ยูโอบีไลฟ์ (อังกฤษ: UOB LIVE) เป็นศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ในโครงการเอ็มสเฟียร์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 4-6 ของอาคาร บริหารงานโดยบริษัท ดิเอ็มไลฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง กลุ่มเดอะมอลล์ โดยบริษัท ซิตี้มอลล์ กรุ๊ป จำกัด กับกลุ่มบริษัทเอเอสเอ็ม โกลบอล ในเครือเออีจี กรุ๊ป และธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ประกอบด้วยโถงประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการออกแบบสำหรับจัดกิจกรรมประเภทมหรสพการแสดงโดยเฉพาะ

ยูโอบีไลฟ์
UOB LIVE
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทศูนย์ประชุม
ที่ตั้งชั้น 4-6 ศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์
ที่อยู่628 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย
เมืองกรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ไทย
เริ่มสร้างพ.ศ. 2562
เปิดใช้งาน10 มกราคม พ.ศ. 2567
พิธีเปิด11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[1]
เจ้าของบริษัท ดิ เอ็มไลฟ์ จำกัด[2] โดย
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่แต่ละชั้น5,962.5 ตารางเมตร
เว็บไซต์
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

ประวัติ แก้

ยูโอบีไลฟ์ (ชื่อในระหว่างการก่อสร้าง: เอ็มไลฟ์) เป็นศูนย์ประชุมหลักภายในศูนย์การค้าเอ็มสเฟียร์ โดยก่อสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการยกเลิกพื้นที่จัดกิจกรรมในศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (ควอเทียร์ ฮอลล์) โดยมีกลุ่มเออีจี[3] และธนาคารยูโอบี ประเทศไทยเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการ[4] โดยกลุ่มเดอะมอลล์และเออีจีถือหุ้นในสัดส่วน 66:34[5] อีกทั้งยังเป็นศูนย์มหรสพโดยกลุ่มเออีจีแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถัดจากออสเตรเลียที่กลุ่มได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ อนึ่ง บาคาร์ดีและวอลโว่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรก่อตั้งของโครงการดังกล่าวด้วย[6]

โถงหลักของ ยูโอบีไลฟ์ ถูกออกแบบให้รองรับการปรับโหมดการใช้งานได้ถึง 4 โหมด คือโหมดการแสดงแบบยืนทั้งฮอลล์ สามารถจุได้ 6,000 คน โหมดสเตเดียมเธียเตอร์ จุได้สูงสุด 4,090 ที่นั่ง โหมดงานจัดเลี้ยง สามารถจัดเลี้ยงได้สูงสุด 156 โต๊ะ 1,560 ที่นั่ง และโหมดศูนย์การประชุมและจัดแสดงสินค้า รองรับการออกบูธได้สูงสุด 218 บูธ พร้อมเดินสายไฟเบอร์ออพติกเต็มพื้นที่

องค์ประกอบ แก้

ยูโอบีไลฟ์ มีพื้นที่รวม 5,962.5 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญ ได้แก่ โถงหลัก พื้นที่ 4,464 ตารางเมตร โดยมีที่นั่งส่วนหนึ่งเป็นแบบพับเก็บได้ และเพดานติดตั้งหลอดไฟแอลอีดี และ โถงต้อนรับและกิจกรรม พื้นที่ 1,498.5 ตารางเมตร อีกทั้งมีพื้นที่รับรองตั้งแต่ชั้น 4 บริเวณติดกับบันไดเลื่อนจากศูนย์การค้ายาวจนถึงชั้น 6 โดยระหว่างชั้นสามารถใช้พื้นที่ชั้น 4M, 5 และ 5M เป็นพื้นที่ลงทะเบียนระหว่างทาง และยังมีบันไดเชื่อมกับโซนเอ็ม วันเดอร์ แหล่งแฮงก์เอาท์ในอาคารเดียวกันได้อีกด้วย

การใช้งาน แก้

ยูโอบีไลฟ์เริ่มเปิดตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2567 ก่อนเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการด้วยคอนเสิร์ต "แอน อีฟนิ่ง วิธ เอ็ด ชีแรน" ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567[1] ตามด้วยคอนเสิร์ต สล็อตแมชชีน เอ็กซิท ทู เอ็นเทอร์ เวิลด์ ทัวร์ โดย เทโร มิวสิค ในอีกห้าวันต่อมา[7] โดยก่อนหน้านั้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กลุ่มเดอะมอลล์และทีพีเอ็น โกลบอล ได้ใช้สถานที่ดังกล่าวจัดงานพบปะแฟนคลับของแอนโทเนีย โพซิ้ว[8] รวมถึงธนาคารยูโอบีได้ใช้สถานที่จัดงานแถลงข่าวทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท และงานเลี้ยงพนักงานกลุ่มบริษัทประจำปี และยังมีการใช้พื้นที่ Pre-Function จัดแสดงรถยนต์คลาสสิกในช่วงเปิดตัวศูนย์การค้าด้วย[9] ทั้งนี้ ในช่วงปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีงานแสดงต่าง ๆ ที่วางแผนมาจัดที่ยูโอบีไลฟ์ รวม 120 งาน[10]

ข้อวิจารณ์ แก้

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ยูโอบีไลฟ์ได้เปิดทำการแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรก แต่ในวันถัดมากลับเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ผ่านแฮชแท๊ก #UOBไร้มารยาท อย่างหนัก กล่าวคือในวันดังกล่าวมีกลุ่มผู้ชมที่เป็นวีไอพี เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตบริเวณห้องรับรองแขกด้านบน และมีการพูดคุยกันเสียงดังอันเป็นการรบกวนการแสดง รวมถึงมีการพูดคุยข้ามห้องโดยไม่ได้สนใจผู้เข้าชมคอนเสิร์ตที่กำลังตั้งใจรับชมคอนเสิร์ตอยู่ด้านล่าง ผู้ชมบางส่วนได้มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยควบคุมสถานการณ์ไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้ แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉยและบอกว่า "เตือนไม่ได้เพราะเป็น CEO" จึงมีการสืบหาว่ากลุ่มวีไอพีดังกล่าวมีใครเข้าร่วมบ้าง ซึ่งปรากฎภาพของหนึ่งในผู้ชมกลุ่มวีไอพีดังกล่าวคือ แพทองธาร ชินวัตร แอนโทเนีย โพซิ้ว และศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเดอะมอลล์ จึงทำให้พอเข้าใจสถานการณ์ได้ว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงไม่กล้าเข้าไปทำอะไร

ต่อมา แพทองธาร ได้เข้าแถลงข่าวนโยบายพรรค ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย พร้อมกล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเสียงที่ปรากฎในคลิปไม่ใช่เสียงของตน อีกทั้งเป็นการเข้าชมคอนเสิร์ต ผู้ชมก็อยากสนุกไปกับคอนเสิร์ตด้วย จึงมีเสียงดังก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร การตอบสนองของแพทองธารทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เพราะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่าเสียงจากกลุ่มวีไอพี ไม่ใช่เสียงร้องตามอย่างที่แพทองธารกล่าวอ้าง แต่เป็นเสียงพูดคุยไร้สาระซึ่งไม่เกี่ยวกับเนื้อหาคอนเสิร์ตแต่อย่างใด

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ศุภลักษณ์จึงออกหนังสือแถลงการณ์ในนาม บริษัท ดิเอ็มไลฟ์ จำกัด กล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำข้อผิดพลาดทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปปรับปรุงสถานที่ เพื่อพร้อมรับการแสดงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Ziwei, Puah (2024-01-10). "Ed Sheeran announces 'An Evening with Ed Sheeran' show in Bangkok". NME (ภาษาอังกฤษ).
  2. "ทุ่มหมื่นล้านปั้นฮับบันเทิง เดอะมอลล์จับมือAEGทุนใหญ่มะกันแจ้งเกิด2อารีน่า". thansettakij. 2018-09-29.
  3. "เดอะมอลล์ กรุ๊ป จับมือ AEG สร้างปรากฏการณ์ความบันเทิงระดับโลกครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-24. สืบค้นเมื่อ 2022-10-06.
  4. “ยูโอบี” คว้าสิทธิใช้ซื้อ “UOB LIVE” ศูนย์จัดอีเวนต์ จุ 6 พันคน ใน ‘ดิ เอ็มสเฟียร์’ ลุ้นเปิดตัว Q 1/67
  5. เดอะมอลล์ทุ่ม 3 พันล้าน ดีเดย์ 11 ก.พ. เปิด ‘ยูโอบี ไลฟ์’
  6. Barnes, Mike (2024-02-09). "AEG Seals Naming-Rights Deal for New Arena in Japan". The Hollywood Reporter (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  7. "Slot Machine: Exit To Enter World Tour 2024". Live Nation Tero (Thailand).
  8. แอนโทเนีย Meet & Greet Anntonia Porsild 1st Runner Up Miss Universe 2023 at Emspheres Bangkok, สืบค้นเมื่อ 2024-01-10
  9. "คณะผู้บริหาร กรังด์ปรีซ์ กรุ๊ป ร่วมกิจกรรม THAILAND CLASSIC MOTOR SHOW พร้อมเปิดตัว แอนโทเนีย โพซิ้ว สวมสร้อยมรกต มูลค่า 1,000 ล้านบาท วันเปิดอาณาจักร "เอ็มสเฟียร์" – Bangkok International Motor Show".
  10. UOB LIVE ดึง ED SHEERAN จัดคอนเสิร์ต​ฉลองเปิดตัว ปูพรม 120 งานตลอดปี ’67

แหล่งข้อมูลอื่น แก้