นิราศท่าดินแดง
นิราศท่าดินแดง หรือ กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง เป็นกลอนเพลงยาวประเภทนิราศ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่องนี้ขึ้นเมื่อคราวเสด็จกรีธาทัพหลวงพร้อมด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ไปตีพม่าที่ท่าดินแดง ปลายลําน้ําไทรโยค เมืองกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2329
นิราศท่าดินแดง | |
---|---|
ชื่ออื่น | กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง |
กวี | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ประเภท | กลอนเพลงยาว นิราศ |
ยุค | พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช |
ปีที่แต่ง | พ.ศ. 2329 |
ส่วนหนึ่งของสารานุกรมวรรณศิลป์ |
เนื้อหา
แก้เนื้อหาโดยรวม ตอนต้นพรรณนาความรู้สึกที่ต้องจากนางไปไกล โดยนางที่ผู้ประพันธ์ทรงถวิลหานั้น เป็นการถวิลหาอาวรณ์ถึงเหล่าสตรีนางในโดยรวม มิได้กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง หลังจากนั้นพรรณนาระยะทางเสด็จฯ ซึ่งการกรีธาทัพหลวงในครั้งนี้ เป็นการเสด็จทางชลมารค เนื้อหากล่าวชมความงามของธรรมชาติสลับกับการหวนนึกถึงนาง ในตอนท้ายกล่าวถึงการรบกับพม่าที่ท่าดินแดง
เส้นทางเริ่มต้นจากกองทัพหลวงยกออกจากกรุงเทพ เมื่อวันแรมเก้าค่ำ เดือนสาม เวลาย่ำรุ่ง ผ่านมาทางด่านดาลมาถึงนางนองแล้วผ่านโขลนทวาร ซึ่งตั้งอยู่ตรงวัดไทร เขตจอมทอง หลังจากนั้นมาถึงคลองมหาไชยแล้วเข้าเขตเมืองสาครบุรี (สมุทรสาคร) จากนั้นผ่านมาทางบ้านบ่อนางขวางจนถึงย่านชื่อ ผ่านคลองสุนักข์ใน เข้าสู่สมุทรบุรี (สมุทรสงคราม) จนถึงตำบลบางกุ้ง หลังจากนั้นผ่านย่านบ้านนกแขวก เข้าสู่บ้านบำหรุ แล้วเข้าเขตเมืองราชบุรี ไปถึงท่าราบ ผ่านตำบลเจ็ดเสมียนมาถึงท่าลาด เดินทางต่อถึงบ้านม่วงชุม ผ่านมาทางปากแพรกจนมาถึงแก่งหลวงศิลาดาล หลังจากนั้นเดินทางต่อมาอีกสองวันถึงวังยางแล้วผ่านมาถึงบางลาน เดินทางต่อมาถึงน้ำตก ผ่านมาพบศาลเทพารักษ์ซึ่งเป็นศาลที่ตั้งอยู่ปากน้ำ หลังจากนั้นมาถึงวังนางตะเคียน ไปเขาท้องไอยราหลังจากนั้นถึงไทรโยค เดินทางต่อมาถึงด่านขนุน ตำบลท่าดินแดง ตําบลสามสบ ตามลําดับ
เมื่อกองทัพหลวงมาถึงด่านท่าขนุนแล้ว ก็ได้ตั้งค่ายบริเวณเชิงเขา ณ ที่นั้น หลังจากตั้งค่ายแล้วทรงมีรับสั่งให้ไพร่พลอันประกอบด้วย ลาว มอญ เขมร และไทย เข้าโจมตีทัพพม่าที่ตั้งอยู่ที่ค่ายดินแดง[1] เมื่อทหารเข้ารบพุ่งเป็นเวลาสามวันทัพพม่าก็แตกพ่าย ปรากฎว่าไทยเป็นฝ่ายชนะ ทรงให้ติดตามพม่าที่หลบหนีไปจนถึงลำน้ำแม่กษัตริย์ การสงครามที่ท่าดินแดงจึงยุติลง[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ วทัญญู ฟังทอง, ธิษณา วีรเกียรติสุนทร, ยุวรี โชคสวนทรัพย์. กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดงกับมุมมองของเอกสารประวัติศาสตร์พม่า: เอกสารลำดับที่ 84. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
{{cite book}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง". นามานุกรมวรรณคดีไทย.