วงศ์ปลาตะพัด
วงศ์ปลาตะพัด (อังกฤษ: Bonytongues fish, Arowana) วงศ์ปลาวงศ์หนึ่งในอันดับ Osteoglossiformes มีลักษณะสำคัญที่วิวัฒนาการจากปลาในยุคโบราณคือ มีส่วนกระดูกที่หัวแข็ง หรือลิ้นแข็งเป็นกระดูก คำว่า Osteoglossidae (/ออส-ที-โอ-กลอส-ซิ-ดี้/) เป็นภาษากรีกหมายถึง "ลิ้นกระดูก" อธิบายลักษณะของปลาในกลุ่มนี้
วงศ์ปลาตะพัด | |
---|---|
Scleropages leichardti ปลาชนิดที่พบในรัฐควีนส์แลนด์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | ปลาที่มีก้านครีบ Actinopterygii |
อันดับ: | อันดับปลาลิ้นกระดูก Osteoglossiformes |
อันดับย่อย: | Osteoglossoidei Osteoglossoidei |
วงศ์: | วงศ์ปลาตะพัด Osteoglossidae Bonaparte, 1831 |
Genera | |
ลักษณะและการแพร่กระจายพันธุ์
แก้ปลาในวงศ์ปลาตะพัดเป็นปลาน้ำจืด เป็นปลากินเนื้อ มักหากินบริเวณผิวน้ำ โดยอาหารได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก แมลง สัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็ก อาจกินนกหรือหนูตัวเล็ก ๆ ได้ด้วย ด้วยการกระโดดงับ มีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว มักอยู่ตัวเดียวตามลำพังหรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่เกิน 5 ตัว พบมากในลำธารน้ำใสสะอาด มีกระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ ในป่าดงดิบชื้น แต่ในบางพื้นที่ เช่น ที่อินโดนีเซีย ปลาจะอาศัยในน้ำที่มีค่าความเป็นกรดค่อนข้างต่ำ (น้อยกว่า 5.5 pH) อย่างน้ำในป่าพรุ เป็นต้น
ปลาในวงศ์นี้มีสืบสายพันธุ์มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยพบซากฟอสซิลอายุราว 60 ล้านปีมาแล้วในชั้นหิน ตั้งแต่ยุคพาลีโอซีน, อีโอซีน และโอลิโกซีน ซึ่งสันนิษฐานว่า ปลาในวงศ์นี้ในสมัยนั้นพบกระจายอยู่ทั่วโลก แต่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว 3 สกุล 7 ชนิด ได้แก่ สกุล Brychaetus 1 ชนิด, Joffrichthys 2 ชนิด และ Phareodus 4 ชนิด[1][2][3][4]
สามารถแบ่งวงศ์ปลาตะพัดออกได้เป็นวงศ์ย่อยอีก 2 วงศ์ คือ Heteroidinae มีลักษณะสำคัญคือ ไม่มีหนวดที่คาง มีก้านกระดูกแก้ม 10 หรือ 11 ก้าน โดยมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น และวงศ์ย่อย Osteoglossinae มีลักษณะสำคัญคือ มีหนวดที่ค่าง 1 คู่ และมีก้านกระดูก 10-17 ก้าน[5] ปัจจุบัน พบปลาในวงศ์ปลาตะพัดทั้งหมด 8 ชนิด ใน 4 สกุล โดยทั้ง 2 วงศ์ย่อยนี้ พบ 3 ชนิด ในทวีปอเมริกาใต้, 1 ชนิด ในทวีปแอฟริกา, 2 ชนิด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2 ชนิด ในทวีปออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีหลากสายพันธุ์ลักษณะสีสันต่างกันไป ตามกรรมพันธุ์และสภาพที่อยู่อาศัย ตั้งแต่สีทองเข้ม ทองอ่อน เขียว แดงเข้ม แดงอ่อน หรือทองอ่อนหางเหลือง เป็นต้น
โดยปลาในวงศ์นี้เป็นปลาที่มักอาศัยและหากินบริเวณผิวน้ำ เป็นปลาที่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ในการหายใจ โดยดูดผ่านถุงลมที่เต็มไปด้วยเส้นเลือดฝอย คล้ายกับปอดของสัตว์บกหรือมนุษย์[6]
ทั้งหมดนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ที่มีราคาแพง สถานะในธรรมชาติจัดเป็นปลาใกล้สูญพันธุ์ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในปัจจุบัน โดยในประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลาตะพัดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 โดยสถานีประมงน้ำจืด จังหวัดสุราษฎร์ธานี
การจำแนก
แก้- ปลาอะราไพม่า หรือ ปลาช่อนยักษ์อเมซอน (Arapaima gigas)
- ปลาตะพัดแอฟริกา (Heterotis niloticus)
- ปลาตะพัดอเมริกาใต้สีเงิน (Osteoglossum bicirrhosum)
- ปลาตะพัดอเมริกาใต้สีดำ (Osteoglossum ferreirai)
- ปลาตะพัด (Scleropages formosus)
- ปลาตะพัดออสเตรเลีย (Scleropages jardini)
- ปลาตะพัดออสเตรเลียจุด (Scleropages leichardti)
- ปลาตะพัดพม่า (Scleropages inscriptus)
รูปภาพ
แก้-
ปลาตะพัดออสเตรเลียในวัยเล็ก
-
ภาพวาดของปลาตะพัดแอฟริกา
-
ปลาอะราไพม่า ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของวงศ์นี้
-
ปลาตะพัด สายพันธุ์ทองอินโดนีเซีย
อ้างอิง
แก้- หนังสือคู่มือเลี้ยงปลาอะโรวาน่า โดย สุรศักดิ์ วงศ์กิตติเวชสกุล (พ.ศ. 2540) ISBN 974-86869-5-7
- ↑ name="frickhinger">Frickhinger, Karl Albert (1995). Fossil Atlas: Fishes. Trans. Dr. R.P.S. Jefferies. Blacksburg, Virginia: Tetra Press.
- ↑ Newbreya, M. G. (2000). "A New Species of Joffrichthys (Teleostei: Osteoglossidae) from the Sentinel Butte Formation, (Paleocene) of North Dakota, USA". Journal of Vertebrate Paleontology. 20 (1): 12–20. doi:10.1671/0272-4634(2000)020[0012:ANSOJT]2.0.CO;2. สืบค้นเมื่อ 2006-04-14.
{{cite journal}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help) - ↑ Li et all1997 "The species of †Phareodus (Teleostei: Osteoglossidae) from the Eocene of North America and their phylogenetic relationships." Journal of Vertebrate Paleontology 17(3):487-505
- ↑ "กระทู้นี้มีสาระ !!! มาว่ากันด้วยสายพันธุ์ อโรวาน่า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-12. สืบค้นเมื่อ 2010-07-14.
- ↑ หนังสือสาระน่ารู้ ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๑ โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์ พ.ศ. 2547 ISBN 974-00-8701-9
- ↑ Berra, Tim M. (2001). Freshwater Fish Distribution. San Diego: Academic Press. ISBN 0-12-093156-7.