นกแก๊ก
นกแก๊ก หรือ นกแกง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Anthracoceros albirostris) เป็นนกเงือกแถบอินโด-มาลายันที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae[2] ชื่อทั่วไปของสปีชีส์นี้คือนกแก๊กซุนดา (convexus) และนกแก๊กมาเลเซีย[3]
นกแก๊ก | |
---|---|
เพศผู้ (ซ้าย) และเพศเมีย (ขวา) ที่แม่น้ำกีนาบาตางัน เกาะบอร์เนียว | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์ปีก Aves |
อันดับ: | นกเงือก Bucerotiformes |
วงศ์: | Bucerotidae Bucerotidae |
สกุล: | Anthracoceros Anthracoceros (Shaw & Nodder, 1807) |
สปีชีส์: | Anthracoceros albirostris |
ชื่อทวินาม | |
Anthracoceros albirostris (Shaw & Nodder, 1807) |
อนุกรมวิธาน
แก้นกแก๊กอยู่ในสกุล Anthracoceros ซึ่งมี 5 สปีชีส์[3] สปีชีส์ที่สกุลนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม นกเงือกอินโด-มาลายัน และนกเงือกดำ[2][3] A. albirostris อยู่ในกลุ่มนกเงือกอินโด-มาลายันร่วมกับนกแก๊กอินเดีย (A. coronatus) และนกเงือกปาลาวัน (A. marchei)[3] ส่วนนกเงือกดำประกอบด้วย A. malayanus และ A. montani[2] A. albirostris สามารถแบ่งเป็นสองสปีชีส์ย่อยคือ A. a. albirostris และ A. a. convexus[3][4]
รายละเอียด
แก้นกแก๊กเป็นนกกินผลไม้ที่มีความยาวจากหัวถึงหางที่ 55–60 เซนติเมตร และระยะระหว่างปลายปีกสองข้างที่ 23–36 เซนติเมตร ปากนกเพศผู้มีขนาด 19 เซนติเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาด 16 เซนติเมตร[2][5] มีน้ำหนักระหว่าง 600 ถึง 1,050 กรัม น้ำหนักเฉลี่ยเพศผู้ที่ 900 กลับ ส่วนเพศเมียที่ 875 กรัม[6]
การกระจายและที่อยู่อาศัย
แก้นกแก๊กพบได้ในอนุทวีปอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่บังกลาเทศ, ภูฏาน, บรูไน, กัมพูชา, อินเดียตะวันออกและเหนือ, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซียฝั่งคาบสมุทรตอนเหนือ, พม่า, เนปาล, สิงคโปร์, ไทย, ทิเบต, เวียดนาม และหมู่เกาะไหล่ทวีปซุนดา มีถิ่นอาศัยในป่าดิบเขตร้อนหรือกึ่งเขตร้อน
การจำแนก
แก้นกแก๊ก ตัวผู้และตัวเมีย อาจใช้วิธีสังเกตย่อๆ ดังนี้คือ ตัวผู้ มีจะงอยปาก และโหนกสีขาว งาช้างและ มีสีดำแต้มด้านหน้าของโหนก,ตัวเมีย มีโหนกเล็กกว่า และ มีสีดำแต้มเปรอะทั้งโหนก และ ปากจนดูมอมแมม ตัวที่ยังโตไม่เต็มวัย คล้ายตัวเต็มวัย แต่มีโหนกเล็กกว่า สีบริเวณปาก จะค่อยๆ ปรากฏชัด เมื่อนกมีอายุมากขึ้น
นิสัยประจำพันธุ์
แก้ปกติ นกแก๊ก ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ มันจะพากันบินออกไปหากินในตอนเช้า และกลับมานอนบนต้นไม้เดียวกันในตอนพลบค่ำเป็นประจำทุกวัน มันเคยเกาะนอนอยู่บนต้นไม้ไหน ก็บินกลับมานอนต้นไม้ต้นเดิมเสมอ เมื่อฟ้าสางแล้ว นกแก๊ก จะพากันบินออกจากต้นไม้ ที่มันเกาะหลับนอน เพื่อไปหากินมันจะทยอยกันบินออกไปทีละตัวสองตัวจนหมดแต่ละตัวจะบินอยู่ห่างๆกัน เมื่อเราเห็น ตัวหนึ่งบินผ่านไป เราก็มักจะเห็นอีกตัว หรือ สองตัว บินตาม ตัวหน้า ไปเสมอๆ เรามักจะเห็นมันบินข้าม ถนน ที่เรากำลังเดินอยู่ ไปทีละตัวสองตัว จนหมดทั้งฝูง โดยเราจะได้ยิน เสียงร้อง ของมัน ก่อนที่จะได้เห็น ตัวของมันเสมอ ในเวลาบิน ในบางครั้งก็เห็นมันบินจาก ยอดไม้ยอดหนึ่ง ไปยัง อีกยอดหนึ่ง ทีละตัว สองตัว จนหมดฝูงไม่ค่อยเห็นมันบินผ่านที่โล่งๆกว้างเท่าใดนักในเวลาบินจะเห็นเป็นนกสีดำหัวโตๆ ที่ใต้ท้องขาว และ ชายปีกขาว
ปกติ นกแก๊ก จะพากันบินออกไปหากิน ไกลจากต้นไม้ที่มันเกาะหลับนอนในตอนกลางคืนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามต้นไม้ที่มีผลไม้สุก และ โดยเหตุที่ ต้นไม้ต่างๆ จะมีผลสุกไม่พร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ นกแก๊ก จึงมีผลไม้สุก เป็นอาหารได้ตลอดทั้งปี ผลไม้สุกที่มันชอบ มากก็คือ ผลไทร และ มะเดื่อ ซึ่งเป็นพืชในสกุล Ficus เมื่อถึงฤดูกาลที่มีผลไม้สุก เราจึงมักจะเห็น นกแก๊ก มารวมกันบนต้นไม้เหล่านั้นเป็นจำนวนมาก และ ในเวลาที่ นกแก๊ก พากันมากินผลไม้สุก นกชนิด อื่นๆ ที่กินผลไม้เช่น นกโพระดก นกเขียวคราม ก็จะพากันหลบไปหมด เพราะกลัว นกแก๊ก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า และ ก้าวร้าวกว่า ผลไม้เหล่านี้มักจะอยู่ตรงปลายๆกิ่งของต้นไม้ แต่เนื่องจาก นกแก๊ก มีน้ำหนักตัวมาก มันจึงต้องค่อยๆ กระโดดไปยังปลายกิ่ง อย่างงุ่มง่าม ในขณะกระโดด มันจะหุบปีกแนบกับลำตัวไว้ กิ่งไม้ที่อ่อน มักยวบยาบไปตามแรงกระโดดของมันเสมอ แต่ปาก ของมันยาว จึงใช้ปลายปากปลิดผลไม้สุก เอามากินได้เสมอ เมื่อคาบผลไม้ได้แล้ว มันจะโยนขึ้นไปในอากาศ หน่อยหนึ่ง แล้งจึงใช้ปากงับ แล้วกลืนลงลำคอทันที เหตุที่มันต้องโยนผลไม้ขึ้นไปในอากาศก่อน เพราะลิ้นของมันสั้น ใช้ตวัดผลไม้ เข้าลำคอไม่ได้ ผลไม้ที่ถูกกลืนเข้าไปในกระเพาะทั้งลูกนั้น เฉพาะเนื้อรอบๆเมล็ด เท่านั้น ที่จะย่อยเป็นอาหารของมัน ส่วนเปลือก แข็งๆ และ เมล็ดจะถูกถ่ายออกมา พร้อมกับมูลของมัน
อาหาร
แก้นกแก๊กกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์เช่นเดียวกับนกเงือกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นลูกไม้ สัตว์เลื้อยคลาน และนกขนาดเล็ก มีลีลาการกินอาหารอันเป็นที่จดจำสำหรับผู้พบเห็น โดยมันจะโยนอาหารขึ้นไปกลางอากาศแล้วอ้าปากรับ มักรวมฝูงใหญ่เพื่อหลับนอนในช่วงพลบค่ำ
การสืบพันธุ์
แก้นกแก๊ก ก็เช่นเดียวกับนกเงือกอื่นๆ คือ จับคู่กันมากกว่า 1 ฤดูผสมพันธุ์ คือ อาจ จับคู่เดิมในฤดูถัดไปได้ นกที่จับคู่ได้แล้วจะพากันแยกออกจากฝูง เพื่อหาโพรงไม้ใช้ทำรัง และ วางไข่ มักจะเป็นโพรงรังที่มันเคยมาวางไข่แล้วในปีที่ผ่านมา ถ้าโพรงไม่ชำรุดหรือถูกสัตว์อื่นแย่งรังไปเสียก่อน เช่น หมาไม้ ชะมด อีเห็น ตัวเงินตัวทอง เป็นต้น นกแก๊ก เริ่มผสมพันธุ์ และทำรังวางไข่ในตอนปลายเดือน กุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม กว่าลูกนกจะเจริญเติบโตพอที่จะเริ่มหัดบินได้ก็จะอยู่ในราวเดือน พฤษภาคม หรืออาจถึงต้นเดือนมิถุนายน หรือเวลาราว 92 วัน นกตัวผู้จะบินไปเลือกโพรงไม้ และชักชวนให้นกตัวเมียเข้าไปสำรวจดูด้วยถ้าโพรงนั้นก้นโพรงไม่ทรุด ก้นโพรงอยู่ต่ำกว่า ปากโพรงไม่มาก และ ปากทางเข้าไม่กว้างเกินไปนัก นกตัวเมียจึงจะยอมรับ โพรงไม้นี้อาจเกิดจากธรรมชาติ หรือ ที่นกหัวขวานเจาะไว้ อาจเป็นรังเดิมหรือโพรง ที่นกหัวขวาน เจาะหาอาหารไว้เดิม นกแก๊ก ขนาดตัวเล็กกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ โพรงจึงหาได้ง่ายกว่า นกเงือก ชนิดอื่นถ้าปากโพรงเล็กเกินไป นกแก๊ก อาจใช้ปากจิกเนื้อไม้ที่ผุพัง ปากโพรงให้กว้างขึ้นอีก พอที่มันจะเข้าไปได้ ภายในโพรงมักกว้างราว 37 เซนติเมตร ยาวราว 46 เซนติเมตร สูงราว 150 เซนติเมตร ปากโพรงมักกว้างราว 10 เซนติเมตร ยาวราว 25 เซนติเมตร แต่ไม่สำคัญเท่าใดนัก ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของโพรง ที่มันเลือกมากนักไม่ได้มากกว่า แต่โดยเฉลี่ยจะต้องอยู่ในเกณท์ที่ว่าไว้ โพรงรังมักอยู่ในระดับต่ำหรือ สูงไม่เกินระดับกลางของเรือนยอด นกเงือกอื่นๆจะใช้โพรงของต้นไม้สด แต่นกแก๊ก อาจใช้โพรงในต้นไม้ที่ยืนต้นตายแล้วก็ได้ เมื่อ นกตัวเมียตกลงเลือกโพรงรังที่ตัวผู้เสาะหามาได้แล้ว มันจะเข้าไปในโพรงรัง แล้วใช้ด้านข้างของปากตีส่วนผสมวัสดุ ทำรังเข้ากับปากโพรง ส่วนที่กว้างที่สุด วัสดุที่ใช้ปิดปากโพรง ได้แก่มูลของนกตัวเมีย ผสมกับผลไม้ที่มียาง ที่มันสำรอกออกมา เศษไม้ผุ ผสมกับดินโคลนที่นกตัวผู้ไปคาบเอามาส่งให้ โดยใช้ด้านข้างของปาก ตีแปะเข้ากับด้านข้าง ส่วนที่กว้างที่สุดของโพรง การปิดปากโพรง อาจใช้เวลาราว 3 - 7 วัน ขึ้นอยู่กับความกว้างเดิมของปากโพรง สุดท้ายจะเหลือปากโพรงแคบๆ พอที่มันจะแทรกตัวเข้าไปได้ เท่านั้น ระหว่างปิดปากโพรง นกตัวผู้จะทำการผสมพันธุ์ จากนั้น นกตัวเมีย จะเข้าไปขังตัวเอง ในโพรง และปิดปากโพรงให้แคบลง เหลือเพียงช่องแคบๆ พอที่จะยื่นปากออกมา รับอาหารได้เท่านั้น วัสดุที่ใช้ ปิดปากโพรง เมื่อแห้งแล้ว จะค่อนข้างแข็ง เมื่อนกตัวเมีย ปิดปากโพรงให้แคบแล้วมันจะเริ่มวางไข่ โดยวางไข่ ครอกละ 1 - 2 ฟอง ไข่ค่อนข้างกลม เปลือกไข่สีขาว ระหว่างกกไข่ แม่นกจะผลัดขนปีก และหาง นกแก๊ก ใช้เวลากกไข่ราว 25 -27 วันไข่จึงฟักออกเป็นตัว
นกตัวผู้ จะทำหน้าที่หาอาการมาป้อนนกตัวเมียและ ลูกนกในโพรง ตั้งแต่ในเวลาที่นกตัวเมียเข้าไปในโพรง รังเพื่อขังตัวเอง จนกระทั่งลูกนกโตพอพร้อมที่จะออกจากโพรงรังได้ ด้วยเหตุนี้ นกตัวผู้จึงมักผอม และไม่ค่อยแข็งแรง เพราะขาดอาหาร ในขณะที่นกตัวเมีย และ ลูกนกจะอ้วนท้วน นกตัวผู้จะส่งอาหารให้นกตัวเมีย และ ลูกนก ทางช่องแคบๆ ที่เหลือไว้โดยแหย่ปลายปาก เข้าไปส่งถึงปากนกตัวเมียในโพรงรังเลยทีเดียว ถ้าเป็นสัตว์ เช่น กระรอก งู กิ้งก่า นกโพระดก นกเขียวคราม จักจั่น หนู ค้างคาว มันจะใช้ปากกัดย้ำ หรือฟาดกับกิ่งไม้จนตายเสียก่อนจึงส่งให้ แต่ถ้าเป็นผลไม้ มันจะขยอกออกมาจากกระเพาะพักที่อยู่ข้างหลอดอาหาร ออกมาป้อนให้ ซึ่งครั้งหนึ่งกว่า10 ผล ทีเดียว โดยมันจะป้อนอย่างบรรจงให้ทีละผล
นกแก๊กตัวเมีย และ ลูกนก ที่อยู่ในโพรง จะรักษาความสะอาดของโพรง ดีมาก เวลาถ่ายมูลมันจะหันก้นไปทางปากรังและถ่ายพุ่งปรี๊ดออกไปนอกรัง ตามโคนต้นไม้ ที่มีลูกนกเงือก จึงมีมูล และต้นอ่อนของไม้ผลที่นกเงือกใช้ป้อนลูก งอกอยู่มาก เมื่อลูกนกเจริญเติบโตเต็มที่ แม่นกและลูกนกจะกะเทาะวัสดุที่ปิดปากโพรงออก โดยนกตัวผู้จะช่วยกะเทาะปากโพรงด้วย ระหว่างนี้ นกแก๊ก จะส่งเสียงเอะอะมากทีเดียว เป็นการเร่งให้ลูกนกออกจากรังเร็วขึ้น เมื่อออกจากรังใหม่ๆ นกตัวเมีย จะอ้วนมาก ปีก และ หางยังงอกไม่เต็มที่ ต้องหัดโผบิน พร้อมๆกับลูกนก จากนั้นจึงพาทั้งครอบครัว ไปรวมกับฝูงเดิมของมัน ลูกนกแก๊กที่โตแข็งแรงหาอาหารได้เองบ้างแล้ว จะมีสังคมวัยรุ่นของมันเองอาจยังคงอยู่รวมกับฝูงครอบครัวเดิม หรือ ไปอยู่กับครอบครัวใหม่ แต่ยังคงจับกลุ่มหากินร่วมกับนกแก๊ก ที่วัยใกล้เคียงกับพ่อแม่นกอาจยังคงตามป้อนอยู่ระยะหนึ่ง จนเข้าฤดูผสมพันธุ์รอบใหม่จึงทิ้งให้ลูกนกหากินเอง มีข้อสังเกตว่าปกติ นกแก๊ก เป็นนกเงือกที่ส่งเสียงเอะอะมากในเวลานอกฤดูผสมพันธุ์ แต่ในช่วงเลี้ยงลูกนก เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงของ นกแก๊กเลย แม้แต่เสียงที่พ่อนกบินเข้ามาที่รังก็แทบจะไม่ได้ ยินเสียงเว้นแต่จะเงี่ยหูตั้งใจฟังจริงๆ
ถิ่นอาศัย
แก้นกเงือกทุกชนิดเป็นนกประจำถิ่น แต่ก็มีการพบว่าพวกมันอพยพย้ายถิ่นเป็นระยะทางใกล้ๆด้วยในบางฤดูกาล นกแก๊กเป็นนกเงือกที่พบได้บ่อยตามป่าดิบในระดับความสูงไม่เกิน 1,400 เมตรจากน้ำทะเล และป่าบนเกาะ ตั้งแต่อินเดีย ตอนใต้ของจีน ไปจนถึงอินโดนีเซีย ถึงมันจะมีขนาดเล็กสำหรับนกเงือกแต่ก็ตัวใหญ่กว่านกป่าทั่วไป เราสามารถได้ยินแม้แต่เสียงกระพือปีกของนกชนิดนี้หากมันบินผ่านในระยะที่ไม่ไกลมาก
สำหรับประเทศไทย
แก้นกแก๊ก เป็นนกประจำถิ่นที่พบค่อนข้างบ่อย ทุกภาคของประเทศไทย (ยกเว้นภาคกลาง และ ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) รวมทั้งเกาะชายฝั่งต่างๆด้วย เช่น เกาะสมุย เกาะเสม็ด เกาะบูบู เกาะไหง เกาะนาคาน้อย เกาะตะรุเตา ในประเทศไทย พบทั้ง 2 ชนิดย่อย ซึ่งมีการแพร่กระจายต่อเนื่องกัน โดย ชนิดย่อยพันธุ์เหนือ (A. a. albirostris) จะพบทั่วไป ยกเว้นทางใต้สุดของไทย ส่วน นกแก๊กพันธุ์ใต้ (A.a. convexus) ส่วนมากจะพบทางใต้สุดติดกับ ชายแดนมาเลเซียทางคาบสมุทร มาลายู และ ตามเกาะต่างๆของไทย ที่มีป่าดิบชื้นภายในเกาะ โดยทั่วไป นกแก๊ก จะพบอาศัยอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าผสมผลัดใบ และ ป่าชั้นรอง ตั้งแต่ป่าในที่ราบ ไปจนถึงป่าดิบเขาในระดับความสูง 1,400 เมตร แต่จะพบในป่าโปร่ง และ ชายป่าได้บ่อยกว่า นกเงือกชนิดอื่นๆ,ในภาคใต้พบตามป่าที่ราบต่ำ สองฝั่งลำน้ำ และ ลำธารในป่า ป่าชายฝั่งทะเล และ ป่าตามเกาะขนาดใหญ่ด้วย นกเงือกทุกชนิดไม่แต่ นกแก๊ก มีบทบาทสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศ ของป่าดิบเมืองร้อน โดยมีบทบาท เด่นชัดในการเป็นผู้แพร่กระจาย เมล็ดพันธุ์ไม้และช่วยควบคุมประชากรสัตว์เล็ก ในฐานะผู้ล่า ในบางประเทศ นักพฤกษศาสตร์ ได้ศึกษา ป่าที่นกเงือกหายไป พบว่าต้นไม้บางชนิด เริ่มลดลง เพราะไม่มีนกเงือก ช่วยกระจายพันธุ์ป่าใกล้กรุงเทพฯ ที่หาดู นกแก๊ก ได้ค่อนข้างง่าย และ ไม่ตื่นคน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานฯแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์ฯ ห้วยขาแข้ง และเกาะนาคาน้อย โดยมองหาต้นไม้จำพวกไทร และ มะเดื่อ ที่มีผลไม้สุกก็จะพบได้โดยง่าย
ภาพ
แก้-
-
ที่เซอเรีย ประเทศบรูไน
-
เสียงขณะบินที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
-
เสียงร้องเรียกหาคู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 BirdLife International (2020). "Anthracoceros albirostris". IUCN Red List of Threatened Species. 2020: e.T22682437A184925767. doi:10.2305/IUCN.UK.2020-3.RLTS.T22682437A184925767.en. สืบค้นเมื่อ 26 January 2022.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Kinnaird, M.F.; O'Brien, T.G. (2007). The ecology and conservation of Asian hornbills: farmers of the forest. Chicago: University of Chicago Press.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Kemp, A.C.; Boesman, P. (2014). Hand book of the birds of the world alive. Barcelona, Spain: Lynx Edicions.
- ↑ Frith, CB; Frith, DW (1983). "A systematic review of the hornbill genus Anthracoceros (Aves, Bucerotidae)". Zoological Journal of the Linnean Society. 78 (1): 29–71. doi:10.1111/j.1096-3642.1983.tb00862.x.
- ↑ "Anthracoceros albirostris". World Association of Zoos and Aquariums. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 11 October 2015.
- ↑ "Coraciiformes Taxon Advisory Group - Oriental Pied Hornbill (Anthrococeros albirostris)". Coraciiformes TAG. สืบค้นเมื่อ 11 October 2015.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Oiseaux Photos