วัดกู่ผางลาง

วัดในจังหวัดพะเยา

วัดกู่ผางลาง ตั้งอยู่ หมู่ที่ 9 ตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

โบสถ์บนภูเขาในวัดกู่ผางลาง

ประวัติ แก้

เมื่อ พ.ศ. 2509 นายช่างชนะ ดิสถาพร ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากกรมทางหลวงให้ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่ง นายช่างโครงการก่อสร้างทางสาย พะเยา-ดอกคำใต้-จุน-เชียงคำ ซึ่งมีสำนักงานและบ้านพักตั้งอยู่ที่อำเภอจุน บริเวณป่าสงวน ซึ่งต่อมาภายหลังได้ย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่ในสถานที่ซึ่งปัจจุบันคือ หมวดการทางจุน ในบริเวณหลังสำนักงานป่าสงวนนั้น ด้านหลังสถานที่พักเป็นเนินเขา มี กู่ (สถูป) เก่าแก่ ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่ากันว่ามีมาตั้งแต่สมัยเชียงแสน ซึ่งในคืนวันพระขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนในตอนกลางคืน ทุกคนที่พักอาศัยอยู่ที่โครงการจะเห็นดวงแก้วที่มีแสงสว่างเหมือนนีออน ลอยจากกู่ผางลางขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วลอยเข้าไปในป่าไปยังภูเขาอีกลูกหนึ่งที่มีกู่เก่าตั้งอยู่ กู่นั้นชื่อว่า “กู่ไก่” แต่พอตกดึกดวงแก้วก็จะลอยกลับมาที่กู่ผางลาง ชาวบ้านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “แก้วแอ่ว”[ต้องการอ้างอิง]

ในปี พ.ศ. 2510 นายช่างชนะได้ดำเนินการบูรณะกู่ ลักษณะเป็นกู่เก่าสมัยโบราณก่อสร้างด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ๆ แบบสมัยโบราณ อิฐเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 6 นิ้ว ยาวประมาณ 10 นิ้ว กู่มีลักษณะเหมือนกระดึงที่ใช้ผูกคอวัว ซึ่งภาษาเหนือเรียกว่าผางลาง จึงเรียกชื่อกู่นี้ว่ากู่ผางลาง กู่มีลักษณะเป็นโพรงลึก เนื่องจากได้มีการลักลอบขุดหาสิ่งมีค่ามาก่อน คนงานได้ขุดลงไปภายใต้กู่พบพระพุทธรูปสัมฤทธิ์องค์หนึ่ง องค์พระยังสมบูรณ์ดีทั้งองค์ เป็นพระสมัยเชียงแสน มีลักษณะสวยงามมาก หน้าตักกว้างประมาณ 5 นิ้ว และยังมีแท่งแก้วเป็นรูปแปดเหลี่ยมส่องแสงหักเหระยิบระยับตรงกลางแท่งแก้วเป็นโพลง ตัวแท่งแก้วกว้างประมาณครึ่งนิ้ว ยาวประมาณ 12 นิ้ว

ใน พ.ศ. 2511 นายช่างชนะได้นำพระบรมสารีริกธาตุ และพระพุทธรูปที่ขุดพบ คือ หลวงพ่อเชียงแสน และแก้วแปดเหลี่ยม หรือแก้วสาระพัดนึก แผ่นดวง แก้วแหวนเงินทอง พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามแต่ผู้มีจิตศรัทธาจะนำมาบรรจุไว้ในกู่ ส่วนยอดพระเจดีย์ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ โดยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากท่านเจ้าคุณที่วัดพระเจ้าตนหลวง อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก พ่อเลี้ยงคำตั๋น ศรีชัย และ ชาวบ้านทั้งอำเภอจุน และ อำเภอดอกคำใต้ และได้ดำเนินการสร้างสถูปสวบทับครอบองค์พระธาตุกู่ผางลางองค์เดิมไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อเป็นการอนุรักษ์และป้องกันขโมย ในการนี้ได้จัดงานเฉลิมฉลองพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และ การบูรณะกู่

ในปีเดียวกันนั้น นายช่างชนะยังได้ก่อสร้างทางขึ้นพระธาตุทางด้านหน้า ซึ่งเป็นทางขึ้นตรงจากบ้านพักในโครงการหันหน้าสู่ถนนใหญ่ และอีกสายหนึ่งมาทางกุฏิเจ้าอาวาส และ พระ ดำเนินการสร้างหอระฆัง ศาลาธรรม และอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานเป็นพระประธาน “หลวงพ่อศิลาแลง” ซึ่งพระพุทธรูปศิลาแลงองค์นี้ได้นำมาจากบ้านแพะ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย หลวงพ่อศิลาแลง องค์ท่านสมบูรณ์แต่ไม่มีเศียร จึงดำเนินการต่อพระเศียรกับองค์ท่าน ซึ่งองค์พระกับเศียรเป็นคนละองค์กัน เมื่อต่อองค์ท่านเสร็จ ตั้งประดิษฐานเรียบร้อย ปรากฏว่ามีฝนตกลงมาอย่างหนัก และได้ขออนุญาตตั้งชื่อ "สำนักวิปัสนากัมมัฎฐานพระธาตุกู่ผางลาง" หลังจากนั้นจึงได้กราบขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดห้วยข้าวก่ำเพื่อขอนิมนต์พระอาจารย์ศรีลัย ภัทรโร หรือ พระครูสิริภัทรธรรมเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก จำพรรษาที่สำนักสงฆ์กู่ผางลาง ปัจจุบันมรณภาพ

โดยจัดให้มีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ และประเพณีตานก๋วยสลากภัตต์ ในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 12 เหนือเป็นประจำทุกปี ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรบวชจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องด้วยพระธาตุมีความศักดิ์สิทธิ์[ต้องการอ้างอิง] และ หลวงพ่อมีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพสักการะของศรัทธาประชาชน

วัดกู่ผางลางได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อ พ.ศ. 2527 บนเนื้อทั้งหมด 15 ไร่ โดยการเช่าเข้าทำประโยชน์จากกรมป่าไม้ เป็นเวลา 30 ปี และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2532

อ้างอิง แก้

  • พระอธิการอัครเดช อังสุคุตโต 2550 ประวัติความเป็นมาวัดกู่ผางลาง ที่ระลึกในงานฉลองอุโบสถและผูกพัทธสีมา 19 มีนาคม 2550
  • เพ็ญศรี ดิสถาพร 2552 ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และ มหัศจรรย์ ณ พระธาตุกู่ผางลาง อำเภอจุน