วันพระ
วันพระ วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)
วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน 8 ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน 14 หรือ 15 ค่ำ) แล้วแต่กรณี[1]
หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย[2]
วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และเขมร (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใด ๆ ชาวพุทธในสมัยโบราณจะหยุดพักในวันพระนี้ จะไม่ออกไปทำไร่ทำนาหาปลาล่าสัตว์ แต่จะอยู่บ้านทำความสะอาดบ้าน ซักผ้าแทน ซึ่งธรรมเนียมการหยุดพักนี้ ในชนบทบางท้องถิ่นก็ยังถือปฏิบัติกันอยู่,ในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ และเปลี่ยนมาใช้วันเสาร์ วันอาทิตย์ตามอย่างสากล ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ
นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันว่า วันโกน เพราะปกติในวันขึ้น 14 ค่ำปกติ ก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้
ประวัติความเป็นมาของวันธรรมสวนะ
แก้ในสมัยพุทธกาล พระราชาพระนามว่าพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระวิหารชื่อว่าเชตวัน และกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์แลเห็น ซึ่งนักบวชศาสนาอื่นอีก ได้มีวันกำหนดนัดหมายประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในที่ประชุมของเขาทั้งหลายเหล่านั้น แต่ว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนศาสนาพุทธของเราทั้งหลายย่อมมีวันกำหนดนัดหมายเพื่อประชุมกันหามิได้ ดังนี้" อันพระราชาพระนามว่าพระเจ้าพิมพิสาร กราบทูลแล้ว พระศาสดาจึงทรงอนุญาตให้เหล่าภิกษุสงฆ์สาวกประชุมกันเพื่อสนทนาและแสดงพระธรรมเทศนาให้แก่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย ได้ฟังกันในวันขึ้น 8 ค่ำ หรือ หรือว่า วันขึ้น 14 ค่ำ หรือว่า วันขึ้น 15 ค่ำ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะเพื่อกำหนดให้มีการประชุมพร้อมเพรียงกันฟังธรรม
ในสมัยพุทธกาลนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมเหล่าภิกษุสงฆ์สาวกเพื่อทรงแสดงพระปาฏิโมกข์ ในช่วงเข้าพรรษา การประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้นก็ได้นัดหมายกันไปในที่ประชุม ต้องมีพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งเป็นองค์สวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุสงฆ์สาวกที่ร่วมเข้าฟังพระปาฏิโมกข์ ก็จะพร้อมเพียงกันสำรวมกาย วาจา และตั้งใจฟังจนกระทั่งสวดจบ เป็นอันเสร็จพิธี
คำว่า "สวนะ" แปลว่า การฟัง และคำว่า "ธรรมสวนะ" แปลว่า การฟังธรรม, วันฟังธรรม ภาษาพูดที่เรียกว่า วันพระ เพราะ คำว่า "พระ" นั้น ใช้เรียกภิกษุจำนวนมากกว่า 4 รูป ขึ้นไป ซึ่งก็หมายถึงความเป็นหมู่คณะ จึงเรียกว่า พระ หรือ สงฆ์ ทางพระพุทธศาสนาก็ยังได้กำหนดเรียกว่า วันอุโบสถ ซึ่งแปลว่า วันถือศีลของอุบาสกและอุบาสิกาผู้มีสัทธา ร่วมกันประพฤติและปฏิบัติตามธรรมสืบต่อกันมาจนถึงบัจจุบันนี้
ทางด้านศาสนพิธีของชาวบ้านนั้น พระพุทธศาสนาก็ได้กำหนดให้มีพิธีต่าง ๆ มีการร่วมทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหาร จังหัน หวานคาวแด่พระภิกษุสงฆ์ และก็สมาทานศีล (รับศีล) และฟังพระธรรมเทศนาที่วัด ตามลำดับ
ในวันธรรมสวนะนี้ พุทธศาสนิกชนก็จะเข้าวัดร่วมกันประพฤติและปฏิบัติธรรม มีกิจกรรมต่าง ๆ มีการสมาทานศีล เช่น สมาทานและรับศีล 5 หรือ ศีล 8 ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือ ธรรมสากัจฉา หรือ สนทนาธรรมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ ในข้อธรรมต่าง ๆ ซึ่งนับว่าเกิดประโยชน์แก่ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างยิ่ง[3]
ความสำคัญ
แก้จากพุทธานุญาตให้มีตัวแทนพระสงฆ์รูปหนึ่งสวดทบทวนสิกขาบท ที่ทรงบัญญัติไว้เป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกและเพื่อความบริสุทธิ์ในเพศสมณะที่ต้องบริบูรณ์ด้วย ศีล สมาธิ และปัญญาอันเป็นทางหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงตามเส้นทางของพระพุทธศาสนา โดยมีภิกษุผู้สวดทบทวน เมื่อสวดถึงข้อใดแล้วมีภิกษุรูปใดรูปใดรูปหนึ่งประพฤติผิดข้อบังคับนั้น จะเปิดเผยท่ามกลางที่ประชุม หรือที่เรียกว่าแสดงอาบัติ ซึ่งถือปฏิบัติเช่นนี้สืบต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ
1. เกิดความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคณะสงฆ์ ด้วยระเบียบปฏิบัติที่หมั่นทบทวนและเตือนตนด้วยการแสดงการยอมรับในสิ่งที่ตนละเมิด เพื่อแก้ไขต่อไป ในข้อนี้มีปรากฏการณ์เด่นชัดเมื่อครั้งพุทธกาล คือเมื่อครั้งพระภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะเบาะแว้งแตกความสามัคคีกันภายหลังเมื่อกลับมีความสามัคคีใหม่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ประชุมทำอุโบสถสวดพระปาฏิโมกข์เป็นกรณีพิเศษ ที่เรียกว่า วันสามัคคีอุโบสถ
2. การหมั่นทบทวนอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พระธรรมคำสอนไม่คลาดเคลื่อน เลือนหายและทำให้หมู่คณะจรรโลงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ วันอุโบสถนั้น นอกเหนือจากเป็นวันสำคัญของทางคณะสงฆ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นวันประชุมฟังธรรมของเหล่าพุทธศาสนิกชนตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบันนี้
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันพระ
แก้สิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำในวันพระคือการเข้าวัด ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม เจริญจิตภาวนา สวดมนต์ทำวัตรเพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย หรือสมาทานศีลอุโบสถ (ศีล 8 ที่อาราธนาในวันพระเป็นเวลา 1 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 3 คืน และไม่จำเป็นต้องอยู่วัด) อย่างเคร่งครัด
การประกอบพิธีทางศาสนาในวันพระในประเทศไทย
แก้พระราชพิธี
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
พิธีสามัญ
แก้พิธีกรรมวันธรรมสวนะ
แก้วันธรรมสวนะ คือ วันกำหนดประชุมฟังธรรม ที่เรียกเป็นคำสามัญทั่วไปว่า "วันพระ" เป็นประเพณียินยมของพุทธบริษัทที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแล้วแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่า การฟังธรรมตามกาลที่กำหนดเป็นประจำไว้ ย่อมก่อให้เกิดสติปัญญาและสิริมงคลแก่ผู้ฟังอย่างน้อยก็ได้รับธรรมสวนานิสงส์อยู่เสมอ
วันกำหนดฟังธรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ 4 วัน ในเดือน ๆ หนึ่ง คือ วัน 8 คำ วัน 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม นับโดยจันทรคติ วันทั้ง 4 นี้ จึงถือกันเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปรกติ และนิยมเป็น วันรักษาปรกติอุโบสถสำหรับฆราวาสผู้ต้องการอบรมกุศลด้วย
ระเบียบพิธี
แก้จากความมุ่งหมายและเหตุผลข้างต้น การประชุมฟังธรรมในวันธรรมสวนะ จึงมีพิธีกรรมที่ต้องปฏิบัติเกิดขึ้น โดยนิยมเป็นระเบียบทั่ว ๆ ไป ดังนี้[4]
- ในวันธรรมสวนะตอนเช้า ประมาณ 9 นาฬิกา พระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประชุมพร้อมกันในสถานที่กำหนดแสดงธรรม จะเป็นโรงอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ ภายในวัด หรือ พุทธสถานสมาคม แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ จัดให้นั่งกันตามที่เป็นสัดส่วนเรียบร้อย มีพระพุทธรูปและที่บูชาประดิษฐานอยู่เบื้องหน้า จัดให้สง่างาม
- เมื่อพร้อมกันแล้วภิกษุสามเณรเริ่มทำวัตรเช้า ตามแบบนิยม ซึ่งทั่ว ๆ ไปใช้ระเบียบ คือ
- นำบูชาพระรัตนตรัย (อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา ...)
- สวด ปุพฺพภาคนมการ (นโม ...)
- สวด พุทฺธาภิถุติ (โย โส ตถาคโต ...)
- สวด ธมฺมาภิถุติ (โย โส สฺวากฺขาโต ...)
- สวด สงฺฆาภิถุติ (โย โส สุปฏิปนฺโน ...)
- สวด รตนตฺตยปฺปณามคาถา และ สงฺเวคปริกิตฺตนปาฐ ต่อ (พุทฺโธสุทฺโธ...)
- เมื่อภิกษุสามเณรทำวัตรจบเพียงเท่านี้ อุบาสกอุบาสิกาเริ่มทำวัตรตามบท ซึ่งกล่าวแล้วในเรื่องพิธีรักษาอุโบสถ
- เสร็จพิธีทำวัตร หัวหน้าอุบาสก หรืออุบาสิกา ประกาศอุโบสถ พระธรรมกถึกขึ้นธรรมาสน์
- เมื่อจบประกาศอุโบสถแล้ว อุบาสก อุบาสิกาทั้งหมดคุกเข่าประนมมือ กล่าวคำอาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน พระธรรมกถึกในศิล 8 เป็นอุโบสถศึลเต็มที่ แต่ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะจะรักษาเพียงศีล 5 เท่านั้น ก็รับสมาทานเพียง 5 ข้อ ในระหว่างข้อที่ 3 ซึ่งพระธรรมกถึกให้ด้วยบทว่า อพฺรหฺมจริยา... พึงรับสมาทานว่า กาเมสุมิจฺฉาจารา... เสีย และรับต่อไปจนครบ 5 ข้อ เมื่อครบแล้วก็กราบ 3 ครั้ง ลงนั่งราบ ไม่ต้องรับต่อไป
- ต่อจากรับศีลแล้ว พระธรรมกถึกแสดงธรรม ระหว่างแสดงธรรม พึงประนมมือฟังด้วยตั้งใจจนจบ
- เมื่อเทศน์จบแล้ว หัวหน้านำกล่าวสาธุการตามแบบที่กล่าวในเรื่องพิธีรักษาอุโบสถ จบแล้วเป็นอันเสร็จพิธีประชุมฟังธรรมตอนเช้าจะกลับบ้านหรือจะอยู่ฟังธรรม
ธรรมเนียมการถือปฏิบัติวันพระในประเทศพุทธเถรวาทอื่น
แก้ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง
แก้- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ อุโบสถขันธกะ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. เข้าถึงเมื่อ 16-7-52
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำเนื่องในโอกาส ๗๐๐ ปี ลายสือไทย กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.๒๕๒๗
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-13. สืบค้นเมื่อ 2011-08-14.
- ↑ หนังสือ ศาสนพิธีเล่ม ๒ หลักสูตรนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นโท
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- _______. (2552). คู่มือประชาชน เรื่อง การปฏิบัติกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาสำหรับครัวเรือน การเข้าวัดวันธรรมสวนะ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพฯ : กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วัดบ้านโพธิ์. (2552). วันพระหรือวันธัมมัสวนะ. [ออน-ไลน์]. แหล่งข้อมูลอื่น : [2] เก็บถาวร 2010-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน