วัดบางระโหง

วัดในจังหวัดนนทบุรี

วัดบางระโหง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 9 บ้านบางระโหง ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

วัดบางระโหง
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 44 หมู่ที่ 9 ซอยบางกร่าง 4 ทางหลวงชนบท นบ.5038 ตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหากิตติกร กิตฺติรกฺโข ป.ธ.๖
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบางระโหงเป็นวัดโบราณ สร้างเมื่อใดไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าผู้สร้างวัดนี้มีชื่อว่าโหง เป็นชาวจีน (แต่บ้างว่าเป็นชาวมอญ) ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากหงสาวดี นายโหงคงเป็นผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์หรือเศรษฐีในยุคนั้น สังเกตจากซุ้มที่ครอบใบเสมาและใบเสมามีความสวยงามยิ่งนัก[1]

เดิมมีเสาหงส์อยู่หน้าวัดพร้อมทั้งเจดีย์คู่และสิงโต หลวงพ่อใหญ่ในอุโบสถและหลวงพ่อขาวในพระวิหารนั้นศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะ เมื่อแม่ค้าพายเรือผ่านหน้าวัดมักตั้งจิตอธิษฐานแล้ววักน้ำมาลูบเนื้อลูบตัว เชื่อว่าจะทำให้ค้าขายดี ในช่วงการเกณฑ์ทหาร มักมีคนมาบนบานกับหลวงพ่อใหญ่และหลวงพ่อขาว ขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีคนอพยพหนีภัยมาอาศัยที่วัด เช่น พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) หรือก่อนหน้านั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ก็เคยโดยสารเรือมาพักที่วัด[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อ พ.ศ. 2533 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทย 2 ชั้น กุฏิสงฆ์เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ศาลาบำเพ็ญกุศลสร้างเมื่อ พ.ศ. 2539 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนปูชนียวัตถุ มีพระประธานประจำพระอุโบสถปางมารวิชัยซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2545 และพระประธานประจำศาลาการเปรียญปางมารวิชัยซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ. 2533[3]

ตะกรุด แก้

พระครูนนทสมณวัตร (หลวงปู่เหรียญ ถาวโร) อดีตเจ้าอาวาส ได้สร้างตะกรุดมากมาย มีตะกรุดพิศมรเล็ก ตะกรุดพิศมร 19 ตะกรุดแคล้วคลาด ตะกรุดสาริกา ตะกรุดจักรพรรดิ ตะกรุดสามกษัตริย์ ตะกรุดมหาอุด และตะกรุดโภคทรัพย์เป็นอาทิ[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ยกมือสาธุ!!เปิดตำนานความศักดิ์สิทธิ์หลวงปู่เหรียญและโบสถ์โบราณอายุเก่าแก่กว่า๒๐๐ปี แห่งวัดบางระโหง นนทบุรี สาธุๆ!!". ทีนิวส์.
  2. "ตำนานวัดบางระโหง".
  3. "วัดบางระโหง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.