พระเทพวิมลญาณ (ถาวร จิตฺตถาวโร)

พระเทพวิมลญาณ นามเดิม ถาวร ฉายา จิตฺตถาวโร เป็นพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร และรองเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) ผู้มีชื่อเสียงจากการสอนกรรมฐาน และก่อตั้งศาสนสถานหลายแห่ง เช่น วัดพุทธไทยถาวรรัฐนิวยอร์ก วัดป่าศรีถาวรรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา วัดเนรัญชราวาส ประเทศอินเดีย เป็นต้น[1]

พระเทพวิมลญาณ

(ถาวร จิตฺตถาวโร)
ส่วนบุคคล
เกิด4 มีนาคม พ.ศ. 2495 (63 ปี 228 วัน ปี)
มรณภาพ18 ตุลาคม พ.ศ. 2558
นิกายธรรมยุติกนิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม 3 ประโยค
BA (Sanskrit & Hindi)
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร
อุปสมบทพ.ศ. 2516
พรรษา42
ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร

ประวัติ แก้

ชาติกำเนิด แก้

พระเทพวิมลญาณ มีนามเดิมว่า ถาวร วงศ์มาลัย เกิดเมื่อวันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2495 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง ภูมิลำเนาเดิมอยู่บ้านโนนศิลาเลิง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นบุตรของนายโส-นางศรีทา นาชัยเพชร โยมมารดาเสียชีวิตเมื่อคลอดท่าน นายนิ่ง-นางพั้ว วงศ์มาลัย จึงรับท่านไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม[2]

เมื่ออายุได้ 8 ปี ท่านได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนโนนศิลาราษฎร์ผดุง (ปัจจุบันคือโรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์) จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงมาช่วยมารดาบิดาทำเกษตรกรรมเป็นเวลา 3 ปี[3]

อุปสมบท แก้

พ.ศ. 2509 ขณะอายุได้ 14 ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านปอแดง อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีพระราชธรรมานุวัตร (อ่อน จกฺกธมฺโม) วัดประชานิยม ซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธรรมยุต) ในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วไปจำพรรษาอยู่กับพระครูวิจิตรบุญญาภรณ์ (บุญเคน จิตฺตปุญฺโญ) ซึ่งเป็นน้องชายของโยมแม่ศรีทา ที่วัดสำโรงยุทธาวาส จังหวัดอุดรธานี จนถึงปี พ.ศ. 2510 จึงย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรมที่วัดโพธิสมภรณ์ ในช่วงนี้ท่านได้อยู่อุปฐากพระเทพเมธาจารย์ (จันทร์ศรี จนฺททีโป) นานถึง 6 ปี[4]

ต่อมาท่านย้ายไปจำพรรษา ณ วัดปทุมวนาราม และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2516 โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพมงคลปัญญาจารย์ (บุญมั่น มนฺตาสโย) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระญาณรักขิต (สายหยุด ปญฺญาสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์[5]

การศึกษา แก้

หลังจากบรรพชาอุปสมบทแล้ว ท่านได้จบการศึกษาต่างและได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ดังนี้ดังนี้[6]

ปฏิบัติธรรม แก้

นอกจากศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังปฏิบัติธรรมกับครูบาอาจารย์หลายรูปในสายพระป่าของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) พระราชมุนี (โฮม โสภโณ)[7]

ในพรรษาที่ 8 ท่านได้ตั้งปณิธานว่าจะไม่ลาสิกขาบท และอุทิศชีวิตต่อพระรัตนตรัย จากนั้นท่านจึงจาริกไปถ้ำสระแก้ว เขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว ตั้งใจบำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฏ์โดยทำสมาธิ และไม่ฉันภัตตาหารและไม่พูดจาตลอด 7 วัน คือตั้งแต่เวลา 21.30 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม ถึงเวลา 10.00 น. ของวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ท่านได้บันทึกผลการปฏิบัติไว้ว่า

ได้ในสิ่งที่ไม่เคยได้ เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น เกิดปีติเอิมอิ่ม จิตใจชุ่มชื่นเบิกบานเย็นสบาย จิตมีอำนาจ

— หลวงพ่อถาวร

สมณศักดิ์ แก้

  • ธันวาคม พ.ศ. 2532 เป็นพระครูสัญญาบัตรฐานานุกรมในสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) ที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ ศาสนภารธุราทร ธรรมยุติกคณิสสร สังฆานุนายก
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระภาวนาพิสาลเถร[8]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระพิสาลพัฒนาทร[9]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระราชพิพัฒนาทร บวรศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[10]
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระเทพวิมลญาณ สีลาจารดิลก สาธกวิปัสสนาธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[11]

มรณภาพ แก้

พระเทพวิมลญาณ มรณภาพเนื่องจากเลือดออกในสมองโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 01.19 น. สิริอายุได้ 63 ปี 228 วัน พรรษา 42 ศพตั้งบำเพ็ญกุศล ณ ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับศพไว้ในพระบราราชานุเคราะห์ 7 วัน มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน มีกำหนด 7 คืน[12]

การดำเนินการก่อสร้างศาลาพระราชศรัทธา แก้

“ศาลาพระราชศรัทธา วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร” นั้น จัดสร้างขึ้นตามพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งเสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เมื่อวันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2533 ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่ปฏิบัติธรรมชั่วคราว หรือ ศาลามุงจาก ซึ่งพระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ (ถาวร จิตตถาวโร) ใช้ดำเนินการอบรมสั่งสอนธรรมปฏิบัติแก่พุทธศาสนิกชนอยู่ในขณะนั้น  จึงทรงมีพระราชปรารถว่า ‘สมควรสร้างอาคารอันเป็นถาวรวัตถุขึ้น เพื่อให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ใช้ศึกษาและปฏิบัติ จากพระราชปรารภนั้นเอง คณะศิษยานุศิษย์ในพระครูปลัดสัมพิพัฒนเมธาจารย์ (ถาวร จิตตถาวโร) และพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธาจึงได้ร่วมกันสนองพระราชดำริ โดยจัดตั้ง “มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา” ขึ้น และจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา “พระเสริมจำลอง” รวมทั้ง พระกริ่งนวปทุม, พระกริ่งไพรีพินาศ, พระชัยวัฒน์, พระเสริมจำลองเนื้อผง และเหรียญสิริจันโท เพื่อสมนาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์ ในการสมทบทุนสร้างศาลาพระราชศรัทธา โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญ ‘ตรา ภปร.’ ประดิษฐานไว้ที่หน้าบันศาลา ทั้ง 2 ด้าน และที่ผ้าทิพย์องค์พระพุทธรูปพระเสริมจำลอง ซึ่งอัญเชิญเป็นพระประธาน ตลอดจนวัตถุมงคลต่าง ๆ พร้อมกันนั้น ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ ประกอบพิธีเจิมป้ายและเปิด “ศาลาพระราชศรัทธา” ด้วยพระองค์เองในวันพฤหัสบดี ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยอยู่ในการดูแลและการบริหารงานของมูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา, มูลนิธิถาวรจิตฺตถาวโร-วงศ์มาลัย นับจากนั้นศาลาพระราชศรัทธาก็ได้ทำหน้าที่ของพุทธสถานกลางกรุงที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่พุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่กลางกรุงเทพฯ มาโดยตลอด พุทธศาสนิกชนที่ไปฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมในทุกวัน จะมีโรงทานสำหรับรับประทานอาหารทั้งมื้อเช้าและเที่ยงและยังมีอาหารมื้อเย็นแก่ผู้ที่ปฏิบัติงานภายใต้อุปถัมภ์อีกด้วย  กระทั่งถึงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2561 มูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา และมูลนิธิถาวรจิตฺตถาวโร-วงศ์มาลัย จึงได้สิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงได้ย้ายที่ทำการไปยัง วัดป่าศรีถาวรนิมิต เลขที่ 133 หมู่ที่ 8 บ้านบุ่งแข้ ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ปัจจุบันศาลาพระราชศรัทธาอยู่ในการดูแล และการบริหารงานของ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพฯ  โดยหลังจากที่ปิดปรับปรุงไประยะหนึ่ง ขณะนี้ได้เปิดดำเนินกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเพื่อให้พุทธศาสนิกชนเข้ากราบไหว้บูชาพระและปฏิบัติธรรมได้ตามปรกติแล้ว

แหล่งรวบรวมคติธรรมคำสอน แก้

Facebook Page พระเทพวิมลญาณ:ถาวรจิตตถาวโร

YouTube Channel พระเทพวิมลญาณ

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. "สิ้นหลวงพ่อถาวรพระดังสอนกรรมฐาน". เดลินิวส์. 18 ตุลาคม 2558. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า 1
  3. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า 2
  4. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า 3
  5. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า 4
  6. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า 17-18
  7. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า 4-9
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 110, ตอน 202 ง ฉบับพิเศษ, 6 ธันวาคม 2536, หน้า 6
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 112, ตอนพิเศษ 47 ง, 13 ธันวาคม 2538, หน้า 6
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 121, ตอนที่ 3 ข, 29 กุมภาพันธ์ 2547, หน้า 16
  11. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 130, ตอนที่ 9 ข, 19 มีนาคม 2556, หน้า 2
  12. คำสอนหลวงพ่อ, หน้า
บรรณานุกรม
  • มูลนิธิถาวรจิตตถาวโร - วงศ์มาลัย. คำสอนหลวงพ่อถาวร. กรุงเทพฯ : มูลนิธิถาวรจิตตถาวโร - วงศ์มาลัย, ตุลาคม 2558. 151 หน้า. หน้า 1-18.