ลิขิต ธีรเวคิน
ศาสตราจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน (11 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 – 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559) ราชบัณฑิตสาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสภา นักรัฐศาสตร์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ
ลิขิต ธีรเวคิน | |
---|---|
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย | |
ดำรงตำแหน่ง 24 ตุลาคม – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 | |
นายกรัฐมนตรี | พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 |
เสียชีวิต | 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 (75 ปี) โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร |
พรรคการเมือง | ความหวังใหม่ (2540–2545) ไทยรักไทย (2545–2550) |
คู่สมรส | รองศาสตราจารย์ นพมาศ อุ้งพระ |
ประวัติ
แก้ศาสตราจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ (ระดับ 11) อดีตอาจารย์ประจำและคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน ยังเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (พ.ศ. 2540) อดีตหัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไท (30 มิถุนายน พ.ศ. 2549-30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550) และ เคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย อีกด้วย (พ.ศ. 2545-2548 และ พ.ศ. 2549)
สำหรับในด้านภูมิปัญญาความคิด ศาสตราจารย์ ลิขิต ธีรเวคิน ถือเป็นนักวิชาการอาวุโสที่ทรงอิทธิพลในวงการสังคมศาสตร์ไทย ทั้งยังคร่ำหวอดและเชี่ยวชาญการเมืองไทยมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ มีข้อคิดเห็น ข้อวิจารณ์ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองผ่านสื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ อยู่สม่ำเสมอ เป็นเจ้าของวลีเด็ดที่เตือนสังคมไทยในวิกฤตการณ์การเมืองช่วงปี พ.ศ. 2556-2557 ที่ว่า "อัศวินม้าขาวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตกม้าตายทั้งนั้น"[1] และ "ไม่มีอีกแล้วอัศวินม้าขาวในประเทศนี้"[2]
ประวัติการศึกษา
แก้- ทางด้านนิติศาสตร์
- พ.ศ. 2509 นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- พ.ศ. 2512 Master of Arts in Law and Diplomacy, The Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A., 1969
- ทางด้านรัฐศาสตร์
- พ.ศ. 2511 Master of Arts (International Relations), The Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, U.S.A., 1968
- พ.ศ. 2513 Master of Arts (Political Science), Brown University, U.S.A., 1970
- พ.ศ. 2515 Doctor of Philosophy (Political Science), Brown University, U.S.A., 1972
- ทางด้านความมั่นคง
- (1) ปริญญาบัตร วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (หลักสูตรภาครัฐร่วมเอกชน - ปรอ.) รุ่นที่ 2 ปีการศึกษา 2532
การทำงาน
แก้ศ.ลิขิต ธีรเวคิน รับราชการเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2526 และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ในปี พ.ศ. 2531 นอกจากนั้น ศ.ลิขิต ได้เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง อาทิ เป็นผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก เป็นต้น ศ.ลิขิต ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ในปี พ.ศ. 2547[3]
งานการเมือง
แก้ศ.ลิขิต ธีรเวคิน เข้าสู่งานการเมืองโดยลาออกจากราชการ[4] เพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ[5] และเข้าร่วมงานกับพรรคความหวังใหม่ ซึ่งมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 10 และได้รับเลือกตั้งเลื่อนขึ้นแทนบุคคลที่ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 พรรคความหวังใหม่ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย ศ.ลิขิต จึงได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารพรรค
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แก้ลิขิต ธีรเวคิน ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 สมัย คือ
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคความหวังใหม่ (เลื่อนแทน)
- การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคไทยรักไทย
ผลงาน
แก้ลิขิต ธีรเวคิน มีผลงานทางด้านวิชาการ อาทิ งานวิจัย หนังสือวิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย หนังสือการเมืองการปกครองไทย หนังสือภาษาอังกฤษหลายเล่ม และบทความทางวิชาการอีกจำนวนมาก
รางวัลเกียรติยศ
แก้- นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ. 2531
- ศาสตราจารย์ระดับ 11 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2536
- ได้รับการยกย่องเป็น กีรตยาจารย์ (อาจารย์ผู้มีเกียรติ) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2540
- มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็น ราชบัณฑิต ประเภทสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2547
- ศิษย์เก่าดีเด่นในรอบ 70 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (27 มิถุนายน พ.ศ. 2547)
- รางวัล “ปากกาขนนกทองคำ” สำหรับหนังสือที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 15 สาขาวิชา สาขาวิชารัฐศาสตร์ เรื่อง วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงหาคม พ.ศ. 2547
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2538 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[6]
- พ.ศ. 2536 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)[7]
- พ.ศ. 2546 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 3 ตติยดิเรกคุณาภรณ์ (ต.ภ.)[8]
- พ.ศ. 2550 – เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม.(ศ)) สาขาสังคมศาสตร์[9]
อ้างอิง
แก้- ↑ อัศวินม้าขาวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยตกม้าตายทั้งนั้น
- ↑ ไม่มีอีกแล้วอัศวินม้าขาวในประเทศนี้
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งราชบัณฑิต
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยพ้นจากตำแหน่ง (นายลิขิต ธีรเวคิน)
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2010-02-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๒ ตอนที่ ๑๗ ข หน้า ๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๒๐๐ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๓ ธันวาคม ๒๕๓๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เก็บถาวร 2021-10-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๒๘, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2009-02-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๕ ตอนที่ ๑๑ ข หน้า ๗, ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๑