ตลาดพลู
ตลาดพลู เป็นชื่อย่านและตลาดตั้งอยู่บริเวณถนนเทอดไท แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี ติดกับคลองบางกอกใหญ่ ขอบเขตตลาดพลูด้านกายภาพ อาจแบ่งเป็นย่านกับส่วนตลาด ย่านตลาดพลูกินพื้นที่ริมคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวงฝั่งซ้าย นับแต่วัดเวฬุราชิณเรื่อยไปจนจรดวัดขุนจันทร์ ริมคลองด่านหรือคลองสนามชัย ส่วนตลาดเริ่มตั้งแต่สะพานช้างตรงคลองวัดราชคฤห์วรวิหาร ถึงบริเวณสะพานรัชดาภิเษก ซึ่งมีถนนตอนในเรียกว่า ถนนตลาดพลู ไม่เรียกตลาดวัดกลางว่าตลาดพลู แต่ตลาดวัดกลางจัดอยู่ในย่านตลาดพลู
ประวัติ
แก้ชุมชนโบราณ
แก้พื้นที่ย่านตลาดพลูเป็นที่ราบลุ่มติดคลองบางหลวงซึ่งในอดีตเคยเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม เมื่อมีการขุดคลองลัดบางกอกในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077–2089) ทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนสภาพคับแคบลง
ชุมชนโบราณย่านตลาดพลูมีหลักฐานการอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนของกลุ่มชนต่าง ๆ ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งชาวมอญ มุสลิม และจีน จากหลักฐานใน พงศาวดารกรุงธนบุรี ได้กล่าวถึงพื้นที่บริเวณตลาดพลูว่ายังมีสภาพป่ารก ต่อมาเมื่อมีผู้อพยพมามากขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ย่านตลาดพลูจึงกลายเป็นพื้นที่สวน[1]
ตลาดซื้อขายพลู
แก้ครั้นชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี เมื่อย้ายราชธานีไปยังฝั่งพระนคร ชาวจีนที่ตลาดพลูบางส่วนจึงได้ย้ายไปสำเพ็ง และมีชาวมุสลิมจากภาคใต้ย้ายเข้ามาแทนที่[2] ได้ริเริ่มการทำสวนพลูที่นี่ ทั้งชาวมุสลิมและชาวจีนต่างทำสวนพลูจนเป็นอาชีพที่แพร่หลาย เกิดเป็นตลาดซื้อขายพลูที่เรียกว่า "ตลาดพลู" จนบัดนี้[3] สันนิษฐานว่าชื่อ "ตลาดพลู" มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างน้อย[4] หลักฐานจากหนังสือจดหมายเหตุ บางกอกรีคอร์เดอร์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2408 (รัชกาลที่ 4) ปรากฏเนื้อหาเรื่อง "รายชื่อผู้ที่ซื้อจดหมายเหตุนี้... เจ้าแบน บ้านอยู่ริมตลาดพลูข้างใน....."
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถือว่าเป็นแหล่งปลูกพลูสำคัญในย่านบางไส้ไก่และย่านบางยี่เรือ ตลาดท้องน้ำในย่านนี้กินพื้นที่กว้างตั้งแต่ปากคลองด่านไปจนถึงหน้าวัดเวฬุราชิณ แต่หนาแน่นในแถบหน้าวัดอินทารามวรวิหาร วัดจันทารามวรวิหาร และวัดราชคฤห์วรวิหาร ซึ่งชาวบ้านเรียกออกเป็นสองตลาดใหญ่ ๆ คือ ตลาดวัดกลาง กับ ตลาดพลู โดยขอบเขตพื้นที่ของตลาดวัดกลางและตลาดพลูปรากฏชัดเจนขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ระบุว่า ตลาดพลูกินพื้นที่บริเวณตั้งแต่ปากคลองบางน้ำชนไปถึงปากคลองบางสะแก ส่วนตลาดวัดกลางนั้นเริ่มตั้งแต่วัดอินทารามเรื่อยมาถึงวัดราชคฤห์[5] หลักฐานจากหนังสือของกรมไปรษณีย์ สารบาญชีส่วนที่ 2 คือ ราษฎรในจังหวัด ถนน และตรอก จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2426 รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่ม 2) ปรากฏคำว่า ถนนตลาดพลู[6]
รถไฟสายท่าจีนจากคลองสาน
แก้พ.ศ. 2445 ได้มีการสร้างทางรถไฟสายท่าจีนจากคลองสาน จังหวัดธนบุรี ถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ทำให้สะดวกต่อการขนส่งอาหารทะเลขึ้นมาขาย ตลาดพลูเป็นที่ตั้งของสถานีตลาดพลู ย่านตลาดพลูได้กลายเป็นชุมทางของการสัญจรที่คนในท้องที่สวนด้านในจากหนองแขม บางแค บางแวก บางขุนเทียน มีการสัญจรโดยเส้นทางเรือ เพื่อต่อเรือเมล์หรือรถไฟเข้าไปในพระนครหรือเมืองแม่กลองและหัวเมืองทางใต้ อีกทั้งตลาดพลูมีโรงบ่อนเบี้ยหลวง บ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายของรัฐ และมีโรงหนัง โรงงิ้ว โรงยาฝิ่น ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในย่านตลาดพลู ทำให้การค้าในพื้นที่นี้เติบโตกลายเป็นตลาดใหญ่สุดในย่านฝั่งธนบุรี ค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งผลิตในประเทศและจากเมืองจีน ได้แก่ เครื่องโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เตียง ถ้วยชาม เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว น้ำปลา ลูกพลับ ลูกไหน ลิ้นจี่ดอง ใบชา เหล้าจีน เครื่องอัฐบริขาร เครื่องจันอับ ตลอดจนขนมและข้าวของเซ่นไหว้นานาชนิดของคนจีน[5]
ตัดถนนเทอดไท
แก้กระทั่งช่วง พ.ศ. 2480 มีการตัดถนนเทอดไทผ่านเข้ามาในย่านตลาดพลู ตลาดพลูปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรอย่างเดียวมาทำการค้าโชห่วย เปิดร้านอาหาร และธุรกิจอย่างอื่น เช่น โรงงานยาหม่องตราถ้วยทอง ยาหอมตรา 5 เจดีย์ โรงทำเต้าเจี้ยว โรงนึ่งปลาทู โรงน้ำปลา เป็นต้น นับเป็นช่วงที่มีความเจริญสูงสุดของตลาดพลู รวมทั้งการค้าพลูก็ยังคงมีความคึกคักเช่นเดิม เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ผู้คนฝั่งพระนครพากันอพยพหลบหนีเข้ามาอยู่ในสวน และยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2485 ส่งผลให้สวนล่ม และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีนโยบายให้ยกเลิกการกินหมากพลู ส่งผลให้การค้าพลูหยุดลง
จนราว พ.ศ. 2500 รัฐบาลมีแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยขยายเมืองและสร้างสาธารณูปโภค มีการถมคลอง สร้างบ้านเช่าห้างร้านมากขึ้น ทำให้พื้นที่สวนลดน้อยลงเรื่อย ๆ ผู้คนจำนวนมากต่างเลิกทำสวน พื้นที่การเกษตรถูกปรับเปลี่ยนเป็นย่านที่อยู่อาศัย อีกทั้งพื้นที่การค้าหลักของย่านถูกถนนตัดคร่อม จากท่าพระถึงแยกถนนจรัญสนิทวงศ์และเส้นทางรถไฟสายแม่กลองมาสิ้นสุดที่วงเวียนใหญ่ ย่านวงเวียนใหญ่จึงพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการค้าขึ้นมาแทนที่ ทำให้ตลาดพลูซบเซาลง[5]
ตลาดพลูเคยมีโรงภาพยนตร์ 2 โรง[7] คือ โรงหนังศรีนครธน (พ.ศ. 2510) และโรงหนังศรีตลาดพลู (พ.ศ. 2504)[8] ซึ่งถูกเวนคืนที่ดินราว พ.ศ. 2524 ในช่วง พ.ศ. 2526 มีการตัดถนนรัชดา-ท่าพระ ทำให้เกิดผลทางด้านลบทางเศรษฐกิจเนื่องจากร้านค้าถูกเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนน[1]
ปัจจุบัน
แก้ในปัจจุบัน ตลาดพลูขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องการเป็นแหล่งขายอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารจีนที่เป็นอาหารริมทาง เช่น ข้าวหมูแดง, ไอศกรีมกะทิไข่แข็ง, ก๋วยเตี๋ยวและเกาเหลาเนื้อ, ขนมไทย, เย็นตาโฟ, หมี่กรอบ, ขนมเบื้องทั้งของไทยและญวน[7] รวมถึงขนมบดิน ขนมเค้กแบบดั้งเดิมของชาวมุสลิมด้านมัสยิดสวนพลู[9] และที่มีชื่ออย่างมากคือ ขนมกุยช่าย ซึ่งเป็นอาหารกินเล่นหรือขนมของชาวแต้จิ๋ว[2] อาหารเก่าแก่ของย่านนี้ คือ หมี่กรอบจีนหลี (เต็กเฮง) สืบทอดกันมาร่วม 100 ปี ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เขียนไว้ว่า "กระทะที่ผัดนั้นใหญ่เหลือเกินข้าพเจ้าเป็นเด็กโอบปากไม่รอบ เวลาเขาผัดนั้นเส้นหมี่กับเครื่องลงไปอยู่ก้นกระทะนิดเดียว แทบไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะกระทะลึกมากเสร็จแล้วเขาช้อนมาใส่กระทงใบตองขนาดกลาง ดูก็มากเหมือนกัน หมี่ตลาดพลูนี้ผัดไม่หยุดมือ เพราะรสดีมีคนติดกันทั่วไป"[10] ปัจจุบันยังมีขายอยู่ใต้สะพานรัชดาภิเษก[11]
ตลาดวัดกลางเป็นตลาดใหญ่ที่ยังคงขายอาหารสดและอาหารแห้ง รวมถึงของอุปโภคบริโภค แนวทางเดินริมเขื่อนที่เป็นถนนในมีร้านขายยา ร้านขายอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องจักสาน ไปจนถึงหลังวัดราชคฤห์ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟตลาดพลูเป็นร้านค้าสองฝั่งถนนเทอดไท และยังมีคลินิก บริเวณริมคลองวัดจันทารามเป็นแผงขายของสด ส่วนบริเวณแนวซอยถนนเทอดไท 12 เป็นร้านขายของชำของคนจีน ของอุปโภคบริโภค[5]
สภาพทางกายภาพและกลุ่มคน
แก้ย่านตลาดพลู ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางหลวง หรือ คลองบางกอกใหญ่ ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม ที่ต่อมาจะมีการขุดแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2085 ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช[12] มีคลองมาเชื่อมคลองบางหลวงอยู่หลายสายในลักษณะก้างปลา ได้แก่ คลองสำเหร่ เป็นคลองที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า "คลองวัดอิน" อีกคลองหนึ่งที่ออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้ คือ คลองบางน้ำชน ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า "คลองวัดราชคฤห์"[13]
ละแวกที่ตั้งอยู่บนถนนเทอดไท แออัดไปด้วยตึกแถว มีอพาร์ตเมนต์ตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50–400 ตารางวา ซ่อนอยู่หลังตึกแถว มีบ้านไม้ชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง ส่วนใหญ่ค่อนข้างเก่า บ้านไม้เหล่านี้ปลูกบนที่ดินวัดบ้าง ที่กระทรวงการคลังบ้าง หรือที่ดินเอกชน มีบ้านเช่าทั้งริมถนนเทอดไทและสองฝั่งทางรถไฟ มีสภาพแออัดยัดเยียด[14] ด้านชาติพันธุ์ในย่านตลาดพลูมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ ไทย จีน มุสลิม และมอญ
กลุ่มคนไทยในปัจจุบัน เป็นกลุ่มขุนนางเก่าและราษฎรทั่วไปและโดยมากจะเป็นคนกลุ่มดั้งเดิม ตั้งบ้านเรือนตามริมคลองต่าง ๆ แต่ตามคลองหลักอย่างคลองบางหลวง จะเป็นบ้านขุนนางเป็นหลัก เช่น บ้านคุณพระเสริม บ้านหลวงประจักษ์สรรพากร ฯลฯ ส่วนบ้านราษฎรจะกระจายตั้งแต่วัดเวฬูราชิณไปจนถึงปากคลองด่าน[15] กลุ่มคนจีนเป็นทั้งคหบดีรวมถึงที่มาค้าขายทั่วไป เช่น สายตระกูลแซ่เฮ้า แซ่ลิ้ม แซ่แต้ ฯลฯ คนรุ่นหลังในย่านตลาดพลูเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมากและถือว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในย่านตลาดพลู[16]
กลุ่มมุสลิมตั้งถิ่นฐานช่วงคลองเวฬุราชิณต่อกับคลองสำเหร่ กลุ่มนี้เรียกตนเองว่า "มุสลิมบ้านสวน" ถูกกวาดต้อนมาจากปัตตานีตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมามีมุสลิมภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น แขกปาทาน และมีมุสลิมจากพระนครศรีอยุธยามาตั้งถิ่นฐาน กลุ่มนี้มักทำอาชีพค้าขายเนื้อวัว ส่วนกลุ่มคนมอญในยุคนี้มีค่อนข้างน้อย มอญเริ่มหายไปตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา[17]
ตลาดพลูเริ่มมีการแบ่งเขตนับแต่การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2449 ย่านตลาดพลูเป็นส่วนหนึ่งของตำบลและแขวงตามตารางด้านล่าง[18]
พ.ศ. | ตำบล/แขวง | อำเภอ/เขต | มณฑล/จังหวัด |
---|---|---|---|
2449 | ตำบลตลาดพลู | อำเภอบางกอกใหญ่ | มณฑลกรุงเทพ |
2458 | ตำบลตลาดพลู | อำเภอราชคฤห์ | ธนบุรี |
2459 | ตำบลตลาดพลู | อำเภอบางยี่เรือ | ธนบุรี |
2482 | ตำบลตลาดพลู | อำเภอธนบุรี | ธนบุรี |
2514 | ตำบลตลาดพลู | อำเภอธนบุรี | นครหลวงกรุงเทพธนบุรี |
2515 | แขวงตลาดพลู | เขตธนบุรี | กรุงเทพมหานคร |
สถานที่สำคัญที่อยู่ใกล้เคียง
แก้วัด
แก้ย่านตลาดพลูมีวัดเก่าแก่อยู่หลายวัด วัดอินทารามวรวิหาร (วัดบางยี่เรือนอก วัดบางยี่เรือใต้ หรือวัดใต้) วัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา วัดแห่งนี้มีความสำคัญสูงสุดในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ใหม่ทั้งหมด พระองค์ยังทรงเสด็จมาประกอบพระราชกุศล และปฏิบัติกรรมฐานอยู่เสมอ ๆ โดยยังมีพระราชอาสน์ที่พระองค์ทรงประทับทรงศีลอยู่ภายในวัด วัดราชคฤห์วรวิหาร (วัดบางยี่เรือใน วัดบางยี่เรือมอญ หรือวัดเหนือ) มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยกรุงธนบุรี โดยพระยาสีหราชเดโชหรือพระยาพิชัยดาบหัก วัดโพธินิมิตรสถิตมหาสีมารามเป็นวัดฝ่ายมหานิกายที่มีการผูกพัทธสีมาสองชั้น คือพัทธสีมาและมหาพัทธสีมา[3] วัดวรามาตยภัณฑสาราราม (วัดขุนจันทร์) สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2380 โดยพระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม อมาตยกุล) วัดจันทารามวรวิหารสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้บูรณะในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 วัดเวฬุราชิณสร้างขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกัน 2 แผ่นดิน คือ รัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4[19] และวัดกันตทาราราม (วัดใหม่จีนกัน) สร้างบนที่ดินซึ่งแต่เดิมเป็นสวนพลูเมื่อ พ.ศ. 2434
-
วัดอินทารามวรวิหาร
-
วัดราชคฤห์วรวิหาร
-
วัดโพธินิมิตร
-
วัดขุนจันทร์
-
วัดเวฬุราชิณ
-
วัดกันตทาราราม
-
วัดจันทารามวรวิหาร
ศาสนสถานอื่น
แก้ย่านตลาดพลูมีศาสนสถานของชาวมุสลิม คือ มัสยิดสวนพลู ไม่ทราบประวัติการสร้าง แต่น่าจะสร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ศาสนสถานคริสต์ศาสนา คือ คริสตจักรตลาดพลูแป๊บติส และมีศาสนสถานของชาวจีนมีมากมายทั้งเล็กทั้งใหญ่ มีอายุตั้งแต่ร้อยปีจนถึงเพิ่งตั้ง เช่น ศาลเจ้าแม่อาเนี้ยวหรือเจ้าแม่กวนอิม อยู่ใกล้วัดกันตทาราราม ศาลเจ้าพ่อพระเพลิง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 ศาลเจ้าแม่ไทร และศาลเจ้าพ่อเขาตก เป็นต้น ยังมีโรงเจอีก 2 แห่ง คือ โรงเจเซี่ยนโกและโรงเจเซี่ยงเข่งตั๊ว[20]
สถานที่ราชการ สถานศึกษา
แก้โรงเรียนในตลาดพลูส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณวัดแทบทุกโรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดเวฬุราชิณ โรงเรียนวัดอินทาราม โรงเรียนวัดราชคฤห์ และโรงเรียนวัดขุนจันทร์ เป็นต้น โรงเรียนเอกชนมี โรงเรียนสหนิยม โรงเรียนกงลี้จงซัน เป็นต้น มีสถานที่ราชการ เช่น ศูนย์เยาวชนเวฬุราชิณ ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟตลาดพลู สถานีตำรวจตลาดพลู[21]
การคมนาคม
แก้อดีต
แก้คลองบางหลวงและคลองแยกต่าง ๆ ในอดีตใช้เรือเป็นพาหนะเป็นหลัก บิดาของขุนวิจิตรมาตราซึ่งเป็นผู้พิพากษา มีบ้านอยู่เยื้องวัดเวฬุราชิณ เดินทางข้ามฝั่งมากรุงเทพ ใช้เรือจ้างส่วนตัวที่มีทาสแจว ใช้เวลาเพียง 20 นาที สำหรับราษฎรทั่วไป มีเรือรับจ้างวิ่งระหว่างตลาดพลูกับท่าเตียนและปากคลองตลาด รวมถึงไปคลองด่าน คลองภาษีเจริญ โดยเมื่อ พ.ศ. 2431 มีเรือกลไฟแล่นในคลองบางหลวง โดยเริ่มจากท่าเตียนไปยังตลาดพลู และต่อขยายไปยังวัดท่าข้าม นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2453 มีบริษัทบางหลวง หรือคนสมัยนั้นเรียกว่า "เรือเมล์ขาว" วิ่งระหว่างตลาดพลูกับท่าน้ำราชวงศ์ ดำเนินงาน 10 ปี ก็ได้เลิกไป ปัจจุบันยังคงเห็นหลักฐานในการวิ่งเรือ คือ ศาลาท่าน้ำภิรมย์ภักดี อยู่หน้าวัดอินทาราม[22]
ย่านตลาดพลูมีถนนสายเล็ก ๆ สายหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า "ถนนตลาดพลู" กว้าง 3 ศอก ยาว 4 เส้น 4 วา ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2453 ได้มีการเรี่ยไรเงินจากราษฎรขยายออกไปเป็น 6 ศอก มีร่องน้ำสองข้าง ปูพื้นด้วยกระเบื้องซีเมนต์ขนาดใหญ่ พร้อมสร้างสะพานข้ามคูริมโรงบ่อนตลาดพลูและข้ามคลองสะพานบางน้ำชน พระยายมราชได้ทำพิธีเปิดถนนนี้ ได้ให้ชื่อว่า "ถนนสามัคคี"[23] สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี สันนิษฐานว่า ถนนสามัคคีนับตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองบางน้ำชนตรงมาตามแนวถนนในซอยเทอดไท 16 จรดสะพานตลาดพลู[24] ในอดีตมีรถลากหรือรถเจ๊ก ดำเนินงานโดยอาศัยอยู่โรงขัดแตะย่านตลาดพลู 3 คน น่าจะราว พ.ศ. 2426[25]
ปัจจุบัน
แก้ปัจจุบันผู้คนย่านนี้เดินทางทั้งทางบกและทางน้ำ ทางบกมีถนนสายหลักคือ ถนนเทอดไท หัวถนนต่อเนื่องกับถนนอินทรพิทักษ์ มีชุมนุมรถเมล์หลายสาย คือ สาย 4 (ท่าน้ำภาษีเจริญ-ท่าเรือคลองเตย) สาย 9 (ถนนกัลปพฤกษ์-สถานีรถไฟสามเสน) สาย 43 (โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-เทเวศร์) สาย 111 วงกลมเจริญนคร และสาย 205 (กรมศุลกากร-เดอะมอลล์ท่าพระ) บริเวณที่กลับรถใต้สะพานฝั่งถนนรัชดาภิเษก รวมถึงยังมีรถซูบารุวิ่งระหว่างวัดสิงห์-ตลาดพลู วัดขุนจันทร์-กรุงธนบุรี-คลองสาน และตลาดพลู-โรงพยาบาลศิริราช ส่วนทางรถไฟวิ่งระหว่างวงเวียนใหญ่-มหาชัย[26] การคมนาคมทางน้ำในคลองบางหลวง บริเวณประตูน้ำภาษีเจริญ มีเรือหางยาว ตั้งต้นที่ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง ไปตามคลอง และมีเรือโดยสารคลองภาษีเจริญ วิ่งจากท่าเทียบเรือประตูน้ำภาษีเจริญไปจนถึงเพชรเกษม 69 รวมทั้งหมดจำนวน 15 ท่า ระยะทางประมาณ 11.50 กิโลเมตร[27]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 "การศึกษาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนย่านตลาดพลู" (PDF).
- ↑ 2.0 2.1 "ตลาดพลู อู่อาหาร คลังการค้านานาชาติ แห่งราชธานี". พินิจนคร. 2009-12-07.
- ↑ 3.0 3.1 ชมวัดงาม เที่ยวย่านถิ่นเก่าที่ "ตลาดพลู" เก็บถาวร 2007-05-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนโดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 เมษายน 2550 15:15 น.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 41.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 ปิลันธน์ ไทยสรวง. ""ตลาดพลู" ไชน่าทาวน์ฝั่งธนฯ ในวันไร้พลู". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-26. สืบค้นเมื่อ 2021-05-26.
- ↑ "ตลาดพลู". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
- ↑ 7.0 7.1 thepureway (2017-09-27). "Line กนก รากเหง้าหรืออำนาจเงิน ของดีย่านธนบุรี". เอ็มไทยดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-03. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
- ↑ ""โรงภาพยนตร์" สงครามที่กำลังร้อนระอุ". นิตยสารผู้จัดการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-26. สืบค้นเมื่อ 2021-05-26.
- ↑ "ขนมบดินสูตรโบราณ". โอทอปทูเดย์ดอตคอม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-02. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
- ↑ ขุนวิจิตรมาตรา. "ชีวิตความเป็นอยู่และขนบธรรมเนียมประเพณี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-24.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 102.
- ↑ "ประวัติการชลประทานในประเทศไทย". สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-08-24. สืบค้นเมื่อ 2021-08-24.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 21.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 23.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 142.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 144.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 145.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 41.
- ↑ "วัดเวฬุราชิน (๔ มิถุนายน ๒๕๕๓)". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. 4 มิถุนายน 2553.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 35.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 37.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 140.
- ↑ ม. ร.5 ยธ/23 หนังสือกราบบังคมทูลของพระยายมราช วันที่ 14 มิถุนายน ร.ศ. 128.
- ↑ "ถนนแรกมีชื่อในฝั่งธนฯ : ตอนที่ 2 ถนนสามัคคีอยู่ที่ไหน?". สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 114.
- ↑ พวงร้อย กล่อมเอี้ยง, 39.
- ↑ "โครงการเดินเรือในคลองภาษีเจริญ". กรุงเทพธนาคม.
บรรณานุกรม
แก้- พวงร้อย กล่อมเอี้ยง. (2550). โครงการวิจัย เรื่อง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นวิถีวัฒนธรรมริมน้ำย่านตลาดพลูจากคลองบางหลวงถึงคลองด่าน. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ตลาดพลู
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์