พระมหาโมคคัลลานะ
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
พระมหาโมคคัลลานะ (บาลี: มหาโมคฺคลฺลาน) เป็นพระเถระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก คู่กับพระสารีบุตร ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา
พระมหาโมคคัลลานะ | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | โกลิตะ |
ชื่ออื่น | โมคคัลลานะ |
สถานที่เกิด | โกลิตคาม |
สถานที่บวช | วัดเวฬุวันมหาวิหาร |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | บ้านกัลวาลมุตตคาม |
ตำแหน่ง | พุทธอัครสาวกเบื้องซ้าย |
เอตทัคคะ | ผู้มีฤทธิ์มาก |
ปรินิพพาน | วันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 หลังจากพระสารีบุตรนิพพานได้ 15 วัน |
สถานที่ปรินิพพาน | กาฬศิลา แห่งมคธชนบท |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | ชาวมคธ |
วรรณะเดิม | พราหมณ์ |
การศึกษา | จบไตรเพท |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระโมคคัลลานะ
แก้พระมหาโมคคัลลานะ เป็นบุตรพราหมณ์ในหมู่บ้านโกลิตคาม ได้ชื่อว่า “โกลิตะ” ตามชื่อของหมู่บ้าน มารดาชื่อโมคคัลลี คนทั่วไปจึงเรียกท่านว่า “โมคคัลลานะ” ตามชื่อของมารดา ท่านเป็นสหายที่รักกันมากับอุปติสสมาณพ (พระสารีบุตร) เที่ยวแสวงหาความสุขความสำราญ ตามประสาวัยรุ่น และพ่อแม่มีฐานะร่ำรวย นอกจากนี้ยังมีอุปนิสัยใจคอเหมือนกัน และยังได้ออกบวชพร้อมกัน
สาเหตุที่ได้เป็นเอตทเมื่อนับถอยหลังไปด้วยระยะเวลาได้หนึ่งอสงไขยกัปและอีกหนึ่งแสนกัปจากภัทรกัปปนี้ พระมหาโมคคัลลานะเถระบังเกิดเป็น สิริวัฑฒกุฏมพี อยู่ในตระกูลคฤหบดีมหาศาล และได้เป็นสหายกับ สรทมาณพ (พระสารีบุตรเถระ) ในอดีตชาติ สรทมาณพนั้นคิดจะออกบรรพชาแสวงหาโมกขธรรมจึงไปชวน สิริวัฑฒกุฎุมพี ๆ ปฏิเสธว่าไม่สามารถออกบรรพชาได้ แล้วสรทมาณพออกไปบรรพชาเป็นดาบสพร้อมด้วยบริวารเป็นจำนวนมาก ได้สำเร็จอภิญญา 5 และสมาบัติ 8 ประการ ต่อมาได้กระทำอธิสักการบูชาแด่พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า และตั้งความปรารถนาไว้ในที่เฉพาะพระพักต์เพื่อเป็นอัครสาวกเมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว พลันหวนนึกถึงสิริวัฑฒกุฎมพีผู้เป็นสหายขึ้นได้ จึงรีบไปที่บ้านของสิริวัฒกุฎมพีแต่ผู้เดียว และได้ชี้แจงให้ผู้เป็นสหายทราบและให้ปรารถนาตำแหน่งทุติยสาวก (สาวกเบื้องซ้าย) ในศาสนาของพระพุทธโคดม เช่นเดียวกับตน สิริวัฒกุฎมพี ได้ฟังดังนั้น จึงให้สรทดาบสไปนิมนต์พระพระอโนมทัสสีพุทธเจ้า มาที่บ้านและทำการถวายมหาทานและเครื่องมหาสักการบูชามากมายตลอดเจ็ดวัน แล้วก็ประนมมือกราบทูลแทบพระบาทพระะอโนมทัสสีพุทธเจ้า ว่า สรทดาบสผู้เป็นสหายของข้าพระองค์ปรารถนาเป็นอัครสาวกของพระบรมศาสดาพระองค์ใด ข้าพระองค์ขอได้เป็นทุติยะสาวกของศาสดาพระองค์นั้นด้วยเถิดพระเจ้าข้าพระอโนมทัสสีพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาดูอนาคตกาลแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของสิริวัฒกุฏมพีจะสำเร็จสมมโนรถ จึงทรงพยากรณ์ว่า เมื่อเวลาล่วงเลยไปหนึ่งอสงไขยกับอีกหนึ่งแสนกัป นับจากกัปนี้ไป เธอจะได้เป็นทุติยสาวกของพระโคดมพุทธเจ้า
สิริวัฒกุฎพีรับฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว มีใจร่าเริงยินดีเป็นที่สุด ราวกับว่าความปรารถนานั้นจะสำเร็จในวันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ฉะนั้น ฝ่ายพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จกลับพระวิหาร พร้อมด้วยพระภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่วันนั้นมาสิริวัฒกุฎมพีได้กระทำกัลยาณกรรมอยู่เป็นประจำตลอดชีวิต ครั้นเขาสิ้นชีวิตแล้วขึ้นไปเกิดในกามาวจรเทวโลก ในวาระแห่งจิตที่ 2 และกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกในชาติต่อมา และในสมัยพระโคดมพระพุทธเจ้านี้ เกิดมาเป็นโกลิตมาณพ เพื่อนของอุปปติสสมาณพ
เมื่ออุปติสสมาณพได้ไปพบพระอัสสชิในกรุงราชคฤห์ ได้ฟัง "พระคาถาเย ธัมมา" จากพระอัสสชิ ทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นเดียวกัน ทั้งสองมาณพได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม และได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ โกลิตมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียรได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตรอุปสมบทได้ 15 วัน จึงสำเร็จพระอรหันต์
ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย (ทุติยสาวก) เลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์มาก
ความสำคัญในพระพุทธศาสนา
แก้การสำเร็จเป็นพระอรหันต์
แก้พระพุทธเจ้าทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ
แก้พระมหาโมคคัลลานะ เมื่ออุปสมบทได้ 7 วัน ได้ไปทำความเพียรอยู่ที่ป่าใกล้บ้านกัลป์ลาวาลมุตตาคาม แขวงมคธ ถูกถีนมิทธารมณ์ คือ ความง่วงเหงาเข้าครอบงำ ไม่สามารถจะทำความเพียรได้ ขณะนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ สวนเภสกลาวัน ซึ่งเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่เนื้อ ใกล้เมืองสุงสุมารคิรี อันเป็นเมืองหลวงของแคว้นภัคคะ ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะ โงกง่วงอยู่ จึงทรงทำปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏ ประหนึ่งว่าเสด็จประทับอยู่ตรงหน้า ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงแก่เธอตามลำดับ ดังนี้
- โมคคัลลานะ เมื่อเธอมีสัญญาอย่างใดแล้ว เกิดความง่วงขึ้น เธอจงทำไว้ในใจซึ่งสัญญาอย่างนั้นให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
( หมายเหตุ ข้างต้นเป็นไปตามพระไตรปิฏกฉบับมหามกุฏและสยามรัฐ ซึ่งแปลสำนวนจาก บาลีฉบับสยามฯ ส่วน พระไตรปิฏกฉบับมหาจุฬา แปลสำนวนตาม บาลีสากล ซึ่งตรงตามบาลีลังกาและพม่า ได้เนื้อความว่า "เมื่อเธอมีสัญญาอยู่อย่างไร ความง่วงนั้น ย่อมครอบงำเธอได้ เธออย่าได้มนสิการถึงสัญญานั้น อย่าได้ทำสัญญานั้นให้มาก เป็นไปได้ที่เมื่อเธออยู่อย่างนั้นจะละความง่วงนั้นได้" .
สำหรับ บาลีจากพระไตรปิฎกบาลีฉบับต่างๆเป็นดังนี้ : "ตสฺมาติห, โมคฺคลฺลาน, ยถาสญฺญิสฺส เต วิหรโต ตํ มิทฺธํ โอกฺกมติ, ตํ สญฺญํ มา มนสากาสิ [มา มนสิกาสิ (สี.), มนสิ กเรยฺยาสิ (สฺยา.), มนสากาสิ (ก.)], ตํ สญฺญํ มา พหุลมกาสิ [ตํ สญฺญํ พหุลํ กเรยฺยาสิ (สฺยา.), ตํ สญฺญํ พหุลมกาสิ (ก.)]ฯ ฐานํ โข ปเนตํ, โมคฺคลฺลาน, วิชฺชติ ยํ เต เอวํ วิหรโต ตํ มิทฺธํ ปหีเยถ". )
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรตรึกตรองถึงธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว ได้ฟังมาแล้วให้มาก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสาธยายธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้วให้มากจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรยอนช่วงหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอจงลุกขึ้นแล้วลูบนัยน์ตา ลูบหน้าด้วยน้ำเหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาว จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรทำไว้ในใจถึงอาโลกสัญญา ถือ กำหนดความสว่างไว้ในใจเหมือนกัน ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำใจให้เปิด ให้สว่าง จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรเดินจงกรมสำรวมอินทรีย์ มีจิตใจไม่คิดไปภายนอก จะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
- ถ้ายังละไม่ได้ เธอควรสำเร็จสีหไสยาสน์ นอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าให้เลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้นเป็นนิตย์ เมื่อตื่นแล้วควรรีบลุกขึ้นด้วยตั้งใจว่า เราจะไม่ประกอบความสุขในการนอนและการเคลิ้มหลับอีกจะเป็นเหตุให้ละความง่วงได้
พระพุทธองค์ ตรัสสอนอุบายเพื่อบรรเทาความง่วงโดยลำดับจนที่สุดถ้ายังไม่หายง่วงก็ให้นอน แต่ให้นอนอย่างมีสติ
พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาท 3 ข้อ
แก้- โมคคัลลานะ เธอจงจำไว้ในใจว่า เราจะไม่ชูงวง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่น เป็นนี่ เข้าไปสู่สกุล เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วยคิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคนในสกุลเขามีการงานมาก ก็จะเกิดอิดหนาระอาใจ ถ้าเขาไม่ใส่ใจต้อนรับ เธอก็จะเก้อเขินคิดไปในทางต่าง ๆ เกิดความฟุ้งซ่านไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ
- โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกันเพราะถ้าเถียงกันก็จะต้องพูดมาก และผิดใจกัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม และจิตก็จะห่างจากสมาธิ
- โมคคัลลานะ ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ตำหนิการคลุกคลีไปทุกอย่าง คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ อันสงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย
ลำดับนั้น พระมหาโมคคัลลานะ ได้กราบทูลถามถึงข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมชักนำไปสู่การสิ้นตัณหา เกษมจากโยคะคือกิเลสเครื่องประกอบให้จิตติดอยู่ พระพุทธองค์ ตรัสสอนในเรื่องธาตุกรรมฐาน โดยใจความว่า “ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เมื่อได้สดับว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ควรกำหนดธรรมเหล่านั้น ในยามเมื่อเสวยเวทนา อันเป็นสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง และให้พิจารณาดังปัญญา อันประกอบด้วยความหน่าย ความดับ และความไม่ยึดมั่น จิตก็จะพ้นจากอาสวกิเลส เป็นผู้รู้ว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว”
พระมหาโมคคัลลานะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา ช่วยแบ่งเบาภารกิจ และยังพุทธดำริต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่งกว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระอัครสาวกเบื้องซ้าย โดยทรงยกย่องให้เป็นอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรว่า “พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เปรียบเสมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดมาแล้ว พระสารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะ ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องสูงขึ้นไป”นอกจากนี้ พระมหาโมคคัลลานะ ยังเป็นผู้มีความสามารถในการ นวกรรม คือ งานก่อสร้าง พระบรมศาสดาเคยทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่ นวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างวิหารบุพพาราม ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งนางวิสาขาบริจาคทรัพย์สร้างถวายอีกด้วย
การบำเพ็ญประโยชน์ในการประกาศพระพุทธศาสนา
แก้พระมหาโมคคัลลานเถระมีความสามารถในทางอิทธิปาฏิหาริย์ พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อบวชและสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรากฏว่าท่านมีความสามารถโดดเด่นในทางอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นเลิศ กว่าภิกษุทั้งหลาย ท่านสามารถแสดงฤทธิ์ ไปยังภูมิของสัตว์นรก และไปโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ได้ ท่านได้พบเห็นสัตว์นรกในขุมต่าง ๆ และของเทพบุตรเทพธิดาที่ได้เสวยความสุขจากการทำบุญไว้ในเมืองมนุษย์เช่นกัน ท่านได้นำข่าวสารของสัตว์นรกและของเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้น มาแจ้งแก่บรรดาญาติและชนทั้งหลายให้ทราบ ทำให้บรรดาญาติและชนเหล่านั้นพากันละเว้นกรรมชั่วลามกอันจะพาตนไปเสวยผลกรรมในนรก พากันสร้างบุญกุศล อันจะนำตนไปสู่สุคติโลกสวรรค์ และพร้อมกันนั้นก็พากันทำบุญอุทิศไปให้แก่ญาติของตน เหล่าชนบางพวกที่ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ก็พากันละทิ้งลัทธิศาสนาเดิมมาศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ทำให้พวกเดียรถีย์ทั้งหลายต้องเสื่อมจากลาภสักการะ เป็นอยู่ลำบากอดอยากขึ้นเรื่อย ๆ
เรื่องที่พระเถระไปเยี่ยมชมโลกสวรรค์ชั้นต่าง ๆ
แก้นั้นมีเรื่องกล่าวไว้ในคัมภีร์ธรรมบทหมวดปิยวรรคและโกธวรรคว่าวันหนึ่ง พระเถระได้ขึ้นไปยังดาวดึงส์โลกสวรรค์ ด้วยอริยฤทธิ์ ได้เห็นปราสาทหลังหนึ่ง มีแสงแวววาวด้วยแก้วนานาประการ มีขนาดใหญ่ทั้งกว้าง ทั้งสูง มีนางเทพธิดาอยู่ในปราสาทนั้นจนเนืองแน่น พระเถระจึงถามว่า “แม่เทพธิดา วิมานนี้เป็นของใคร (เกิดขึ้นเพื่อใคร) ?" “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ วิมานนี้เกิดขึ้นเพื่อนันทิยะ ผู้สร้างศาล 4 มุข 4 ห้อง ถวายพระบรมศาสดา พวกดิฉันมาเกิดในที่นี้ก็ด้วยหวังว่าจะได้เป็นบาทจาริกาของนันทิยะนั้น แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่พบนันทิยะ เพราะท่านยังไม่ละอัตภาพจากโลกมนุษย์เลยขอพระคุณเจ้าได้โปรดนำข่าวสารไปบอกแก่นันทิยะให้ละอัตภาพมนุษย์อันเปรียบประดุจถาดดิน มาถือเอาอัตภาพอันเป็นทิพย์ ซึ่งเปรียบประดุจถาดทองคำล้ำค่าในโลกสวรรค์นี้ด้วยเถิด เจ้าค่ะ” อันที่จริง วิมานนั้นได้เกิดขึ้นบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมกับขณะที่นันทิยมาณพ ได้สร้างศาลาจัตุรมุขมี 4 ห้อง ถวายแด่พระบรมพระศาสดาแล้ว หลั่งน้ำทักษิโณทก ตกลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระบรมศาสดา
พระเถระได้จาริกท่องเที่ยวไปยังสวรรค์ชั้นอื่น ๆ ได้พบเห็นวิมานทองของเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายแล้ว ได้ไต่ถามเทพบุตรเทพธิดาเหล่านั้นว่า ทำบุญอะไร ทานด้วยสิ่งใด จึงได้เสวยผลบุญ ได้รับทิพยสมบัติวิมานแล้ว วิมานทองอันงดงามยิ่งนัก เช่นนี้ เทพบุตรและเทพธิดาเหล่านั้น ต่างก็รู้สึกละอายที่จะบอกแก่พระเถระเพราะบุญทานที่พวกตนกระทำนั้นมีประมาณเพียงเล็กน้อย คือ
- บางองค์บอกว่า เพียงรักษาคำสัตย์ จึงได้สมบัติคือวิมานนี้
- บางองค์บอกว่า เพียงห้ามความโกรธ จึงได้วิมานนี้
- บางองค์บอกว่า เพียงถวายอ้อยลำเดียว จึงได้วิมานนี้
- บางองค์บอกว่า เพียงถวายมะพลับ, ลิ้นจี่ ฯลฯ ผลเดียว จึงได้วิมานนี้
พระเถระจาริกไปยังสวรรค์ชั้นต่าง ๆ พอสมควรแก่อัธยาศัยแล้วก็กลับมาสู่มนุษย์โลก นำข่าวสารที่ได้พบเห็นมาแจ้งแก่หมู่ชนทั้งหลาย ซึ่งต่างก็พากันศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทำบุญสร้างกุศล เพื่อหวังผลอันเป็นสุขสมบัติในปรโลก
พระเถระทรมานพญานาค
แก้สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของนักบวชนอกพระพุทธศาสนานามว่า “อัคคิทัต” จึงรับสั่งให้พระมหาโมคคัลลานเถระไปอบรมสั่งสอนให้ลดทิฏฐิมานะ ละการถือลัทธินั้นเสียพระเถระรับพระพุทธบัญชาแล้วไปยังสำนักของอัคคิทัต นั้น กล่าวขอที่พักอาศัยสักราตรีหนึ่ง แต่อัคคิทัต ปฏิเสธว่าไม่มีสถานที่ให้พัก พระเถระจึงกล่าวต่อไปว่า “อัคคิทัต ถ้าอย่างนั้น เราขอพักที่กองทรายนั่นก็แล้วกัน”ก็ที่กองทรายนั้นมีพญานาคตัวใหญ่มีพิษร้ายแรงอาศัยอยู่ อัคคิทัต เกรงว่าพระเถระจะได้รับอันตรายจึงไม่อนุญาต แต่เมื่อพระเถระรบเร้าหนักขึ้นจนต้องยอมอนุญาต พระเถระจึงเดินไปที่กองทรายนั้น
พญานาคเห็นพระเถระเดินมารู้ว่าไม่ใช่พวกของตนจึงพ่นควันพิษเข้าใส่พระเถระ ฝ่ายพระเถระก็เข้าเตโชกสิณบังหวนควันไฟให้กลับไปทำอันตรายแก่พญานาค ทั้งพระเถระและพญานาคต่างก็พ่นควันพ่นไฟเข้าใส่กันจนเกิดแสงรุ่งโรจน์โชตนาการ พิษควันไฟไม่สามารถทำอันตรายพระเถระได้เลย แต่ทำอันตรายแก่พญานาคฝ่ายเดียวอัคคิทัต กับบริวารมองดูแล้วคิดตรงกันว่า “พระเถระคงจะมอดไหม้ในกองเพลิงเสียแล้ว” พร้อมทั้งคิดว่า “สาสมแล้ว เพราะเราห้ามแล้วก็ไม่ยอมเชื่อฟัง” รุ่งเช้า อัคคิทัตกับบริวารเดินมาดู ปรากฏว่าพระเถระนั่งอยู่บนกองทราย โดยมีพญานาค ขดรอบกองทรายแล้วแผ่พังพานอยู่เหนือศีรษะ พระเถระจึงพากันคิดว่า “น่าอัศจรรย์ สมณะนี้มีอานุภาพยิ่งนัก”
ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง พระมหาโมคคัลลานเถระ จึงลงจากกองทรายแล้ว เข้าไปกราบบังคมทูลอาราธนาให้เสด็จประทับนั่งบนกองทรายแล้วกล่าวกับอัคคิทัตว่า “พระพุทธ องค์ เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ๆ เป็นสาวกของพระพุทธองค์”ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้อัคคิทัตพร้อมทั้งบริวารเลิกละการเคารพบูชาภูเขา ป่า ต้นไม้ และจอมปลวก เป็นต้น ที่พวกตนพากันเคารพบูชาว่าเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุด ให้หันมาระลึกถึงพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ อันเป็นสิ่งประเสริฐสุดนำไปสู่การพ้นทุกข์ทั้งปวงเมื่อจบพระธรรมเทศนา อัคคิทัต และบริวารได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมดแล้วกราบทูบขอบรรพชาในพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้ประทานให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของพระมหาโมคคัลลานเถระนั้นมีมาก แต่นำมากล่าวไว้ในที่นี้พอเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้
พระเถระมีอัธยาศัยใจกว้าง
แก้พระมหาโมคคัลลานะเถระ ผู้เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมและความสามารถในอิทธิปาฏิหาริย์เหนือกว่าพระพุทธสาวกรูปอื่น ๆ แต่ท่านก็เป็นผู้มีอัธยาศัย ใจกว้างไม่กีดกัน ไม่เบียดบังความดีความสามารถของคนอื่น ไม่ฉวยโอกาสชิงความดี ความชอบจากผู้อื่น ดังจะเห็นได้จากเรื่องต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์ อยากจะเห็นพระอรหันต์ที่แท้จริงเพราะในเมือง ราชคฤห์นั้นมีเจ้าลัทธิหลายสำนัก ซึ่งต่างก็โอ้อวดว่าตนเป็นพระอรหันต์ ทั้ง ๆ ที่การปฏิบัติและหลักคำสอนก็แตกต่างกันเป็นอย่างมาก และหาแก่นสารมิได้ จึงให้บริวารกลึงไม้จันทน์แดง ทำเป็นบาตรแล้วผูกติดปลายไม้ไผ่ต่อกัน หลาย ๆ ลำตั้งไว้แล้วประกาศว่า “ใครเป็นพระอรหันต์ ก็จงเหาะมาเอาบาตรใบนี้ไป” เจ้าลัทธิทั้งหลายปรารถนาจะได้บาตร แต่ไม่สามารถเหาะมาเอาไปได้ จึงมาเกลี้ยกล่อมเศรษฐีให้ยกบาตรให้ตน โดยไม่ต้องเหาะขึ้นไป แต่เศรษฐีก็ยงคงยืนยันว่าต้องเหาะขึ้นไปเอาเอง เท่านั้นจึงจะได้
ขณะนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระ กับพระปิณโฑลภารทวาชะเถระ กำลังยืนห่มจีวรอยู่บนก้อนหินใหญ่ เพื่อเข้าไปบิณฑบาตในเมือง ได้ยินพวกชาวบ้านพูดกันว่า “ในโลกนี้ คงจะไม่มีพระอรหันต์ เพราะวันนี้เป็นวันที่ 7 แล้วท่านเศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์เหาะมาเอาบาตร แม้แต่ครูทั้ง 6 ที่โอ้อวดนักหนาว่าเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่สามารถเหาะขึ้นไปเอาบาตรได้เลย เราเพิ่งรู้วันนี้เองว่าพระอรหันต์ไม่มีในโลก”
พระเถระทั้งสอง ต้องการประกาศให้ประชาชนทั้งหลายรู้ว่าในพระพุทธศาสนามีพระอรหันต์อยู่จริง ดังนั้น พระมหาโมคคัลลานเถระ แม้จะมีฤทธิ์มีอานุภาพมากกว่า มีอายุพรรษามากกว่า แต่อาศัยความที่ท่านเป็นผู้มีใจกว้างมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น ต้องการให้คุณของพระเถระรูปอื่นปรากฏบ้าง จึงบอกให้ พระปิณโฑลภารทวาชเถระ เหาะขึ้นไปเอาบาตรนั้นลงมา จนเศรษฐีและชาวเมืองพากันแตกตื่นมาดูกันอย่างโกลาหล
เมื่อครั้งพระบรมศาสดา ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก มหาชนที่ประชุมกันอยู่ที่นั่นไม่ทราบว่าพระพุทธองค์หายไปไหน จึงพากันเข้าไปถามพระมหาโมคคัลลานเถระ แม้พระเถระจะทราบเป็นอย่างดี แต่ท่านก็ไม่ตอบโดยตรง กลับบอกให้ไปถามพระอนุรุทธะเถระ ทั้งนี้ ก็เพื่อยกย่องคุณความรู้ความสามารถของพระพุทธสาวกรูปอื่น ๆ ให้ปรากฏบ้างนั่นเอง
บั้นปลายชีวิต
แก้พระมหาโมคคัลลานเถระถูกโจรทุบ
แก้วันเวลาผ่านไปตามลำดับ เข้าสู่ปัจฉิมโพธิกาล ขณะที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระพักอยู่ที่กาฬศิลา ในมคธชนบทนั้นพวกเดียรถีย์ ทั้งหลาย มีความโกรธแค้นพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นอย่างมาก เพราะความที่ท่านมีฤทธานุภาพมาก สามารถกระทำอิทธิฤทธิ์ ไปเยี่ยมชมสวรรค์และนรกได้ แล้วนำข่าวสารมาบอกแก่ญาติมิตรของผู้ไปเกิดในสวรรค์และนรกให้ได้ทราบประชาชนทั้งหลายจึงพากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทำให้พวกเดียรถีย์ ต้องเสื่อมคลายความเคารพนับถือจากประชาชน ลาภสักการะก็เสื่อมลง ความเป็นอยู่ก็ลำบากฝืดเคือง จึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นอันเดียวกันว่า “ต้องกำจัดพระมหาโมคคัลลานะ เพื่อตัดปัญหา” ตกลงกันแล้ว ก็เรี่ยไรเงินทุนจากบรรดาศิษย์ และอุปัฏฐากของตนเมื่อได้เงินมาพอแก่ความต้องการแล้ว ได้ติดต่อจ้างโจรให้ฆ่าพระเถระ
พวกโจรใจบาป ได้รับเงินสินบนแล้วพากันไปล้อมจับพระเถระถึงที่พัก แต่พระเถระรู้ตัวและหลบหนีไปได้ถึง 2 ครั้งในครั้งที่ 3 พระเถระได้พิจารณาเห็นกรรมเก่า ที่ตนเคยทำไว้ในอดีตชาติติดตามมา และเห็นว่ากรรมเก่านั้นทำอย่างไรก็หนีไม่พ้น จึงยอมให้พวกโจรจับอย่างง่ายดาย และถูกพวกโจรทุบตีจนกระดูกแตกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี พวกโจรแน่ใจว่าท่านตายแล้ว จึงนำร่างของท่านไปทิ้งในป่าแห่งหนึ่ง แล้วพากันหลบหนี
บุพกรรมของพระมหาโมคคัลลานเถระ
แก้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเล่าอดีตชาติของพระมหาโมคคัลลานเถระ ในอดีตพระเถระได้เกิดเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ ต่อมาเมื่อเจริญเติบโตขึ้นพ่อแม่ทั้งสองประสบเคราะห์กรรมตาบอดด้วยกันทั้งสองคนเป็นภาระที่ลูกชายคนเดียวต้องปรนนิบัติเลี้ยงดู การงานทุกอย่างทั้งนอกบ้านในบ้านลูกชายจัดการเป็นที่เรียบร้อย พ่อแม่ทั้งสองมิต้องกังวล ต่อมาพ่อแม่เห็นลูกชายอยู่ในวัยที่สมควรจะมีครอบครัวได้แล้ว จึงจัดการสู่ขอหญิงสาวที่มีชาติตระกูลใกล้เคียงกัน ให้มาแต่งงานเป็นคู่ของลูกชายทั้ง ๆ ที่ลูกชายมิได้เต็มใจ เพราะตนเองผู้เดียวก็สามารถปฏิบัติเลี้ยงดูบิดามารดาได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อบิดามารดาเป็นภาระจัดการให้แล้วก็ไม่ขัดความประสงค์ของท่าน
เมื่อแต่งงานแล้ว ชีวิตครอบครัวที่มีลูกสะใภ้พ่อผัวแม่ผัวอยู่ร่วมกันมาใน 2-3 วันแรกก็ราบรื่นสงบสุขเป็นอย่างดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป ลูกสะใภ้ก็เริ่มรังเกียจพ่อผัวแม่ผัวที่ตาบอดด้วยกันทั้งสองคน จึงหาวิธีกำจัดท่านทั้งสองด้วยการยุแหย่สามีให้เกลียดชังพ่อแม่ คือ เมื่อสามีออกทำงานนอกบ้านก็แกล้งทำบ้านเรือนให้สกปรกรกรุงรังด้วยการเอาปอ ก้านปอ และฟองข้าวยาคูไปเททิ้งไว้ให้เรี่ยราด ครั้นสามีกลับมาก็ฟ้องว่าพ่อแม่ทั้งสองเป็นผู้กระทำ ตนเองไม่สามารถที่จะทนเห็นทนอยู่ผู้เฒ่าตาบอดทั้งสองคนนี้ได้อีกต่อไปแล้ว
ระยะแรก ๆ สามีก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไรนักได้แต่รับฟังแล้วก็นิ่งเฉยแต่เมื่อภรรยาพูดบ่อย ๆ และเห็นบ้านเรือนสกปรกมากยิ่งขึ้นจึงเชื่อคำของภรรยา และได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรกับคนแก่ตาบอดทั้งสองคนนี้ดี “เอาท่านใส่เกวียนไปฆ่าทิ้งในป่า” ภรรยาเสนอความคิดเห็น สามีแม้จะไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะตนเป็นคนรักและกตัญญูต่อพ่อแม่มาตลอดแต่เมื่อภรรยารบเร้าไม่รู้จบสิ้น จึงใจอ่อนยอมทำตามที่ภรรยาแนะนำ รุ่งเช้า ได้จัดหาอาหารเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นอย่างดีแล้วกล่าวว่า“ข้าแต่คุณพ่อคุณแม่ ญาติที่หมู่บ้านโน้นต้องการให้คุณพ่อคุณแม่ไปเยี่ยมพวกเราไปกันในวันนี้เถิด”ลูกชายให้พ่อแม่นั่งบนเกวียนแล้วออกเดินทาง พอมาถึงกลางป่าส่งเชือกบังคับโคให้พ่อถือไว้แล้วพูดหลอกว่า “คุณพ่อจับปลายเชือกนี้ไว้ โคจะลากเกวียนไปตามทางนี้ ทราบว่าในป่านี้มีพวกโจรซุ่มอยู่ ลูกจะลงเดินตรวจดูโดยรอบ”
เมื่อลงเดินได้สักครู่หนึ่ง ก็เปลี่ยนเสียงร้องตะโกนประหนึ่งว่าเสียงโจรดักซุ่มอยู่ แล้วเข้ามาทุบตีทำร้ายบิดามารดา ฝ่ายบิดามารดาเชื่อว่าเป็นโจรจริง ๆ แม้จะถูกทุบตีอยู่ก็ยังร้องบอกให้ลูกรีบหนีไป พ่อแม่แก่แล้วไม่ต้องเป็นห่วง ลูกจงรักษาชีวิตไว้เถิด ลูกชายพอได้ยินเสียงมารดาบิดาร้องบอกให้รีบหนีไปไม่ต้องเป็นห่วงพ่อแม่ ก็กลับคิดไม่ได้ว่า “ตนทำกรรมหนัก พ่อแม่แม้จะถูกเราทุบตีอยู่นี้ ก็ยังร้องคร่ำครวญด้วยความรักและห่วงใยให้เรารีบหนีไปโดยมิได้คำนึงถึงชีวิตของตนเอง” แม้บิดามารดาจะร้องอยู่เช่นนี้ เขาก็ยังกระทำเสียงโจร และทุบบิดามารดากระทั่งถึงแก่ความตาย แล้วจึงโยนศพทิ้งไปในดงแล้วกลับมา
ลูกชาย เมื่อตายแล้วต้องชดใช้กรรมในนรกเป็นเวลานาน เมื่อพ้นจากนรกแล้วมาเกิดใหม่ ต้องถูกทุบตีจนแหลกละเอียดอีกหลายร้อยชาติ ในชาติสุดท้ายนี้แม้จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ มีฤทธิ์ สามารถจะดำดินล่องหนหายตัวได้ เหาะเหินเดินอากาศได้ แต่ก็ไม่สามารถจะหนีผลกรรมได้ ท่านจึงยอมให้พวกโจรจับทุบจนร่างแหลกเหลวดังกล่าวมานั่นเอง[1]
กราบทูลลานิพพาน
แก้พระมหาโมคคัลลานเถระ คิดว่า “เราควรไปกราบทูลลาพระผู้มีพระภาค ก่อนจึง นิพพาน” ดังนี้แล้วก็เรียบเรียงสรีรกายประสานกระดูกด้วยกำลังฌานฤทธิ์ เหาะมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลลานิพพาน พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “โมคคัลลานะ เธอจะนิพพาน ที่ไหน เมื่อไร ?” “ข้าพระองค์ จะนิพพานที่กาฬศิลาในวันนี้ พระเจ้าข้า” “โมคคัลลานะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงแสดงธรรมแก่ตถาคตก่อน ด้วยว่าการได้เห็นพระเถระเช่นเธอนี้ จะไม่มีอีกแล้ว”
พระเถระได้รับพระพุทธบัญชาเช่นนั้นจึงทำปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปบนอากาศแสดงพระธรรมเทศนาแล้วลงมาถวายอภิวาทกราบทูลลาไปยังกาฬศิลา และปรินิพพาน ณ ที่นั้น ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 12 หลังจากพระสารีบุตรนิพพานได้ 15 วัน
พระผู้มีพระภาค เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ทรงเป็นองค์ประธานจุดเพลิงฌาปนกิจศพให้ท่าน ขณะนั้น ฝนดอกไม้ทิพย์ตกลงมาโดยรอบบริเวณ มหาชนพากันประชุมทำสักการะพระอัฐิธาตุตลอด 7 วัน พระพุทธองค์โปรดให้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งวัดเวฬุวันมหาวิหารนั้น
ในทางมหายาน
แก้พระมหาโมคคัลลานะ ปรากฏในความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบจีน โดยเรียกว่า "มู่เหลียน" (จีน: 目連) เมื่อมารดาของพระมหาโมคคัลลานะได้ตายไป วิญญาณของนางได้ลงไปชดใช้กรรมในนรก เนื่องจากทำบาปไว้มาก วันหนึ่งพระมหาโมคคัลานะได้เพ่งจิตพิจารณาความเป็นอยู่ของมารดาตน พบว่านางต้องประสบเคราะห์กรรมอย่างมากต้องแย่งอาหารกินกับเปรต หรืออสุรกายตนอื่น ๆ ด้วยความกตัญญูพระมหาโมคคัลลานได้เพ่งจิตส่งอาหารลงไปให้ถึงในนรก แต่ก็ไม่สำเร็จเนื่องจากอาหารนั้นได้กลายเป็นเถ้าไฟไปทุกครั้ง พระมหาโมคคัลลานะมีความทุกข์ใจที่ไม่อาจช่วยมารดาของตนได้ จึงได้ไปกราบทูลปรึกษาพระพุทธเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงแนะให้โปรยทานด้วยผลไม้เพื่ออุทิศแก่ดวงวิญญาณคนตายทั้งหลายใน 10 จุด ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติแบบจีน อันเป็นที่มาของประเพณีทำบุญให้แก่คนตาย ที่เรียกว่า เทศกาลพ้อต่อ (普渡) หรือ อุลลัมพน (盂蘭勝會)
อ้างอิง
แก้- ชีวประวัติพุทธสาวก ประวัติพระอัจฉริยะมหาเถระเมื่อครั้งพุทธกาล เล่ม 1 จำเนียร ทรงฤกษ์ , 2542 , พิมพ์โดยสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว (สาขาวัดปากน้ำ), สำนักพิมพ์ธรรมสภา
- เว็บไซต์ 84000
- เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ประวัติพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ จาก อรรถกถาธรรมบท http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=4
- สนุกกับเทศกาลเฉลิมฉลอง Goh Pei Ki เขียน แสงจินดา กันยาทิพย์ แปลและเรียบเรียง, เมษายน พ.ศ. 2541, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า ISBN 974-604-217-3