แจ๊ค ธนพล อาร์สยาม
แคท รัตกาล อาร์สยาม
คำร้อง /ทำนอง
6 มาลัยดอกรัก ชาย เมืองสิงห์
นฤพนธ์ พานทอง
ขับร้อง / คำร้อง /ทำนอง
7 16 หย่อนๆ ลูกตาล อาร์สยาม คำร้อง /ทำนอง
8 จับปลาสองมือ ยิ้ม อาร์สยาม คำร้อง /ทำนอง
9 ผีเข้าผีออก ชาย เมืองสิงห์
แมงปอ ชลธิชา อาร์สยาม
ขับร้อง / คำร้อง /ทำนอง
10 กุหลาบในใจน้อง หญิง ธิติกานต์ อาร์สยาม -
11 ฉันรักเธอ บิว กัลยาณี อาร์สยาม คำร้อง /ทำนอง
12 น้ำนิ่งไหลลึก เด่น อาร์สยาม คำร้อง /ทำนอง
13 ปากหวาน หนู มิเตอร์ อาร์สยาม คำร้อง /ทำนอง
14 พี่ไปหลายวัน กุ้ง สุธิราช อาร์สยาม
วิรดา วงศ์เทวัญ อาร์สยาม
-

ผลงานการแสดง แก้

  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ศึกเสือไทย (2508)
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง จำปาสี่ต้น (2512) ช่อง 5
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง วิมานสีทอง (2514)
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง กุหลาบไฟ (2516)
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ไอ้ฟ้าผ่า (2522)
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง มนต์เพลงนักเลงบ้านนอก (2537)
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง มนต์รักลูกทุ่ง (2538) ช่อง 7
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง สวรรค์บ้านทุ่ง (2541) ช่อง 9
  • ละครโทรทัศน์เฉลิมพระเกียรติเรื่อง พ่อ ตอน เพลงของพ่อ (2542) ช่อง 5
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง อะเมซซิ่งโคกเจริญ (2544) ช่อง 3
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง มนต์เพลงลูกทุ่งเอฟเอ็ม (2545) รับบท โจรพันหน้า (ตัวปลอมที่ 5)
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง หัวใจไกลปืนเที่ยง (2545) ช่อง 7 รับบท สัปเหร่อเที่ยง
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง ลิเก๊ ลิเก (2546) ช่อง 7 รับบท ครูเทียม
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง กระสือวาเลนไทน์ (2549)
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง ผีเสื้อสมุทร (2549) รับบท เฒ่าโล้
  • ภาพยนตร์ไทยเรื่อง หนุมานคลุกฝุ่น (2551) รับบท ครูชาย
  • ละครโทรทัศน์เรื่อง เพลงรักข้ามภพ (2552) ช่อง 7 รับบท น้อยหน่า

เพลงประกอบละคร แก้

  • เพลง "อย่ายอมแพ้" ประกอบละครเรื่อง อะเมซซิ่งโคกเจริญ (พ.ศ. 2544)
  • เพลง "อายผี" ประกอบละครเรื่อง หัวใจไกลปืนเที่ยง (พ.ศ. 2545)
  • เพลง "ชีวิตลิเก" ประกอบละครเรื่อง ลิเก๊ ลิเก 1 (พ.ศ. 2546)
  • เพลง "ไหว้ครู" ประกอบละครเรื่อง ลิเก๊ ลิเก 2 (พ.ศ. 2546)

คอนเสิร์ต แก้

  • คอนเสิร์ต ลูกทุ่งออเคสตร้า กาญจนาภิเษก (24-25 มกราคม 2540)
  • คอนเสิร์ต ละครอินคอนเสิร์ต (2543)
  • คอนเสิร์ต การกุศล ลูกกรุง vs. ลูกทุ่ง (2545)
  • คอนเสิร์ต ถูกใจคนไทย ร่วมใจใช้สินค้าถูกกฎหมาย (18 สิงหาคม 2545)
  • คอนเสิร์ต Pattaya Music Festival 2003 (23 มีนาคม 2546)
  • คอนเสิร์ต 14 ตุลา วันประชาธิปไตย (14 ตุลาคม 2546)
  • คอนเสิร์ต สายธารประชาธิปไตย (2546)
  • คอนเสิร์ต รำวงมหาสนุก (2549)
  • คอนเสิร์ต สินเจริญ เชิญแหลก (31 มีนาคม 2550)
  • คอนเสิร์ต มนต์เพลงคาราบาว (7 กรกฎาคม 2550)
  • คอนเสิร์ต อาลัย...ยอดรัก สลักใจ (16 สิงหาคม 2551)
  • คอนเสิร์ต ลูกทุ่งจ๋ามหาสนุก (21 – 22 เมษายน 2555)
  • คอนเสิร์ต เพลงเก่าเล่าเรื่อง (12 กรกฎาคม 2555)
  • คอนเสิร์ต คีตศิลปินไทย ร่วมร้อยใจ เทิดไท้แม่แห่งแผ่นดิน (29 สิงหาคม 2555)
  • คอนเสิร์ต รำลึก 30 ปี ล้อต๊อก ตลก 4 แผ่นดิน (30 กันยายน 2555)
  • คอนเสิร์ต เพลงเก่า เล่าเรื่อง (18 พฤศจิกายน 2555)
  • คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 4 (8 ธันวาคม 2555)
  • คอนเสิร์ต ปีใหม่ถวายพระพร (12 มกราคม 2557)
  • คอนเสิร์ต ลูกทุ่งเฟสติวัล ครั้งที่ 4 (20 - 21 ธันวาคม 2557)
  • คอนเสิร์ต ลูกทุ่งเพื่อแผ่นดิน (6 กันยายน 2558)
  • คอนเสิร์ต เพลินเพลง ลูกทุ่งไทย ตอน ลูกทุ่งในดวงใจ ครั้งที่ 1 เดอะแมนซิตี้ไลอ้อน (29 พฤศจิกายน 2558)
  • คอนเสิร์ต งานอีแต๋นแว๊นเข้ากรุง (25 มิถุนายน 2559)
  • คอนเสิร์ต 8 ปี ตำนานแห่งสายน้ำ ครูชลธี ธารทอง (2 พฤษภาคม 2560)
  • คอนเสิร์ต แคมป์ไฟดนตรี มาลีฮวนน่า ครั้งที่ 8 (10 ธันวาคม 2560)
  • คอนเสิร์ต สืบสานลูกทุ่งคู่ไทย (3 กุมภาพันธ์ 2561)
  • คอนเสิร์ต รำลึก 26 ปี ราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์ (25 มิถุนายน 2561)
  • คอนเสิร์ต รำลึก พ่อดม ชวนชื่น (26 ธันวาคม 2561)
  • คอนเสิร์ต สงกรานต์บ้านนา (21 เมษายน 2562)
  • คอนเสิร์ต ครบรอบ 1 ปี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ (12 มกราคม 2566)
  • คอนเสิร์ต 84 ปี ลูกทุ่งไทย (14 มกราคม 2567)

ผลงานเพลง แก้

  • ภาค.พิสดาร3 (2535)
  • คาราวะคาราวาน (2537)
  • เมดเล่ย์ สุดยอด ลูกทุ่งกึ่งศตวรรษ (กรกฎาคม 2538)
  • รวมเพลงลูกทุ่ง IMF ที่สุดของลูกทุ่ง
  • ลูกทุ่งออเคสตร้า กาญจนาภิเษก (2540)
  • สวรรค์บ้านทุ่ง (2541)
  • ลูกทุ่ง พลังไทย
  • ลูกทุ่งมหาชน (2542)
  • สายด่วนลูกทุ่ง (2543)
  • สี่เหน่อผู้ยิ่งใหญ่ ร่วมกับ จรัล มโนเพ็ชร, ทอม ดันดี และ สามารถ พยัคฆ์อรุณ (2543)
  • ต้นตระกูลเพลงดัง
  • 16 เพลงรักโดนใจ
  • Drama-o-ke (2545)
  • บ่ย้านบาป (2546)
  • 16 เพลงซึ้งโดนใจ
  • ลูกทุ่ง สามทศวรรษ
  • ฝากไว้ในแผ่นดิน ชาย เมืองสิงห์ (2547)
  • พยงค์ มุกดา ฝากไว้ในแผ่นดิน ชุดที่ 2 จากใจผูกพัน (22 ตุลาคม 2547)
  • เปิดกรุเพลงดัง ชาย เมืองสิงห์
  • เรารักเมืองไทย (2548)
  • 10 ปี แกรมมี่ โกลด์ ดนตรีไม่มีพรมแดน ชุดที่ 3 (26 กรกฎาคม 2548)
  • ลูกทุ่งสามช่า
  • สุดยอดลูกทุ่ง ผู้ชายพันล้าน
  • รำวงย้อนยุด คณะ รวมดาวลูกทุ่ง
  • ลูกทุ่งเอฟเอ็ม
  • มนต์เพลงคาราบาว (พฤษภาคม 2550)
  • ฮิตทั่วไทย ใจลูกทุ่ง
  • รวมเพลงฮิต 120 เพลงดัง ดีที่สุด
  • ลูกทุ่งที่คิดถึง
  • มหาชนคนลูกทุ่ง
  • หนึ่งในสยาม รวมศิลปินลูกทุ่งชาย
  • ฮิตตัวพ่อ
  • รวม 15 ศิลปินดัง
  • สุดยอดลูกทุ่งไทย
  • ลำนำเพลงลูกทุ่ง
  • ลูกทุ่งฮิตโดนใจ
  • ลูกทุ่งยอดฮิต
  • ลูกทุ่งรวมดาวเพลงดัง
  • เพลงดังฟังสบาย 12 นักร้อง 12 เพลงอมตะ
  • สุดฮิตมรดกลูกทุ่งไทย
  • 16 ขุนพลเพลงลูกทุ่ง
  • ลูกทุ่งกรุงไทย
  • รวมเพลงฮิต 5 ดาว
  • โจ๊ะ! กำลัง 2 (31 มีนาคม 2559)

ผลงานเพลงที่กล่าวถึงศิลปินท่านอื่น ๆ แก้

  • เพลง ขันหมากลูกทุ่ง ร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร (เป็นบทเพลงที่กล่าวถึงศิลปินลูกทุ่ง โดยมีเนื้อร้องอยู่ท่อนหนึ่งที่กล่าวถึงชื่อของ ชาย เมืองสิงห์)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

เกียรติยศ แก้

  • โล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 1 ในปี 2532 จากการแต่งและร้องเพลง พ่อลูกอ่อน และ ทำบุญร่วมชาติ รวม 4 รางวัล
  • โล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ 2 ในปี 2534 จากการแต่งและร้องเพลง ลูกสาวใครหนอ รวม 2 รางวัล
  • รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลงที่ใช้ภาษาไทยดีเด่น ของมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2534
  • ได้รับการยกย่องเป็นผู้ที่มีผลงานดีเด่นทาง ด้านวัฒนธรรม (สาขาศิลปะและการช่างฝีมือ) ประจำภาคกลางตอนบน ปี 2535
  • รางวัลเกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวานกึ่งศตวรรษสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ภาคพิเศษ ปี 2537 จากเพลงทุกข์ร้อยแปด
  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง – นักแต่งเพลง ปี 2538

สังคมนิยม แก้

  1. ยืนยง โอภากุล (หรือ แอ๊ด คาราบาว) นักร้องนำวงคาราบาว ได้แต่งเพลงเชิดชูให้กับ ชาย เมืองสิงห์ ในเพลง เดอะแมนซิตี้ไลอ้อน (ในอัลบั้ม เดอะแมนซิตี้ไลอ้อน เมื่อปี พ.ศ. 2539) [6]

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติ "ชาย เมืองสิงห์" ศิษย์เอกวงดนตรี "จุฬารัตน์"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-14. สืบค้นเมื่อ 2013-09-14.
  2. "ประวัติชาย เมืองสิงห์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-14. สืบค้นเมื่อ 2013-09-14.
  3. หน้า 33 บันเทิง, 'ใบเตย' - 'จ๊ะ อาร์สยาม' ร่วมฟีทฯ 'ชาย เมืองสิงห์' ในเพลง 'เมียพี่มีชู้' . เดลินิวส์ฉบับที่ 23,776: วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 แรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย
  4. "น้ำหมากกระจาย !!! mv เมียพี่มีชู้ ชายเมืองสิงห์ feat ใบเตย-จ้ะ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2014-11-22.
  5. "'ชาย เมืองสิงห์'ฟิเจอริ่ง'จ๊ะ-ใบเตย-กระแต-จินตหรา-หญิง'". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-12-04. สืบค้นเมื่อ 2014-11-22.
  6. ฟังเพลง เดอะแมนซิตี้ไลอ้อน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้