สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ฉายา จนฺทปชฺโชโต (นามเดิม: สนั่น สรรพสาร) เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าคณะภาค 8 และ 10 (ธรรมยุต)
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) | |
---|---|
ส่วนบุคคล | |
เกิด | 8 กันยายน พ.ศ. 2451 (90 ปี 55 วัน ปี) |
มรณภาพ | 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 |
นิกาย | ธรรมยุติกนิกาย |
การศึกษา | นักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 9 ประโยค |
ตำแหน่งชั้นสูง | |
ที่อยู่ | วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร |
อุปสมบท | พ.ศ. 2471 |
พรรษา | 71 |
ตำแหน่ง | เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม |
ประวัติ
แก้ชาติกำเนิด
แก้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีนามเดิมว่า สนั่น สรรพสาร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2451 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีวอก ภูมิลำเนาอยู่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โยมบิดาเป็นกำนันตำบลหนองบ่อชื่อนายคำพ่วย โยมมารดาชื่อนางแอ้ม ตอนที่ท่านคลอด เกิดเหตุลมกรรโชกแรง และมีฟ้าแลบฟ้าร้องดังสนั่น กำนันคำพ่วยจึงตั้งชื่อบุตรคนที่ 6 นี้ว่าสนั่น ต่อมานางแก้ว พี่สาวของโยมมารดาได้รับท่านไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมเพราะตนกับนายเคน สามีไม่มีบุตร ท่านจึงเรียกลุงกับป้าว่าพ่อแม่[1]
ท่านมีอุปนิสัยน้อมไปทางเพศบรรพชิตมาตั้งแต่ยังเด็ก มักปรารถว่าอยากบวชเป็นสามเณร ชอบอยู่กับผู้ใหญ่มากกว่ากับเด็กในวัยเดียวกัน
บรรพชา
แก้ปี พ.ศ. 2460 ป้าแก้วได้ถึงแก่กรรมลง เด็กชายสนั่นจึงบวชเณรหน้าไฟอุทิศให้ป้า ณ วัดบูรพาพิสัย จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระอธิการเคน คมฺภีรปญฺโญ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วท่านพอใจในสมณเพศมาก มากจึงดำรงสมณเพศต่อมาโดยไม่ลาสิกขาบท เมื่ออยู่วัดบูรพาพิสัยได้ 4 ปี พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ได้พาท่านมาอยู่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม) และได้เรียนภาษาไทยและภาษาบาลีกับพระศรีธรรมวงศาจารย์ (ทองจันทร์ เกสโร)[1]
การศึกษาและอุปสมบท
แก้พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เห็นว่าสามเณรสนั่นมีความประพฤติดี มีความเพียร ความอดทน และใฝ่เรียน[2] จึงได้ได้พาท่านมาฝากกับพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ในปี พ.ศ. 2468 เพื่อเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ถึง พ.ศ. 2471 ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดบรมนิวาส โดยมีพระครูศีลวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมราภิรักขิต (ชัย ชิตมาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้นามฉายาว่า จนฺทปชฺโชโต[1]
ท่านศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ตามลำดับดังนี้
- พ.ศ. 2469 สอบได้นักธรรมชั้นตรี
- พ.ศ. 2470 สอบได้นักธรรมชั้นโท
- พ.ศ. 2471 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค[3]
- พ.ศ. 2472 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค
- พ.ศ. 2473 สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค[4]
- พ.ศ. 2474 สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค[5]
- พ.ศ. 2475 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
- พ.ศ. 2480 สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค
- พ.ศ. 2484 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค
- พ.ศ. 2486 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค
ตำแหน่ง
แก้- พ.ศ. 2486 สมาชิกสังฆสภา
- พ.ศ. 2501 เจ้าอาวาสนรนาถสุนทริการาม
- พ.ศ. 2510 เจ้าคณะภาค 8 และ 10(ธรรมยุต)
- พ.ศ. 2512 กรรมการมหาเถรสมาคม
- พ.ศ. 2520 เจ้าคณะภาค 8 (ธรรมยุต)
สมณศักดิ์
แก้- พ.ศ. 2489 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอมรเวที[6]
- พ.ศ. 2498 เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามเดิม
- พ.ศ. 2501 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวราภรณ์ ธรรมนีติปกรณ์โกศล วิมลญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลังการ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี[7]
- พ.ศ. 2506 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวราภรณ์ สุนทรอรรถสาทิส วิจิตรธรรมภาณี ตรีปิฎกคุณาลังการ ศาสนภารธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
- พ.ศ. 2519 เป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่ พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกคุณาลงกรณ์ ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]
- พ.ศ. 2532 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธพจนานุสิฐ วิจิตรธรรมานุศาสน์ปสาทกร สุนทรพิพิธธรรมจารี ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี[10]
มรณภาพ
แก้สมเด็จพระมหามุนีวงศ์อาพาธด้วยโรคไตและโรคปอด ต่อมามีอาการรุนแรงขึ้น และมีโรคเบาหวานและหอบเกิดขึ้นแทรกซ้อน[2] และถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 เวลา 13:40 น. สิริอายุได้ 90 ปี 55 วัน พรรษา 71 ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ ตึกสามัคคีเนรมิตร วัดนรนาถสุนทริการาม ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองบรรจุศพ รับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด และมีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืนกำหนด 7 คืน[1]
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร) เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2542 เวลา 17:30 น.[1]
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 สมเด็จพระมหามุนีวงศ์, หน้า 1-10
- ↑ 2.0 2.1 เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 171-4
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระภิกษุสามเณรเปรียญที่จะได้รับพระราชทานพัดยศ แผนกพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมเด็นพะรสังฆราชเจ้าประทาน, เล่ม ๔๖, ตอน ง, ๒ มิถุนายน ๒๔๗๒, หน้า ๖๗๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระภิกษุสามเณรเปรียญที่ได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญ แผนกทรงตั้ง พุทธศักราช ๒๔๗๔, เล่ม ๔๘, ตอน ง, ๗ มิถุนายน ๒๔๗๔, หน้า ๗๐๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระภิกษุสามเณรเปรียญที่ได้รับพระราชทาน พัดเปรียญ แผนกทรงตั้ง พุทธศักราช ๒๔๗๕, เล่ม ๔๙, ตอน ง, ๒๒ พฤษภาคม ๒๔๗๕, หน้า ๖๔๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๖๓, ตอนที่ ๑๕ ง, ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๙, หน้า ๓๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๕, ตอนที่ ๑๐๙ ง, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๐๑, หน้า ๓๑๓๓-๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๐, ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖, หน้า ๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๙๔, ตอนที่ ๓ ก ฉบับพิเศษ, ๖ มกราคม ๒๕๒๐, หน้า ๕-๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๗, ตอนที่ ๑๓๘ ก ฉบับพิเศษ, ๖ สิงหาคม ๒๕๓๓, หน้า ๖-๙
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. หน้า 145-148. ISBN 974-417-530-3
- วัดนรนาถสุนทริการาม. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย, 2542. 222 หน้า. หน้า 1-10. [อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)]