ไตรจีวร

(เปลี่ยนทางจาก ผ้าไตร)

ไตรจีวร คือ ผ้าจีวร ๓ ผืน คนไทยเรียกสั้น ๆ ว่า ผ้าไตร เป็นชื่อเรียกผ้านุ่งผ้าห่มที่พระสงฆ์ใช้สอย หมายถึงผ้า 3 ผืน ซึ่งมีทั้งผ้านุ่งและผ้าห่ม อันได้แก่ สังฆาฏิ (ผ้าพาดบ่า) อุตราสงค์ (ผ้าจีวรสำหรับห่ม) และอันตรวาสก (ผ้าสบงสำหรับนุ่ง) แต่นิยมเรียกรวมกันว่า ไตรจีวร ไตรจีวรเป็นปัจจัยหรือบริขารของพระสงฆ์อย่างหนึ่งในจำนวน 8 อย่าง

พระภิกษุในพระพุทธศาสนามีการนุ่งห่มจีวรด้วยสีต่าง ๆ ตามคติและวินัยในแต่ละนิกาย

นอกจากนี้ยังมีอีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกไตรจีวรทั้งนิกายเถรวาทและมหายานคือคำว่า กาสาวะ กาสายะ หรือ กาษายะ (บาลี: kasāva kasāya กาสาว กาสาย; สันสกฤต: काषाय kāṣāya กาษาย; จีน: 袈裟; พินอิน: jiāshā; ญี่ปุ่น: 袈裟ทับศัพท์: kesa; เกาหลี가사; ฮันจา袈裟; อาร์อาร์gasa; เวียดนาม: cà-sa) ซึ่งหมายเอาตามชื่อสีที่ใช้ย้อมทำจีวรเป็นหลัก โดยผ้ากาสาวะ หมายถึงผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ซึ่งก็คือผ้าไตรจีวรทั้งสามผืนนั่นเอง

ความเป็นมาของจีวร

แก้

ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ก็มีหลักฐานว่า ทรงใช้ผ้านุ่งห่มที่เรียกว่าจีวร แต่ในช่วงต้นพุทธกาล พระภิกษุยังคงใช้ผ้าที่หาได้มาเย็บต่อ ๆ กัน ไม่เป็นระเบียบ หรือบางครั้งภิกษุบางรูปได้รับถวายผ้าอย่างดีจากคหบดีก็มีการถูกลักขโมยบ่อยครั้ง เนื่องด้วยผ้าเป็นสิ่งที่หายากในสมัยพุทธกาล

ลายคันนาบนจีวร

แก้
 
จิตรกรรมรูปพระภิกษุจีนและพระภิกษุชาวเอเชียกลาง สมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15 โปรดสังเกตลวดลายของจีวร ซึ่งเป็นลายสี่เหลี่ยมเลียนแบบลายตารางคันนา อันเป็นเอกลักษณ์ของจีวรในพุทธศาสนาทุกนิกาย ไม่ว่าจะทำด้วยวัสดุใดและเป็นสีใดก็ตาม

จนต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรนาของชาวมคธ จึงทรงดำริให้ตัดผ้าจีวร เป็นสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ มาต่อกัน จึงมีลักษณะเป็นผ้าที่เศร้าหมอง คือผู้อื่นมักไม่ต้องการไปตัดเย็บอีก เหมาะสมกับสมณะ ผ้าสี่เหลี่ยมผืนเล็กๆ ที่เย็บต่อกันนั้น ปรากฏลวดลายเป็นลายคันนา ออกแบบโดยพระอานนท์ ดังปรากฏข้อความในพระวินัยปิฎก ว่า

"อานนท์ เธอเห็นนาของชาวมคธ ซึ่งเขาพูนดินขึ้นเป็นคันนาสี่เหลี่ยม พูนคันนายาวทั้งด้านยาวและด้านกว้าง พูนคันนาคั่นในระหว่างๆ ด้วยคันนาสั้นๆ พูนคันนาเชื่อมกันทาง 4 แพร่ง ตามที่ซึ่ง คันนากับคันนา ผ่านตัดกันไปหรือไม่? ... เธอสามารถแต่งจีวรของภิกษุทั้งหลาย ให้มีรูปอย่างนั้นได้หรือไม่?"

พระอานนท์ตอบว่า "สามารถ พระพุทธเจ้าข้า."

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ทักขิณาคิรีชนบทตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จ กลับมาพระนครราชคฤห์อีก ครั้งนั้นท่านพระอานนท์แต่งจีวรสำหรับภิกษุหลายรูป ครั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า

"ขอพระผู้มีพระภาคจงทอดพระเนตรจีวรที่ข้าพระพุทธเจ้าแต่งแล้ว พระพุทธเจ้าข้า."

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย อานนท์เป็นคนฉลาด อานนท์ได้ซาบซึ้ง ถึงเนื้อความแห่งถ้อยคำที่เรากล่าวย่อได้โดยกว้างขวาง ...จีวรจักเป็นผ้าที่ตัดแล้ว เศร้าหมองด้วยศัสตรา สมควรแก่สมณะ และพวกศัตรูไม่ต้องการ"

ไตรจีวร

แก้
 
การห่มจีวร

หลังจากพระอานนท์ถวายจีวรที่ตัดแต่งแล้ว ให้ทอดพระเนตร พระพุทธองค์ทรงพอพระทัย และอนุญาตให้ใช้ ผ้า 3 ผืน คือ สังฆาฏิชั้นเดียว จีวร และสบง

ต่อมาทรงอนุญาต ไตรจีวร คือ ผ้าสังฆาฏิสองชั้น จีวร และสบง ทั้งนี้เพื่อให้พระสงฆ์ ใช้ป้องกันความหนาวเย็น และรับสั่งว่า ภิกษุไม่พึงมีจีวรมากกว่านี้ (รูปใดมีมากกว่านี้ เป็นอาบัติ)

อติเรกจีวร คือ จีวรที่มีเกินกว่าผ้าที่อธิษฐานเป็นไตรจีวร ตามพระวินัย ภิกษุสามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน และสามารถทำเป็น วิกัปอติเรกจีวร คือ ทำให้เป็นจีวรที่มี 2 เจ้าของ เพื่อจะได้ไม่ต้องอาบัติ เพราะเก็บไว้เกินกำหนด

ความเป็นมาของเรื่องอติเรกจีวรนี้ เนื่องจากมีผู้ถวายจีวรแก่พระอานนท์ แล้วท่านประสงค์จะเก็บไว้ ถวายพระสารีบุตร ซึ่งขณะนั้นอยู่ต่างเมือง ประมาณ 10 วัน จึงจะเดินทางมาถึง พระอานนท์ได้เข้าไป ทูลถามพระพุทธองค์ว่า จะปฏิบัติอย่างไร กับอติเรกจีวรดี จึงทรงมีพุทธบัญญัติ ให้เก็บรักษาอติเรกจีวร ไว้ได้ไม่เกิน 10 วัน

ผ้าที่ใช้ทอจีวร

แก้

สมัยต่อมา มีจีวรหลายประเภทเกิดขึ้น ภิกษุทั้งหลายไม่แน่ใจว่า จีวรชนิดใดที่ทรงอนุญาต จึงกราบทูลเรื่องนั้นต่อพระศาสดา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตจีวร 6 ชนิด คือ

  • จีวรทำด้วยเปลือกไม้
  • ทำด้วยฝ้าย
  • ทำด้วยไหม
  • ทำด้วยขนสัตว์
  • ทำด้วยป่าน
  • ทำด้วยของเจือกัน

สีจีวร

แก้

ในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 บันทึกว่า แต่เดิมนั้นพระภิกษุย้อมสีจีวรต่างกันไป พระโคตมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า[1]

"ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำย้อม 6 อย่าง คือ น้ำย้อมเกิดแต่รากหรือเหง้า 1 น้ำย้อมเกิดแต่ต้นไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่เปลือกไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ดอกไม้ 1 น้ำย้อมเกิดแต่ผลไม้ 1"

ส่วนสีที่ทรงห้ามมี 7 สี คือ สีเขียวครามเหมือนดอกผักตบชวา, สีเหลืองเหมือนดอกกรรณิการ์, สีแดงเหมือนชบา, สีหงสบาท (สีแดงกับเหลืองปนกัน), สีดำเหมือนลูกประคำดีควาย, สีแดงเข้มเหมือนหลังตะขาบ และสีแดงกลายเหมือนสีดอกบัว[2]

บางแห่งระบุว่า สีต้องห้าม คือ สีดำ สีคราม สีเหลือง สีแดง สีบานเย็น สีแสด และสีชมพู[2]

กาสาวะของพุทธศาสนายุคแรก

แก้

การครองจีวร หรือ กาสาวะในช่วงพุทธศาสนายุคแรก หรือในยุคที่พุทธศาสนายังรุ่งเรืองในอินเดีย (Indian Buddhism) มีความแตกต่างหลากหลายไปตามคณะนิกายต่าง ๆ ความแตกต่างนี้ไม่เพียงสื่อถึงสำนักนิกายในสังกัดเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงความแตกต่างในพระวินัยอีกด้วย ระหว่างปี ค.ศ. 148 - 170 อันซื่อเกา (安世高) พระภิกษุชาวปาร์เตีย (Parthia) จาริกมาถึงแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่าน ได้แปลปกรณ์วิเศษเกี่ยวกับการครองผ้า และสีสันจีวรของ 5 นิกายหลักของพุทธศาสนาในอินเดีย ปกรณ์วิเศษที่ว่านี้มีชื่อว่า "มหาภิกษุเสขิยวัตร 3,000 ประการ" (大比丘三千威儀) อีกปกรณ์ที่พรรณนาถึงการครองผ้าและสีจีวรในลักษณะเดียวกันคือคัมภีร์ศาริปุตรปริปฤจฉา ข้อแตกต่างระหว่าง 2 คัมภีร์ก็คือ สีจีวรของนิกายสรวาสติวาทกับนิกายธรรมคุปตกะสลับกัน

นิกาย มหาภิกษุเสขิยวัตร ศาริปุตรปริจจฉา
สรวาสติวาท แดงเข้ม ดำ
ธรรมคุปตกะ ดำ แดงเข้ม
มหาสังฆิกะ เหลือง เหลือง
มหีศาสกะ น้ำเงิน น้ำเงิน
กาศยปียะ สีจำปา สีจำปา

กาสาวะของพุทธศาสนามหายาน

แก้

กาสาวะในจีน พุทธจักรในจีน เรียกจีวร หรือผ้ากาสาวะว่า "เจียซา" (袈裟) ในสำเนียงมาตรฐานปัจจุบัน แต่ในสำเนียงจีนโบราณออกเสียงว่า "เกียซา" หรือ "กาซา" ในช่วงแรกที่พุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่แผ่นดินจีนนั้น พระภิกษุครองจีวรสีแดงเป็นหลัก แต่ต่อมาคณะนิกายมีความแตกต่างหลากหมายมากขึ้นสีสันจึงมีความแตกต่างมากขึ้น ดังเช่นคณะนิกายในอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของจีนนั้น สีของกาสาวะมักแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ต่าง ๆ เป็นสำคัญ มากกว่าที่จะใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่างคณะนิกาย โดยในแถบเจียงหนาน ทางภาคใต้ มักครองสีดำเข้ม ขณะที่แถบไคเฟิง ทางภาคกลางมักครองสีกรัก เป็นต้น

ในเวลาต่อมาสายการอุปสมบทในจีนเหลือเพียงสายที่อิงกับพระวินัยของนิกายธรรมคุปตกะเท่านั้น ดังนั้นความแตกต่างระหว่างสีกาสาวะกับคณะนิกายจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดยเหตุนี้ในสมัยราชวงศ์ถังเป็นต้นมา พระภิกษุในจีนมักครองกาสาวะสีเทาเหลือบดำ ผู้คนจึงเรียกพระภิกษุว่า "จืออี" (緇衣) หรือผู้ห่มผ้าดำ ซึ่งเป็นสีกาสาวะของนิกายธรรมคุปตกะนั่นเอง

นอกจากสีดำแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถังยังมีธรรมเนียมการถวายจีวรสีม่วงให้กับพระภิกษุสงฆ์ผู้ประกอบด้วยคุณงามความดีอันยอดยิ่ง โดยธรรมเนียมนี้มีที่มาจากตำนานเล่าขานเกี่ยวกับพระศาณะวาสิน ศิษย์ของพระอานนท์ ที่ถือกำเนิดมาพร้อมกับจีวร ต่อมาในแผ่นดินจีนมีเรื่องราวคล้ายคลึงกัน โดยพระภิกษุรุปหนึ่ง นามว่า ฮุ่ยเหลิง (慧稜) ถือกำเนิดมาพร้อมกับจีวรเช่นกัน แต่เป็นจีวรสีม่วง ประจวบเหมาะกับสีม่วงเป็นสีเครื่องแบบของขุนนางชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ ตามธรรมเนียมจีนกาสาวะม่วงจึงไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดมาเพื่อดดำรงสมณะเพศแต่กำเนิดเท่านั้น ยังหมายถึงสมณะผู้มีคุณงามความดีความอันโดดเด่นด้วย ซึ่งการถวายจีวรสีม่วงแก่พระเถระ เกิดขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระนางเจ้าอู๋เจ๋อเทียน หรือพระนางบูเช็กเทียน ในสมัยราชวงศ์ถัง

อย่างไรก็ตาม พระภิกษุที่เคร่งครัดในสมัยราชวงศ์ถังไม่ยินดีนักกับการครองกาสาวะม่วง อันเป็นสัญลักษณ์ที่ยังข้องอยู่กับทางโลก กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง ทางการขาดแคลนรายได้อย่างหนัก ถึงกับประกาศขายกาสาวะสีม่วง (หรือนัยหนึ่งคือสมณะศักดิ์) แก่พระภิกษุ หรือผู้ที่ปรารถนาจะซื้อแล้วถวายแก่พระภิกษุ ตราบนั้นเป็นต้นมา กาสาวะสีม่วงจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความเสื่อมโทรมของพุทธจักร

กาสาวะในเกาหลี พุทธจักรในเกาหลีเรียกจีวรว่า กาซา หรือ คาซา (อักษรฮันจา 袈裟 อักษรฮันกึล 가사) นับตั้งแต่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่คาบสมุทรเกาหลี การครองจีวรส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากจีน ซึ่งแตกต่างไปตามนานานิกาย อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ราชวงศ์โชซอน (1392–1910) เป็นต้นมา ภิกษุส่วนใหญ่ครองกาสาวะสีเทาครองสังฆาติสีแดง ต่อมาหลังการปฏิรูปพุทธศาสนาครั้งใหญ่ระหว่างปี 1947 - 1962 พุทธจักรในเกาหลีแยกเป็น 2 นิกาย คือนิกายแทโก (อักษรฮันจา 太古宗 อักษรฮันกึล 태고종) ซึ่งครองอุตราสงค์สีเทา หรือสีน้ำเงิน สังฆาฏิสีแดง ขณะที่นิกายโชเก (อักษรฮันจา 曹溪宗 อักษรฮันกึล 조계종) ครองอุตราสงค์สีเทา หรือสีน้ำเงิน สังฆาฏิสีกรัก

กาสาวะในญี่ปุ่น พุทธจักรในญี่ปุ่นเรียกกาสาวะว่า เกสะ (袈裟) นับแต่พุทธศาสนาเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนนี้ ลักษณะการครองและสีสันของผ้าแตกต่างกันไปตามนิกายที่มีอยู่หลากหลาย อีกทั้งยังมีการจำแนกแยกย่อยกาสาวะตามคุณลักษณะการใช้งาน เช่นการครองผ้าตามวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และการครองผ้าสำหรับงานพิธีกรรม อย่างน้อยมีการแบ่งกาสาวะตามลักษณะต่าง ๆ ดังที่ว่านี้ ด้วยชื่อเรียกถึง 20 ชื่อ นอกจากนี้ ยังมี "วะเกสะ" หรือกาสาวะครึ่งแบบ และ "ฮังเกสะ" หรือกาสาวะเล็ก สำหรับอุบาสกผู้รับศีล

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักครองผ้าสีดำหรือสีเทาในยามปกติ นอกจากนี้ ยังรับธรรมเนียมการถวายกาสาวะสีม่วงจากสมัยราชวงศ์ถังมาด้วย แต่ธรรมเนียมนี้ถูกยกเลิกไปในศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยโชกุนตระกูลโทะกุงะวะ การประกาศยกเลิกธรรมเนียมยังผลให้พระจักพรรดิทรงขัดเคืองพระทัยอย่างหนัก ถึงกับทรงสละราชสมบัติ เมื่อพระราชาคณะชั้นสูงประท้วงคำสั่งและไม่กระทำการตามประกาศ ภายหลังเหตุการณ์ที่เป็นข้อขัดแย้งสิ้นสุด พระภิกษุส่วนหนึ่งได้ถูกทางการเนรเทศ

กาสาวะในเวียดนาม พุทธจักรในเวียดนามครองกาสาวะ หรือ กาสะ (cà-sa) ใกล้เคียงกับในจีน มีสีเหลือง สีส้ม สีกรัก สีแดง

กาสาวะในทิเบต พุทธจักรในทิเบตถือตามพระวินัยของนิกายมูลสรวาสติวาท กาสาวะส่วนใหญ่ของคณะนิกายต่าง ๆ ในทิเบตจึงมีสีแดงตามนิกายมูลสรวาสติวาท แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ มีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปตามแต่ละนิกาย

ตัวอย่างการห่มจีวร

แก้

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  1. "พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒". โปรแกรมตรวจหาและเทียบเคียงพุทธวจน. ม.ป.ป. สืบค้นเมื่อ 2556-01-16. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  2. 2.0 2.1 "ทำไมสีจีวรของพระจึงต่างกัน เพราะอะไร". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพะเยา. ม.ป.ป. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2556-01-16. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)