เกาะไหง

เกาะไหง (อังกฤษ: Ko Ngai) เป็นเกาะขนาดเล็กทางตอนใต้ของชายฝั่งทะเลอันดามันในจังหวัดกระบี่ แต่ทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้จังหวัดตรังมากกว่า เป็นที่รู้จักดีในด้านเรื่องการดำน้ำลึกและหาดทรายขาวทอดยาว เกาะไหงเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเกาะลันตา[1] และเป็นถิ่นอาศัยของนกแก๊ก ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง[2]

เกาะไหง
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งตอนล่างของทะเลอันดามัน
พิกัด7°24′53″N 99°12′17″E / 7.414811°N 99.204858°E / 7.414811; 99.204858
กลุ่มเกาะเกาะไหง
แหล่งน้ำใกล้เคียงทะเลอันดามัน
พื้นที่0.51[1] ตารางกิโลเมตร (0.20 ตารางไมล์)
ความยาว4 กม. (2.5 ไมล์)
ความกว้าง2 กม. (1.2 ไมล์)
ระดับสูงสุด198 ม. (650 ฟุต)
การปกครอง
จังหวัดกระบี่
อำเภอเกาะลันตา
ตำบลเกาะลันตาใหญ่

ภูมิประเทศ

เกาะไหงตั้งอยู่ทางใต้ของจังหวัดกระบี่ ในอำเภอเกาะลันตา ในเชิงภูมิศาสตร์ใกล้กับชายฝั่งจังหวัดตรังมากกว่าจังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมบนแผ่นดินใหญ่ฝั่งตรงข้ามจากตรัง เกาะไหงมีความยาว 4 กิโลเมตร พื้นที่ขนาดประมาณ 3.635 ตารางกิโลเมตร[1] มีรูปทรงสามเหลี่ยมด้านใต้กว้างกว่า และด้านเหนือเป็นปลายแหลมแบบลิ่ม

ด้านทิศตะวันออกของเกาะประกอบด้วยหาดทรายยาว มีปะการังด้านหน้าหาด และเป็นแหล่งดูปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง[3] ทิศใต้ลักษณะเป็นอ่าว ด้านตะวันตกตอนเหนือมีลักษณะเป็นเขาสูงชัน ยอดเขาที่สูงที่สุดสูง 198 เมตรจากระดับน้ำทะเล[4] โดยทั่วไปเป็นป่าดิบชื้น และป่าชายหาด[4]

กลุ่มเกาะไหง ประกอบด้วย เกาะไหงและเกาะม้า[4]

ภูมิอากาศ

มีภูมิอากาศแบบกึ่งเขตร้อน ฤดูฝน (มรสุม) เริ่มประมาณต้นเดือนพฤษภาคมและสิ้นสุดในปลายเดือนตุลาคมในต้นเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยปกติช่วงนี้ทะเลมีคลื่นสูงการเล่นน้ำนอกฝั่งอาจมีอันตรายได้ มักจะมีฝนตกหนักและมีเมฆมากเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน และช่วงตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนเมษายนเป็นฤดูแล้งแดดจัดเป็นส่วนใหญ่และทะเลสงบ

อุณหภูมิในฤดูมรสุมคือ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียสในตอนกลางวันและ 22 ถึง 24 องศาเซลเซียสในตอนกลางคืน ในฤดูกาลท่องเที่ยวหลัก (ฤดูแล้ง) อุณหภูมิในตอนกลางวันจะอยู่ที่ 25 ถึง 34 องศา[5] อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 องศา[4]

เขตการปกครอง

เกาะไหงอยู่ในเขตการปกครองตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา ของจังหวัดกระบี่ และเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ ลต.2 (เกาะไหง) บนแหลมกวนอิม (ทางตะวันเฉียงใต้ของเกาะ)

ข้อมูลประชากร

ไม่มีผู้อยู่อาศัยถาวรบนเกาะ ผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นพนักงานของรีสอร์ทตากอากาศ ซึ่งดำเนินการสิ่งอำนวยความสะดวกในโรงแรมในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวของภาคใต้

การขนส่ง

ท่าเรือแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้ที่สุดคือ ท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง[3] ห่างจากเกาะไหงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร ในอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง การข้ามจากท่าเรือปากเมงใช้เวลา 30 ถึง 45 นาที ขึ้นอยู่กับประเภทของเรือ[6]

นอกจากนี้ยังมีมีเรือท่องเที่ยวหรือเรือหางยาวเช่าเหมาลำจากเกาะอื่น ๆ ในพื้นที่ เช่น เกาะลันตาใหญ่และเกาะมุก

เกาะไหงเป็นเกาะขนาดเล็กไม่มีทางรถยนต์บนเกาะ[7]

แหล่งท่องเที่ยว

เกาะไหงเป็นเกาะสำหรับการเล่นน้ำและดำน้ำเป็นหลัก ชายหาดยาวประมาณ 2 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของเกาะ นอกจากนี้ยังมีอ่าวเล็ก ๆ สองแห่งทางตอนใต้ของเกาะ ชายฝั่งตะวันตกไม่เหมาะสำหรับการเล่นน้ำเนื่องจากเป็นหน้าผา

ฤดูการท่องเที่ยว ปิดฤดูการท่องเที่ยว  ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 พฤศจิกายน ของทุกปี[8]

ระเบียงภาพ

เกาะใกล้กัน

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 "ข้อมูลเกาะรายจังหวัด - ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง". km.dmcr.go.th (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  2. ""นกเงือก" สร้างสีสันบนเกาะไหง จ.กระบี่". Thai PBS. 2020-01-05.
  3. 3.0 3.1 "เกาะไหง". thai.tourismthailand.org (ภาษาอังกฤษ).
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 "เกาะไหง (Ko Ngai) - หมู่เกาะลันตา (เปิดบางแหล่ง)". park.dnp.go.th.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "3-Tage Wetterbericht für Ko Ngai, Thailand". www.wetter.de (ภาษาเยอรมัน).
  6. "เกาะไหง, ข้อมูลน่าสนใจ, กิจกรรมเกาะไหง, กระบี่ :: Essentialkrabi Dot Com ::". www.essentialkrabi.com.
  7. "สำนักอุทยานแห่งชาติ :: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช". portal.dnp.go.th.
  8. "สำนักอุทยานแห่งชาติ :: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช". portal.dnp.go.th.