พระยม ยมราช หรือ มัจจุราช คือเทพเจ้าแห่งนรกและความตาย ตามความเชื่อในศาสนาแบบอินเดีย

พระยม
เทพเจ้าแห่งความตาย ผู้ปกครองยมโลก ผู้ตัดสินวิญญาณคนตาย
เทวรูปพระยมตามแบบทิเบต
ชื่อในอักษรเทวนาครีयम
เป็นที่บูชาในศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน
ส่วนเกี่ยวข้องเทพโลกบาล
ที่ประทับเมืองยมปุระ ในยมโลก,นรก
ดาวพระเคราะห์ดาวยม (ดาวพลูโต)
อาวุธบ่วงยมบาศ,กระบองยมทัณฑ์,ตรีศูล,ขอช้าง ฯลฯ
พาหนะกระบือ
เป็นที่นับถือใน อินเดีย
 ไทย
 ลาว
 จีน
ข้อมูลส่วนบุคคล
คู่ครองพระนางปรียา,ธิดา 13 นางของพระทักษะประชาบดี ฯลฯ
บุตร - ธิดายุธิษฐิระ ฯลฯ
บิดา-มารดา

ศาสนาฮินดู

แก้
 
พระยม ในคติอินเดีย ทรงกระบองยมทัณฑ์,บ่วงยมบาศ ทรงกระบือเป็นพาหนะ มียมทูตเป็นบริวาร

ศาสนาฮินดูเชื่อว่าพระยมเป็นเทพผู้ดูแลรักษาวัฏสงสาร ให้ดำเนินต่อไปด้วยความราบรื่น เป็นเทพโลกบาลประจำทิศทักษิณ (ทิศใต้) ยมราช เป็นบุตรของพระอาทิตย์ กับพระนางศรัณยา มีชื่อเดิมว่า ยม เป็นผู้ทำหน้าที่เทพแห่งความตาย ปกครองยมโลกและนรก ทำหน้าที่ตัดสินและมอบผลกรรมแก่วิญญาณผู้ตาย พระยมมีอาวุธวิเศษ ที่สร้างขึ้นมาจากฝีมือของพระวิศวกรรม คือ บ่วงยมบาศ และ กระบองยมทัณฑ์ ที่สามารถมอบความตายให้แก่ทุกสรรพชีวิต บางตำนานเล่าว่า พระยมเป็นมนุษย์คนแรกบนโลกที่ตายไปจากโลก และได้รับรู้เรื่องราวหลังความตายและทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวิญญาณทั้งหลาย และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ฤๅษีนจิเกตัส บางตำนานเล่าว่า พระยมเคยเกิดเป็นกษัตริย์กรุงโกศัมพี แคว้นไวศาลี ทรงฝักใฝ่ในการทำสงคราม ก่อนตายทรงอธิษฐานให้ได้เกิดเป็นเจ้านรก เมื่อตายแล้วได้มาเกิดเป็นพระยม แต่ยังต้องรับกรรมโดยการดื่มน้ำทองแดงวันละ 3 เวลา เมื่อสิ้นกรรมแล้วจะได้เกิดเป็นท้าวสมันตราช พระยม เป็นสาวกเอกของทั้งพระศิวะและพระวิษณุ พระยมยังมีอีกนาม ชื่อ ธรรมราช ในตำนานฮินดู มีบุคคลที่สามารถเอาชนะความตายได้ คือ ฤๅษีมารกัณเฑยะ และ นางสัตยวดี ในมหาภารตะ พระยมได้ให้กำเนิดบุตร คือ ยุธิษฐิระ และอวตารเป็นท้าววิทูร

ลักษณะของพระยม

แก้

ลักษณะของพระยม ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดงดังแสงแรกแห่งดวงอาทิตย์ มี ๒ กร ทรงบ่วงบาศและไม้เท้าหัวกะโหลกเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า สวมอาภรณ์สีแดง ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและทองแดง ทรงกระบือเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดง บ้างก็ว่าสีดำ รูปร่างใหญ่โต กำยำล่ำสัน นัยน์ตาสีแดงที่เป็นภัย หากจ้องมองสิ่งใดด้วยความโกรธ สิ่งนั้นจะวินาศ มีขาพิการ มี ๔ กร ทรงบ่วงยมบาศ กระบองยมทัณฑ์ ตรีศูล ขอช้าง ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ มีรัศมีสีแดง สวมอาภรณ์สีแดงและสีดำ ทรงเครื่องประดับด้วยทองคำและทองแดง ประทับนั่งบนดอกบัว ทรงกระบือเป็นพาหนะ พระยม ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระธรรมราช,พระกาล,พระมัจจุราช,พระมฤตยูราช,พระเปรตราช,พระภยังกร,พระมหิเษส,พระทัณฑธร,พระนรกธีศะ,พระปิตฤปติ,พระอันตกะ,พระภัยโลจนะ ฯลฯ พระยม ในคติไทย เมื่อประทับบัลลังก์ จะมีเจ้าหน้าที่บัญชีอยู่เคียงคู่ 2 องค์ คือ พระสุวรรณเลขา จดบัญชีบุญลงในบัญชีแผ่นทองสุก และ พระสุวานเลขา จดบัญชีบาปลงในบัญชีหนังสุนัข ในคติฮินดู พระยมมีวิมาน ชื่อ กาลีจิ สร้างจากทองแดงและเหล็ก ประทับบัลลังก์ ชื่อ วิจานภู จะมีพระจิตรคุปต์เป็นผู้ตรวจดูบัญชี นอกจากนี้พระยมยังมีบริวารอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระกาฬ เทพผู้ส่งสารแห่งความตาย ยมทูตองครักษ์ 2 ตน ชื่อ มหาจัณฑะ และ กาลปุรสุษะ และยังมีสุนัข 2 ตัว ชื่อ สามะ เป็นสุนัขดำ และสวละ เป็นสุนัขด่าง แต่ละตัวมี 4 ตา มีรูจมูกกว้าง ทำหน้าที่เฝ้าประตูยมโลก และเหล่ายมทูตและยมบาล อีกทั้งเหล่ากา นกฮูก นกแสก ล้วนเป็นบริวารของพระยม

พระยมเมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว เทียบได้กับเฮดีสตามเทพปกรณัมกรีก และออร์กัสตามเทพปกรณัมโรมัน

ศาสนาพุทธ

แก้

ศาสนาพุทธฝ่ายเถรวาท ถือว่าพระยมมีชาติกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา[1] และเป็นเจ้าแห่งเวมานิกเปรต คัมภีร์ปปัญจสูทนีระบุว่าในมหานรกแต่ละขุมมีพระยมประจำอยู่ทั้ง 4 ประตู[2] มหานรกมี 8 ขุม จึงมีพระยมทั้งสิ้น 32 องค์[1]

ในเทวทูตสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระยมมีหน้าที่ซักถามสัตว์นรกเกี่ยวกับเทวทูต 5 ได้แก่ ทารกแรกเกิด คนแก่ คนป่วย นักโทษ และคนตาย เพื่อให้สัตว์นรกนั้นได้ระลึกถึงกุศลกรรมที่ตนเคยทำมา หากสัตว์นรกจำได้ก็จะพ้นจากนรก หากจำไม่ได้ยมบาลก็จะนำตัวสัตว์นรกนั้นไปลงโทษตามบาปกรรมที่ได้ทำมา[3]

บางตำนานเล่าว่า อดีตชาติ พระยมเกิดเป็นผู้นำหมู่บ้านผู้ทรงปัญญา ตัดสินคดีความอย่างเป็นธรรม ครั้งหนึ่งบิดาของท่านกระทำผิดกฎหมาย ท่านจึงต้องตัดสินประหารบิดาตนเอง หลังจากนั้นท่านเสียใจและออกบำเพ็ญตบะในป่า เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดเป็นกุมภัณฑเทวดาในสวรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ในเมืองทางทิศใต้ ท้าววิรุฬหกได้แต่งตั้งให้เป็นพญายมราช ทำหน้าที่ตัดสินคนตาย

พระยม มิใช่เทพ แต่เป็นตำแหน่ง อันได้แก่ พระยมในมหานรก รวม 32 พระองค์ พระยมในยมโลกียนรก รวม 320 พระองค์ และพระยมองค์ประธานในยมโลกอีก 1 พระองค์ รวมทั้งสิ้น 353 พระองค์

ส่วนลัทธิข้างจีนฝ่ายมหายานว่า พญายมเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ทำหน้าที่พิพากษาแก่ดวงวิญญาณทั้งหลาย แต่ทางลัทธิเต๋าว่าพระยม มีทั้งหมด 10 พระองค์

ยมทูต

แก้

ยมทูต คือ เจ้าหน้าที่ผู้นำวิญญาณคนตายจากโลก มาสู่ยมโลก ในศาสนาพุทธ ยมทูต เป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา ประเภทกุมภัณฑ์ ทำหน้าที่เพียงควบคุมวิญญาณ ไม่ได้มีหน้าที่ลงโทษ แต่ในศาสนาฮินดู ยมทูต เป็นเผ่าพันธุ์หนึ่งที่มีนิสัยดุร้าย เป็นบริวารของพระยม ทำหน้าที่ทั้งควบคุมวิญญาณและลงโทษวิญญาณบาปทั้งหลาย ตามผลกรรมของพวกเขา

 
พระยมราชตัดสินคดี พร้อมด้วยพระจิตรคุปต์ และภาพขุมนรกต่างๆในยมโลก ที่ยมทูตกำลังทรมานสัตว์นรก

ยมบาล

แก้

ยมบาล หรือ นิรยบาล คือ เจ้าพนักงานในนรกภูมิ มีหน้าที่ลงโทษทรมานสัตว์นรกตามคำสั่งของพระยม[4] ศาสนาพุทธเชื่อว่ายมบาลมีชาติกำเนิดเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา[1] มี 3 ประเภท คือ ยมบาลยักษ์และยมบาลกุมภัณฑ์ ยมบาลยักษ์คือยักษ์ที่อยากทำร้ายสัตว์นรก จึงจำแลงกายเป็นยมบาล เที่ยวไล่ทำร้ายสัตว์นรกต่าง ๆ หรือแปลงกายเป็นแร้งกาจิกกินสัตว์นรก และยมบาลกุมภัณฑ์ คือยมบาลที่อาศัยประจำในนรก มีหน้าที่ทำร้ายสัตว์นรก หรือแปลงกายเป็นแร้งกาจับสัตว์นรกกิน[1] อีกประเภท เป็นยมบาลที่เกิดขึ้นจากวิบากกรรมของสัตว์นรกเอง เรียกว่า นายนิรยบาล มีกายใหญ่โต ผิวสีดำทมิฬ เนื่องจากเกิดจากกรรมของสัตว์นรกตนนั้นๆ จึงไม่มีชีวิตจิตใจ จึงลงโทษสัตว์นรกนั้นโดยไร้ความเมตตาปรานี

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 พระสัทธัมมโชติกะ, ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริจเฉทที่ 5 เล่ม 1 วีถิมุตตสังคหะ ภูมิจตุกกะและปฏิสนธิจตุกกะ, พิมพ์ครั้งที่ 6, กรุงเทพฯ : มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ, 2546, หน้า 8-11, 107
  2. อรรถกถาเทวทูตสูตร, อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค
  3. เทวทูตสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ 14 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 6 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
  4. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, กรุงเทพพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 939

ดูเพิ่ม

แก้