วิหารแห่งซาเทต หรือ ซาทิส เป็นวิหารในสมัยอียิปต์โบราณที่สร้างอุทิศแด่เทพีซาเทต ซึ่งเป็นตัวแทนของการเกิดน้ำท่วมที่แม่น้ำไนล์ วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่บนเกาะแอลเลเฟนไทน์แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ ประเทศอียิปต์ โดยสร้างขึ้นในช่วงปลายสมัยก่อนราชวงศ์แห่งอียิปต์เมื่อประมาณ 3200 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการขยายและปรับปรุงหลายครั้งตั้งแต่ช่วงสมัยราชวงศ์เริ่มแรกเป็นต้นไปอีก 3000 ปีข้างหน้าจนถึงช่วงสมัยราชวงศ์ปโตเลมี วิหารแห่งซาเทตเป็นตัวอย่างหลักฐานที่ดีที่สุดของวิหารในอียิปต์โบราณที่มีการก่อสร้างที่ได้รับการยืนยันตลอดช่วงสมัยการปกครองโดยฟาโรห์

วิหารแห่งซาเทต ในไฮเออโรกลีฟ
sV13
t
F29pr

Pr-Sṯt
เพอร์-เซทเจต

สมัยช่วงเวลาแรกสุดจนถึงสมัยช่วงระหว่างกลางที่หนึ่ง แก้

วิหารแห่งซาเทตที่เก่าแก่ที่สุดถูกสร้างขึ้นราว 3200 ปีก่อนคริสตกาล[1] และเป็นเพียงโพรงเล็กๆ ที่อยู่ระหว่างหินแกรนิตธรรมชาติขนาดใหญ่สามก้อน[2] วิหารแห่งแรกสุดนี้มีขนาดเล็กมาก โดยส่วนของพื้นที่สักการะบูชาขนาดประมาณ 2 ม. × 2 ม. (6.6 ฟุต × 6.6 ฟุต) ที่สร้างจากอิฐโคลน ด้านหน้าของตัววิหารทางตะวันออก มีอาคารที่สร้างอิฐโคลนอยู่บ้าง วิหารแห่งนี้ได้รับการขยายเพิ่มเติมขึ้นในช่วงสมัยราชวงศ์ที่หนึ่งและสอง[3] และได้สร้างขึ้นใหม่ในช่วงราชวงศ์ที่สามแห่งอียิปต์ แต่ยังคงรูปแบบวิหารเดิมไว้ ทางด้านทิศใต้ด้านนอกช่องระหว่างก้อนหิน ห้องเก็บอาหารบางแห่งถูกเพิ่มเข้ามา วิหารแห่งนี้ได้รับการสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในสมัยราชวงศ์ที่ห้าแห่งอียิปต์ อาจจะอยู่ในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์นูเซอร์เร ไอนิ ซึ่งเป็นจุดที่วิหารที่ตั้งอยู่ตรงกลางของโพรงหินได้ขยายให้ใหญ่ขึ้น ด้านหน้าของวิหารเป็นลานหน้าขนาดประมาณ 5 ม. × 5 ม. (16 ฟุต x 16 ฟุต) ซึ่งล้อมรอบด้วยทางเดินเปิด พบเครื่องเซ่นไหว้บูชาใต้พื้นวิหาร สิ่งของเหล่านี้อุทิศให้กับเทพีในช่วงสองสามร้อยปีในช่วงสมัยราชอาณาจักรเก่า โดยมีผู้ที่เข้ามาสักการะทั้งเชื้อพระวงศ์และสามัญชนทั่วไปและส่วนใหญ่ประกอบด้วยรูปปั้นดินเผารูปมนุษย์และสัตว์ นอกจากนั้น ทางด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งของห้องเก็บอาหารและอาคารจากอิฐโคลน

ฟาโรห์เปปิที่ 1 ซึ่งเป็นฟาโรห์พระองค์ที่สองจากราชวงศ์ที่หกสั่งให้สร้างวิหารขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยยังคงรักษารูปแบบวิหารเดิมเอาไว้ แต่ได้ขยายกำแพงอิฐออกไป[4] และขยายขนาดของพื้นที่สักการะบูชาเพื่อเพิ่มรูปสลักของเทพีซาเทตเข้าไป[5] และในครั้งนี้ยังได้มีบูชาเทพคนุมในวิหารแห่งนี้ด้วย ในปีที่ 5 แห่งรัชสมัยฟาโรห์เมอร์เอนเร เนมติเอมซาฟที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากฟาโรห์เปปิได้เสด็จมายังเกาะแอลเลเฟนไทน์ เพื่อทรงรับการเข้าเฝ้าของหัวหน้าเผ่าแห่งนิวเบีย ในครั้งนั้นพระองค์อาจจะเสด็จไปยังวิหารเพื่อต่อเติมศาลเทพเจ้าที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงโปรดให้สร้างขึ้น[6]

สมัยราชอาณาจักรกลาง แก้

 
วิหารแห่งซาเทตในการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในช่วงรัชสมัยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1

ช่วงสิ้นสุดของสมัยช่วงระหว่างกลางที่หนึ่งในช่วงต้นราชวงศ์ที่สิบเอ็ดแห่งอียิปต์ ฟาโรห์อินเตฟที่ 3 จากนครทีบส์ได้ทรงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรปรับปรุงวิหารใหม่ทั้งหมด โดยวิหารตรงกลางยังถูกตั้งไว้ที่เดิมระหว่างก้อนหินธรรมชาติทั้งสามก้อน ห้องโถงที่ตั้งอยู่หน้าวิหารยังถูกปูด้วยแผ่นหินปูนเป็นครั้งแรก[4]

ไม่นานหลังจากนั้น ฟาโรห์เมนทูโฮเทปที่ 2 ได้ทรงโปรดให้ทำการดัดแปลงเพิ่มเติมภายในวิหาร และสร้างวิหารใหม่ทั้งหมด[5] พระองค์ได้เพิ่มจารึกใหม่และทางด้านทิศเหนือมีลานเสาและส่วนทะเลสาบนอกชายฝั่งได้เพิ่มเข้ามาเพื่อสำหรับการเฉลิมฉลองฤดูน้ำท่วมแห่งแม่น้ำไนล์ ซึ่งชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าสิ่งนี้ได้เริ่มต้นในที่เกาะแอลเลเฟนไทน์ ตัววิหารยังคงสร้างด้วยอิฐโคลนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเพียงผนังที่สำคัญที่สุดที่เรียงรายไปด้วยหินปูนที่ประดับประดา

และระยะเวลาไม่ถึง 100 ปีถัดจากนั้น ในช่วงต้นของราชวงศ์ต่อมา ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ได้ทรงโปรดให้สร้างวิหารและลานใหม่ทั้งหมดแทนที่โครงสร้างที่ได้รับการบูรณะของฟาโรห์เมนทูโฮเทป[7] ถึงแม้ว่าสิ่งปลูกสร้างก่อนหน้านี้ทั้งหมดจะยังรูปแบบวิหารเดิมและโดยเฉพาะการใช้อิฐโคลน แต่วิหารใหม่สร้างด้วยหินปูนทั้งหมด มาถึงช่วงเวลานั้น ระดับที่ตั้งของวิหารได้อยู่เหนือโพรงหินของสมัยราชอาณาจักรเก่า อย่างไรก็ตาม วิหารหลักใหท่นี้ได้สร้างทับที่โครงสร้างเก่าโดยตรง วิหารแห่งนี้ที่สร้างโดยฟาโรห์เซนุสเรตที่ 1 ได้รับการตกแต่งอย่างเต็มที่ แต่มีเศษของการตกแต่งเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่หลงเหลือ สิ่งเหล่านี้รวมถึงซากของจารึกขนาดยาวแห่งกษัตริย์ พร้อมกันนั้นเทพคนุมซึ่งเดิมใช้พื้นที่วิหารร่วมกัการบูชาเทพีซาเทต ก็ได้แยกออกมามีวิหารสำหรัการบูชาเทพคนุมโดยเฉพาะ โดยเดิมแล้ว วิหารแห่งเทพีซาเทตจะประดับประดาด้วยรูปแกะสลักมากมาย ซึ่งเป็นรูปแกะสลักของฟาโรห์อเมนเอมฮัตที่ 5 จากราชวงศ์ที่สิบสามซึ่งอุทิศให้กับเทพี:

แด่เทพเจ้าผู้ประเสริฐ เจ้าแห่งสองแผ่นดิน เจ้าแห่งพิธีกรรม กษัตริย์แห่งอียิปต์บนและล่าง เซเคมคาเร พระโอรสแห่งเทพรา อเมนเอมฮัต ผู้เป็นที่รักแห่งเทพซาเทต สตรีแห่งแอลเลเฟนไทน์ ขอให้อเมนเอมฮัตมีพระชนม์ชีพชั่วนิจนิรันดร์

รูปแกะสลักอีกรูปหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยประดับประดาวิหารโดยเป็นของฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 นอกจากนี้ยังมีเครื่องบูชาของฟาโรห์โซเบคเอมซาฟที่ 1 ที่ได้ทรงบูชาเทพี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในวิหารแห่งนี้อย่างแน่นอน และแท้จริงแล้ว ถึงแม้ว่ารูปแกะสลักเหล่านี้ทั้งหมดจะถูกค้นพบในวิหารใกล้ ๆ ของเฮกาอิบ ตามคำจารึกของพวกเขา แต่เดิมต้องอยู่ในวิหารแห่งซาเทต[8]


สมัยราชอาณาจักรใหม่และช่วงปลาย แก้

 
วิหารแห่งซาเทตในการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ในช่วงสมัยราชวงศ์ที่สิบแปด

ในระหว่างช่วงอาณาจักรใหม่ วิหารถูกสร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัยของพระนางฮัตเชปซุต (ระหว่าง 1507–1458 ปีก่อนคริสตกาล) ในช่วงต้นราชวงศ์ที่สิบแปด และขยายเพิ่มเติมวิหารโดยฟาโรห์ทุตโทสที่ 3[9] โดยสร้างวิหารเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทึบ ขนาดประมาณ 15.9 ม. × 9.52 ม. (52.2 ฟุต x 31.2 ฟุต) ล้อมรอบด้วยทางเดินทั้งหมด 20.10 ม. × 13.52 ม. (65.9 ฟุต × 44.4 ฟุต) ที่มีเสา 7 × 10 เสา อยู่ภายนอก พื้นที่สักการะบูชาของวิหารใหม่นี้ถูกวางไว้โดยตรงเหนือที่สักการะบูชาเดิม เห็นได้ชัดว่าวิหารแห่งซาเทตในช่วงสมัยราชอาณาจักรใหม่ยังคงเก็บรูปแบบของพื้นที่สักการะบูชาเดิม มีข้อบ่งชี้ว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมในช่วงสมัยราชวงศ์ที่ยี่สิบหก (ระหว่าง 664–525 ปีก่อนคริสตกาล) แต่มีส่วนที่เพิ่มเติมเพียงไม่กี่สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ พบบล็อกหินหลายก้อนจากประตูทางเข้าวิหารที่ครั้งหนึ่งเคยมีความสูงประมาณ 7.35 ม. (24.1 ฟุต) ซึ่งนำไปสู่กำแพงกั้นด้วยอิฐ ซึ่งบางครั้งอาจเคยเป็นของวิหาร ไม่นานก่อนการพิชิตอียิปต์ของเปอร์เซีย ฟาโรห์อามาซิสที่ 2 (ระหว่าง 570–526 ปีก่อนคริสตกาล) ได้โปรดให้เพิ่มเสาหรือซุ้มประตูเข้าไปในวิหาร ซึ่งพบพบเสาหินปูนและผนังกั้นจำนวน 6 เสา[10][11]

และวิหารทั้งหมดถูกสร้างใหม่ขึ้นภายใต้การปกครองของฟาโรห์ปโตเลมีที่ 6 (ระหว่าง 180–145 ปีก่อนคริสตกาล) ในช่วงราชวงศ์ปโตเลมี โดยก่อสร้างเป็นอาคารสี่เหลี่ยม ที่ด้านหลังทางฝั่งตะวันตก มีวิหารหลัก ด้านหน้ามีห้องโถงกว้าง พื้นที่สักการะบูชาไม่ได้สร้างขึ้นเหนือพื้นที่สักการะบูชาของสมัยราชอาณาจักรเก่าอีกต่อไป ดูเหมือนว่าสถานที่และความสำคัญของมันถูกจะลืมไป[12] ฟาโรห์ปโตเลมีที่ 8 (ระหว่าง 182–116 ปีก่อนคริสตกาล) ได้เพิ่มมุขหน้าห้องวิหารด้วยสองในสี่ช่วงเสา[13]

นิโลมิเตอร์ แก้

หนึ่งในสองและนิโลมิเตอร์ที่หลงเหลืออยู่ในสภาพที่ดีที่สุดนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิหารแห่งซาเทต[14]

อ้างอิง แก้

  1. Seidlmayer, Stephan (1999). "Aswan". ใน Bard, Kathryn; Shubert, Steven Blake (บ.ก.). Encyclopedia of the Archeology of Ancient Egypt. New York: Routledge. pp. 335–336. ISBN 978-0-41-518589-9.
  2. Gundlach, Rolf (2001). "Temples". ใน Redford, Donald B. (บ.ก.). The Oxford Encyclopedia of Ancient Egypt, Volume 3. Oxford University Press. p. 370. ISBN 978-0-19-510234-5.
  3. Seidlmayer, p. 336
  4. 4.0 4.1 Günter Dreyer: Der Tempel der Satet, Elephantine VIII, Mainz am Rhein ISBN 380530501-X, 11-23
  5. 5.0 5.1 Seidlmayer, p.337
  6. Altenmüller, Hartwig (2001). "Old Kingdom: Sixth Dynasty". ใน Redford, Donald B. (บ.ก.). The Oxford Encyclopedia of Ancient Egypt, Volume 2. Oxford: Oxford University Press. pp. 603–604. ISBN 978-0-19-510234-5.
  7. Seidlmayer, p. 338
  8. Labib Habachi: The Sanctuary of Heqaib, Elephantine IV, Mainz am Rhein 1985, ISBN 380530496X, p. 113, no. 102; 116, no. 108
  9. Lipińska, Jadwiga (2001). "Thutmose III". ใน Redford, Donald B. (บ.ก.). The Oxford Encyclopedia of Ancient Egypt, Volume 3. Oxford University Press. p. 402. ISBN 978-0-19-510234-5.
  10. Dieter Arnold: Temples of the last Pharaohs, New York, Oxford 1999, ISBN 0195126335, p. 88
  11. Seidlmayer, p. 339
  12. Jan Assmann: Ägypten, Theologie und Frömmigkeit einer frühen Hochkultur, Stuttgart, Berlin, Cologne 1991, ISBN 3170117688, 48-49
  13. Arnold: Temples of the last Pharaohs, p. 189, 202
  14. "Nilometer of Satet Temple (Elephantine)". Madain Project. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 November 2020. สืบค้นเมื่อ 16 November 2020.

24°05′04″N 32°53′14″E / 24.0844°N 32.8872°E / 24.0844; 32.8872