ลุงขาวไขอาชีพ
บทความนี้อาจต้องเขียนใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพของวิกิพีเดีย หรือกำลังดำเนินการอยู่ คุณช่วยเราได้ หน้าอภิปรายอาจมีข้อเสนอแนะ |
ลุงขาวไขอาชีพ หรือ วราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ (26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551) นักธุรกิจ นักประชาสัมพันธ์ นักพูด นักประดิษฐ์ นักสังคมสงเคราะห์ และนักเขียนชาวไทย
ลุงขาวไขอาชีพ | |
---|---|
เกิด | 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 จังหวัดสระบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (80 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
อาชีพ | นักธุรกิจ, นักประชาสัมพันธ์, นักพูด, นักประดิษฐ์, นักสังคมสงเคราะห์, นักเขียน |
คู่สมรส | บุญเรือน พงษ์บริบูรณ์ |
บุตร | 4 คน |
ประวัติ
แก้วัยเด็ก
แก้วราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2471 ที่ตำบลหนองควายโซ อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี[1] จบชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์[2] และปวส. ที่พาณิชยการพระนคร และเป็นยุวชนทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง[3]
งานเพื่อสังคม
แก้ปี 2509 "ลุงขาว" เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ “กระจกเงาเยาวชน” ทางช่อง 4 บางขุนพรหม บุคคลที่อ้างอิงได้ ที่เคยออกรายการคือ ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รายการวิทยุ “ชีวิตนี้มีความหวัง” และรายการ “ลุงขาวไขอาชีพ” สอนอาชีพง่ายๆ ทางสถานีวิทยุ ททท. ประมาณปี พ.ศ. 2510 "ลุงขาว" เป็นกรรมการสมาคมศิษย์เก่าพาณิชยการพระนคร ได้จัดโครงการ อาสาสมัครพาณิชยการสามสถาบัน คือ พระนคร พระเชตุพนธ์ และตั้งตรงจิตร ทั้งสามวิทยาลัยร่วมทำกิจกรรมอาสาสมัครเข้าไปช่วยถือของให้ผู้สูงอายุที่ตลาดนัดท้องสนามหลวงในวันเสาร์และอาทิตย์ เพื่อฝึกฝนให้มีความกล้าและรู้จักทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ฝึกสอนให้เป็นผู้รู้จักคิดรู้จักทำในทางที่ถูกต้อง และให้เกิดความสามัคคีในระหว่างวิทยาลัยทั้งสาม[4]
ชีวิตส่วนตัว
แก้"ลุงขาว" สมรสกับ คุณบุญเรือน (ขาวละออ) พงษ์บริบูรณ์ บุตรี หมอหลง ขาวละออ (บ.ภ., บ.ว.) ผู้ก่อตั้ง "ขาวลออโอสถ"[5] ซึ่ง"ลุงขาว" เป็นผู้บุกเบิกขยายตลาดไปต่างจังหวัดจนทั่วประเทศ ด้วยการฉายหนังพร้อมโฆษณาขายยา[6] ยาที่มีชื่อเสียงคือยาถ่ายพยาธิขาวละออ วิธีการของลุงขาวในการฉายหนังก็ไม่เหมือนผู้อื่น ได้ประยุกต์ใช้ปริซึมสะท้อนแสงฉายออกกระจกหน้าจอทีวี ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นมาก ซึ่ง ขาวลออโอสถ ก็คือ "ขาวละออเภสัช" ในปัจจุบัน[7][5]
ความเป็นมาของมูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ
แก้ในปี 2511 "ลุงขาว" หลังจากรถยนต์ที่ใช้ฝึกสอนอาชีพเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ ไม่สามารถไปฝึกสอนในต่างจังหวัดได้อีก "ลุงขาว" และผู้ฟังวิทยุรวมกลุ่มกันจัดตั้ง "ชมรมสัมมาอาชีพวิทยาทาน" สอนอาชีพง่ายๆ โดยผู้สอนที่มิจิตใจเสียสละ มาสอนให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน ในปี 2512 "สันนิบาตเสรีชนแห่งประเทศไทย" ถนนเพลินจิต ได้ให้สถานที่สอนอาชีพเพื่อเป็นวิทยาทานในวันเสาร์และอาทิตย์ มีผู้มาเรียนวันละประมาณ 400 คน วิชาที่จะเรียนก็เป็นอาชีพง่ายๆ เรียนได้ในวันเดียวหรือครึ่งวัน ไม่ต้องมีทุนทรัพย์มาก เช่น การทำขนมครก การทำปาท่องโก๋ เทคนิคการถ่ายภาพและอัดภาพ หรือกระทั่งการทำตุ่มซีเมนต์แบบง่ายโดยใช้กระสอบเย็บขึ้นรูปเป็นตุ่มบนแผ่นซีเมต์ก้นตุ่มที่ได้เตรียมไว้แล้ว ใส่แกลบเข้าไปในกระสอบให้เต็ม ทาจาระบีให้ทั่วแล้วพอกด้วยปูนซีเมนต์ เมื่อปูนแห้งก็นำแกลบและกระสอบออก ก็จะได้ตุ่มตามต้องการ ตุ่มซีเมนต์แบบนี้จะมีขนาดใหญ่เท่าใดก็ได้ตามต้องการเพราะสร้างอยู่กับที่ไม่ต้องเคลือนย้าย ซึ่งผู้ที่เผยแพร่วิธีนี้แก่"ลุงขาว" คือ พ่อค้าชื่อ "หลวง มหานาม" ยังมีการสอนวิชาชีพจากวิทยากรที่เข้ามาช่วยโดยเสียสละเวลามาและไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพช่างต่าง ๆ ,การตัดเย็บเสื้อผ้า,การทำขนม เช่น โรตีสายไหม,น้ำหวานบรรจุขวดแบบไม่ใส่สารกันบูด (บุตรสาวลุงขาวสอนเอง),การต่อเรือเล็ก โดยอาจารย์บุญยืน สุวรรณานนท์ ,การสอนซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า โดยอาจารย์นิวัฒน์ แจ้งพลอย การทำดอกไม้ประดิษฐ์ โดยอาจารย์ ประยงค์ บุญประกอบ การสอนศิลปป้องกันตัว การทำซิลค์สกรีน เป็นต้น ภายหลังชมรมสัมมาอาชีพวิทยาทาน ได้เปลี่ยนชื่อเป็นชมรมลุงขาวไขอาชีพ และ "มูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ" องค์กรสมาชิกสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามลำดับ[8]
เส้นทางนักประดิษฐ์
แก้นอกจากนี้ "ลุงขาว" ยังเป็นนักประดิษฐ์ มีผลงานประดิษฐ์เครื่องคั้นน้ำอ้อยแบบลูกกลิ้งทองเหลือง เครื่องปั่นสายไหม และยังได้ประดิษฐ์หุ่นโครงเป็นเหล็ก ข้างนอกเป็นไม้พ่นสีขนาดเท่าคนติดมอเตอร์ มีสายบังคับให้เดินหน้า ถอยหลัง พร้อมลำโพงที่หน้าอก ที่สามารถฟังและพูดตอบกับผู้ชมได้ ประดิษฐ์กล่องไฟมีตัวหนังสือที่เดินได้ ซึ่งได้มีขึ้นก่อนป้ายไฟปัจจุบันที่เป็นชนิด LED ถึง 30 ปี หรือกระทั่งการฉายหนังผ่านตู้ทีวีที่มีแต่กระจกด้านหน้าและสามารถฉายออกพร้อมกันได้หลายๆจอ โดยใช้เทคนิคการสะท้อนภาพผ่านปริซึม แทนการฉายขึ้นจอผ้า ทำให้ผู้ชมในถิ่นทุรกันดารรู้สึกเหมือนได้ดูโทรทัศน์ โดยที่ขณะนั้นโทรทัศน์ยังเป็นของใหม่มากสำหรับเมืองไทย
ประมาณปี 2519"ลุงขาว" ได้ร่วมกับเพื่อนๆเปิด "บริษัท ซื้อขายความคิด (ประเทศไทย) จำกัด" เพื่อเป็นที่แลกเปลี่ยนนวัตกรรมและความคิดทางปัญญา แม้บริษัทนี้จะไม่ได้มีผลงานที่เด่นชัด แต่ก็แสดงถึงวิสัยทัศน์ของ "ลุงขาว" ที่เล็งเห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้เข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในแวดวงจำกัด
ถึงแก่กรรม
แก้"ลุงขาว" นายวราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ ได้เสียชีวิตด้วยสาเหตุไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 (อายุรวม 80 ปี) และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพและหีบเกียรติยศ และพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 โดยได้รับพวงมาลาจากศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งครอบครัว "ลุงขาว" สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
เจตนารมย์ที่ถูกสานต่อ
แก้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช) ได้ศึกษาและจัดทำชีวประวัติของลุงขาวไขอาชีพ เป็นวีดิทัศน์ เพื่อส่งเสริมสิ่งดีๆให้เป็นแบบอย่างและกำลังใจต่อสังคม และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในครั้งเมื่อ นายสุริยงค์ หุณฑสาร เป็นผู้อำนวยการ ได้สานต่อเจตนารมณ์ของ "ลุงขาว" โดยได้จัดทำวีดิทัศน์การสอนอาชีพต่างๆให้เข้าใจได้โดยง่ายทางสถานี NBT ตอนละ 5 นาที ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึง พฤศจิกายน 2552 รวม 120 ตอน[9]
ถึงแม้ลุงขาวไขอาชีพ จะเสียชีวิตไปแล้วแต่วิทยากรและกรรมการมูลนิธิก็ยังสานต่อเจตนารมย์ของลุงขาว ยังสอนต่อเนื่องถึงปัจจุบัน การสอนของลุงขาวมีหลักการที่เป็นของตนเอง ได้แก่ ไม่จดบันทึกชื่อผู้เข้าเรียน ไม่สอนในที่หรูหรา ไม่มีการติดตามผล ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ยากจน ผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้ามาเรียนได้อย่างอิสสระ ด้วยความสบายใจ ไม่ต้องเกรงกลัวในระบบ หรืออับอายในความยากจน และสอนในบริเวณที่เจ้าของสถานที่ที่ยินดีให้จัดสอนโดยไม่คิดมูลค่า การสอนจึงโยกย้ายไปในที่ต่างๆตามความเหมาะสม และขณะนี้จัดสอนที่ สนามบาสเก็ตบอลล์ ในหมู่บ้านรัตนาธิเบศร์ ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีสาขารัตนาธิเบศร์ นนทบุรี[10] ทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของแต่ละเดือน เวลา 08:00 ถึง 12:00 น.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2524 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[11]
- พ.ศ. 2522 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 17 Link
- ↑ เปิดประวัติ ลุงขาวไขอาชีพ
- ↑ อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 19 Link
- ↑ อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 32-33 Link
- ↑ 5.0 5.1 ประวัติลุงขาวไขอาชีพ[ลิงก์เสีย]
- ↑ อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, หน้า 26 Link
- ↑ ขาวละออเภสัช
- ↑ มูลนิธิลุงขาวไขอาชีพ
- ↑ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช) ได้ศึกษาและจัดทำชีวประวัติของลุงขาวไขอาชีพ เป็นวีดิทัศน์ เพื่อส่งเสริมสิ่งดีๆให้เป็นแบบอย่างและกำลังใจต่อสังคม
- ↑ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย Link
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๒๐๖ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๙๓๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๖๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๔๑๒, ๒๑ เมษายน ๒๕๒๓
บรรณานุกรม
แก้- อรสรวง บุตรนาค. (2009), ลุงขาวไขอาชีพ: หนึ่งคนคิด หลายชีวิตเติบโต, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ Link
- ตำราลุงขาวไขอาชีพ ISBN 9745340871
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ชีวประวัติลุงขาวไขอาชีพเก็บถาวร 2020-08-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน