วัดวัง (จังหวัดพัทลุง)

วัดในจังหวัดพัทลุง

วัดวัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ 2 ครั้ง

วัดวัง
พระประธานในอุโบสถ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

ที่มาของชื่อวัดมี 2 ประการ คือ เนื่องจากทางทิศใต้ของวัดมีวังน้ำลึกมากเรียกว่า "หัววัง" จึงเรียกวัดวัง อีกประการหนึ่งคือ วัดอยู่ใกล้กับวังหรือจวนเจ้าเมืองจึงเรียกวัดวัง วัดสร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ทราบศักราชที่แน่ชัดเนื่องจากหลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่ จากจารึกระบุว่า วัดมีงานฉลองเมื่อ พ.ศ. 2403 ส่วนพงศาวดารเมืองพัทลุง ระบุว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้สร้างวัดวังแต่ไม่ปรากฏปีศักราช ได้ทำการแล้วเสร็จ มีการฉลองเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2359

หนังสือพงศาวดารและลำดับวงศ์สกุลเมืองพัทลุงซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) ระบุว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น มีอุโบสถ พัทธสีมา และวิหาร และเป็นวัดสำหรับรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่ในหนังสือประวัติวัดวังของหลวงคเชนทรามาตย์ ระบุไว้ว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) บุตรพระยาพัทลุง (ขุน) เป็นหัวหน้านำญาติพี่น้องและชาวบ้านปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น ส่วนคุณยายประไพ มุตตามระ (จันทโรจวงศ์) บุตรีหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์ ผู้เขียนพงศาวดารเมืองพัทลุง) ระบุว่า วัดวังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2331 จากหลักฐานดังกล่าวพอสรุปได้ว่า วัดวังสร้างก่อน พ.ศ. 2359 โดยมีจุดประสงค์คือเป็นวัดประจำเมืองหรือประจำตระกูล และเมื่อสร้างวัดวังขึ้นแล้ว เห็นว่าวัดควนมะพร้าวซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากเกินไป จึงได้พิจารณายกวัดวังขึ้นเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา[1]

วัดวังเริ่มทรุดโทรม จนราว พ.ศ. 2512 ทางราชการจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดวัง[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ 2 ครั้ง ครั้งแรกขึ้นทะเบียนโดยมิได้กำหนดแนวเขต ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ครั้งที่ 2 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 108 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หน้า 151 (ฉบับพิเศษ) พื้นที่ประมาณ 9 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา[3]

อุโบสถ แก้

 
พระประธานวัดวัง

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผามีช่อระกาประดับด้วยกระจกสี หน้าบันอุโบสถทั้งสองจำหลักไม้ลงรักปิดทองด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปพระพายทรงม้า 3 เศียรประดับด้วยลายกระหนกก้านแย่งรูปยักษ์รูปเทพธิดาและกินรีลงรักปิดทอง ด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียรประกอบด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองโดยหน้าบันทั้ง 2 ด้านได้จำลองจากของเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

ตัวอุโบสถเดิมมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน แต่ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระยาพัทลุง (ทับ) เมื่อ พ.ศ. 2403 โดยได้ก่อฝาผนังอุโบสถขึ้นมาใหม่ให้มีความกว้างยาวกว่าเดิมด้านหน้าอุโบสถ มีมุขยื่นออกมามีเสากลมรองรับ 2 เสา ภายในมุขมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงปางเลไลยก์ มีช้างและลิงปูนปั้นถวายรังผึ้งเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ด้านข้างเป็นเสานางเรียงกลมก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่บนฐานไพทีรับปีกชายคาด้านละ 7 เสา หัวเสาประดับลายปูนปั้นรูปกลีบบัวหงายอุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้า 2 ประตูมีบานประตู 4 บาน เดิมมีภาพลายรดน้ำรูปทรงทวารบาลแต่เมื่อ พ.ศ. 2512 ขุนอรรถวิบูลย์ (อรรถ จันทโรจวงศ์) ได้บูรณะใหม่โดยบานประตูด้านขวามือของอุโบสถ 2 บาน แกะเป็นรูปกินรีบานละ 6 คู่ ลงรักปิดทอง ส่วนประตูด้านซ้ายมือแกะเป็นรูปทวารบาล บานแรกรูปเทพธิดาถือดอกไม้ตอนล่างแกะเป็นรูปหนุมานแบกอีกบานหนึ่งแกะเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงถือสังข์คฑาจักรและตรีทรงพญานาคเป็นพาหนะ ตอนล่างของภาพเป็นรูปหนุมานแบกลงรักปิดทองเหนือขอบประตูทั้ง 2 มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้พรรณพฤกษาประกอบด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ ตอนใต้ของภาพเป็นรูปสิงห์โตแบบศิลปะจีนตรงกลางเป็นลายขมวดประสานกันอย่างสอดคล้อง

อุโบสถมีหน้าต่างด้านละ 6 ช่อง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา บางช่องปั้นเป็นรูปหน้ากาล ลวดลายปูนปั้นทั้งหมดซ่อมใหม่เมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัยจำนวน 4 องค์[4] ประดิษฐานบนฐานชุกชีย่อมุมไม้สิบสองฐานพระเป็นฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ด้านหน้าพระประธานขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร มีพระสาวกปูนปั้นประทับยืนพนมมือด้านขวามือ ของพระประธานมีพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางห้ามสมุทรพร้อมฉัตร 5 ชั้น สูงรวมฐาน 221 เซนติเมตร ส่วนด้านซ้ายมือของพระประธานมีพระพุทธรูปไม้จำหลักบุด้วยโลหะทรงเครื่องปางอุ้มบาตร 1 องค์มีขนาดสูงฐาน 164 เซนติเมตร ปัจจุบันถูกขโมยไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 ยังไม่ได้คืนผนังอุโบสถ ผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องพุทธประวัติหรือปฐมสมโพธิ์เทพชุมนุมทั้ง 4 ด้าน เดิมผนังระหว่างช่องหน้าต่างมีภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก แต่ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว

ระเบียงคดและเจดีย์ แก้

รอบอุโบสถมีระเบียงคดล้อมรอบภายในระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน 108 องค์ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 2 องค์ อยู่ทางด้านทิศใต้และทิศเหนือของอุโบสถทิศละ 1 องค์ ฐานเจดีย์เป็นชุดฐานสิงห์ย่อมุมมีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ๆ ละซุ้ม องค์ระฆังทรงเหลี่ยมย่อมุมรับกับฐานส่วนยอดเป็นบัวกลุ่ม ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง จำนวน 1 องค์ฐานเป็นชุดฐานสิงห์ย่อมุม 3 ชั้น ชั้นที่ 4 เป็นบัวปากระฆังรูปกลีบมะเฟือง ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเจดีย์ทรงกลมมีจำนวน 5 องค์ อยู่ทางด้านทิศใต้จำนวน 1 องค์ทิศตะวันออกหน้าอุโบสถ 2 องค์ทิศเหนือ 1 องค์ ทิศตะวันตก 1 องค์ ฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสององค์ระฆังกลม (ทรงลังกา) ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มและเจดีย์ทรงกลมอันใหญ่อยู่มุมกำแพงวัด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อด้วยอิฐถือปูน ตามประวัติว่าพระยาพัทลุง (ทับ) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2403 ฐานเป็นแปดเหลี่ยมถัดไปเป็นชุดฐานสิงห์ย่อมุม 4 ชั้น เหนือฐานสิงห์เป็นลูกแก้วปากระฆังและองค์ระฆังกลม ส่วนยอดไม่มีบัลลังก์มีแต่ปล้องไฉนและปลียอด ด้านหน้าเจดีย์องค์ระฆังกลมเป็นอนุสาวรีย์พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก)

ปูชนียวัตถุ แก้

วัดยังมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ ธรรมาสน์จำหลักไม้ลายทองรูปดอกไม้พรรณพฤกษา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453 และมีตู้พระธรรมลายรดน้ำ ซึ่งเก็บรักษาไว้ในกุฏิเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมแบบขาสิงห์ เขียนลายรดน้ำกระหนกก้านแย่งประกอบลายสัตว์[5]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดวัง (Wat Woeng)". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง.
  2. "วัดวัง (Wat Woeng)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  3. "วัดวัง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  4. "วัดวัง จังหวัดพัทลุง". กระทรวงวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  5. "วัดวัง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).