ยงยุทธ สัจจวาณิชย์

ศาสตราจารย์ เรือโท นายแพทย์ ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ร.น. (8 มกราคม พ.ศ. 2471 - 18 สิงหาคม พ.ศ. 2565) เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2 สมัย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และเป็นคณะแพทย์คณะแรกในโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.

ยงยุทธ สัจจวาณิชย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ดำรงตำแหน่ง
8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 – 19 ตุลาคม พ.ศ. 2520
นายกรัฐมนตรีธานินทร์ กรัยวิเชียร
ก่อนหน้าทวี จุลละทรัพย์
ดำรงตำแหน่ง
11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 – 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521
นายกรัฐมนตรีพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ถัดไปบุญสม มาร์ติน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำรงตำแหน่ง
28 เมษายน พ.ศ. 2518 – 21 มกราคม พ.ศ. 2520
ก่อนหน้าศ.น.อ.นพ.ตะวัน กังวานพงศ์
ถัดไปรศ.ประดิษฐ วิชัยดิษฐ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด8 มกราคม พ.ศ. 2471
อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น)
เสียชีวิต18 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (94 ปี)
ศาสนาพุทธ
คู่สมรสฤดี สัจจวาณิชย์

ประวัติ แก้

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2471 ที่อำเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (National Defence)

เริ่มรับราชการกรมแพทย์ทหารเรือ (Royal Thai Navy) ยศเรือโท ในปี พ.ศ. 2499 ต่อจากนั้นโอนมารับราชการที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในตำแหน่งอาจารย์โท แผนกวิชาพยาธิวิทยา (Pathology Department)

เมื่อมีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ (Chiang Mai Hospital) ได้รับคัดเลือกมาเป็น อาจารย์รุ่นแรก โดยได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐ ไปศึกษาต่อด้านพยาธิวิทยา และโรคเชื้อราที่มหาวิทยาลัยดุ๊ค (Duke University) มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา กับ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) มลรัฐนิวยอร์ก ระหว่างปี พ.ศ. 2501-2503

ปี พ.ศ. 2508 ได้รับทุนของ China Medical Board of New York ไปศึกษาวิชานิติเวชศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) และทำงานที่ Chief Medical Examiner, City of New York

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ระหว่างศึกษาและทำงานที่สหรัฐอเมริกา มาจัดตั้งภาควิชานิติเวชศาสตร์ (Department of Forensic Medicine) ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Faculty of Medicine, Chiang Mai University) ทำให้คดีอุกฉกรรจ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่หลายคดี มีการตรวจสถานที่เกิดเหตุร่วมกับพนักงานสอบสวน ตรวจศพ และพิษวิทยาเพื่อหาสาเหตุตาย ทำหน้าที่เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญของศาล ทั้งนี้เพื่อผดุงความเป็นธรรมแก่คู่คดีทั้งสองฝ่าย รวมถึงการสอนวิชานิติเวชศาสน์ (Forensic Medicine) ให้แก่นักศึกษาแพทย์ และนักศึกษารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากสอนวิชาพยาธิวิทยา จุลชีววิทยา ราวิทยา และนิติเวชศาสตร์ ให้แก่นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ นักศึกษาทันตแพทย์ และนักศึกษาพยาบาลแล้ว ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ยังรับหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 6 หน่วย จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปรักษาพยาบาลชาวบ้านในตำบล หมู่บ้านของอำเภอต่างๆ ที่กันดาร และห่างไกล ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน และอุตรดิตถ์ ระหว่าง พ.ศ. 2512-2514 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข

ระหว่างปี พ.ศ. 2513-2516 ดำเนินการเป็นผู้อำนวยการฝึกอบรม ผู้ช่วยพยาบาลตำบล ให้ชาวบ้านจากตำบลและหมู่บ้านต่างๆ ของ 34 จังหวัด ในเขตเร่งรัดพัฒนาชนบทภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ผู้ชาวยพยาบาลตำบลเหล่านี้ ทำหน้าที่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ ในตำบลหมู่บ้านของพวกเขาเอง โดยใช้ยาสามัญประจำบ้านขององค์การเภสัชกรรม นับว่าเป็นการเสริมงานของ หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ผู้ช่วยพยาบาลตำบลดังกล่าว เป็นต้นแบบของอาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ของกระทรวงสาธารสุขในกาลต่อมา

ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ยังเป็นอาสาสมัคร หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จย่า (The Princess Mother's Medical Volunteer Foundation) ไปรักษาชาวบ้าน และชาวเขาตามท้องที่ทุรกันดาร ในป่าเขา เขตชายแดนของจังหวัดเชียงใหม่ น่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดย เฮลิคอปเตอร์ ของ ตำรวจตระเวนชายแดน และ ทหารอากาศ ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2512-พฤศจิกายน 2518

ดำเนินการจัดหาสถานที่ และก่อสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 20 แห่ง ตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดภาคเหนือ ภาตใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน ในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย (ผกค.) เพื่อให้การรักษาพยาบาลประชาชน ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคร ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตรายเหล่านั้น

ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ในตำแหน่งต่างๆ สรุปดังต่อไปนี้ :

  1. ศาสตราจารย์ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2518)
  2. รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2516-2518)
  3. อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2518-2519)
  4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล ฯณฯ ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร (22 ตุลาคม 2519-ตุลาคม 2520)
  5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล ฯณฯ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ (22 พฤศจิกายน 2520-2522)
  6. ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จย่า (พ.ศ. 2519-2528)
  7. รองประธานมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (พ.ศ. 2520-2528)
  8. นายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2524-2529)
  9. ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม Government Pharmaceutical Organization (พ.ศ. 2524-2529)
  10. กรรมการทบวงมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2524-2530)
  11. รองประธานกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (พ.ศ. 2530-2545)
  12. นายกสภามหาวิทยาลัยมหานคร (พ.ศ. 2533-2551)
  13. ประธานกรรมการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทบวงมหาวิทยลัย (พ.ศ. 2535-2543)
  14. รองประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จย่า (พ.ศ. 2530-2544)
  15. กรรมการสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2545-2547)

งานการเมือง แก้

ศาสตราจารย์นายแพทย์ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข[1][2] ในปี พ.ศ. 2519 ในรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และในรัฐบาลถัดมาของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์[3] ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ในปี พ.ศ. 2524

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "คณะรัฐมนตรีคณะที่ 39 จากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-07.
  2. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๑๗ ราย)
  3. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๓ ราย)
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๕๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๕
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๙๙ ตอนที่ ๑๘๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๒๕

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

ก่อนหน้า ยงยุทธ สัจจวาณิชย์ ถัดไป
พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์    
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2521)
  บุญสม มาร์ติน
ศาสตราจารย์ นาวาอากาศเอก
นายแพทย์ ตะวัน กังวานพงศ์
  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(28 เมษายน พ.ศ. 2518 - 21 มกราคม พ.ศ. 2520)
  รองศาสตราจารย์ ประดิษฐ วิชัยดิษฐ