พระอนุรุทธเถระ เป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า นับเนื่องในพระอสีติมหาสาวก 80 องค์สำคัญในพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล พระอนุรุทธเถระ เป็นพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า โดยท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ

พระอนุรุทธเถระ
ข้อมูลทั่วไป
พระนามเดิมอนุรุทธกุมาร, เจ้าชายอนรุทธะ, อนุรุทธศากยะ
สถานที่ประสูติกรุงกบิลพัสดุ์
สถานที่บวชอนุปิยนิคม
วิธีบวชเอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะผู้เลิศในทิพยจักขุญาณ (ตาทิพย์)
ฐานะเดิม
ชาวเมืองเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
พระราชบิดาอมิโตทนะ
วรรณะเดิมกษัตริย์
ราชวงศ์ศากยราชวงศ์
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

พระอนุรุทธเถระ ออกผนวชพร้อมกับเจ้าราชกุมารอีก 5 พระองค์ และนายอุบาลีภูษามาลา ณ อนุปิยนิคม เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านมักตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านให้เป็นพระเอตทัคคะผู้เลิศทางทิพยจักษุญาณ (ตาทิพย์)

ชาติภูมิ

แก้

พระอนุรุทธเถระ เป็นพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้า โดยท่านเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายอนุรุทธะมีพระภาดาพระภคินีร่วมมารดาเดียวกันอีก 2 พระองค์คือ พระเชษฐาพระนามว่ามหานามะ และพระกนิษฐภคินีพระนามว่าโรหิณี

สาเหตุที่ออกบวช

แก้

เจ้าชายอนุรุทธกุมาร เมื่อยังเป็นฆราวาส ดำรงพระสถานะเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์ผู้สุขุมาลชาติ มีปราสาท 3 หลัง แม้แต่คำว่าไม่มีก็ไม่เคยรู้จัก เมื่อเหล่าศากยราชกุมารพระองค์อื่นออกผนวชติดตามพระพุทธเจ้า เจ้ามหานามะผู้เป็นพระเชษฐาจึงปรารภเรื่องออกบวชกับท่านอนุรุทธะว่าควรตัดสินใจเลือกคนในตระกูลสักคนออกบวชบ้าง แต่ท่านอนุรุทธะปฏิเสธว่าตนคงออกบวชไม่ได้เพราะเคยได้รับความสุขอยู่ไม่อาจจะบวชอยู่ได้ เจ้ามหานามะจึงรับอาสาบวช โดยได้สั่งสอนการทำนาข้าวโดยละเอียดตั้งแต่ไถจนถึงเก็บเกี่ยว เวียนไปทุกฤดูกาลทุกปี ๆ ไป แก่ท่านอนุรุทธะ ท่านอนุรุทธะฟังแล้วคิดว่า การงานไม่มีที่สิ้นสุด จึงบอกว่าตนจะอาสาบวชเอง

จากนั้นท่านได้ไปขออนุญาตพระมารดา พระมารดาคงไม่ประสงค์ให้ท่านบวชจึงกล่าวท้าทายว่าถ้าหากชวนพระเจ้าแผ่นดินศากยะออกบวชได้ จึงจะอนุญาตให้บวช ท่านจึงไปรบเร้าและชวนพระเจ้าภัททิยะราชาให้ออกบวช ในขั้นแรกพระเจ้าภัททิยราชาปฏิเสธ จนสุดท้ายพระอนุรุทธะรบเร้าหนักเข้าและพระเจ้าภัททิยะราชาคงเห็นคุณแห่งการออกบวชจึงยอมสละราชสมบัติออกผนวชตาม

ดังนั้นเจ้าชายอนุรุทธะจึงพร้อมกับเจ้าราชกุมารทั้ง 5 คือ พระเจ้าภัททิยะศากยะราชา, เจ้าชายอานันทะ, เจ้าชายภัคคุ, เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัตต์ และนายช่างกัลบกนามว่านายอุบาลีภูษามาลาอีก 1 ท่าน รวมเป็น 7 ออกบวช ณ อนุปิยอัมพวัน ในอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ โดยในวันผนวชนั้น เจ้าชายทั้ง 6 ได้ตกลงกันให้นายอุบาลีผู้เป็นช่างภูษามาลาออกบวชก่อนตน เพื่อจะได้ทำความเคารพเป็นการลดทิฐิและมานะแห่งความเป็นเชื้อสายกษัตริย์ ของตนลง โดยทั้งหมดได้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทาโดยตรงจากพระพุทธเจ้า

เมื่อพระอนุรุทธะออกบวชแล้ว ได้ไปเรียนกัมมัฏฐานกับพระสารีบุตร แล้วเข้าไปปฏิบัติพระกรรมฐานในป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก 7 ประการ ว่าเป็นธรรมะของผู้ปรารถนาน้อย ยินดีด้วยสันโดษ ไม่ใช่ธรรมของผู้มักมาก เป็นอาทิ พระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงทรงทราบความนั้นจึงตรัสแสดงมหาปุริสวิตกข้อที่ 8 ว่าเป็นธรรมของผู้ไม่เนิ่นช้า พระอนุรุทธะเจริญสมณธรรมต่อไปก็ได้บรรลุอรหันต์

เมื่อท่านบรรลุสมณธรรมแล้ว ท่านชอบตรวจดูสัตวโลกด้วยทิพยจักษุอยู่เสมอ ยกเว้นแต่เวลาฉันภัตตาหารเท่านั้น ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงยกย่องท่านว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้าน ผู้มีทิพยจักษุญาณ

บุพกรรมในอดีตชาติ

แก้

ท่านพระอนุรุทธเถระ ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย ก่อสร้างบุญทั้งหลาย อันเป็นอุปนิสัยแก่พระนิพพาน ไว้ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ อันสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ พอเจริญวัยแล้ว วันหนึ่งไปวิหารฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงแต่งตั้งไว้ ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลาย ผู้มีจักษุทิพย์ แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้น จึงให้มหาทานให้เป็นไป 7 วัน แด่พระผู้มีพระภาค ซึ่งมีภิกษุบริวารแสนหนึ่ง ในวันที่ 7 ได้ถวายผ้าชั้นสูงสุด แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วได้ทำความปรารถนาไว้

ฝ่ายพระศาสดา ก็ได้ทรงเห็นความสำเร็จของเขา โดยไม่มีอันตราย จึงพยากรณ์ว่า จักเป็นผู้เลิศ แห่งผู้มีทิพยจักษุทั้งหลาย ในศาสนาของพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตกาล เขาเองก็กระทำบุญทั้งหลาย ในพระศาสนานั้น เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ได้ทำการบูชาด้วยประทีปอันโอฬาร ที่สถูปทองขนาด 7 โยชน์ และประทีปกระเบื้อง กับถาดสำริดเป็นอันมาก ด้วยอธิษฐานว่า จงเป็นอุปนิสัย แก่ทิพยจักษุญาณ เขาทำบุญทั้งหลายอยู่ตลอดชีวิต ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เมื่อพระศาสดาปรินิพพาน เมื่อสถูปทองขนาด 1 โยชน์สำเร็จแล้ว จึงเอาถาดสำริดจำนวนมาก มาบรรจุให้เต็มด้วยเนยใส อันใสแจ๋ว และให้วางก้อนน้ำอ้อยงบ ก้อนหนึ่ง ๆ ไว้ตรงกลาง ให้ขอบปากจรดกัน แล้วให้ตั้งล้อมพระเจดีย์ ให้เอาถาดสำริด ที่ตนถือบรรจุด้วยเนยใส อันใสแจ๋วให้เต็ม จุดไฟพันไส้ แล้ววางไว้บนศีรษะ เดินเวียนพระเจดีย์อยู่ตลอดคืน ได้กระทำกุศล จนตลอดชีวิต แล้วบังเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ในเทวโลกตลอดชั่วอายุ

บั้นปลายชีวิต

แก้

พระอนุรุทธเถระ ดำรงชนมายุมาถึงหลังพุทธปรินิพพาน ในวันที่พระบรมศาสดา นิพพานนั้น ท่านก็ร่วมอยู่เฝ้าแวดล้อม ณ สาลวโนทยานนั้นด้วย และท่านยังได้ร่วมทำกิจพระ ศาสนาครั้งสำคัญ ในการทำปฐมสังคายนากัลป์คณะสงฆ์โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน พระอุบาลีเถระวิสัชนาพระวินัย และพระอานนท์เถระวิสัชนาพระสูตร ท่านพระอนุรุทธเถระ ดำรงอายุสังขาร โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธ์ เข้าสู่ นิพพาน ณ ภายใต้ร่มกอไผ่ ในหมู่บ้านเวฬุวะ แคว้นวัชชี

อ้างอิง

แก้
  1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. (2525). ธรรมวิภาคปริเฉทที่ 2. พิมพ์ครั้งที่ 23. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการแผนกตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. เว็บไซต์ 84000
  2. เว็บไชต ธรรมะ เกตเวย์ เก็บถาวร 2009-04-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน