พระสารีบุตร
พระสารีบุตร (สันสกฤต: ศฺริปุตฺร; บาลี: สาริปุตฺต) เป็นพระภิกษุชาวอินเดีย ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระโคตมพุทธเจ้า ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา นอกจากนี้ พระสารีบุตรยังมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาอีกด้วย จึงมีคำยกย่องภิกษุรูปนี้ว่าเป็น "ธรรมเสนาบดี" (แม่ทัพธรรม) คู่กับพระพุทธเจ้าที่เป็น "ธรรมราชา"
พระสารีบุตร | |
---|---|
พระสารีบุตร, รูปไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ศิลปะพม่า | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ชื่อเดิม | อุปติสสะ |
สถานที่เกิด | นาลันทา |
สถานที่บวช | วัดเวฬุวันมหาวิหาร |
วิธีบวช | เอหิภิกขุอุปสัมปทา |
สถานที่บรรลุธรรม | ถ้ำสุกรขาตา ก่อนถึงพระมูลคันธกุฎีบนเขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์ |
ตำแหน่ง | พระอัครสาวกเบื้องขวา |
เอตทัคคะ | ผู้มีปัญญามาก |
อาจารย์ | พระอัสสชิเถระ |
นิพพาน | วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ก่อนพุทธปรินิพพาน |
สถานที่นิพพาน | เตียงที่ท่านเกิดที่นาลันทา |
ฐานะเดิม | |
ชาวเมือง | นาลันทา แคว้นมคธ |
บิดา | นายวังคันตะพราหมณ์ |
มารดา | นางสารีพราหมณี |
วรรณะเดิม | พราหมณ์ |
การศึกษา | จบพระเวท |
สถานที่รำลึก | |
สถานที่ | ถ้ำสุกรขาตา ก่อนถึงพระมูลคันธกุฎีบนเขาคิชกูฏ เมืองราชคฤห์, นาลันทา บ้านเกิดและนิพพานของพระสารีบุตร |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา |
พระสารีบุตรเกิดเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่นิพพานเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนกฤติกา (เดือนสิบสอง) ก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
ประวัติ
สถานะเดิม
พระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า "อุปติสสะ" เป็นบุตรของนางพราหมณี ชื่อ "สารี" และนายพราหมณ์ ผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลตำบลนาลกะ หรือตำบลนาลันทา ชื่อ "วังคันตะ" คำว่า "อุปติสสะ" หมายความว่า ชาวบ้านอุปติสคาม อุปติสสะนั้นมีน้องชายสามคน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ และมีน้องสาวอีกสามคน คือ นางจาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ในวันเดียวกับที่นางพรามหณ์สารีให้กำเนิดอุปติสสะนั้น ยังเป็นวันที่ครอบครัวข้างเคียงให้กำเนิดบุตรชื่อว่า "โกลิตะ" หรือต่อมาคือพระมหาโมคคัลลานะ อีกด้วย
ครอบครัวของนางพราหมณีสารีนั้นมีความมั่งคั่งสมบูรณ์พร้อมมูลพอ ๆ กับครอบครัวของโกลิตะ นิสัยใจคอของทั้งอุปติสสะและโกลิตะก็คล้ายคลึงกัน ท่านทั้งสองได้คบหาและเล่าเรียนด้วยกันมาแต่เล็ก ๆ จนเติบใหญ่ นอกจากนี้ ครอบครัวของทั้งสองก็ยังคบหาสมาคมกันมาถึง 7 ชั่วรุ่น ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักกันอย่างยิ่ง
การออกจากเพศฆราวาส
วันหนึ่ง อุปติสสะและโกลิตะไปเที่ยวเล่นในงานรื่นเริงประจำปีในกรุงราชคฤห์ ขณะชมมหรสพอยู่นั้นก็เกิดความสลดใจขึ้นมาอย่างเดียวกันว่า กิจกรรมเหล่านี้ช่างไร้สาระสิ้นดี หาประโยชน์แก่นสารมิได้เลย ควรจะหาสิ่งใดเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและหลุดพ้นจากบ่วงเช่นนี้ อีกสองวันจึงพากันไปบวชในสำนักของสัญชัยเวลัฏฐบุตร ณ กรุงราชคฤห์นั้นเอง และสำเร็จการศึกษาในสำนักนั้นโดยใช้เวลาเพียงสองสามวัน เมื่อจบแล้วก็ออกจากสำนัก แต่ยังไม่พึงพอใจเพราะเห็นว่าความรู้จากสำนักนั้นหาใช่ที่ตนค้นหาไม่ จึงตกลงแยกกันไปตามหาครูผู้สามารถสอนความจริงของโลกให้ประจักษ์ได้อย่างแท้จริง และสัญญากันว่าถ้าใครเจอครูเช่นว่าแล้วก็จะมาบอกกันมิได้อำพราง
บรรลุโสดาบันและบวชในพระพุทธศาสนา
พระอัสสชิเถระอันเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ หลังจากได้ฟังธรรมจาก พระพุทธองค์ จนบรรลุอรหันต์แล้ว วันหนึ่งท่านถือบาตรและจีวร ไปสู่กรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาตแต่เช้าตรู่ อุปติสสะได้พบพระอัสสชิเถระ ประทับใจในอิริยาบถน่าเลื่อมใส สำรวมดี ของท่านพระอัสสชิเถระ ผู้มีอินทรีย์ฝึกดีแล้ว จึงเกิดความคิดว่า ท่านผู้นี้จักเป็นพระอรหันต์ จึงได้ตามท่านพระอัสสชิเถระไปข้างหลัง รอคอยโอกาสอยู่ แล้วสอบถาม พระอัสสชิเถระได้แสดงความลึกซึ้งในคำสอน ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า
ท่านกล่าวบทอันลึกซึ้งละเอียดทุกอย่าง เป็นเครื่องฆ่าลูกศร คือ ตัณหา เป็นเครื่องบรรเทาความทุกข์ทั้งมวล ว่าธรรมเหล่าใด มีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตเจ้า ตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะเจ้ามีปกติตรัสอย่างนี้
เมื่ออุปติสสะได้ฟังก็ได้บรรลุโสดาบัน
หลังจากนั้น อุปติสสะกราบลาพระอัสสชิเถระ แล้วนำธรรมะที่ได้รับฟังมา ไปบอกเพื่อนสนิทคือโกลิตะ จนได้บรรลุโสดาบัน เช่นเดียวกัน ทั้งสองได้ไปชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่สัญชัยปริพาชกปฏิเสธ ทั้งสองจึงได้พาปริพาชก 250 คน ไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ หลังจากฟังธรรมครั้งนั้น ปริพาชก 250 คนบรรลุอรหัตผล แต่อุปติสสะและโกลิตะ ยังคงบรรลุเพียงโสดาบันเช่นเดิม พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนาแล้ว ท่านอุปติสสะมีชื่อเรียกใหม่ว่าสารีบุตร
บรรลุเป็นพระอรหันต์
เวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระสารีบุตร ช่วงเวลานั้น ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ ทิฏฐิและเวทนา ทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตรนั้น ท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ท่านได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วยก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ ซึ่งเหตุการณ์ถัดไป พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ให้กับพระอรหันต์ 1,250 รูป รวมอัครสาวกทั้งสองด้วย มีดังนี้
พระสาวก | จำนวน (คน) |
---|---|
บริวารของชฎิล 3 พี่น้อง | 1,000 |
บริวารของพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ | 250 |
เป็นผู้เลิศทางปัญญา
หลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ จำพรรษาและแสดงพระอภิธรรม ณ ดาวดึงส์ เสด็จลงมา ณ ประตูเมืองสังกัสสะ พระสารีบุตรพร้อมทั้งภิกษุ ภิกษุณี และสาธุชนจำนวนมาก มาเฝ้ารอรับเสด็จ
พระพุทธองค์ได้ตรัสถามปัญหาในวิสัยของปุถุชนเป็นต้น พวกปุถุชนแก้ปัญหาได้ ในวิสัยของตนเท่านั้น ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระโสดาบันได้ พระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระโสดาบันเป็นต้นก็เหมือนกัน ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระสกทาคามีเป็นต้น พระมหาสาวกที่เหลือ ไม่สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระมหาโมคคัลลานะ พระมหาโมคคัลลานะไม่ สามารถจะแก้ปัญหา ในวิสัยของพระสารีบุตรเถระได้ แม้พระสารีบุตรเถระ ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาในวิสัยของพระพุทธเจ้าได้เหมือนกัน
ในครั้งนั้น มหาชนจึงได้รู้จักพระสารีบุตร ว่า เป็นผู้เลิศทางปัญญา
พระสารีบุตร เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีปัญญามาก ฯ
ธรรมบรรยายของพระสารีบุตร
พระสารีบุตรได้แสดงธรรมอันลึกซึ้ง ปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก เช่น
- คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 31
- สังคีติสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 11
- ทสุตตรสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 11
- ตอนท้ายของธรรมทายาทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 12
- อนังคณสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 12
- สัมมาทิฏฐิสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 12
- มหาหัตถิปโทปมสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 12
- ธนัญชานิสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 13
- ฉันโนวาทสูตร ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 14
- ชัมพุขาทกสังยุตต์ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 18
บั้นปลายชีวิต
ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ท่านพระสารีบุตรพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนจะสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดา (คือนางสารี) ที่ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่และยังมีความขัดเคืองต่อพระพุทธศาสนาเพราะเหล่าน้องๆของท่านได้หนีเข้ามาบวชจนไร้ผู้สืบสกุล จึงกราบทูลลานิพพานกับพระพุทธองค์ว่าจะนิพพานที่บ้านเกิด เมื่อท่านไปถึงบ้านเดิมแล้ว ได้เกิดปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่พระสารีบุตรกำลังอาพาธอยู่นั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ท้าวสักกะ และท้าวมหาพรหม ก็ได้เสด็จลงมาเข้าเยี่ยมท่านเป็นครั้งสุดท้าย มารดาได้เห็นเข้าจึงถามพระสารีบุตร เมื่อท่านตอบก็ทำให้มารดาคิดว่า บุตรชายคนโตของตนมีอานุภาพมาก ขนาดทำให้เหล่าเทวดาและพรหมที่เชื่อว่าเป็นเทพสูงสุดในศาสนาพราหมณ์ต่างก็มาไหว้ และพระพุทธเจ้าที่เป็นพระศาสดาของบุตรชายคนโตของตนจะมีอานุภาพขนาดไหน ทำให้จิตของมารดาน้อมไปในทางพระพุทธศาสนา พระสารีบุตรก็ได้เทศนาโปรดมารดา จนนางสารีได้บรรลุโสดาบัน คืนนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระสารีบุตรก็ปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด รุ่งขึ้นพระจุนทะ (ผู้เป็นน้อง) ได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้า เสร็จแล้วเก็บอัฏฐิธาตุ นำไปถวายพระบรมศาสดา ณ วัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฏฐิธาตุของพระสารีบุตร ไว้ ณ ที่นั้น
คุณความดีของพระสารีบุตร
พระสารีบุตรท่านมีคุณความดีที่พระพุทธองค์ทรงยกย่องไว้มากมาย ขอยกมาเฉพาะบางเรื่องที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
- พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นผู้มีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิตด้วยกัน ตัวอย่างครั้งหนึ่งที่กรุงเทวทหะ ภิกษุพากันเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตร เพื่อท่านสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอน ในการไปของพวกเธอ จะได้ไม่เกิดความเสียหาย
- ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นคู่กับพระมหาโมคคัลลานะ เช่น ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด ... สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนม ผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนสูงกว่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงมีคำยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย
- มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า พระธรรมราชา
- พระสารีบุตรเป็นผู้มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือ ชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน
- ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที พึงเห็นตัวอย่างได้จาก เมื่อท่านได้ฟังธรรมเทศนาที่พระอัสสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมาท่านก็นับถือพระอัสสชิว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพอยู่เสมอ แม้ได้ยินข่าวว่าพระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอน ท่านจะนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน แล้วนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรยังราธพราหมณ์ให้อุปสมบท เพราะระลึกถึงคุณที่ราธพราหมณ์ ได้ถวายบิณฑบาตแก่ท่านเพียงทัพพีเดียว
- ก่อนที่ท่านจะนิพพาน มารดาของท่าน (คือ นางสารี) ซึ่งเป็นมารดาของเหล่าพระอรหันต์ทั้ง ๗ องค์ ได้แก่ ท่าน พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ พระจาลาเถรี พระอุปจาลาเถรี และพระสีสุปจาลาเถรี แต่ นางสารี ก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ มีความขัดเคืองกับพระพุทธศาสนาที่บรรดาลูกๆต่างพากันหนีไปออกบวชหมดจนไร้สืบสกุล ท่านพระสารีบุตรปรารถนาจะไปโปรดมารดาและนิพพานที่นั้น ตอนแรกมารดาของท่านก็คิดว่าท่านคงจะมาสึกตอนแก่ แต่แล้วมารดาของท่านก็ได้เห็นฤทธานุภาพของบุตรชายจากการที่ได้เห็นท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ พระอินทร์ และท้าวมหาพรหม มาเข้าเยี่ยมท่านเป็นครั้งสุดท้าย ทำให้มารดาเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อได้ฟังธรรมกถาจากพระสารีบุตรก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน การที่บุตรได้ชักนำบุพการี ให้นับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ จนได้มรรคผล นับเป็นการตอบแทนคุณอย่างยอดเยี่ยม
อ้างอิง
- บรรจบ บรรณรุจิ "อสีติมหาสาวก".
- อาจารสัมปันโน "บุคคลในพระไตรปิฎก".
- สุรีย์-วิเชียร มีผลกิจ "พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา".
- พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิเถร ป.ธ.๙) "วิปัสสนากรรมฐาน" ภาค ๑ เล่ม ๑. (รวบรวมจากบรรยายถาม-ตอบทางวิทยุกระจายเสียง ในปีพ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๗)
- ประวัติพระสารีบุตรเถระจาก www.dhammathai.org
- ประวัติพระสารีบุตรจาก 84000.org
- สารีปุตตเถราปทาน ว่าด้วยบุพจริยาของพระสารีบุตร จาก 84000.org
- เอตทัคคบาลี อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐
- ทีฆนขสูตร
- อรรถกถา ทีฆนขสูตร
- ประวัติพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ จาก อรรถกถาธรรมบท