สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี (12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423) เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระองค์สิ้นพระชนม์พร้อมกับพระชนนีจากเหตุการณ์เรือพระที่นั่งล่มที่บางพูดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ขณะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น 5
เจ้าฟ้าชั้นเอก
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
ประสูติ12 สิงหาคม พ.ศ. 2421
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพพระมหานคร ประเทศสยาม
สิ้นพระชนม์31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 (1 ปี)
บางพูด เมืองนนทบุรี ประเทศสยาม
พระนามเต็ม
กรรณากรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระมารดาสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
ศาสนาพุทธ
ธรรมเนียมพระยศของ
เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์
การทูลใต้ฝ่าพระบาท
การแทนตนข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับพ่ะย่ะค่ะ/เพคะ

พระประวัติ

แก้

พระชนม์ชีพช่วงต้น

แก้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารีประสูติเมื่อเวลา 23.11 น.[1] ของวันจันทร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล สัมฤทธิศก จ.ศ. 1240 ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี[2] เหตุการณ์ในวันประสูติของพระองค์นั้น ปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความตอนหนึ่งว่า "[วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2421] เวลา ๔ ทุ่มพระองค์เจ้าสุนันทาประชวรพระครรภ์ เสด็จลงประทับอยู่ที่พระตำหนักจันทร รุ่งยังไม่ประสูติ"[1] และ "[วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421] เวลา ๕ ทุ่ม ๑๑ นาฑี กับ ๒๕ วินาฑี พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดยู่ประมาณ ๑๕ นาฑีจึงออก เราอยู่ที่วังสมเด็จกรมพระ ๆ กับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนพระกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวาหน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ ๓ กระเดียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกรมพระนั้นฝนตก เวลา ๗ ทุ่ม ๔๕ มินิตถึงบ้าน"[1][3] ด้วยพระองค์มีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาแต่ประสูติ ถือเป็นสัญลักษณ์พิเศษ จึงพระราชทานพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี[4]

การประสูติกาลพระราชธิดาครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยิ่งนัก ดังจะเห็นว่าทรงเฉลิมพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า "อรรควรราชกุมารี" แสดงให้เห็นว่าโปรดปรานมาก ทั้งยังปรากฏการพระราชทานของขวัญแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ด้วย ความว่า "...เราถวายสายนาฬิกาทรงซื้อ ๑๕ ชั่ง พระราชทานพระองค์เจ้าสุนันทาประสูติ กับรับสั่งให้เติมแหวนที่ทรงซื้อเงินพระคลังข้างที่อีก ๒ วง ราคาวงละ ๑๕ ชั่ง รวม ๓๘ ชั่ง ขายเงินงวดตามธรรมเนียม..."[3] ส่วนในช่วงสมโภชเดือนเจ้าฟ้าประสูติใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทองคำจากเมืองกบินทร์บุรีแก่เจ้าฟ้าพระองค์นี้ ดังปรากฏความใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 ความว่า "[วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2421] โปรดเกล้าฯ ให้เราเขียนหนังสือปิดทองคำแท่งเมืองกบินทร์บุรี ๒ แท่ง ความว่าทองคำบ่อเมืองกบินทร์บุรีเนื้อ ๘ หนัก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน โสภางค์ทัศนิยลักษณ อรรควรราชกุมารี ในการสมโภชเดือน..."[5]

สิ้นพระชนม์

แก้

ขณะที่ทรงพระชันษาได้เพียงขวบปีเดียวพระองค์พร้อมพระมารดาได้ประสบอุบัติเหตุเรือพระประเทียบล่ม ณ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี จนสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์พร้อมกับพระราชบุตรในพระครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ยังความทุกข์โทมนัสแก่พระราชบิดาคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ดังปรากฏในหนังสือประวัติการของจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ภาค 1 หน้า 73 กล่าวไว้ว่า[6]

"...ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระปริวิโยค มีความโศกเศร้าเป็นอันมาก จนไม่มีใครจะเข้ารอพระพักตร์ได้ และมีพระกระแสรับสั่งให้ปิดทวารกั้นเป็นพิเศษ มิให้ข้าราชการฝ่ายในออกมาพลุกพล่านรบกวนได้ มีแต่เจ้าหมื่นไวยวรนารถและพวกมหาดเล็กคอยตั้งเครื่องอานรับใช้อยู่แต่เพียงหกเจ็ดคนเท่านั้น ขณะที่ทรงได้ยินเสียงกลองชนะประโคมพระศพขึ้นครั้งไร ก็ทรงพระกันแสงพิลาปรำพันไปต่าง ๆ นานา จนกระทั่งประชวรพระวาโยไป..."

พระอนุสรณ์

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
อ้างอิง
  1. 1.0 1.1 1.2 พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 130-132
  2. ราชสกุลวงศ์, หน้า 86
  3. 3.0 3.1 พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 93-95
  4. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 134
  5. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5, หน้า 135
  6. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม, หน้า 99-100
  7. "พระอนุสาวรีย์ พระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์/สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์". ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-09. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
บรรณานุกรม
  • กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2014-10-09.
  • จิรวัฒน์ อุตตมะกุล, นายแพทย์. พระภรรยาเจ้า และสมเด็จเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 5. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ลายคำ, 2552
  • ส.พลายน้อย. พระบรมราชินีและเจ้าจอมมารดาแห่งราชสำนักสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : ฐานบุ๊คส์, 2554