พระยาไชยบูรณ์ (จัน)

(เปลี่ยนทางจาก พระอินทร์อากร)

พระยาไชยบูรณ์ หรือ พระอินทรอากร[note 2] (ไม่ทราบปีเกิด – พ.ศ. 2312) มีนามเดิมว่า จัน[8][7] หรือ จับ[9]: 127  เดิมเป็นขุนนางสังกัดกรมพระคลัง เจ้าภาษีนายอากรและการค้าขายของราชสำนักที่เมืองพระพิษณุโลก สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดเมืองพระพิษณุโลก ช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พระยาไชยบูรณ์ (จัน) ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นอุปราชที่กรมพระราชวังบวร[10]: 76–77 หลังจาก เจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) หัวหน้าชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) ถึงแก่พิราลัยจึงได้ขึ้นครองเมืองพระพิษณุโลกแทน

พระยาไชยบูรณ์ (จัน)
พระเจ้าพิศณุโลก
ครองราชย์พ.ศ. 2311 – 2312
รัชสมัย3 เดือน
ก่อนหน้าเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)
ถัดไปล่มสลาย
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
ดำรงตำแหน่งพ.ศ. 2310 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2311
รัชสมัยพระเจ้าพิษณุโลก (เรือง)
ก่อนหน้าสถาปนาตำแหน่ง
พระปลัดเมืองพิษณุโลก
ดำรงตำแหน่งไม่ปรากฏ – 7 เมษายน พ.ศ. 2310
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์
ก่อนหน้าหลวงไชยบูรณ์
ถัดไปพระไชยบูรณ์ (ปลี)
(พ.ศ. 2313 – 2325)[1]: 4 [note 1]
ประสูติไม่ปรากฏ
สวรรคตกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2312
เมืองพระพิษณุโลก
พระราชบิดาหม่อมพัด

ประวัติ แก้

พระยาไชยบูรณ์ (จัน) หรือ พระอินทร์อากร ในพงศาวดารระบุว่าเป็นน้องชายของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง)[11]: 39 [12]: 260  บิดาชื่อ หม่อมพัด เป็นเชื้อพระวงศ์[13]: 18  ไม่ปรากฏนามมารดา หลังจากได้ขึ้นครองเมืองพระพิษณุโลกถูกเจ้าพระฝางจับต้องโทษประหารชีวิตที่เมืองพระพิษณุโลกเมื่อปีชวดสัมฤทธิศกราวเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับปี พ.ศ. 2312

การขึ้นครองเมืองพิษณุโลกและการล่มสลายของชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) แก้

ขึ้นครองเมืองพิษณุโลกแทนพี่ชาย แก้

เมื่อ พ.ศ. 2311 ปีชวดสัมฤทธิศก ตรงกับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2311 ฤดูน้ำหลาก หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปตีชุมนุมเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) แล้วไม่สำเร็จจึงได้ล่าทัพกลับยังกรุงธนบุรี ต่อมาเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ถึงแก่พิราลัยด้วยโรคฝีละลอกในคอ พระอินทร์อากร ผู้เป็นน้องชายในขณะนั้นเป็นอุปราชและพระปลัดเมืองพระพิษณุโลกจึงได้ทำฌาปนกิจปลงศพเสร็จพี่ชายตนแล้ว จึงได้ขึ้นครองเมืองพระพิษณุโลกสืบต่อไป แต่ไม่ได้ตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์[14]: 78 แต่การขึ้นครองเมืองของพระอินทร์อากรนั้นทำให้เมืองพิษณุโลกอ่อนแอลง เนื่องจากพระอินทร์อากรไม่มีฝีมือในการรบและไม่เป็นที่นับถือเหมือนเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) เป็นเหตุให้เกิดการรุกรานของชุมนุมเจ้าพระฝาง (มหาเรือน)

ปรากฏในหนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง ความว่า :-

ครั้นเมื่อพระจ้าวกรุงพระพิศณุโลกย์สวรรค์คตแล้ว พระมหาอุปราชย์ กรมพระราชวังบวร ฯ พระอนุชาธิราช ได้ครอบบ้านครองเมืองแทนพระเชษฐาธิราช ในกรุงพระพิศณุโลกย์ราชธานีต่อไป...[15]

ปรากฏใน พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ความว่า :-

พระอินอากรตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าพระพิศณุโลกย์ครอบครองเป็นเจ้าของชุมนุมนั้นต่อไปแต่เจ้าพระพิศณุโลกย์ใหม่นั้นสติปัญญาอ่อนแอ เจ้าพระฝางรู้ก็มาตีเมืองพระพิศณุโลกย์[4]

พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวว่า :-

พระอินทรอากรผู้น้องก็กระทำฌาปนกิจปลงศพเสร็จแล้ว ก็ได้ครองเมืองพระพิษณุโลกสืบไปแต่หาตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าไม่ ด้วยกลัวจะเป็นจัญไรเหมือนพี่ชายซึ่งตายไปนั้น[16]: 322–323 

ทั้งนี้ มีนักวิชาการได้วิเคราะห์พฤฒิกรรมของพระอินทร์อากรนำไปสู่การล่มสลายของชุมนุมพระพิษณุโลก เช่น เชาวน์ รูปเทวินทร์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส และผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย[17] กล่าวว่า "...เมื่อเจ้าพระยาพิษณุโลกเรือง ถึงแก่พิราลัยแล้ว พระอินทร์อากร น้องชายของท่านซึ่งเป็นปลัดเมืองอยู่เดิม และเป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบเข้าวัดฟังเทศน์ทำบุญอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีฝีมือในการรบทัพจับศึกกับใคร..."[18]: 343  บังอร ปิยะพันธุ์ กล่าวว่า "...พระอินอากรน้องชายจึงขึ้นเป็นหัวหน้าต่อมา แต่ไม่กล้าเป็นเจ้าเกรงจะตายเหมือนพี่ชายเพราะไม่มีความสามารถด้านการรบ..."[19]: 188  และบุญทรง ไทยทำ กล่าวว่า "...พระอินทร์อากรผู้น้องปกครองต่อไปแต่มิได้ประกาศตนเป็นเจ้าแผ่นดิน คงทำหน้าที่ครองเมืองอยู่เฉย ๆ จะละอายใจต่อการประกาศตนหรือเพราะถือฤกษ์ยามว่ายังไม่เหมาะสมควรอย่างไรก็ได้ เพราะที่จริงแล้วความแข็งเมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ที่เจ้าพระยาพิษณุโลกเพียงคนเดียว พระอินทร์อากรอาจมิได้แสดงฝีมืออะไรให้เป็นที่ประจักษ์มาก่อนก็ได้..."[20] เป็นต้น

ยกทัพพิษณุโลกสมทบฝ่ายสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าจุ้ย) แก้

เมื่อ พ.ศ. 2311 ราวเดือนธันวาคม หลังจากพระยาไชยบูรณ์ (จัน) ทราบข่าวพระราชสาส์นให้พิษณุโลกจัดกองทัพสนับสนุนสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าจุ้ย) นั้น พระยาไชยบูรณ์ (จัน) จึงได้จัดทัพพิษณุโลกแล้วจึงรี้พลลงไปเขตเมืองนครสวรรค์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทราบข่าวศึกจึงมีรับสั่งให้พระยาอนุรักษ์ภูธร เจ้าเมืองนครสวรรค์ จัดกำลังพลสกัดทัพพิษณุโลกไว้เพื่อมิให้แผนของสมเด็จพระโสร์ทศ (เจ้าจุ้ย) สำเร็จ

เจ้าพระฝางยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก แก้

เมื่อ พ.ศ. 2311 ราวเดือนธันวาคม เจ้าพระฝางจึงยกทัพมาปิดล้อมเมืองพระพิษณุโลก แม้พระยาไชยบูรณ์ (จัน) มีอำนาจเกียรติยศไม่เท่าพี่ชายแต่ก็มีฝืมือเข้มแข็งและมีความสามารถ[6]: 295  ปรากฎว่าได้สู้รบกับเจ้าพระฝางประมาณ 3 เดือน[3]: 75 [16]: 622  ชาวเมืองพระพิษณุโลกเกิดความอดอยากและไม่นับถือพระยาไชยบูรณ์ (จัน) เนื่องจากเมืองพิษณุโลกไม่ได้สะสมเสบียงอาหารไว้เพียงพอ[6]: 295  จึงเกิดไส้ศึกขึ้นโดยแอบเปิดประตูเมืองรับทัพเจ้าพระฝางในเวลากลางคืน

ชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) ล่มสลาย แก้

เมื่อ พ.ศ. 2312 ปีชวดสัมฤทธิศก ราวเดือนกุมภาพันธ์ พระอินทร์อากร ถูกเจ้าพระฝางจับได้และถูกต้องโทษประหารชีวิตให้เอาศพขึ้นประจานในเมืองพระพิษณุโลก ทำให้ชุมนุมพระพิษณุโลก (เรือง) ล่มสลายไปโดยสมบูรณ์ หัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงตกเป็นของเจ้าพระฝางทั้งสิ้น เมื่อเจ้าพระฝางเข้าควบคุมเมืองพระพิษณุโลกได้แล้วนั้นได้เก็บทรัพย์สินมีค่า ศัตราวุธหนักเบา และกวาดต้อนชาวเมืองพระพิษณุโลกไปเมืองสวางคบุรีได้เป็นจำนวนมาก ให้หลวงโกษา (ยัง) คุมเมืองเมืองพระพิษณุโลก

ปรากฏในหนังสือ ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง ความว่า :-

ครั้งนั้นพระจ้าวฝางยกกองทัพใหญ่ลงมาตีกรุงพระพิศณุโลกย์แตกยับเยินป่นปี้หมดทั้งสิ้น เพราะมีริ้พลแลศาสตราวุทธ์ยุทธภัณฑ์น้อยกว่า กองทัพเมืองสวางคบุรี ๆ จึ่งรบตีมีไชยชำนะ พระจ้าวฝางกวาดต้อนครอบครัวชาวกรุงพระพิศณุโลกย์ อพยพเทครัวพลเมืองพระพิศณุโลกย์ขึ้นไป ไว้ในเมืองสวางคบุรีเปนอันมาก...[21]

และยังมีชาวเมืองพระพิษณุโลกและเมืองพิจิตรอีกจำนวนมากรวมทั้งท่านผู้หญิงเชียง ภรรยาและบุตรหลานของเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) หนีอพยพไปรวบกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ปรากฏใน จดหมายเหตุโหร ความว่า :-

ปีชวด จ.ศ. ๑๑๓๑ เมืองพิษณุโลก เมืองพิจิตร แตกมาสู่โพธิสมภาร...[22]: 116 

พระอิสริยยศและพระเกียรติยศ แก้

บรรดาศักดิ์ แก้

สมัยกรุงศรีอยุธยา แก้

รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ – สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์
  • ขุนอินทรอากร[23][24]
  • พระอินทร์อากร (จัน) ขึ้นกับกรมพระคลังเมืองพระพิษณุโลก
  • พระยาไชยบูรณ์ (จัน)[8] ตำแหน่งพระปลัดเมืองพระพิษณุโลก ศักดินา 3000

พระอิสริยยศ แก้

สมัยกรุงธนบุรี แก้

รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

ระหว่างการจลาจลหลังเสียงกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง พ.ศ. 2310–12

วัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

บทบาทและเรื่องราวของพระอินทร์อากรมีปรากฏในวรรณกรรม นวนิยาย งานเขียนต่างๆ เช่น

  • สมบัติเจ้าพระฝาง[25] แต่งโดย นวลแสงทอง มีบทสนทนาระหว่างพระอินทร์อากรกับหลวงโกษา (ยัง) ในช่วงเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง
  • ตากสินมหาราช[26] เป็นบทประพันธ์และบทโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์โดย แรเงา และเรียบเรียงโดย บงกชเพชร กล่าวถึงเหตุการณ์เข้ายึดเมืองพระพิษณุโลกของเจ้าพระฝาง ในขณะที่พระอินทร์อากรครองเมืองพระพิษณุโลก

หมายเหตุ แก้

  1. ต่อมาเป็น เจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ที่สมุหพระกลาโหม ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[1]: 4–5 
  2. ในพระราชพงศาวดารไทยและหนังสือบางเล่ม มักกล่าวถึงตำแหน่งเดิม เช่น พระอินทร์อากร หรือ พระอินทรอากร[2][3]: 75–77  หรือ พระอินอากร[4][5]: 257–259  หรือ พระอากรอินทร์ [6]: 295–296  ส่วนในหนังสือ มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ เขียนว่า พะญาไชยบูลย์ (จัน)[7] ปลัดเมืองพระพิศณุโลกย์

อ้างอิง แก้

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ และคณะ. (2545). เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 404 หน้า. ISBN 974-417-534-6 อ้างใน จดหมายเหตุปูนบำเหน็จรัชกาลที่ ๑ และ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑.
  2. ประวัติศาสตร์ชาติไทย (ตอนสำคัญ). พิมพ์แจกในงานพระราชเพลิงศพ นายสุดใจ ชื่นเกษม. พระนคร: โรงพิมพ์สมรรถภาพ, 2483. 118 หน้า
  3. 3.0 3.1 สมบัติ พลายน้อย. (2517). สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ: บำรุงสาส์น. 508 หน้า.
  4. 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารสยาม: ปริเฉท 2. พระนคร: ศึกษาพิมพาการ, 2434. 160 หน้า.
  5. ศรีพนม สิงห์ทอง. (2505). ชัยชนะของพระยาพิชัยดาบหัก. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 410 หน้า.
  6. 6.0 6.1 6.2 ประยูร พิศนาคะ. (2513). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และพระยาพิชัยดาบหัก (จ้อยหรือทองดีฟันขาว) เล่ม 2: วรรณกรรมทางอากาศ ณ 01 ภาคพิเศษ กองบินยุทธการ. กรุงเทพฯ: สำนักหอสมุดกลาง 09. 463 หน้า.
  7. 7.0 7.1 ก.ศ.ร. กุหลาบ ตฤษณานนท์. (2448). มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ว่าด้วยลำดับวงศ์ตระกูลขุนนางไทยทั้งสิ้นในแผ่นดินสยาม. พระนคร: สยามประเภท, ร.ศ. 124.
  8. 8.0 8.1 8.2 ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง. หน้า (ฏะ).
  9. ประยุทธ สิทธิพันธ์. (2505). ต้นตระกูลขุนนางไทย. พระนคร: คลังวิทยา. 544 หน้า.
  10. 10.0 10.1 สำราญ ทรัพย์นิรันดร์, (บรรณาธิการ). (2523). ช่อฟ้า, 15. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสมัย.
  11. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 6. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย, 2457.
  12. คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. (2551). ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่มที่ 11. กรุงเทพฯ: กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ISBN 978-974-417-887-9
  13. กฤตภาส โรจนกุล. (2554). เอกสารการค้นคว้าประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเรื่อง โรจนกุล ชีวประวัติและเชื้อสายสัมพันธ์. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่). อ้างใน ลิขิตปรีชา (คุ้ม), หลวง. (2378). ธรรมเนียบตระกูลสังเขปครั้งกรุงเก่า ต้นฉบับลายมือคัดของนายคุ้ม ร.ศ. ๕๓. กรุงเทพพระมหานคร, [ม.ป.ท.] (เอกสารไม่ตีพิมพ์เผยแพร่).
  14. ดวงพร ทีปะปาล. (2535). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพฯ: อำนวยสาส์น. 125 หน้า.
  15. ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง. หน้า (ฐิ)–(ฐี).
  16. 16.0 16.1 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2505). พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. พระนคร: โอเดียนสโตร์. 622 หน้า.
  17. หน่วยส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม. วันนี้ วันสำคัญในเดือนมีนาคม: วันนักขาว/วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ ( 5 มีนาคม).
  18. เชาวน์ รูปเทวินทร์. (2528). ย่ำอดีต พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับงานกู้อิสรภาพของชาติไทย. เล่มที่ 1. กรุงเทพฯ: พี.วาทิน พับลิเคชั่น.
  19. บังอร ปิยะพันธุ์. (2538). ประวัติศาสตร์ไทย : การปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศก่อนสมัยสุโขทัยจนถึง พ.ศ. 2475. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์. 313 หน้า. ISBN 978-974-277-228-4
  20. บุญทรง ไทยทำ. (2526). ประวัติวีรบุรุษและวีรสตรีไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ. 232 หน้า. ISBN 978-974-220-938-4
  21. ต้นวงศ์ตระกูลพะญาศรีสหเทพชื่อทองเพ็ง. หน้า (ฐี).
  22. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา และกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ. (2507). ประชุมพงศาวดาร เล่มที่ 8. กรุงเทพฯ: คุรุสภา.
  23. จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระฯ. (2463). พระราชกรัณยานุสร พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ ตอนว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจปานกาล. พระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี โปรดให้พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดามรกฎ รัชกาลที่ ๕ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๖๓. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย. 159 หน้า. หน้า 56.
  24. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2528). สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช. กรุงเทพฯ: รวมข่าวการพิมพ์. 447 หน้า. หน้า 32.
  25. นวลแสงทอง (ประโพธ เปาโรหิตย์). (2533). สมบัติเจ้าพระฝาง. กรุงเทพฯ: โลกทิพย์. 343 หน้า.
  26. แรเงา. (2548). ตากสินมหาราช. บทประพันธ์และบทโทรทัศน์: แรเงา ; เรียบเรียงจากบทละครโทรทัศน์: บงกชเพชร. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้ากรุ๊ป.
บรรณานุกรม