ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช
ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช (13 ตุลาคม พ.ศ. 2493 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553) อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช | |
---|---|
เกิด | 13 ตุลาคม พ.ศ. 2493 อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม |
เสียชีวิต | 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 (อายุ 59 ปี) อำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | ข้าราชการพลเรือน |
มีชื่อเสียงจาก | ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ |
คู่สมรส | นางปิยธิดา ตรีเดช |
บุตร | นายชาญวิทย์ ตรีเดช นายศักดา ตรีเดช |
ประวัติ
แก้ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช หรือ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2493 ที่ตำบลเชียงยืน อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม จบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนอำนวยศิลป์ พระนคร จบปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต (สุขาภิบาล) รางวัลเหรียญทอง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2515 จากนั้นเข้าทำงานในบริษัทเอกชนเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะได้รับทุน ก.พ. ให้ไปต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ด้านการจัดการคุณภาพน้ำ มหาวิทยาลัยทูเลน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2523
สำหรับชีวิตครอบครัว ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช สมรสกับนางปิยะธิดา ตรีเดช มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายชาญวิทย์ ตรีเดช ได้รับทุน ก.พ. กำลังศึกษาปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่วิทยาลัยอิมพีเรียล ลอนดอน สหราชอาณาจักรอังกฤษ และนายศักดา ตรีเดช กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยบรูเนล สหราชอาณาจักรอังกฤษ
การทำงาน
แก้หลังจากจบปริญญาเอก ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช กลับมารับราชการในตำแหน่งนักวิชาการสิ่งแวดล้อม ระดับ 4 สังกัดกองมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม และได้รับราชการเรื่อยมาจนก้าวหน้าเป็นผู้อำนวยการกอง เป็นรองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ
ต่อมามีการปฏิรูประบบราชการในปี พ.ศ. 2545 จัดตั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแยกออกจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซึ่ง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนขึ้นเป็นปลัดกระทรวง และในปี พ.ศ. 2550 ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับการผลักดันจากนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เนื่องจากเห็นว่าเป็นข้าราชการที่ทำงานในด้านนี้มาก่อน[1]
การทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากร
แก้ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับการยอมรับในเรื่องผลงานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนนโยบายยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ การผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การผลักดันโครงการดาวเทียมธีออส ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า รวมทั้งสนับสนุนให้มีโครงการจัดตั้งป่าชุมชนรอบเขตป่าอนุรักษ์ เป็นต้น
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เป็นหนึ่งในคณะที่ร่วมเดินทางไปประชุมเรื่องเขาพระวิหารที่ประเทศบราซิล กับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่ง ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ได้รับการชื่นชมว่ามีความรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องข้อมูลเป็นอย่างมาก ด้วยความสามารถ และเป็นข้าราชการที่มีประวัติดีมาโดยตลอด ทำให้มีการเตรียมเสนอชื่อ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ ในสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2553[2]
การเสียชีวิต
แก้ดร.ศักดิ์สิทธิ์ เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก บริเวณอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน ระหว่างเดินทางไปตรวจราชการที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553[3]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2548 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[4]
- พ.ศ. 2543 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[5]
- พ.ศ. 2548 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[6]
อ้างอิง
แก้- ↑ "ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯคนใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-27. สืบค้นเมื่อ 2010-08-22.
- ↑ ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ[ลิงก์เสีย]
- ↑ กำหนดการสวดพระอภิธรรม และพระราชทานเพลิงศพ (จากสำนักบริหารงานกลาง ทส 0901.201/ว6644 ลว.25 ส.ค. 53)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2005-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๒ ตอนที่ ๒๑ ข หน้า ๔, ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๒๕ ข หน้า ๑๗, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๔ ข หน้า ๑๙, ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙