พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นปฐมกษัตริย์เป็นต้นราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ เป็นผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช จากชุมชนเดิมซึ่งมีชื่อเรียกว่า ตามพรลิงก์ บนหาดทรายแก้ว (บริเวณตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 17 จนกลายเป็นนครรัฐหรือเป็นอาณาจักรใหญ่ในคาบสมุทรไทย ก่อนที่จะเข้ารวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 20 พระนามกษัตริย์ พระองค์นี้ ปรากฏอยู่ในหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายชิ้น เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และจารึกดงแม่นางเมือง (จารึกหลักที่ 35)[1]
ศรีธรรมาโศกราช | |
---|---|
พระมหากษัตริย์แห่งตามพรลิงค์ | |
ครองราชย์ | พ.ศ. 1750 - 1773 |
รัชสมัย | 23 ปี |
ราชาภิเษก | พ.ศ. 1750 |
ถัดไป | พระเจ้าจันทรภาณุ |
ประสูติ | ไม่ทราบ |
สวรรคต | พ.ศ. 1773 ตามพรลิงค์ |
ราชวงศ์ | ปัทมวงศ์ |
พระบิดา | ไม่ทราบ |
พระมารดา | ไม่ทราบ |
ศาสนา | พุทธ |
พระราชประวัติ
แก้หลักฐานว่าด้วยตำนานเมือง จารึก และความคิดเห็นของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมีปรากฏอยู่ ดังนี้[2]
1. ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นกษัตริย์เมืองอินทปัตย์บุรีมาก่อน ต่อมาเกิดไข้ห่า (โรคระบาด) ในเมืองนั้นทำให้คนล้มตายจำนวนมาก ผู้คนที่เหลือตายจึงอพยพลงเรือสำเภามาขึ้นที่หาดทรายแก้ว ได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นที่นั้น และสร้างสถูปเจดีย์ใหญ่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองจาก "ตามพรลิงก์" เป็น "นครศรีธรรมราช" จนเมืองนี้กลายเป็นรัฐอิสระอีกแห่งหนึ่งในคาบสมุทรไทย
2. ตำนานเวียงสระและตำนานทุ่งตึก กล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเดิมเป็นพราหมณ์จากอินเดียชื่อ "พราหมณ์มาลี" ได้อพยพพร้อมน้องชายชื่อ "พราหมณ์มาลา" และพรรคพวกลงเรือสำเภาหลายสิบลำ หนีการรุกรานของชาวมุสลิมจากอินเดียมาขึ้นบกที่บ้านทุ่งตึก (เดิมอยู่ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา) ในชั้นแรกได้ตั้งชุมชนขึ้นที่นั่น แล้วจึงโภคาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์มีพระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" ส่วนพราหมณ์มาลาผู้เป็นน้องได้รับอุปโภคาภิเษกเป็น "พระมหาอุปราช"
ขณะที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสร้างเมืองยังไม่แล้วเสร็จ ก็ถูกชาวมุสลิมตามมาตีแตกอีก จึงต้องทิ้งบ้านเมืองหนีมาตามลำน้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาสก แล้วล่องแม่น้ำพุมดวงมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาตั้งอยู่ที่บ้านน้ำรอบ (ตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี) แต่เหตุที่ภูมิประเทศไม่เหมาะสม ประกอบกับเกิดไข้ห่า (โรคระบาด) จึงอพยพผู้คนไปตั้งที่เชิงเขาชวาปราบ ปลายคลองสินปุน (อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) ต่อมาได้ตั้งหลักแหล่งที่บ้านเวียงสระ (อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี) แต่ก็อยู่ได้ไม่นานเพราะไข้ห่ายังไม่หายขาด ต้องอพยพมาทางตะวันออก จนได้พบหาดทรายใหญ่อยู่ริมทะเล ภูมิประเทศและชัยภูมิดี มีลำน้ำและที่ราบเหมาะสำหรับการเกษตร ชื่อ "หาดทรายแก้ว" จึงได้สร้างบ้านแปงเมืองขึ้น พร้อมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จัดระเบียบการปกครองแบบธรรมราชา แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองตามสร้อยพระนามของพระองค์เป็น "นครศรีธรรมราช" ตั้งแต่นั้นมา
ตำนานยังกล่าวต่อไปว่า เมื่อจัดการปกครองที่อยู่กินของไพร่พลเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ปรึกษาพระเถระและหัวหน้าพราหมณาจารย์เพื่อหาอุบายป้องกันไข้ห่าซึ่งยังมีอยู่บ่อย ๆ พระเถระและหัวหน้าพราหมณาจารย์เห็นพ้องต้องกันให้ทำเงินนโมตามตำรับไสยเวทนำไปหว่านรอบเมือง ลักษณะคล้ายพิธีอาพาธพินาศ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาด ตั้งแต่นั้นนครศรีธรรมราชก็อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองมีกำแพงป้อมปราการโดยรอบ มีเมืองบริวารถึง 12 เมือง เรียกว่า "เมืองสิบสองนักษัตร" โดยกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง ดังนี้
ชื่อเมืองบริวาร | ตราประจำเมือง |
---|---|
เมืองสายบุรี | ตราหนู (ชวด) |
เมืองปัตตานี | ตราวัว (ฉลู) |
เมืองกลันตัน | ตราเสือ (ขาล) |
เมืองปะหัง | ตรากระต่าย (เถาะ) |
เมืองไทรบุรี | ตรางูใหญ่ (มะโรง) |
เมืองพัทลุง | ตรางูเล็ก (มะเส็ง) |
เมืองตรัง | ตราม้า (มะเมีย) |
เมืองชุมพร | ตราแพะ (มะแม) |
เมืองบันทายสมอ | ตราลิง (วอก) |
เมืองสะอุเลา | ตราไก่ (ระกา) |
เมืองตะกั่วถลาง | ตราสุนัข (จอ) |
เมืองกระบุรี | ตราสุกร (กุน) |
3. จารึกดงแม่นางเมือง กล่าวถึงราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชแปลกออกไป ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า "เมื่อ พ.ศ.1700 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชโปรดให้มหาเสนาบดีชื่อศรีภูนาทิตย์อินทรทวีป นำกระแสพระราชโองการมายังพระเจ้าสุนัตถ์ ผู้ครองเมืองธานยปุระ ให้ถวายที่นาตามกำหนดไว้แล้ว พร้อมด้วยข้าพระ ช้าง ม้า นาค และข้าวของอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อบูชาพระอัฐิของกมรเตงอัญชคตศรีธรรมาโศกราชที่สวรรคตแล้ว และได้ฝังพระอัฐิไว้ในเมืองนั้น" โดยข้อความในจารึกหลักนี้ไม่ได้บอกไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทั้งสองพระองค์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชพระองค์ที่ยังมีพระชนมชีพอยู่นั้นประทับอยู่ที่ใด จึงทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานเหตุการณ์แตกต่างกันไป
4. ตำนานเมืองพัทลุง ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า "ณ ปีชวด ตรีนิศก วันอาทิตย์ เดือนหก แรม ๕ ค่ำไซร้ นางและเจ้าพระยากรีธาพล กลับมายังสทังบางแก้วเล่า แลกุมารก็เลียบดินดูจะตั้งเมืองบมิได้ เหตุน้ำนั้นเข้าหาพันธุ์สักบมิได้ ก็ให้(มา)ตั้งในเมืองนครศรีธรรมราช แลยังพระศพธาตุ และเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ลูกเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกนั้น" โดยข้อความในจารึกหลักนี้ทำให้ทราบว่า ขณะที่เจ้าพระยากุมากับพระนางเลือดขาวได้เข้าไปพักในเมืองนครศรีธรรมราช ราว พ.ศ.1723 นั้น ได้พบพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช 2 พระองค์ ซึ่งเป็นพระบิดาและพระโอรสกัน แต่ผู้เป็นพระบิดานั้นสวรรคตเหลือเพียงอัฐิ
5. ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช เสนอไว้ในการสัมมนาประวัติศาสตร์เรื่อง "ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชตามจารึกดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นราชวงศ์แรกของไทยหรือไม่" ที่หอสมุดแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2519 มีใจความว่า
เมื่อ พ.ศ. 1404 เจ้าชายวาสุเทพกับพระอนุชาอีกสามพระองค์ ได้เป็นหัวหน้าคุมชาวไทยยวนลงมาจากแคว้นล้านนา เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณสยาม คนพวกนี้ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ในกรุงละโว้ราชธานี แต่ต้องยอมขึ้นอยู่กับอำนาจขอม ภายหลังที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้แผ่อำนาจเข้ามาปกครองลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ใน พ.ศ.1658 ตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 กษัตริย์ละโว้ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ส่งราชทูตไปสู่ราชสำนักจีนในราชวงศ์ซ้อง แต่ต่อมาเพียง 1-2 ปี เมื่อพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงแผ่ขยายอำนาจมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อิสรภาพของรัฐอิสระในสยามก็หมดลง การส่งทูตไปเมืองจีนจึงไม่มี กระทั่งสิ้นพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 การเมืองภายในกัมพูชาวุ่นวายเนื่องจากเกิดสงครามแย่งราชบัลลังก์ ใน พ.ศ.1698 กรุงละโว้จึงเริ่มส่งทูตติดต่อกันมาอีกระยะหนึ่ง
กระทั่งสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทำสงครามปราบปรามพวกจามจนได้รับชัยชนะ และกำจัดความวุ่นวายภายในเรียบร้อย จากนั้นจึงส่งพระโอรสเข้ามาปกครองกรุงละโว้เสียเอง ซ้ำยังเกณฑ์ชาวไทยในบริเวณสยามไปสร้างปราสาทพระขรรค์ในกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.1724 อีกด้วย ซึ่งเป็นการสร้างความคับแค้นพระทัยให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่สองมาก จึงชวนพระมเหสี พระอนุชา และชนชาวละโว้อพยพลงไปภาคใต้ โดยไปตั้งถิ่นฐานบนหาดทรายแก้ว ซึ่งในเวลานั้นยังมีฐานะเป็นชุมชนริมฝั่งทะเลชื่อ "ตามพรลิงค์" จนสามารถสร้างบ้านแปงเมืองและตั้งราชวงศ์ชื่อ "ปัทมวงศ์" หรือ "ปทุมวงศ์" ได้สำเร็จในราว พ.ศ. 1733
6. หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ทรงประทานความเห็นไว้ใน "วารสารสยามสมาคม" เล่มที่ 64 ภาคที่ 1 ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2519 มีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า "พระนามพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทั้งสองพระองค์ที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 35 (จารึกดงแม่นางเมือง) เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าทรงเป็นพระบิดากับพระโอรสระหว่างกัน และทั้งสองพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งมีความเห็นในเวลาต่อมาว่า พระนามนี้เป็นพระนามเฉพาะของกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชอย่างแท้จริง" โดยประทานความเห็นเพิ่มเติมว่าพระนาม "พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช" หรือ "พญาศรีธรรมาโศกราช" มีปรากฏเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.1710 ในจารึกดงแม่นางเมือง พระนามนี้เป็นของกษัตริย์แห่งนครศรีธรรมราชอย่างไม่ต้องสงสัย แสดงว่าราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชหรือปทุมวงศ์มีต้นกำเนิดที่นครศรีธรรมราช
พระราชกรณียกิจ
แก้1. ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของนครศรีธรรมราชโบราณ และได้เป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมืองให้เป็นอาณาจักรสำคัญในแหลมอินโดจีน
2. ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1098 โดยสร้างกำแพงป้อมปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นมหานครใหญ่และมีอำนาจมาก มีเมืองขึ้น 12 หัวเมืองเรียกว่า 12 นักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบพระราชอาณาเขต โดยกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราเมืองแต่ละเมือง
3. ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งนับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญในสมัยต่อมาตราบจนปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- ↑ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. พร้อมรำลึก อนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพนางสาวพร้อม ณ นคร. นครศรีธรรมราช : [ม.ป.พ.], พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2554.
- ↑ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/bitstream/123456789/337/1/พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช.pdf