พายุโซนร้อนเซินกา (พ.ศ. 2560)

พายุโซนร้อนเซินกา (เวียดนาม: Sơn Ca) เป็นชื่อพายุที่ประเทศเวียดนามตั้งชื่อ แปลว่า นกจาบฝนเสียงสวรรค์ (Alauda gulgula) เป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่ 9 ประจำฤดูกาลไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2560 และสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยก่อนหน้านั้น พายุโซนร้อนเซินกาได้พัดผ่านประเทศเวียดนามและประเทศลาว ก่อให้เกิดความเสียหายในทั้งสองประเทศ รวมถึงประเทศกัมพูชา และเกาะไหหลำของประเทศจีน อย่างไรก็ตามพายุเซินกาได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในที่สุด

โซนร้อนเซินกา
พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
พายุเซินกามีกำลังแรงแม้เคลื่อนเข้าสู่ผืนแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม
พายุเซินกามีกำลังแรงแม้เคลื่อนเข้าสู่ผืนแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม
พายุเซินกามีกำลังแรงแม้เคลื่อนเข้าสู่ผืนแผ่นดิน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม
ก่อตัว 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
สลายตัว 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
ความเร็วลม
สูงสุด
เฉลี่ยลมใน 10 นาที:
65 กม./ชม. (40 ไมล์/ชม.)
เฉลี่ยลมใน 1 นาที:
85 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.)
ความกดอากาศต่ำสุด 990 เฮกโตปาสกาล (มิลลิบาร์ 29.23 นิ้วปรอท)
ผู้เสียชีวิต ผู้เสียชีวิต 40 คนในประเทศไทย
ความเสียหาย 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินปี 2017)
พื้นที่ได้รับ
ผลกระทบ
เวียดนาม, กัมพูชา, ไทย
ส่วนหนึ่งของ
ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2560

ประวัติพายุ แก้

 
เส้นทางการเคลื่อนที่ของพายุ

พายุโซนร้อนเซินกาได้เริ่มก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนกลาง พัฒนาเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ด้วยความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีทิศทางเคลื่อนตัวมายังทิศตะวันตกเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางและทางทิศใต้ของเกาะไหหลำ มณฑลไห่หนาน ของประเทศจีน[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พายุดีเปรสชั่นได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเมื่อเวลา 13.00 น. มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางที่ 65 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก่อนจะเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนาม บริเวณเมืองด่งเฮย ในวันที่ 25 กรกฎาคม [2] ก่อให้เกิดพายุฝนเป็นบริเวณกว้าง และได้ลดกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่นเมื่อเคลื่อนเข้าสู่ประเทศลาวตอนใต้ บริเวณแขวงสุวรรณเขต มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางราว 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นเริ่มปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยผ่านจังหวัดนครพนม [3] จังหวัดสกลนคร จังหวัดกาฬสินธุ์ และสลายตัวลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม [4]

ผลกระทบ แก้

เวียดนามและกัมพูชา แก้

แม้ว่าพายุเซินกาจะไม่ใช่พายุที่มีกำลังรุนแรง แต่เนื่องจากลักษณะการเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ทำให้เกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้างและต่อเนื่องยาวนาน ในเวียดนามนั้น มีน้ำท่วมและดินถล่มในจังหวัดกว๋างจิ กว๋างบิ่ญ ห่าติ๋ญ และเถื่อเทียน-เฮว้ ตอนกลางของประเทศ[5] เช่นเดียวกับกัมพูชาที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันในจังหวัด สตรึงเตรง กำปงธม และพระวิหาร [6] และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน

ประเทศไทย แก้

สำหรับในไทย พายุเซินกาก่อให้เกิดฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ บางส่วนของภาคตะวันออก และภาคกลาง ระหว่างวันที่ 26-29 กรกฎาคม ปริมาณน้ำฝนสูงสุดวัดได้ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ถึง 245.0 มิลลิเมตร [7] นำมาซึ่งภาวะอุทกภัยในหลายจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร ที่น้ำใน หนองหาน เอ่อเข้าท่วมย่านเศรษฐกิจของเมือง ทำให้มีผู้ติดค้างภายในบ้านเรือน โรงพยาบาล และโรงแรมต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมทั้งต้องปิดให้บริการสนามบินสกลนครลง[8] นอกจากนี้อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ยังมีปริมาณน้ำล้นความจุของอ่างถึง 127% ทำให้สันเขื่อนเสียหายเป็นแนวลึกถึง 4 เมตร ยาว 20 เมตร[9] และน้ำได้หลากเข้าท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อน นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 43 ปีของจังหวัด[10]

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า อิทธิพลจากพายุทำให้มีน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด 302 อำเภอ 1,724 ตำบล 14,105 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 609,425 ครัวเรือน 1,898,322 คน ผู้เสียชีวิต 40 ราย บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 3,267 หลัง เสียหายทั้งหลัง 15 หลัง ถนน 2,401 สาย สะพาน 207 แห่ง ฝายและทำนบ 8,753 แห่ง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,340,000 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 2,180,000 ไร่ พืชไร่ 150,000 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 6,000 ไร่ บ่อปลา 14,203.41 ไร่ ปศุสัตว์ 48,214 ตัว [11] ประเมินความเสียหายที่เกิดกับอาคารที่อยู่อาศัย รถยนต์ และพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1,000 ล้านบาท[12] ทางด้านกรมทางหลวงได้ประเมินความเสียหายที่เกิดกับเส้นทางสัญจรกว่า 2,128 ล้านบาท[13]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ”ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน “เซินกา” ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2560”
  2. ”ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน “เซินกา” ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2560”
  3. ”ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พายุโซนร้อน “เซินกา” ฉบับที่ 14 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2560”
  4. ระบบเฝ้าระวัง ติดตามและพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา"เส้นทางเดินพายุ"
  5. Sonca to cause heavy rains in north and north central VN”[ลิงก์เสีย]Vietnam net society
  6. The Cambodia Daily "Ready for Tropical Storm ‘Sonca’ Flood Evacuations”[ลิงก์เสีย] by Aun Pheap, July 28, 2017
  7. "สาเหตุน้ำท่วม ‘สกลนคร’ อ่วมจมทั้งเมือง”หนังสือพิมพ์คมชัดลึก Breaking news28 ก.ค. 2560
  8. ”น้ำท่วมสกลฯหนักสุด รอบ30ปี อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นพัง-ปิดสนามบินแล้ว”ไทยรัฐออนไลน์ 28 ก.ค. 2560
  9. ร่วมไขข้อข้องใจ เหตุ “สกลฯ” ท่วมหนัก”ข่าวมติชนออนไลน์ 1 สิงหาคม 2560
  10. ”ตัวเมืองสกลนครน้ำลดแล้ว แต่สว่างแดนดิน-อากาศอำนวยยังวิกฤต”หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 29 กรกฎาคม 2560
  11. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย "ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลากใน 7 จังหวัด พร้อมระดมสรรพกำลังเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” โดยสุพรรณี วันที่ 4 กันยายน 2560
  12. "สมาคมประกันวินาศภัยคาด 'เซินกา' สร้างความเสียหาย1 พันล้าน"การเงิน-การลงทุน จากกรุงเทพธุรกิจ 31 กรกฎาคม 2560
  13. ข่าวไทยพีบีเอส 1 สิงหาคม 2560 “กรมทางหลวงสรุปความเสียหายจากพายุเซินกา คาดใช้งบประมาณ 2,128 ล้านบาทซ่อมถนน”

แหล่งข้อมูลอื่น แก้