พระอสีติมหาสาวก
ความหมาย
แก้คำว่า "อสีติมหาสาวก" เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำ "อสีติ" และ "มหาสาวก" คำว่า "อสีติ" แปลว่า แปดสิบ ส่วน "มหาสาวก" ประกอบด้วยคำว่า "มหา" ซึ่งเป็นคุณศัพท์แปลว่า ใหญ่, มาก, สำคัญ และคำว่า "สาวก" ซึ่งเป็น คำนามกิตก์ ประกอบรูปมาจากธาตุ "สุ" (ฟัง) ลง ณฺวุ ปัจจัย สำเร็จรูปเป็น "สาวก" แปลว่า "ผู้ฟัง"
ที่มา
แก้คำว่า "อสีติมหาสาวก" ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ปรากฏอยู่ในหนังสืออรรถกถาต่าง ๆ คือ ธัมมปทัฏฐกถา สุมังคลวิลาสินี และปรมัตถทีปนี โดยไม่ระบุรายนามว่ามีท่านใดบ้าง
เกณฑ์กำหนดพระมหาสาวก
แก้เนื่องจากไม่ปรากฏรายนามพระอสีติมหาสาวกในคัมภีร์ นักวิชาการสมัยหลังจึงตั้งเกณฑ์กำหนดพระอสีติมหาสาวกขึ้นเอง เช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้ในหนังสือ "อนุพุทธประวัติ" ดังนี้[2]
- พระภิกษุสาวก 41 องค์ที่เป็นเอตทัคคะ กำหนดเป็นเอตทัคคะก่อน
- พระสาวกสหจรแห่งเอคทัคคะ (คืออยู่กลุ่มเดียวกับเอตทัคคะ) 23 องค์
- พระสาวกในปฐมโพธิกาลคือพระยสเถระ 1 องค์
- สหจรของพระยสะ 4 องค์
รวมเป็น 69 องค์ ที่เหลืออีก 11 องค์ ทรงวินิจฉัยเลือกพระสาวกในมัชฌิมโพธิกาลและปัจฉิมโพธิกาลจนได้ครบ 80 องค์
อนึ่ง ในการเลือกพระสาวกแล้วจัดเข้า เป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น ยังมีข้อที่น่าศึกษาเพิ่มเติมคือ เกิดมีขึ้นในยุคใด จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีเค้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเห็นได้จากคำเรียกที่ว่า ‘พระสาวกเถระ ผู้มีชื่อเสียง’ ซึ่งเท่าที่ระบุนามไว้ ก็เป็นอสีติมหาสาวกทั้งหมด แต่มาเด่นชัดขึ้นในยุคสมัยของพระอรรถกถาจารย์ในลังกา
ทั้งนี้เพราะธัมมปทัฏฐกถา ก็ดี สุมังคลวิลาสินี ก็ดี ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีคำว่า “มหาสาวก” และ ‘อสีติมหาสาวก’ ปรากฏอยู่ล้วนเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในลังกา หรือในยุคที่การศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกากำลังรุ่งเรือง โดยพระอรรถกถาจารย์ผู้มีชื่อเสียงคือพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. 900-1000 พุทธศาสนิกชนในยุคนั้นและยุคต่อมาทั้งพระและฆราวาส ต่างนิยมยกย่องในตัวพระอสีติมหาสาวกมาก คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า
พระเจ้าพุทธทาสแห่งลังกามีพระราชบุตร 8 องค์ล้วนทรงสุรภาพแกล้วกล้าการรณรงค์สงคราม ทรงขนานนามพระกุมารนั้นตามพระอัชฌาสัยของพระองค์ให้คงนามพระอสีติมหาสาวกทั้งหลาย พระเจ้าพุทธทาสองค์นี้ ได้แวดล้อมด้วยพระราชบุตรทั้งหลายอันทรงพระนามตาม พระอสีติมหาสาวกว่า สารีบุตร เป็นอาทิ พระองค์ทรงรุ่งเรืองอยู่ดูประหนึ่งว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น
รายนาม
แก้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยรายนาม "พระสาวกผู้ใหญ่ 80 รูป" ไว้ในหนังสือพุทธานุพุทธประวัติ ดังนี้[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556. 1,544 หน้า. หน้า 1383. ISBN 978-616-7073-80-4
- ↑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. อนุพุทธประวัติ. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2554. 79 หน้า. หน้า ฆ-จ. ISBN 974-399-709-1
- ↑ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. พุทธานุพุทธประวัติ. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2554. 152 หน้า. หน้า 146-147.
ดูเพิ่ม
แก้- ชีวประวัติพุทธสาวก ประวัติพระอัจฉริยะมหาเถระเมื่อครั้งพุทธกาล เล่ม 1 จำเนียร ทรงฤกษ์ , 2542 , พิมพ์โดยสำนักปฏิบัติธรรมสวนแก้ว (สาขาวัดปากน้ำ), พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ธรรมสภา
- เว็บไซต์ 84000
- เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน