วัดท่าขนุน

วัดในจังหวัดกาญจนบุรี

วัดท่าขนุน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ 59 ไร่ 2 งาน 30 ตารางวา

วัดท่าขนุน
แผนที่
ที่ตั้งตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสครูวิลาศกาญจนธรรม (เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดท่าขนุนตั้งชื่อตามท่าเรือ เป็นที่หมายสำคัญคือมีต้นขนุนอยู่หลายต้นจึงเรียกกันว่า "ท่าขนุน" ในนิราศท่าดินแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2329 ได้กล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรีในนามเดิมว่า เมืองปากแพรก ทรงยกทัพเรือขึ้นไปถึง เมืองไทรโยค แล้วจึงเปลี่ยนเป็นทัพบก ยกไปตั้งค่ายที่ ด่านท่าขนุน แล้วบุกโจมตีกองทัพพม่าที่ท่าดินแดง เห็นได้ว่ามีท่าขนุนก็เป็นเมืองหน้าด่านอยู่แล้ว จึงสันนิษฐานว่ามีวัดท่าขนุนตั้งอยู่แล้ว แต่หลักฐานปรากฏชัดโดยได้กล่าวถึงวัดท่าขนุนเมื่อครั้งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา สองพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาอ่อน เสด็จมาประพาสป่าทองผาภูมิ ในการเสด็จครั้งหลังนี้ ทั้งสองพระองค์ได้ทูลขอพระราชทานพระพุทธรูปรัชกาล ขนาดหน้าตักประมาณ 1 ศอก 2 องค์ และธรรมาสน์ทรงบุษบกฝีมือช่างหลวง ถอดประกอบได้ทุกชิ้น จากในหลวงรัชกาลที่ 7 มาถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน เมื่อ พ.ศ. 2472[1]

ถึงกระนั้นกรมการศาสนาระบุว่า วัดท่าขนุนตั้งเมื่อ พ.ศ. 2473 ชาวบ้านเรียกว่า วัดหลวงพ่อสาย เดิมเป็นที่ดินของตระกูลนกเล็กได้ถวายแก่หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล เพื่อสร้างวัด ต่อมาพระอาจารย์ไตแนมซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง เป็นเจ้าอาวาสและได้พัฒนาวัดโดยการสร้างมณฑปพระพุทธบาท ผู้ให้ความอุปถัมภ์คือ ผู้ใหญ่บ้านทม หงสาวดี เมื่อพระอาจารย์ไตแนมมรณภาพลง วัดท่าขนุนได้กลายเป็นวัดร้างไปชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่งหลวงปู่สาย อคฺควํโส (พระครูสุวรรณเสลาภรณ์) เดินธุดงค์มาจากจังหวัดนครสวรรค์ และปักกลดพักที่วัดร้าง ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสจึงได้นิมนต์ท่านอยู่จำพรรษา และพัฒนาวัดสร้างเสนาสนะเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นวัดประจำอำเภอทองผาภูมิมาจนทุกวันนี้

ต่อมา พ.ศ. 2535 หลวงปู่สาย อคฺควํโส ได้มรณภาพลง ทำให้เสนาสนะทั้งหลายได้ทรุดโทรมลง จนถึง พ.ศ. 2545 พระราชธรรมโสภณรักษาการเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีในขณะนั้น ได้มีบัญชาให้พระครูวิลาศกาญจนธรรมมาพัฒนาวัดท่าขนุน จนมีเสนาสนะที่สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง[2]

อาคารเสนาสนะ แก้

 
พระพุทธรูปสมเด็จองค์ปฐม

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 กว้าง 3 วา ยาว 9 วา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 พระพุทธเจติยคีรี เป็นพระเจดีย์ศิลปะพม่า สร้างเมื่อ พ.ศ. 2534 ตั้งอยู่บนยอดเขาภายในพื้นที่วัด พระเจดีย์ 80 พรรษา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536

ปูชนียวัตถุมีธรรมาสน์ทรงบุษบก สร้างจากไม้แกะสลักทั้งองค์ ถอดประกอบได้ทุกชิ้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของกรมศิลปากร พระพุทธรูปรัชกาล 2 องค์[3] ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนปลาย ขนาดหน้าตัก 1 ศอก จำนวน 2 องค์ พระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง ขนาดหน้าตัก 1 ศอก ไม่ทราบที่มา และรอยพระพุทธบาทจำลอง หล่อจากสัมฤทธิ์ ขนาดกว้าง 1 ศอก ยาว 3 ศอก ไม่ทราบที่มา

แหล่งโบราณคดี แก้

บริเวณวัดยังเป็นแหล่งโบราณคดี มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแควน้อย สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งทัพของฝ่ายไทยในสงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง (พ.ศ. 2329) เพราะมีปราการทางธรรมชาติคือ แม่น้ำแควน้อยไหลผ่านทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ส่วนทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้มีภูเขาล้อมรอบ พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับเครื่องถ้วยจีนที่มักจะใช้ในกองทัพของบรรดาแม่ทัพนายกอง โดยเฉพาะกษัตริย์

โบราณวัตถุที่พบ คือ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง เผาด้วยอุณหภูมิสูงชนิดเคลือบสีน้ำตาลทั้งด้านนอกและด้านใน และเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง[4]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • หลวงปู่พุก อุตฺตมปาโล (พ.ศ. 2473–2485)
  • หลวงปู่ไตแนม (พ.ศ. 2485–2498)
  • พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (พ.ศ. 2498–2535)
  • พระอธิการสมเด็จ วราสโย (พ.ศ. 2535–2541)
  • พระสมุห์สมพงษ์ เขมจิตฺโต (พ.ศ. 2541–2551)
  • พระครูวิลาศกาญจนธรรม (เล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (พ.ศ. 2551–ปัจจุบัน)

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติวัดท่าขนุน".
  2. "วัดท่าขนุน". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "74 กาญจนบุรี".
  4. "วัดท่าขนุน". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.