วัดประสาทบุญญาวาส

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดประสาทบุญญาวาส เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา อาณาเขตของวัดติดกับวังศุโขทัย ปัจจุบันมีเจ้าอาวาสคือ พระมุนีอโนมคุณ

วัดประสาทบุญญาวาส
แผนที่
ชื่อสามัญวัดประสาทบุญญาวาส, วัดคลองสามเสน, วัดขวิด
ที่ตั้งเลขที่ 36 ถนนดาวข่าง แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมุนีอโนมคุณ
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดประสาทบุญญาวาสสร้างเมื่อราว พ.ศ. 2376 ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง เดิมชื่อ วัดคลองสามเสน เพราะอยู่ใกล้คลองสามเสน ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดขวิด เพราะมีต้นมะขวิดขนาดใหญ่อยู่ใกล้อุโบสถ และได้เปลี่ยนนามอีกครั้งมาเป็น "วัดประสาทบุญญาวาส" เมื่อราว พ.ศ. 2487[1]

พ.ศ. 2464 ทางวังศุโขทัยและทางวัดได้แลกเปลี่ยนที่ดินด้านหลังวัดซึ่งเป็นของวัด ทำให้ด้านหน้าของวัดขยายเปิดออกไปถึงถนน ต่อมา พ.ศ. 2498 เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ สูญเสียอุโบสถและกุฏิจนเกือบยุบวัด ในเวลานั้นพระครูวิสัยโสภณ (ทิม ธมมฺธโร) เจ้าอาวาสวัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ได้นิมิตไปว่าหลวงปู่ทวดให้มาช่วยบูรณะวัดนี้ เนื่องจากในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลวงปู่ทวดมักมาปักกลดอยู่บริเวณนี้ หลังจากนิมิตนี้ท่านจึงได้นำแม่พิมพ์และส่วนผสมสำหรับสร้างพระพิมพ์หลวงปู่ทวดมามอบให้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่ทวดของวัดประสาทบุญญาวาส ซึ่งสร้างรายได้ให้กับวัดเป็นอย่างมากจนสามารถนำมาสร้างอุโบสถหลังใหม่สำเร็จลงในปี พ.ศ. 2544

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถเดิมที่ถูกเพลิงไหม้ไปนั้น กล่าวว่าไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คงเป็นแบบพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่จึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นรูปแบบไทยประเพณีตามสมัยนิยม คือ เป็นอาคารทรงโรงมีมุขหน้าหลัง หลังคาซ้อนชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ มีการตกแต่งด้วยเทพนมที่มุขหน้าหลัง ประดับลวดลายต่าง ๆ จำนวนมากที่หล่อพิมพ์ทาสีทองติดกระจก ภายนอกอุโบสถมีกำแพงแก้ว มีใบเสมาทาสีทองอยู่ในซุ้มเสมาสีขาว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานยกสูง มีซุ้มเรือนแก้ว ด้านข้างมีสาวกประคองอัญชลี ส่วนล่างของฐานมีพระพุทธรูปประทับยืนตรงกลาง ในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังที่มิได้เคร่งครัดตามคติความหมายเดิม ดังเห็นได้จากภาพแสดงวิถีไทย เช่น การตีไก่ เล่นว่าว เป็นต้น

เจดีย์ประดิษฐานอยู่หน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดย่อม เดิมมีสีขาว แต่มาทาสีทองภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ด้านหน้าวัดมีรูปหล่อหลวงปู่ทวดขนาดใหญ่ทาสีทองในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพชร[2]

อ้างอิง แก้

  1. กองพุทธศาสนสถาน, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2, หน้า 179.
  2. ภัทราวรรณ บุญจันทร์. "ความสัมพันธ์ของชุมชนกับศิลปกรรมในวัดราษฎร์ริมคลองสามเสน" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 41–47.