มงคล อมาตยกุล (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461 - 20 กันยายน พ.ศ. 2532) นักดนตรี นักแต่งเพลง ผู้ก่อตั้งวงดนตรีมงคล อมาตยกุล และวงดนตรีจุฬารัตน์

มงคล อมาตยกุล
เกิด9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2461
มงคล อมาตยกุล
เสียชีวิต20 กันยายน พ.ศ. 2532 (อายุ 71 ปี)
อาชีพนักดนตรี นักแต่งเพลง นักแต่งบทละคร
ปีที่แสดงพ.ศ. 2484 - พ.ศ. 2516

มงคล อมาตยกุล เกิดที่อำเภอพระนคร เป็นบุตรของอำมาตย์เอก พระยาวินิจวิทยาการ (กร อมาตยกุล) กับหม่อมหลวงผาด เสนีวงศ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนวัดชนะสงคราม โรงเรียนหอวัง โรงเรียนปทุมคงคา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย,ส.ก.7502 (พ.ศ. 2479 รุ่นเดียวกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์)

เข้าศึกษาต่อที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนถึงชั้นปีที่ 4 จึงหยุดเรียน เพราะมหาวิทยาลัยหยุดการเรียนการสอน เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้หันไปเล่นดนตรีสากล ตั้งคณะละครวิทยุ และแต่งบทละคร เล่นออกอากาศทางสถานีวิทยุ และได้เป็นนักแต่งเพลง เรียบเรียงเสียงประสาน และเป็นหัวหน้าวงดนตรีของเทศบาลนครกรุงเทพ

ในปี พ.ศ. 2489 ได้ร่วมวงดนตรีดุริยะโยธิน ก่อนจะลาออกมาตั้งวงดนตรีมงคล อมาตยกุล เป็นของตนเอง รับแสดงตามโรงภาพยนตร์ หรืองานลีลาศ ร่วมกับ ป. ชื่นประโยชน์ เนียน วิชิตนันท์ ร้อยแก้ว รักไทย ไพบูลย์ บุตรขัน มีนักร้องเช่น วงจันทร์ ไพโรจน์ นริศ อารีย์ ลัดดา ศรีวรนันท์ ปรีชา บุณยเกียรติ

ในปี พ.ศ. 2492 ครูมงคล ได้เป็นหัวหน้าห้องบันทึกแผ่นเสียงของห้างดี. คูเปอร์ จอห์นสัน และได้ช่วยสนับสนุนการบันทึกเสียงของครูเพลงหลายท่าน เช่น ครูไพบูลย์ บุตรขัน

ในปี พ.ศ. 2500 ครูมงคล อมาตยกุล ได้ก่อตั้งวงดนตรีจุฬารัตน์ ซึ่งสร้างลูกศิษย์ลูกหาให้กับวงการเพลงลูกทุ่ง เป็นจำนวนมาก เช่น ชาย เมืองสิงห์ ทูล ทองใจ พร ภิรมย์ พนม นพพร ศรีไพร ใจพระ ชัย อนุชิต​ ปอง ปรีดา วงจันทร์ ไพโรจน์ สังข์ทอง สีใส หยาด นภาลัย บุปผา สายชล สุชาติ เทียนทอง นพดล ดวงพร ประจวบ จำปาทอง โฆษิต นพคุณ แมน เนรมิตร เป็นต้น

เพลงที่มีชื่อเสียงที่สุดของครูมงคล คือเพลง "เย้ยฟ้าท้าดิน" ประพันธ์คำร้องโดย ชาลี อินทรวิจิตร และสัมพันธ์ อุมากูล ขับร้องโดยสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ประกอบละครเรื่อง เทพบุตรฮ่อ ของ ส. อาสนจินดา ในปี พ.ศ. 2497

ครูมงคล อมาตยกุล ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน สาขาการเรียบเรียงเสียงประสาน ในปี พ.ศ. 2522 จากเพลง "ความหลังฝังใจ" ซึ่งแต่งร่วมกับ ศักดิ์เกษม หุตาคม (อิงอร) ขับร้องโดย ทูล ทองใจ

ช่วงบั้นปลายชีวิต ครูมงคลมีปัญหาด้านสุขภาพ จึงยุบวงดนตรีจุฬารัตน์ในปี พ.ศ. 2516 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2532 สิริอายุ 71 ปี

ลำดับสาแหรก แก้

อ้างอิง แก้

  • ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพ : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2550. 168 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-8218-82-3