ฟีนิกซ์ (เทพปกรณัม)

(เปลี่ยนทางจาก ฟีนิกซ์ (ปรัมปราวิทยา))

ฟีนิกซ์ (อังกฤษ: Phoenix, Phenix[1]; การออกเสียง) เป็นนกที่ปรากฏในปกรณัมของหลาย ๆ ชนชาติ ในลักษณะที่คล้ายกันแต่แตกต่างกันในบางรายละเอียด[2]

ภาพวาดฟีนิกซ์เผาตัวเอง

ฟีนิกซ์ของอียิปต์โบราณ

แก้

ฟีนิกซ์ปรากฏในปกรณัมของอียิปต์โบราณ ในฐานะของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งคู่ควรแก่การบูชา ฟีนิกซ์เกี่ยวข้องกับเทพแห่งไฟ เพราะขนของฟีนิกซ์นั้นจะออกเป็นประกายเหลืองทองคล้ายเปลวไฟ บ้างก็ว่าปกคลุมด้วยเปลวไฟทั้งตัว

ขนาดของฟีนิกซ์จะมีขนาดเท่านกอินทรีตัวโต ส่วนปากและส่วนขาเป็นสีทอง ประกายขนสีแดงถึงเหลืองทอง มีเสียงร้องที่ไพเราะดังเสียงดนตรี รูปร่างสวยสง่างาม บางครั้งมีอุปนิสัยหยิ่งผยอง บางครั้งเปี่ยมด้วยความเป็นมิตร บางความเชื่อ เชื่อว่าว่าฟีนิกซ์สามารถชุบชีวิตผู้ตายได้ และสามารถฟื้นพลังทั้งหมดให้กลับสู่ปกติได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตัวหนึ่งภายใต้เทพแห่งไฟ บางครั้งจะพบว่าสามารถใช้มนตร์ไฟได้ ฟีนิกซ์เป็นสัตว์ที่นิสัยอ่อนโยน เพลงของฟีนิกซ์มีเวทมนตร์สามารถกระตุ้นความกล้าหาญ แห่งจิตใจบริสุทธิ์ และทำให้เกิดความกลัวในจิตใจที่คิดชั่วร้าย น้ำตาของฟีนิกซ์มีพลังในการรักษาบาดแผลได้

ฟีนิกซ์เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นอมตะ มีชีวิตยั่งยืนนิรันดร์ เพราะสามารถฟื้นคืนชีพได้ด้วยตัวเอง เมื่อร่างกายสิ้นอายุขัย (500 ปี หรือ 1,461 ปี) ตัวจะลุกเป็นไฟ จากนั้นฟีนิกซ์ก็จะฟื้นจากกองขี้เถ้ามาเป็นนกตัวใหม่

ฟีนิกซ์ของกรีกโบราณ

แก้

กล่าวกันว่าเรื่องราวเริ่มแรกของฟีนิกซ์มาจากวรรณกรรมกรีกโบราณที่ชื่อว่า Account of Egypt ของเฮโรโดตัส นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกโบราณ (ประมาณ 430 ปี ก่อนคริสตกาล) ตามปกรณัมกล่าวว่า ฟีนิกซ์มีอายุ 500 ปี เมื่อถึงเวลาที่ใกล้จะหมดอายุขัย ฟีนิกซ์จะล่วงรู้ถึงชะตากรรม จะสร้างรังจากไม้เครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม แล้วนั่งคอยที่กองฟืนไม้หอมและร้องเพลงอย่างสำราญใจ เมื่อแสงอาทิตย์แรกสาดส่อง ฟีนิกซ์จะแผดเผาตนเองกลายเป็นเถ้าถ่าน จากนั้นเถ้าถ่านกองนั้นฟีนิกซ์จะถือกำเนิดขึ้นใหม่ เป็นนกหนุ่ม

ภารกิจแรกที่ฟีนิกซ์หนุ่มต้องกระทำก็คือ การรวบรวมเถ้าถ่านของผู้ให้กำเนิดตัวเองแล้วนำไปฝังที่วิหารเฮลิโอโปลิส หรือนครแห่งตะวันในอียิปต์ จากนั้นก็จะบินกลับมาที่อาระเบียและใช้ชีวิตอยู่จนกว่าจะเปลี่ยนร่างอีกครั้ง

จุดกำเนิดของฟีนิกซ์ อาจมาจากคัมภีร์แห่งเวทมนตร์เล่มหนึ่งที่ชื่อว่า Book of Dead ของอียิปต์โบราณ ซึ่งกล่าวถึงนกยักษ์ลักษณะคล้ายฟีนิกซ์ นกยักษ์ตัวนี้เป็นต้นแบบของวิญญาณอิสระที่ลุกขึ้นมาจากกองเพลิง และบินไปยังเฮลิโอโปลิสเพื่อประกาศยุคใหม่ เนื่องจากดวงอาทิตย์ได้สาดแสงไล่หลังนกที่บินจากตะวันออกไปยังตะวันตก นกจึงปรากฏตัวพร้อมกับเช้าวันใหม่จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งไฟและดวงอาทิตย์ ไปในที่สุด

จากการที่ฟีนิกซ์สามารถเกิดใหม่ได้จากเถ้าถ่านของตัวเอง จึงกลายเป็นตัวแทนของการฟื้นคืนจากความตาย ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กวีและนักประพันธ์ในชั้นหลังหลายต่อหลายคน จนเรื่องราวแห่งฟีนิกซ์แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวรรณกรรมของทวีปยุโรปหลายต่อหลายเรื่อง

นอกจากนี้แล้วยังมีอีกปกรณัมที่เล่าว่า อพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์ ได้เห็นความงดงามของฟีนิกซ์ จึงได้ขอให้มาเป็นนกข้างกายพระองค์ พร้อมกับให้พรวิเศษคือ ชีวิตอมตะ แก่ฟีนิกซ์เป็นการตอบแทน ซึ่งฟีนิกซ์ก็ยินดีและขับร้องเพลงสรรเสริญอพอลโล

นอกจากนี้แล้ว ในปกรณัมกรีกอีกแห่งเล่าอีกว่า ฟีนิกซ์จะอาศัยอยู่ในแถบอาระเบีย โดยจะอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งน้ำที่มีอากาศเย็น ทุก ๆ เช้าที่ดวงอาทิตย์เริ่มส่องแสง อพอลโลจะต้องหยุดเพื่อฟังเสียงร้องอันแสนไพเราะของฟีนิกซ์ อาหารโปรดของฟีนิกซ์ ได้แก่ สายลมอ่อน ๆ, น้ำอมฤต, น้ำค้าง หรือหมอกบริสุทธิ์ที่ลอยขึ้นมาจากแม่น้ำและทะเล

ฟีนิกซ์เป็นสัตว์ที่มีนิสัยอ่อนโยน สามารถหายตัวและปรากฏตัวใหม่ตามใจนึกเช่นเดียวกับดิริคอว์ล เสียงร้องของฟีนิกซ์มีเวทมนตร์ สามารถกระตุ้นความกล้าหาญแห่งจิตใจที่บริสุทธิ์ และทำให้เกิดความกลัวในจิตใจที่คิดร้าย และน้ำตาของฟีนิกซ์ก็เป็นดังโอสถทิพย์แห่งสวรรค์ที่มีพลังในการรักษาบาดแผลและชุบชีวิตได้ แต่ถึงกระนั้นนกฟีนิกซ์ก็ยากจะหลั่งน้ำตาให้แก่ผู้ใด ยกเว้นเสียแต่ว่าคนผู้นั้นจะมีคุณงามความดีมากพอที่จะกลับมามีชีวิตใหม่อีก ครั้ง

จากความเชื่อทั้งหมดของฟีนิกซ์นี้เอง ที่ทำให้ในปกรณัมของกรีกและโรมันเชื่อว่า ฟีนิกซ์เป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิตเป็นอมตะ การฟื้นคืนชีพ และเกี่ยวข้องกับเทพแห่งดวงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งในช่วงต้นของคริสต์ศาสนาก็ได้มีการนำเอารูปฟีนิกซ์มาสลัก เป็นลวดลายบนหินปิดหลุมฝังศพ ซึ่งหมายถึงผู้ที่จากไปจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งนั่นเอง[2]

การเทียบเคียง

แก้

มีการพบนกฟีนิกซ์ได้ในหลายๆวัฒนธรรม ซึ่งนกในตำนานจากวัฒนธรรมต่างๆที่สามารถเทียบเคียงนกฟีนิกซ์ได้มีดังนี้

 
ประติมากรรมฟีนิกซ์ที่ยอดหลังคาวัดคิงกะกุ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
 
อีกาสามขา หรือ ยะตะกะระสุ ตามปกรณัมของญี่ปุ่น

อีกาสามขา

ในปกรณัมของจีน, ญี่ปุ่น และเกาหลี อีกาสามขา (ญี่ปุ่น: 八咫烏) เป็นนกแห่งดวงอาทิตย์ ที่แรกเริ่มสร้างโลก โลกมนุษย์มีดวงอาทิตย์ปรากฏพร้อมกันถึง 10 ดวง แต่ได้ถูกโฮวอี้ยิงตกจนเหลือแค่ดวงเดียว [2] [3]

หงส์ไฟ

หงส์ไฟ (จีน: 凤凰) ในปกรณัมของจีน หงส์ไฟมีลักษณะคล้ายฟีนิกซ์มากจนเชื่อว่าน่าจะเป็นตัวเดียวกัน แต่แยกออกไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น หงส์ไฟมีขนสีแดงชาดเหมือนไฟ เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ประจำทิศใต้ และเป็นสัญลักษณ์ของฤดูร้อน[2] [4]

วายุภักษ์

วายุภักษ์ หรือ นกการเวก เป็นนกที่กินลมเป็นอาหาร และมีเสียงร้องที่ไพเราะ เป็นนกในป่าหิมพานต์ บินสูงเทียมเมฆ เมื่อสรรพสัตว์ใด ๆ ได้ยินเสียงของนกการเวกก็จะหยุดชะงักไปจากเสียงอันไพเราะ ก็มีลักษณะคล้ายกับฟีนิกซ์ในปกรณัมกรีก[5] [6]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

ฟีนิกซ์ เป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนชุด แฮรี่ พอตเตอร์ ในภาค Harry Potter and the Chamber of Secrets และ Harry Potter and the Order of the Phoenix[7] และเป็นตัวละครในมังงะของญี่ปุ่น เรื่อง เซนต์เซย่า คือ ฟินิกซ์ อิคคิ ที่เป็นชายหนุ่มที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่รวมกลุ่มกับคนอื่น แต่จะปรากฏตัวพร้อมกับไฟและความแค้น[8]

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. Umberto Capotummino" L'Occhio della Fenice", Palermo, Sekhem, 2005. ISBN 88-902054-0-7
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Rosen, Brenda (2009). The mythical creatures bible: The definitive guide to legendary beings. New York: Sterling. p. 151. ISBN 978-1-4027-6536-0.
  3. "ตำนานการไหว้พระจันทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-01. สืบค้นเมื่อ 2012-11-17.
  4. Doniger, Wendy, ed. (1999). Merriam-Webster's encyclopedia of world religions. Springfield: Merriam-Webster. ISBN 978-0-87779-044-0.
  5. วายุภักษ์ จากสนุกดอตคอม
  6. การเวก
  7. http://www.nanmeebooks.com/book/online_cat1_detail.php?bid=202&isbn=9656-03-2 เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 5 ตอน ภาคีนกฟีนิกซ์ (ปกแข็ง) (หนังสือ )] สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
  8. มะซะมิ คุรุมะดะ, เซนต์ เซย่า เล่มที่ 4, สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ, 2535