วัดหลวง (อำเภอเมืองอุบลราชธานี)

วัดในอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

วัดหลวง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ระหว่างท่ากวางตุ้นกับท่าจวน (ตลาดใหญ่) ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ ประมาณ 8 ไร่ 4 ตารางวา

วัดหลวง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูวิลาสกิจจาธร (บัวสอน โอภาโส)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดหลวงสร้างโดยเจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล ภายหลังจากที่ได้อพยพมาจากดอนมดแดงมาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้งและได้ตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้น จากนั้นจึงได้ให้พระสงฆ์ที่อพยพมาด้วย ลงมือก่อสร้าง โดยให้ช่างที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ พร้อมด้วยท่านอุปฮาดราชบุตรราชวงศ์ ท่านท้าวเพี้ย กรรมการน้อยใหญ่ ร่วมสร้างหอไตร เจดีย์ธาตุ ศาลาการเปรียญ สิม หอกลอง หอระฆัง กุฎิสงฆ์ หอปราสาทธรรมาสน์ แต่ปัจจุบันถูกรื้อถอนออกหมดแล้วด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์[1] พร้อมสร้างพระประธานนามว่า พระเจ้าใหญ่วัดหลวง และตั้งชื่อวัดว่า "วัดหลวง" ถือเป็นอารามแรกในเมืองอุบลราชธานี จากข้อมูลของกรมการศาสนาระบุว่า ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2334 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2530

สิมหลังใหม่มีฐานเอวขันธ์แบบปากพาน มีบันไดขึ้นมาทำเป็นเฉลียง ตัวอาคารและฐานถือปูน เสาด้านหน้าสิม 4 ต้น เป็นเสาเหลี่ยมลบมุม หัวเสาทำเป็นรูปบัวจลกล ทวยไม้แกะสลักแบบหูช้างหน้าบันกรุไม้ลูกฟักหน้าพรหม สาหร่าย รวงผึ้ง หลังคาชั้นเดียวทรงจั่ว ไม่มีชั้นลด มีปีกนก ทางด้านข้างใช้เป็นแป้นมุงไม้หน้าจั่ว ตกแต่งด้วยช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้ง

พระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่องค์หลวง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2324[2] และมีพระแก้วไพฑูรย์ ปางสมาธิ สร้างจากหินใสธรรมชาติที่มีอายุหลายร้อยปี พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระหัตถ์ซ้าย พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม และยังมี หลวงพ่อปากดำ หรือ พระเจ้าใหญ่่ปากดำ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดหลวง วัดเจ้าเมืองอุบลราชธานี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-21. สืบค้นเมื่อ 2021-10-21.
  2. "วัดหลวง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี". พุทธศิลป์อีสาน.
  3. "วัดแห่งแรกเมืองอุบล...วัดหลวง".