พรรคชาตินิยมเวียดนาม

พรรคชาตินิยมเวียดนาม (เวียดนาม: Việt Nam Quốc Dân Đảng; 越南國民黨) หรือเหวียตโกว๊ก (เวียดนาม: Việt Quốc 越國) เป็นพรรคการเมืองชาตินิยมในเวียดนามที่ได้พยายามกอบกู้เอกราชเวียดนามจากฝรั่งเศสในระหว่างต้นศตวรรษที่ 20 โดยได้กำเนิดในช่วงยุค 1920 เมื่อปัญญาชนวัยหนุ่มได้เริ่มเผยแผ่หลักการปฏิวัติ ในปี ค.ศ.1927 หลังจากที่สำนักพิมพ์ประสบความล้มเหลวเพราะการล่วงล้ำของฝรั่งเศสและการปิดกั้นความคิด พรรคชาตินิยมเวียดนามจึงได้ถูกก่อตั้งโดย เหงียน ท้าย ฮอก โดยนำรูปแบบมาจากพรรคก๊กมินตั๋งของประเทศจีนในยุคนั้น (รูปอักษรจีนของทั้งสองพรรคเขียนเหมือนกัน ดังนี้ 國民黨) พรรคชาตินิยมเวียดนามได้มีชนชั้นกลางเข้าร่วมด้วยอยู่พอสมควร โดยเฉพาะคุณครูอาจารย์และปัญญาชน แต่ไม่ได้รับความสนใจจากชาวนาและกรรมกร พรรคจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างลับๆ

พรรคชาตินิยมเวียดนาม
Việt Nam Quốc Dân Đảng
ผู้ก่อตั้งเหงียน ท้าย ฮอก
หัวหน้าเหงียน ท้าย ฮอก
เญิ้ต ลิญ
หวู โห่ง คั้ญ
ก่อตั้ง25 ธันวาคม พ.ศ. 2470
ที่ทำการฮานอย (พ.ศ. 2470 - 2497)
ไซ่ง่อน (พ.ศ. 2497 - 2518)
เวสต์มินสเตอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย (พ.ศ. 2518)
หนังสือพิมพ์ภาษาประชาชน (Tiếng dân เตี๊ยงเซิน)
อุดมการณ์ชาตินิยมเวียดนาม
สังคมนิยมประชาธิปไตย
หลัก 3 ประการแห่งประชาชน
จุดยืนจากกลางอิงซ้ายถึงกลางอิงขวา
สีแดง, น้ำเงิน, ขาว
เว็บไซต์
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 พรรคชาตินิยมเวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จักจากการลอบสังหารเจ้าพนักงานชาวฝรั่งเศสและผู้ช่วยชาวเวียดนาม จุดเปลี่ยนของพรรคได้เข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1929 จากเหตุการณ์การลอบสังหารบาซินซึ่งเป็นเหตุการณ์การสังหารแรงงานเกณฑ์ชาวฝรั่งเศส แม้ว่าการสมรู้ร่วมคิดกับผู้ก่อการไม่ชัดเจนนัก แต่เจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศสกลับกล่าวหาว่าพรรคชาตินิยมเวียดนามคือผู้มีส่วนร่วม สมาชิกประมาณ 300-400 ของสมาชิก 1,500 คนถูกปราบปรามและถูกจับกุม ผู้นำหลายคนถูกจับกุม แต่ห้อกได้จัดการจนสามารถหลบหนีไปได้

ปลายปี ค.ศ. 1929 พรรคได้เริ่มอ่อนแอลงจากการแตกแยกภายในพรรคเอง ภายใต้การกดดันที่เพิ่มมากขึ้นของฝรั่งเศส ผู้นำของพรรคหลายคนได้เปลี่ยนวิธีการต่อต้านฝรั่งเศสจากการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นการขับไล่โดยการก่อจลาจล หลังจากที่รวบรวมอาวุธมาได้แล้ว พรรคจึงได้ทำการก่อการกำเริบเอียนบ๊าย ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 เพื่อให้การก่อกำเริบเป็นไปอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว พรรคได้ร่วมกับกองทหารเวียดนามของฝรั่งเศสที่ไม่ค่อยน่าไว้ใจซึ่งได้ทำการต่อต้านฝรั่งเศสด้วยเช่นกันนั้น การก่อเริบจึงได้ลุกลามอย่างรวดเร็วแต่ก็ถูกปราบปรามลงอย่างง่ายดาย ด้วยการลงโทษที่รุนแรง ห้อกและผู้นำคนอื่นได้ถูกจับกุมและประหารชีวิตและพรรคก็ไม่ได้กลับมามีความเข้มแข็งในเวียดนามอีก

กลุ่มที่เหลืออยู่ได้ใช้สันติวิธีในการต่อสู้ ขณะที่กลุ่มอื่นๆนั้นได้หนีไปยังมณฑลยูนนาน ซึ่งพวกเขาได้อาวุธและฝึกซ้อมรบอยู่ที่นั้น ระหว่างยุค 1930 พรรคได้ถูกบดบังโดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน เวียดนามได้ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จากความวุ่นวายภายหลังการยอมแพ้ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1945 พรรคชาตินิยมเวียดนามกับพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อเอกราชของเวียดนามเป็นระยะเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ความวุ่นวายได้หมดไป โฮจิมินห์ได้กวาดล้างกลุ่มทหารของพรรคชาตินิยมเวียดนามออกไปกลุ่มทหารคอมมิวนิสต์เวียดนาม ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกลายเป็นผู้ต่อต้านจักรวรรดินิยมอย่างไร้ผู้เทียมเท่า หลังสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1สิ้นสุดลง เวียดนามได้ถูกแบ่งแยกเป็นสองส่วน ทางพรรคได้ย้ายไปอยู่เวียดนามใต้ ภายหลังเหตุการณ์ไซ่ง่อนแตกแล้ว พรรคได้ย้ายไปยังนอกประเทศและยังเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามในปัจจุบัน

จุดกำเนิด แก้

ฝรั่งเศสเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับเวียดนามเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 24 เมื่อมิชชันนารีให้ความช่วยเหลือแก่เหงียน อัญ ที่ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเกียลองแห่งราชวงศ์เหงียน แต่ต่อมา ในสมัยจักรพรรดิมิญหมาง ได้ปราบปรามชาวคริสต์ในเวียดนามอย่างรุนแรง ฝรั่งเศสเริ่มรุกรานเวียดนามเมื่อ พ.ศ. 2401 และยึดครองเวียดนามเป็นอาณานิคมทั้งหมดใน พ.ศ. 2426 การต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น การต่อสู้ของขบวนการเกิ่นเวือง การปฏิวัติทางภาคใต้ พ.ศ. 2459 และการก่อการกำเริบของไทเหงียน เป็นต้น

ใน พ.ศ. 2468 มีปัญญาชนในฮานอยกลุ่มเล็กๆ นำโดยครูชื่อ ฟาม ตวน ไต และพี่ชายคือฟาม ตวน ลาม ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการปฏิวัติโดยใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องเอกราชให้เวียดนาม เผยแพร่หนังสือและแผ่นพับเกี่ยวกับซุน ยัตเซ็น และการปฏิวัติในจีน พ.ศ. 2454 และเปิดโรงเรียนเพื่อสอนการเขียนภาษาเวียดนามด้วยอักษรกว็อกหงือหรืออักษรละตินให้แก่ชนชั้นทำงาน กลุ่มนี้ได้ดึงดูดใจนักเรียนจากภาคเหนือ โดยเฉพาะกลุ่มของเหงียน ท้าย ฮอก ฮอกเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนพานิชย์ฮานอย[1][2] ต่อมาโรงพิมพ์ของพวกเขาถูกฝรั่งเศสสั่งปิด กลุ่มนี้จึงได้จัดกิจกรรมทางการเมืองโดยตรง ใน พ.ศ. 2470 กลุ่มนี้มีสมาชิกราว 200 คน กระจายอยู่ใน 18 จังหวัดทางภาคเหนือและภาคกลางของเวียดนาม

การก่อตั้ง แก้

 
ธงของพรรคชาตินิยมเวียดนามใช้ระหว่าง พ.ศ. 2472 - 2488 [3][4][5][6]
 
ธงของ กองทัพปฏิวัติเวียดนาม[7] ระหว่าง การลุกฮือที่เยนไบ๊

พรรคชาตินิยมเวียดนามจัดตั้งขึ้นจากการประชุมในฮานอย เมื่อ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2470 โดนเหงียน ท้าย ฮอก เป็นผู้นำ พรรคนี้ถือเป็นพรรคที่เน้นแนวทางปฏิวัติพรรคแรกในเวียดนาม ก่อตั้งก่อนพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน 3 ปี พรรคนี้เน้นสังคมนิยม ต้องการจัดตั้งสาธารณรัฐเวียดนามที่เป็นเอกราช ขับไล่ฝรั่งเศสออกไปด้วยวิธีทางการทหาร

การจัดรูปแบบของพรรคใช้ตามพรรคก๊กมินตั๋งในจีน แต่ไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างระหว่างกัน การต่อสู้เน้นการต่อสู้ทางทหารเพื่อยึดอำนาจ และการฝึกอบรมประชาชนระยะหนึ่งก่อนจะจัดตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เป็นครู ลูกจ้างของอาณานิคมฝรั่งเศสหรือเจ้าหน้าที่ในกองทัพอาณานิคม มีกรรมกรน้อยมาก ความนิยมของพรรคตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกต่อต้านฝรั่งเศสในเวียดนามภาคเหนือในทศวรรษ 2463 พรรคนี้ได้มองหาแนวร่วมจากกลุ่มชาตินิยมอื่นๆในเวียดนามเพื่อร่วมต่อสู้เรียกร้องเอกราช พรรคได้ประณามพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามของโฮจิมินห์ในการที่ทรยศต่อฟาน โบ่ย เจิว นักชาตินิยม โดยจับตัวส่งให้ฝรั่งเศสเพื่อแลกเงินค่าหัว[8]

กิจกรรมช่วงเริ่มต้น แก้

ปัญหาที่สำคัญของพรรคชาตินิยมคือเงิน ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างยากลำบาก ได้เปิดที่พักและร้านอาหารในชื่อ Vietnam Hotel ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2471 เพื่อหาเงิน รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสได้เฝ้าระวังเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของธุรกิจนี้ การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมเมื่อ เหงียน ควก ญู ขึ้นเป็นผู้นำแทนฮอก มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเป็นรัฐบาลเงา ได้แก่แผนกกฎหมาย บริหาร และยุติธรรม ข้อมูลของฝรั่งเศสคาดว่าใน พ.ศ. 2472 พรรคนี้มีสมาชิกราว 1,500 คน ส่วนใหญ่อยู่ทางที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง สมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ส่วนแรงงานมักอยู่กับพรรคคอมมิวนิสต์

การลอบสังหารบาซิน แก้

การลอบสังหารชาวฝรั่งเศสในฮานอย แอร์เว บาซินเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2471 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พรรคชาตินิยมตกต่ำลง ไม่แน่นอนว่าผู้ยิงบาซินเสียชีวิตเป็นสมาชิกพรรคหรือได้วางแผนด้วยตัวเอง[9] ฝรั่งเศสได้โจมตีสมาชิกพรรคเท่าที่สามารถหาได้ มีสมาชิกพรรคถูกจำคุกถึง 78 คน สมาชิกหลักที่เป็นคณะกรรมการส่วนใหญ่ถูกจับได้ยกเว้นฮอกและญู

ความแตกแยกภายในและการเปลี่ยนกลยุทธ แก้

ใน พ.ศ. 2472 พรรคชาตินิยมได้แตกแยกออกเป็นส่วน นำโดยเหงียน แท เงียบ บางแหล่งเชื่อว่าเงียบมีการติดต่อกับฝรั่งเศสอย่างลับๆ ในกลางปีนั้น ฮอกเสนอที่จะให้มีการลุกฮือทั่วไป โดยเฉพาะโดยทหารชาวเวียดนามในกองทัพฝรั่งเศส สมาชิกระดับกลางของพรรคคัดค้านเพราะเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะเคลื่อนไหว แต่ฮอกยืนยันว่าต้องการยกระดับองค์กรไปสู่การต่อสู้อย่างรุนแรง แผนการปลุกระดมเพื่อลุกฮือในที่ราบลุ่มแม่น้ำแดงดำเนินในช่วงปลายปี พ.ศ. 2472 โดยกองกำลังของพรรคชาตินิยมเข้าร่วมกับทหารชาวเวียดนามในการโจมตีเมืองสำคัญทางเหนือคือฮานอยและไฮฟอง ผู้นำพรรคได้ตกลงที่จะจำกัดการต่อสู้เฉพาะในตังเกี๋ยเพราะที่อื่นพรรคยังอ่อนแออยู่

การลุกฮือที่เอียนบ๊าย แก้

ณ เวลาประมาณ 1:30 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2472 ทหารประมาณ 40 คนที่ประจำการที่เอียนบ๊าย ถูกกองกำลังของพรรคชาตินิยมเวียดนาม 60 คนโจมตี เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส 29 คนถูกโจมตี กบฏได้แบ่งแยกกำลังกันไปสังหารเจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส ฝ่ายพรรคชาตินิยมเวียดนามสามารถชักธงของตนบนยอดตึกได้ แต่อีก 2 ชั่วโมงต่อมา ปรากฏว่าการก่อกบฏนี้ล้มเหลว ในเวลา 7:30 น. กองทัพอินโดจีนฝรั่งเศสได้ต่อต้านการโจมตีและออกคำสั่งไปยังทหารที่เยนไบ๊

ในเย็นวันเดียวกัน กลุ่มพรรคชาตินิยมเวียดนามได้ออกปฏิบัติการอีกหลายที่ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ สมาชิกพรรคทำร้ายตำรวจที่ฮานอย ขว้างระเบิดเข้าไปในตึกของรัฐบาล ฝ่ายฝรั่งเศสส่งทหารมาปราบปราม การสู้รบดำเนินไปจนถึง 22 กุมภาพันธ์ ฝ่ายฝรั่งเศสจึงเป็นฝ่ายชนะ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ผู้ถูกจับกุมจำนวน 13 คน ถูกประหารชีวิต โดย ฮอก และจิญรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย การประหารชีวิตเกิดขึ้นเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2473 ฮอกได้เขียนหนังสือถึงรัฐบาลฝรั่งเศสว่าเขายินดีร่วมมือกับฝรั่งเศส แต่การไม่ยอมประนีประนอมทำให้ต้องเป็นกบฏ ฝรั่งเศสอยู่ในอินโดจีนฝรั่งเศสได้แต่ต้องยกเลิกระบบศักดินาและเป็นมิตรกับชาวเวียดนามมากกว่านี้ พรรคต้องการให้มีการศึกษาที่เป็นสากล การฝึกฝนทางการค้าและอุตสาหกรรม และยุติการฉ้อราษฎร์บังหลวง

ลี้ภัยในยูนนาน แก้

หลังจากเหตุการณ์เอียนบ๊าย พรรคชาตินิยมเวียดนามได้แยกย้ายกันไป ลี ฮู กัญ ได้พยายามฟื้นฟูพรรคโดยรวบรวมสมาชิกที่เหลือเข้าด้วยกัน กลุ่มที่ยังจงรักภักดีต่อฮอกยังคงเคลื่อนไหวในฮานอยและไฮฟอง ความล้มเหลวในการพยายามลอบสังหารนายทหารฝรั่งเศสทำให้ถูกฝรั่งเศสปราบปรามอย่างหนัก ใน พ.ศ. 2474 – 2475 ผู้ที่รอดชีวิตจึงลี้ภัยไปยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สนับสนุนกลุ่มของเงียบยังเคลื่อนไหวอยู่ พรรคชาตินิยมเวียดนามในยูนนานกลายเป็นส่วนหนึ่งของพรรคก๊กมินตั๋งในจีน

 
หลังจากล้มเหลวในการลุกฮือที่เอียนบ๊าย สมาชิกพรรคได้ไปร่วมมือกับกลุ่มของฟาน โบ่ย เจิง (ในรูป)

เงียบถูกคุมขังอยู่ในยูนนาน แต่ก็ยังมีบทบาทในการดำเนินกิจกรรมของพรรค เมื่อถูกปล่อยตัวใน พ.ศ. 2476 เขาได้รวบรวมสมาชิกขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งกลุ่มของฟาน โบ่ย เจิว ที่จัดตั้งองค์กรในกวางตุ้งซึ่งมีวัตถุประสงค์เดียวกันใน พ.ศ. 2468 กลุ่มของเจิวเป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์และได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มชาตินิยมของจีน กลุ่มของเจิวได้จัดตั้งสันนิบาตประชาชนตะวันออกซึ่งล้มเหลวลงในที่สุด ใน พ.ศ. 2475 สันนิบาตนี้ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลอินโดจีนที่กวางตุ้ง ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2476 กลุ่มของเจิวได้รวมเข้ากับกลุ่มของเงียบที่ยูนนาน ใน พ.ศ. 2478 เงียบถูกฝรั่งเศสจับกุมที่เซี่ยงไฮ้ กลุ่มของเงียบได้สลายตัว มีกิจกรรมไม่มากนักจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นรุกรานอินโดจีนใน พ.ศ. 2483 พวกเขาพยายามจัดตั้งองค์กรกรรมกรในยูนนานแต่ประสบความสำเร็จน้อย

พรรคชาตินิยมเวียดนามค่อยๆถูกกลืนเข้ากับองค์กรเรียกร้องเอกราชเวียดนามที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนของโฮจิมินห์ ใน พ.ศ. 2483 โฮได้เดินทางมายังยูนนาน เขาได้เสนอความร่วมมือระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนกับขบวนการชาตินิยมเช่น พรรคชาตินิยมเวียดนาม ในเวลานั้น สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดขึ้นแล้ว ญี่ปุ่นได้เข้ามาครอบงำจีนตะวันออก และเข้ามามีอำนาจแทนที่ฝรั่งเศสในเวียดนาม โฮได้เดินทางต่อไปกวางสี ซึ่งเป็นที่กองทัพของฝ่ายชาตินิยมต่อต้านญี่ปุ่นตั้งอยู่และร่วมมือกับพรรคก๊กมินตั๋งของจีน และความร่วมมือของนักชาตินิยมได้เกิดขึ้น โฮได้จัดตั้งสันนิบาตเอกราชเวียดนามหรือเวียดมิญ โฮ หง็อก ลาม หรือต่อมาคือฝั่ม วัน ดง ซึ่งเป็นนักชาตินิยมในพรรคชาตินิยมเวียดนามได้เข้าร่วมกับโฮ ต่อมา เวียดมิญ ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อเต็มเป็นสันนิบาตปลดปล่อยเวียดนาม ไม่ใช่สถานการณ์ที่ง่ายนัก ผู้นำพรรคชาตินิยมเวียดนามอีกคนนึง เจี่ยว หอย กง ซึ่งจบมาจากสถาบันวิชาการทหารก๊กมินตั๋งต้องการท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์ในระยะเริ่มต้น ในขณะที่วู ฮอง คาน เป็นผู้นำกลุ่มต่อต้านคอมมิวนิสต์หัวรุนแรงในพรรคชาตินิยมเวียดนาม สันนิบาตปฏิวัติเวียดนามเป็นสหภาพของกลุ่มชาตินิยมเวียดนามหลายกลุ่ม นำโดย กลุ่มพรรคชาตินิยมเวียดนามที่นิยมจีน นายพลจากก๊กมินตั๋ง จาง ฟากุย ได้สร้างสันนิบาตขึ้นมาเพื่อสร้างอิทธิพลของจีนในอินโดจีนเพื่อต่อต้านฝรั่งเศสและญี่ปุ่น[10] สันนิบาตนี้นำโดยเหงียน ไฮ ทาน ซึ่งเกิดในจีนและพูดภาษาเวียดนามไม่ได้ นายพลจางพยายามขัดขวางกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและโฮจิมินห์ไม่ให้เข้ามาสร้างอิทธิพลในสันนิบาต ก๊กมินตั๋งให้ความช่วยเหลือเวียดนามกลุ่มนี้ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น[11]

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แก้

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นได้จัดตั้งจักรวรรดิเวียดนามขึ้นเป็นรัฐหุ่นเชิด และได้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองที่ต่อต้านฝรั่งเศสหลายคน รวมทั้งสมาชิกพรรคชาตินิยมเวียดนาม ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 กลุ่มเวียดมินห์ของโฮจิมินห์ได้ขึ้นสู่อำนาจและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากญี่ปุ่นถอนตัวออกไปจากเวียดนาม กลุ่มพรรคชาตินิยมเวียดนามประมาณ 100 คน ได้เดินทางจากจีนเข้าสู่เวียดนามแต่กลับถูกเวียดมิญสังหารที่แนวชายแดน พรรคชาตินิยมเวียดนามในเวียดนามเหนือได้รับการสนับสนุนจากพรรคก๊กมินตั๋งในจีน พรรคชาตินิยมได้ควบคุมที่มั่นตามแนวชายแดนจีน-เวียดนามใกล้ลาวก่าย พวกเขาได้ตั้งสถาบันวิชาการทหารที่เยนไบ๊ เพื่อฝึกทหารของตนเอง พรรคชาตินิยมเวียดนามได้จัดตั้งกลุ่มในฮานอยและออกหนังสือพิมพ์เพื่อเผยแพร่นโยบายและอุดมการณ์

ข้อตกลงระหว่างพรรคชาตินิยมเวียดนามกับเวียดมิญไร้ประโยชน์ในเวลาต่อมา รัฐมนตรีที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะมีรัฐมนตรีช่วยที่เป็นคอมมิวนิสต์และไม่ได้รับข้อมูลในการบริหารที่ครบถ้วน การเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคชาตินิยมเวียดนามและเวียดมิญ โดยเวียดมิญกล่าวหาว่าทหารของพรรคชาตินิยมเวียดนามโจมตีสถานี ส่วนพรรคชาตินิยมโจมตีเวียดมิญว่าจัดการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม

เชิงอรรถ แก้

  1. Hammer (1955), p. 82.
  2. Duiker p. 155.
  3. "Sách "Nguyễn Thái Học (1902 – 1930)" của Nhượng Tống (kỳ 2)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-03. สืบค้นเมื่อ 2017-06-24.
  4. Lịch sử đấu tranh cận đại của Việt Nam Quốc dân Đảng (6)
  5. Thư ngỏ gửi : Ban nghiên cứu Ðảng sử Việt Nam Quốc dân Ðảng Vietnamese Nationalist Party เก็บถาวร 2014-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. Vietnamese Nationalist Party : A contemporary history of a national struggle : 1927-1954 (page 73)
  7. "Sách "Nguyễn Thái Học (1902 – 1930)" của Nhượng Tống (kỳ 3)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-03. สืบค้นเมื่อ 2017-06-24.
  8. Currey, pp. 15-16, 20.
  9. Duiker, pp. 160-161.
  10. Oscar Chapuis (2000). The last emperors of Vietnam: from Tu Duc to Bao Dai. Greenwood Publishing Group. p. 106. ISBN 0-313-31170-6. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.
  11. William J. Duiker (1976). The rise of nationalism in Vietnam, 1900-1941. Cornell University Press. p. 272. ISBN 0-8014-0951-9. สืบค้นเมื่อ 2010-11-30.

อ้างอิง แก้

  • Blair, Anne E. (2001). There to the Bitter End: Ted Serong in Vietnam. Crows Nest, New South Wales: Allen & Unwin. ISBN 1-86508-468-9.
  • Currey, Cecil B. (1999). Victory at Any Cost: the genius of Viet Nam's Gen. Vo Nguyen Giap. Washington D.C.: Brassey. ISBN 1-57488-194-9.
  • Duiker, William (1976). The Rise of Nationalism in Vietnam, 1900-1941. Ithaca, New York: Cornell University Press. ISBN 0-8014-0951-9.
  • Goodman, Allen E. (1973). Politics in war: the bases of political community in South Vietnam. Cambridge, Massachusetts: Harvard University Press. ISBN 0-674-68825-2.
  • Hammer, Ellen J. (1955). The Struggle for Indochina, 1940-1955. Stanford, California: Stanford University Press.
  • Hammer, Ellen J. (1987). A Death in November: America in Vietnam, 1963. New York City: E. P. Dutton. ISBN 0-525-24210-4.
  • Jacobs, Seth (2006). Cold War Mandarin: Ngo Dinh Diem and the Origins of America's War in Vietnam, 1950-1963. Lanham, Maryland: Rowman & Littlefield. ISBN 0-7425-4447-8.
  • Jamieson, Neil L. (1995). Understanding Vietnam. Berkeley, California: University of California Press. ISBN 0-520-20157-4.
  • Karnow, Stanley (1997). Vietnam: A History. New York City: Penguin. ISBN 0-670-84218-4.
  • Marr, David G. (1981). Vietnamese Tradition on Trial, 1920-1945. Berkeley, California: University of California Press. ISBN 0-520-04180-1.
  • Marr, David G. (1995). Vietnam 1945 : the quest for power. Berkeley, California: University of California Press. ISBN 0-520-21228-2.
  • Rettig, Tobias (November 2002). "French military policies in the aftermath of the Yên Bay mutiny, 1930: old security dilemmas return to the surface". South East Asia Research. 10 (3): 309–331. doi:10.5367/000000002101297099.
  • Topmiller, Robert J. (2006). The Lotus Unleashed: The Buddhist Peace Movement in South Vietnam, 1964-1966. Lexington, Kentucky: University Press of Kentucky. ISBN 0-8131-9166-1.
  • Tucker, Spencer C. (2000). Encyclopedia of the Vietnam War: A Political, Social and Military History. Santa Barbara, California: ABC-CLIO. ISBN 1-57607-040-9.
  • Willbanks, James H. (2008). The Tet Offensive: A Concise History. New York City, New York: Columbia University Press. ISBN 0-231-12841-X.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้