พระเจ้ายโศวรมันที่ 1
พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 หรือเอกสารไทยมักเรียก พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (เขมร: យសោវរ្ម័នទី១ ยโสวรฺมันที ๑, อักษรโรมัน: Yasovarman I; สวรรคต ค.ศ. 910[1]) หรือพระนามหลังสวรรคตว่า บรมศิวโลก (เขมร: បរមឝិវលោក) เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 889 – 910
พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 | |||||
---|---|---|---|---|---|
พระบาทบรมศิวโลก | |||||
พระบรมสาทิสลักษณ์ พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 | |||||
พระมหากษัตริย์พระนคร | |||||
ครองราชย์ | ค.ศ. 889 – 910 | ||||
พระองค์ก่อน | พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 | ||||
พระองค์ถัดไป | พระเจ้าหรรษวรมันที่ 1 | ||||
สวรรคต | ค.ศ. 910[1] | ||||
พระมเหสี | ไม่ปรากฏพระนาม (เป็นพระเชษฐภคินี/ขนิษฐาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 4) | ||||
พระราชบุตร | อีสานวรรมันที่ 2 พระเจ้าหรรษวรรมันที่ 1 | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | วรมัน (เกาฑิญยะ-จันทรวงศ์) | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าอินทรวรรมันที่ 1 | ||||
พระราชมารดา | พระนางอินทรเทวี |
พระนาม
แก้พระนาม "ยโศวรรมัน" แปลว่า ผู้มียศเป็นเกราะ มาจากคำสันสกฤต ยศ แปลว่า ยศ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ
พระองค์ทรงได้รับสมัญญาว่า "เสด็จขี้เรื้อน" (ស្តេចគម្លង់ สฺเตจคมฺลง̍; Leper King)[2] เพราะเชื่อกันว่า ประชวรด้วยโรคนี้[1]
พระองค์ทรงได้รับพระนามหลังสวรรคตว่า "บรมศิวโลก" (បរមឝិវលោក) เพราะทรงนับถือพระศิวะ[1]
ต้นพระชนม์
แก้พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 เป็นพระโอรสของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร กับพระนางอินทรเทวี พระองค์เป็นศิษย์ของพราหมณ์วามศิวา (Vamasiva) นักบวชลัทธิเทวราชา ซึ่งเป็นศิษย์ของศิวโสมา (Sivasoma) ผู้มีความสัมพันธ์กับอาทิ ศังกระ (आदि शङ्करः Ādi Śaṅkaraḥ) ปรัชญาเมธีฮินดู[3]: 111
การเถลิงราชสมบัติ
แก้เมื่อพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 พระราชบิดาสวรรคตลง พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 กับพระเชษฐาหรือพระอนุชา ทรงแย่งชิงพระราชบัลลังก์ สงครามยุติด้วยชัยชนะของพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 แต่เพราะพระบิดาเคยรับสั่งห้ามพระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 สืบราชสมบัติ ตามที่ปรากฏในจารึกหลายหลัก พระเจ้ายโศวรรมันที่ 1 จึงทรงเลี่ยงการอ้างสิทธิทางพระบิดาซึ่งเป็นเชื้อสายพระเจ้าชัยวรมันที่ 2ผู้สถาปนาพระนคร ไปอ้างสิทธิทางพระมารดาซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนันและอาณาจักรเจนละแทน[4]
รัชกาล
แก้เมื่อเสวยราชย์แล้ว ยโศวรรมันที่ 1 ทรงยกทัพไปตีอาณาจักรจามปา ตามความในจารึกที่บันทายฉมาร์ (បន្ទាយឆ្មារ บนฺทายฉฺมาร)[5]: 54
ช่วงปีแรก ๆ แห่งรัชกาล พระองค์ทรงสร้างอาศรมราว 100 แห่งทั่วแว่นแคว้น เพื่อเป็นที่พักกลางทางสำหรับนักบวชและราชวงศ์[3]: 111–112 ครั้น ค.ศ. 893 พระองค์ทรงเริ่มให้สร้างฝายเรียก "อินทรตฎาก" (ឥន្ទ្រតដាក อินฺทฺรตฎาก) ตามพระดำริของพระบิดา ที่กลางฝาย (ซึ่งปัจจุบันแห้งเหือดสิ้นแล้ว) ทรงให้สร้างวัดชื่อ ปราสาทลอเลย (ប្រាសាទលលៃ)[6]
ต่อมา พระองค์ทรงให้ย้ายพระนครจากหริหราลัย (ហរិហរាល័យ) ไปยังยโศธรปุระ (យសោធរបុរៈ ยโสธรบุระ̤) ที่ซึ่งภายหลังมีโบราณสถานสำคัญจัดตั้งขึ้นมากมาย เช่น นครวัด นักประวัติศาสตร์คาดว่า เหตุที่ทรงให้ย้ายพระนครนั้น เป็นเพราะพระนครเดิมแออัดไปด้วยศาสนสถานที่กษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ ทรงสร้างไว้ ด้วยตามประเพณีแล้ว แต่ละพระองค์ทรงจำต้องมีที่ประทับหลังสิ้นพระชนม์เป็นของพระองค์เอง อีกสาเหตุอาจเป็นเพราะพระนครแห่งใหม่อยู่ใกล้แม่น้ำเสียมราฐ ทั้งอยู่กลางทางไปพนมกุเลน (ភ្នំគូលេន ภฺนํคูเลน; "ภูเขาลิ้นจี่") และทะเลสาบเขมร จะได้มีแหล่งน้ำถึงสองแห่ง[3]: 103
ยโศธรปุระมีศูนย์กลางอยู่ที่พนมบาแคง (ភ្នំបាខែង ภฺนํบาแขง) และมีเส้นทางเชื่อมไปยังพระนครเดิม เมื่อทรงตั้งพระนครใหม่แล้ว ทรงให้ขุดฝายขนาดใหญ่ชื่อ "ยโศธรตฎาก" (យឝោធរតដាក) หรือชื่อปัจจุบัน คือ "บารายตะวันออก" (បារាយណ៍ខាងកើត บารายณ์ขางเกีต)[7]: 64–65
เพราะฉะนั้น ปราสาทลอเลย พนมบาแคง และบารายตะวันออก จึงเป็นอนุสรณ์แห่งกษัตริย์พระองค์นี้[8][9]: 360–362
ในรัชสมัยยโศวรรมันที่ 1 ยังมีการสร้างปราสาทที่สำคัญอีกสองแห่งที่ยโศธรปุระ คือ พนมโกรม (ភ្នំក្រោម ภฺนํโกฺรม) กับพนมบูก (ភ្នំបូក ภฺนํบูก)[3]: 113
การสวรรคต
แก้ยโศวรรมันที่ 1 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 910[1]
พงศาวลี
แก้พระชายาพระองค์หนึ่งของยโศวรรมันที่ 1 เป็นพระพี่นางหรือพระน้องนางของชัยวรรมันที่ 4 พระมหากษัตริย์เขมร พระชายาพระองค์นี้มีพระโอรสสองพระองค์กับยโศวรรมันที่ 1 คือ อีสานวรรมันที่ 2 และหรรษวรรมันที่ 1[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 The Rough Guide to Cambodia by Beverley Palmer and Rough Guides.
- ↑ Vietnam, Cambodia, Laos & the Greater Mekong by Nick Ray, Tim Bewer, Andrew Burke, Thomas Huhti, Siradeth Seng. Page 212. Footscray; Oakland; London: Lonely Planet Publications, 2007.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ Briggs, The Ancient Khmer Empire; page 105.
- ↑ Maspero, G., 2002, The Champa Kingdom, Bangkok: White Lotus Co., Ltd., ISBN 9789747534993
- ↑ Jessup, p.77; Freeman and Jacques, pp.202 ff.
- ↑ Higham, C., 2001, The Civilization of Angkor, London: Weidenfeld & Nicolson, ISBN 9781842125847
- ↑ Goloubev, Victor. Nouvelles récherches autour de Phnom Bakhen. Bulletin de l'EFEO (Paris), 34 (1934): 576-600.
- ↑ Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443
- ↑ Briggs, Lawrence Palmer. The Ancient Khmer Empire. Transactions of the American Philosophical Society. 1951.
บรรณานุกรม
แก้- Coedes, George. The Indianized States of Southeast Asia. East-West Center Press 1968.
- Higham, Charles. The Civilization of Angkor. University of California Press 2001.
- Briggs, Lawrence Palmer. The Ancient Khmer Empire. Transactions of the American Philosophical Society 1951.
ก่อนหน้า | พระเจ้ายโศวรมันที่ 1 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าอินทรวรรมันที่ 1 | พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร (ค.ศ. 889–910) |
พระเจ้าหรรษวรรมันที่ 1 |