วัดนางวัง

วัดในจังหวัดสมุทรสงคราม

วัดนางวัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันมีพระครูบวรธรรมธัช (ธงชัย) เป็นเจ้าอาวาส[1]

วัดนางวัง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดนางวัง, วัดเพชรน้อยนางวัง, วัดยายวัง
ที่ตั้งทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 325 ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายธรรมยุติกนิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อแดง, พระศรีอาริยเมตไตยทรงเครื่อง
เจ้าอาวาสพระครูบวรธรรมธัช (ธงชัย)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดนางวังตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2483 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2496 ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง เดิมเรียกว่า วัดเพชรน้อยนางวัง หรือ วัดยายวัง จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2460 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ตัดคำว่า "เพชรน้อย" ออก ให้เรียกว่า "วัดนางวัง" สันนิษฐานกันว่า ชาววังได้มาสร้างหรือปฏิสังขรณ์ไว้ เพราะตัววัดตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระตำหนักที่ประสูติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ แก้

พื้นที่ส่วนใหญ่ของวัดถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพังทลายไปมาก พื้นที่จริงกับโฉนดของวัดจึงไม่ตรงกัน อุโบสถก็ถูกกระแสน้ำเซาะพังลงน้ำไปสองหลังแล้ว ปัจจุบันอุโบสถหลังที่สามสร้างเมื่อ พ.ศ. 2500 และเมื่อ พ.ศ. 2511 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เสด็จมายกช่อฟ้าอุโบสถหลังที่สามนี้ด้วย ภายในพระอุโบสถมีพระประธาน พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์[2]

ปูชนียวัตถุของวัด ได้แก่ พระพุทธรูปศิลาแดงปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อแดง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่มากับวัด เป็นพระประธานในอุโบสถหลังแรก พระประธานในอุโบสถหลังปัจจุบัน หน้าตักกว้าง 42 นิ้ว สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อสร้างอุโบสถหลังที่ 2 ห่างจากอุโบสถหลังแรกประมาณ 100 ปี ผนังอุโบสถมีภาพเขียนสวยงาม เป็นรูปพระอาทิตย์กับพระจันทร์คู่กัน รูปพระอาทิตย์ชิงดวง มีนัยว่าเป็นตรารูปประจำตระกูลบุนนาค จึงสันนิษฐานว่าผู้สร้างโบสถ์หลังที่สองคงเป็นสมาชิกตระกูลบุนนาค วัดยังมีพระศรีอริยเมตไตรยทรงเครื่อง เคยอาราธนานำไปแห่รอบตลาดอัมพวาเพื่อให้ประชาชนสักการะทุก ๆ ปี ปัจจุบันได้ยกเลิกประเพณีนี้ไปแล้ว และมีธรรมาสน์บุษบกของเก่า ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดนางวัง". พระสังฆาธิการ.
  2. "วัดนางวัง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์.
  3. "วัดนางวัง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.