พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 9

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหมายกำหนดการจากสำนักพระราชวัง

พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สถานะถูกยกเลิก
ประเภทพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
เริ่มต้น2 ธันวาคม
สิ้นสุด8 ธันวาคม
ความถี่ทุกปี
สถานที่พระบรมมหาราชวัง
พระราชวังดุสิต
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร
ประเทศประเทศไทย
ประเดิม5 ธันวาคม 2493 (2493-12-05)
ล่าสุด5 ธันวาคม 2558 (2558-12-05)
พระมหากษัตริย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จัดโดยรัฐบาลไทย

วันที่ 2 ธันวาคม

แก้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ณ พระลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ปี พ.ศ. 2552 แต่ได้มีการเปลี่ยนสถานที่จากลานพระราชวังดุสิตเป็นท้องสนามหลวงอันเป็นการลดพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแต่พิธีนั้นจัดยาวตั้งแต่เวลา 13:00 - 18:00 น.แล้วจะเสด็จพระราชดำเนินกลับในเวลา 18:20 น.[1]

วันที่ 4 ธันวาคม

แก้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทุกๆพระองค์ ในการที่ให้คณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต

วันที่ 5 ธันวาคม

แก้

เวลาเช้า โดยพระองค์ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ พร้อมเครื่องแบบเต็มยศ ประทับพระราชบัลลังก์ บนพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ เหนือพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน และอยู่เบื้องหลังพระวิสูตร (ม่าน) พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท (อยู่เบื้องหลังพระวิสูตร) และคณะบุคคลต่างๆ (อยู่เบื้องหน้าพระวิสูตร) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

เวลาบ่าย เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าสู่มุขหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีบรรพชิตญวณและจีนถวายพระพรชัยมงคล แล้วจึงเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตรปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณีและพระพุทธรูปฉลองพระองค์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาเทพยดานพเคราะห์แล้วเสด็จสู่มุขหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานสังคหวัตถุแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้สูงอายุ แล้วเสด็จพระราชดำเนิน จากพระอุโบสถไปประทับรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปเทียบหน้าพระทวารเทเวศรรักษาเสด็จเข้าสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงประเคนสัญญาบัตร พัดยศ ไตร แก่พระสงฆ์ซึ่งเข้ารับพระราชทานสมณศักดิ์ใหม่พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรก ถวายพระพรลา จากนั้นพระสงฆ์ 60 รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงจุดเทียนพระมหามงคลเทียนเท่าพระองค์ และธูปเทียนบูชาพระพุทธรูป เทวรูป พระเคราะห์ แล้วจึงทรงจุดธูปเทียนนมัสการ ทรงศีล จากนั้นพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาจบแล้ว สมเด็จพระราชาคณะถวายอดิเรกถวายพระพรลา แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิน กลับโดยประทับรถยนต์พระที่นั่งพระทวารเทเวศรรักษา [2]

เวลาค่ำ พิธีถวายเครื่องราชสักการะและจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล และถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ ของเหล่าข้าราชการ และพสกนิกรชาวไทย ซึ่งกำหนดจัดที่ มณฑลพิธี ท้องสนามหลวง และ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด

วันที่ 6 ธันวาคม

แก้

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนิน ไปยังพระบรมมหาราชวัง ยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชแล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยทางพระทวารเทวาราชมเหศวร์ ทรงประกอบพิถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์เสร็จแล้วสมเด็จพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนามงคลวิเศษกัณฑ์ 1 จบพิธีสงฆ์แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนิน กลับโดยประทับรถยนต์พระที่นั่งที่พระทวารเทเวศรรักษา

วันที่ 7 ธันวาคม

แก้
 
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในงานสโมสรสันนิบาต

แต่เดิมจะเสด็จพระราชดำเนินออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ให้คณะทูตานุทูตต่างประเทศ และผู้แทนฝ่ายกงสุล เฝ้าทูลละอองพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล มีพระราชดำรัสตอบ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้น ก่อนจะเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ 8 ธันวาคม และสถานที่ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ตามหมายกำหนดการเป็นวันที่ 8 ธันวาคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และครั้นถัดมาในวันที่ 7 ธันวาคม (บางปีเลื่อนไปเป็นวันที่ 9 ธันวาคม) ก็เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธาน ในรัฐพิธีสโมสรสันนิบาตเฉลิมพระเกียรติ ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
(เว้นในปี พ.ศ. 2551 จัดที่หอประชุมกองทัพเรือ)[3]

วันที่ 8 ธันวาคม

แก้

เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะทูตานุทูต ต่างประเทศและผู้แทนฝ่ายกงสุลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลมีพระราชดำรัสตอบแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้น

กิจกรรมของประชาชนทั่วไป

แก้

ทุกปีจะมีการประดับธงชาติและธงพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ในทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ โรงเรียน บริษัท และบ้านเรือน เพื่อถวายพระพรให้พระองค์มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน และยังมีการทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถนน โรงพยาบาล และประดับรูปของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไว้ที่หน้าบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วย

กิจกรรมสำหรับลูกในวันพ่อแห่งชาติ คือ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน จัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ หรือบำเพ็ญกุศล ทำบุญใส่บาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศล และระลึกถึงพระคุณของพ่อ

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ พ่อตัวอย่าง หรือพ่อดีเด่น โดยกำหนดคุณสมบัติ คือ มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ส่งเสริมการศึกษาของบุตร ธิดา นับถือศาสนาโดยเคร่งครัด งดเว้นอบายมุขทุกชนิด อุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน

อ้างอิง

แก้
  1. ในหลวงประกาศเลื่อนสวนสนามปี 2553 เก็บถาวร 2010-11-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากสำนักข่าวเจ้าพระยา
  2. สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เก็บถาวร 2011-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. งานสโมสรสันนิบาต เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ข่าวสด

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 9 ถัดไป
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 8
(20 กันยายน พ.ศ. 2478 - 2488)
  พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 9
(5 ธันวาคม พ.ศ. 2493 - 2558)
  พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาในรัชกาลที่ 10
(28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน)