ซูเซิน บอยล์
เกิด1 เมษายน พ.ศ. 2504 (62 ปี)
ที่เกิดเมืองแบล็กเบิร์น เทศมณฑลเวสต์โลเธียน ประเทศสกอตแลนด์[1]
อาชีพว่างงาน, นักร้องมือสมัครเล่น
เครื่องดนตรีเสียง

ซูเซิน บอยล์ (อังกฤษ: Susan Boyle; เกิด: 1 เมษายน พ.ศ. 2504[2] [3] [4]) เป็นนักร้องมือสมัครเล่นชาวสกอตแลนด์และนักบริการชุมชน[5] เธอได้รับความสนใจจากสาธารณชนเมื่อเธอปรากฏตัวในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" (อังกฤษ: Britain's Got Talent) ฤดูกาลที่ 3 รอบแรก ออกอากาศ ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552[6] โดยเธอเข้าประกวดขับร้องเพลง "ไอดรีมด์อะดรีม" (อังกฤษ: I dreamed a dream) เพลงจากละครเวทีเรื่อง "เลมีเซราบล์" (ฝรั่งเศส: Les Misérables)[7] ซึ่งก่อนเธอจะขับร้อง ทั้งผู้ชมในโถงประกวดและคณะกรรมการตัดสินต่างแสดงอาการดูถูกเหยีดหยามเธอ เหตุที่เธอมีรูปลักษณ์ไม่น่าดูชม อายุที่มาก และมาจากชนบท เหตุกลับหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อความสามารถในการร้องเพลงของเธอยังให้ผู้ชมทั้งโถงและกรรมการประทับใจจนหลั่งน้ำตา ปรบมือ และยืนขึ้นให้เกียรติเป็นเวลานาน โดยกรรมการทั้งสามคนลงคะแนนเสียงให้เธอผ่านการประกวดรอบแรก[8] และหากซูเซินชนะเลิศการประกวดครั้งนี้ ไม่เพียงแต่รางวัลที่จะได้รับ เธอยังจะได้ขับร้องเพลงหน้าที่นั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วย

ซูเซิน บอยล์ ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีกเมื่อวีดิทัศน์การประกวดร้องเพลงดังกล่าวได้รับการนำลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์หลายแห่ง โดยเฉพาะในเว็บไซต์ยูทูบนั้น[9] เพียงหนึ่งสัปดาห์นับแต่วันนำลงเว็บไซต์ก็มีผู้เข้าชมมากกว่าสี่พันสามร้อยล้านครั้งทั่วโลก[10] และมีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเธอโดยสื่อมวลชนนานาชาติ[11] รวมถึงประเทศไทย[12] นอกจากนี้ บริษัทโซนีมิวสิกยังเตรียมทำสัญญาจ้างซูเซินเป็นนักร้องในสังกัดอีกด้วย[13]

ซูเซิน บอยล์ มีชีวิตที่รันทดมาแต่เด็ก เมื่อแรกเกิดโรงพยาบาลไม่มีอ๊อกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเพียงพอทำให้ประสาทการรับรู้ของเธอทำงานอ่อน วัยเรียนจึงเป็นที่กลั่นแกล้งของเพื่อน ๆ[14] ครั้นเติบใหญ่และบิดาตายลง ญาติพี่น้องทั้งหมดก็ทิ้งให้อยู่กับมารดาผู้ชราเพียงสองคน เธอได้รับแรงใจจากมารดาที่รู้ว่าลูกสาวรักการร้องเพลงให้เข้าประกวดแข่งขันหลายเวทีและได้รับรางวัลมาจำนวนหนึ่ง เธอได้ดูแลปรนนิบัติมารดากระทั่งมารดาถึงแก่กรรม จึงตัดสินใจเข้าสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้นที่รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" โดยการสนับสนุนของครูและบรรดาเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานอุทิศให้แก่มารดาในสรวงสวรรค์[5] ปรากฏการณ์ของซูเซิน บอยล์ สะท้อนกระแสของสังคมสมัยใหม่ที่มักตัดสินผู้คนจากรูปลักษณ์ภายนอกในทีเดียวก่อนรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเขา

ชีวประวัติ แก้

ซูเซิน บอยล์ เกิดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2504เมืองแบล็กเบิร์น เทศมณฑลเวสต์โลเธียน ประเทศสกอตแลนด์ โดยเป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรเก้าคนของนายแพทริก บอยล์ (อังกฤษ: Patrick Boyle) พนักงานโกดังที่โรงงานบริติชเลย์แลนด์ (อังกฤษ: British Leyland) ในเมืองบาธเกต (อังกฤษ: Bathgate) กับนางบริดเจ็ด บอยล์ (อังกฤษ: Bridget Boyle) นักพิมพ์ชวเลข[4] ซูเซินมีพี่ชายสี่คน และพี่สาวอีกสี่คน ซึ่งพี่น้องทั้งเก้าคนนี้ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วสามคน[5] เมื่อตอนซูเซินเกิด มารดามีอายุได้สี่สิบสี่ปี[15] และหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์รายงานว่า เวลานั้นเป็นช่วงที่ลำบากมาก เพราะไม่มีอ๊อกซิเจนเพียงพอจะให้แก่ซูเซินเมื่อแรกเกิด ทำให้เธอประสบภาวะขาดอากาศหายใจขณะคลอด (อังกฤษ: intrapartum asphyxia) และประสาทการเรียนรู้ของเธอทำงานอ่อน เมื่อตอนเข้าโรงเรียนจึงเป็นที่กลั่นแกล้งและล้อเลียนกันอย่างสนุกสนานของเพื่อน ๆ[14] [16]

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาโดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์เพียงบางประการแล้วนั้น[5] ซูเซินเข้ารับการอบรมประกอบอาหารที่วิทยาลัยเวสต์โลเธียน (อังกฤษ: West Lothian College) เป็นเวลาหกเดือน[17] และเข้าโครงการฝึกอาชีพที่รัฐบาลจัดขึ้นต่ออีกระยะหนึ่ง[4] ในช่วงนั้นเธอชื่นชอบการเข้าชมละครเวทีและได้เข้าชมที่โรงละครท้องถิ่นหลายครั้ง[4] เธอจึงได้ชมดูนักร้องเพลงมืออาชีพขับร้องอย่างเพลิดเพลิน[18]

ใน พ.ศ. 2538 ซูเซินเข้าทดสอบการแสดงในรายการ "มายไคนด์ออฟพีเปิล" (อังกฤษ: My Kind of People) ของไมเคิล แบร์รีมอร์ (อังกฤษ: Michael Barrymore) โดยรายการกำลังจัดการแข่งขัน ณ ศูนย์การค้าแบรเฮด (อังกฤษ: Braehead Shopping Centre) นครกลาสโกว์[18] ซึ่งครั้งนั้นซูเซินกล่าวว่าเธอตื่นเต้นเกินกว่าจะสงบสติอารมณ์และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมได้[4]

ต่อมา ซูเซินเข้ารับการอบรมร้องเพลงจากนักฝึกเสียงชื่อดัง เฟรด โอเนล (อังกฤษ: Fred O'Neil) ที่โรงเรียนสอนดนตรี ณ เมืองวิตเบิร์น มณฑลเวสต์ลูเธียน[5] ซูเซินยังได้เข้าเรียนการแสดงที่โรงเรียนฝึกสอนการแสดงแห่งเอดินบะระ (อังกฤษ: Edinburgh Acting School) และได้แสดงในเทศกาลเอดินบะระฟรินจ์ (อังกฤษ: Edinburgh Fringe) อันเป็นเทศกาลทางศิลปกรรมที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สุดของโลกเป็นประจำทุกปี[19]

ใน พ.ศ. 2542 ขณะศึกษาที่โรงเรียนสอนดนตรีของเฟรด โอเนล ซูเซินได้อัดเสียงร้องเพลง "ครายมีอะริเวอร์" (อังกฤษ: Cry Me A River) สำหรับอัลบัมการกุศลที่สภาเทศบาลจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองคริสต์สหัสวรรษที่ 2[5] [14] [20] เพลงดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทางเว็บไซต์หลังจากวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นวันออกอากาศรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" (อังกฤษ: Britain's Got Talent) ตอนที่ซูเซินเข้าประกวด โดยได้รับเสียงตอบรับชื่นชมขนานใหญ่และอย่างเฉียบพลันทันทีภายหลังการเผยแพร่ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ (อังกฤษ: New York Post) ว่า ผลงานเพลง "ครายมีอะริเวอร์" ของซูเซินพิสูจน์ว่าเธอมิใช่คนที่ร้องเพลงดีแค่เพลงเดียว (หมายถึงการร้องเพลงของซูเซินในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์") และซีดีอัลบัมดังกล่าวมีการผลิตแค่หนึ่งพันแผ่น จะทำให้กลายเป็นของทรงค่าอันหายาก นอกจากนี้ ปฏิกิริยาจากสื่อมวลชื่ออื่น ๆ ต่อผลงานเพลงดังกล่าวของซูเซิน ก็เป็นไปในทางบวก เช่น นิตยสารเฮลโล (อังกฤษ: Hello) ว่า ผลงานดังกล่าวสนับสนุนว่าซูเซินมีพรสวรรค์ชั้นเลิศในด้านการร้องเพลง นอกจากนี้ ในปีเดียวกัน ซูเซินยังได้อาศัยเงินทั้งหมดที่อดออมไว้เช่าห้องอัดเสียงร้องเพลง "ครายมีอะริเวอร์" และเพลง "คิลลิงมีซอฟต์ลีวิธฮีสซอง" (อังกฤษ: Killing Me Softly With His Song) และบันทึกลงเทปหลายตลับเพื่อส่งไปเข้าประกวดและไปยังค่ายเพลงต่าง ๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เธอยังมอบเทปเสียงจำนวนหนึ่งให้เพื่อน ๆ ที่สนิทกันไปฟังเล่น และปัจจุบันก็มีผู้นำมาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต[21]

สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น เมื่อบิดาของซูเซินถึงแก่กรรมในกลางพุทธทศวรรษที่ 253 (พ.ศ. 2530-2540) ญาติพ้องน้องพี่ของเธอก็ไม่มีใจจะอยู่กับเธออีกต่อไปและพากันจากบ้านไปทั้งหมด ทิ้งให้ซูเซินอาศัยอยู่ลำพังกับมารดาผู้ชรา ซึ่งนางบริดเจ็ตมารดาของซูเซินนั้นทราบว่าบุตรสาวของตนชอบร้องเพลง ก็มักชี้ชวนและให้กำลังใจบุตรสาวให้เข้าร่วมการประกวดร้องเพลงของท้องถิ่นเสมอ และซูเซินก็คว้ารางวัลชนะเลิศมาหลายครั้ง ทั้งนี้ นางบริดเจ็ตยังชี้ชวนให้ซูเซินเข้าประกวดร้องเพลงที่รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" หลายครั้ง โดยกล่าวว่าอยากให้ซูเซินได้ลองเสี่ยงแสดงความกล้าร้องเพลงต่อหน้าผู้ชมขนาดใหญ่มากกว่าผู้ชมในโบสถ์ แต่ซูเซินปฏิเสธว่าเธอรู้สึกว่ายังไม่พร้อม กระทั่งนางบริดเจ็ตเสียชีวิตใน พ.ศ. 2550 เมื่ออายุได้เก้าสิบเอ็ดปี[15] ซูเซินคงพำนักอยู่ในบ้านหลังเดิมที่มีห้องนอนสี่ห้องต่อไป โดยมีแมวชราชื่อ "เพ็บเบิลส์" (อังกฤษ: Pebbles) เป็นเพื่อนแก้เหงา[5] เพื่อนบ้านของซูเซินบอกนักข่าวว่า ซูเซินไม่เคยมีหรือจัดงานวันเกิดของตัวเองเลยเพราะใช้เวลาดูแลเอาใจใส่มารดาอยู่เสมอ[15] และหลังจากมารดาเสียชีวิตแล้ว ซูเซินก็พยายามข่มใจต่อสู้กับการสูญเสียครั้งนี้โดยบอกกับตัวเองว่า จะขอทำใจอยู่ในบ้าน ไม่ออกไปข้างนอก ตอบเสียงเคาะประตู หรือรับโทรศัพท์สักสามสี่วัน[15]

ไม่เพียงแต่การส่งเสริมของมารดาเท่านั้น เฟรด โอเนล ครูของซูเซิน ยังช่วยผลักดันให้ซูเซินเข้าแข่งขันในรายการ "ดิเอ็กซ์แฟกเทอร์" (อังกฤษ: the X Factor) ด้วย แต่เธอปฏิเสธ ให้เหตุผลว่าตนเชื่อว่าผู้คนมักได้รับการคัดเลือกโดยตัดสินจากรูปลักษณ์หน้าตา เฟรดพร้อมกับบรรดาเพื่อนบ้านของซูเซินจึงสนับสนุนอีกหลายครั้งให้ซูเซินเข้าประกวดในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" ตามที่ผู้เป็นมารดาของลูกศิษย์มุ่งหวังไว้ แต่ซูเซินก็ปฏิเสธทุกครั้ง ซึ่งเฟรดให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์เดอะสกอตส์มัน (อังกฤษ: the Scotsman) หนังสือพิมพ์แห่งชาติสกอตแลนด์ ว่าลูกศิษย์ตนกล่าวว่าเธออายุมากเกินไปสำหรับรายการนี้ เพราะนี่ควรเป็นรายการสำหรับคนหนุ่มสาวมากกว่า

ซูเซินเปิดเผยต่อมาว่า การจากไปของมารดาตนพร้อมกับกำลังใจและแรงเชียร์จากครูเฟรด โอเนล กับเพื่อนบ้านทั้งหลาย เป็นแรงผลักดันให้เธอกล้าเข้าประกวดที่รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" และหากเธอมาถูกทางแล้ว เธอจะหางานด้านดนตรีทำต่อไปเพื่ออุทิศให้แก่มารดาในสรวงสวรรค์[5]

ซูเซินนั้นไม่เคยแต่งงานมาก่อน และระหว่างให้สัมภาษณ์ก่อนขึ้นร้องเพลงในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" นั้น เธอกล่าวว่ายังไม่เคยได้รับการจุมพิตมาก่อนเลย และต่อมาก็กล่าวว่า นั่นเป็นเพียงมุกตลกที่เธอเพียงเย้าเล่น แต่มันกลับได้ผลเกินควร[14] [22] ขณะนี้เธอกำลังไร้อาชีพหลัก และทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครที่โบสถ์อาวร์เลดีออฟลูเอิดส์ (อังกฤษ: Our Lady of Lourdes) โบสถ์คริสต์นิกายโรมันแคทอลิกเมืองวิตเบิร์น ประเทศสกอตแลนด์[5]

รายการบริเทนส์กอตแทเลินต์และผลข้างเคียง แก้

การแสดงทางโทรทัศน์ แก้

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 ซูเซิน บอยล์ ทราบว่าจะรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" จะจัดประกวดการแสดงการบันเทิงเป็นฤดูกาลที่ 3 เธอจึงสมัครเข้าแข่งขันการประกวดรอบแรกซึ่งจัดที่หอประชุมไคลด์ (อังกฤษ: Clyde Auditorium) นครกลาสโกลว์ ประเทศบ้านเกิดของเธอ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552[23]

ในการประกวด ซูเซินทราบดีว่าผู้ชมในโถงประกวดย่อมมองเธอในเชิงลบเพราะเธอมีรูปลักษณ์ไม่น่าดูชม กระนั้น เธอบอกปัดที่จะเปลี่ยนความเป็นตัวของเธอเอง และกล่าวว่า "ฉันรู้ความคิดของพวกเขาดี แต่ทำไมต้องเก็บมาใส่ใจด้วยตราบเท่าที่ฉันสามารถร้องเพลงได้ ก็นี่ไม่ใช่การประกวดนางงามเสียหน่อย"[5] นอกจากนี้ การร้องเพลงในรายการดังกล่าวยังเป็นการร้องเพลงครั้งแรกของซูเซินนับแต่การตายของมารดาด้วย[24]

ซูเซินได้ขับร้องเพลง "ไอดรีมด์อะดรีม" (อังกฤษ: I dreamed a dream) เพลงจากละครเวทีเรื่อง "เลมีเซราบล์" (ฝรั่งเศส: Les Misérables) ซึ่งก่อนเธอจะขับร้อง ทั้งผู้ชมในโถงประกวดและคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งประกอบด้วย อแมนดา โฮลเดิน (อังกฤษ: Amanda Holden) ไซเมิน คาวเวล (อังกฤษ: Simon Cowell) และพิแอส์ มอร์เกิน (อังกฤษ: Piers Morgan) ต่างแสดงความกังขาเชิงลบต่อเธอ เนื่องจากเธอมีรูปลักษณ์ไม่น่าชม ร่างกายอุ้ยอ้ายทำให้เธอดูงุ่มง่าม การแต่งกายที่ล้าสมัย การมาจากเมืองชนบท กับทั้งอายุของเธอที่มากแล้ว เมื่อเธอแจ้งว่ามีอายุสี่สิบเจ็ดปีก็ได้รับเสียงโห่จากผู้ชมส่วนหนึ่งในโถงประกวด และยิ่งเมื่อเธอแจ้งว่าต้องการเป็นนักร้องมืออาชีพ และมีนักร้องเอเลน เพจ (อังกฤษ: Elaine Paige) เป็นแบบอย่าง ผู้ชมยิ่งแสดงอากัปกิริยาดูถูกเหยียดหยามพร้อมกับกรรมการตัดสินที่มีทีท่าขบขันในความฝันของซูเซิน เหตุกลับหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อความสามารถในการร้องเพลงของซูเซินยังให้ผู้ชมทั้งโถงและคณะกรรมการตัดสินอึ้งและประทับในถึงกับหลั่งน้ำตา ปรบมือ ร้องเชียร์ และยืนขึ้นให้เกียรติเป็นเวลานาน คณะกรรมการตัดสินพร้อมใจกันลงคะแนนเสียงให้เธอผ่านการประกวดรอบแรก โดยอแมนดากล่าวว่า "นับเป็นอภิสิทธิ์ของฉันที่ได้รับชมการร้องเพลงครั้งนี้...ให้ผ่านฉลุยเลย" ไซเมินว่า "ตอนนี้เมื่อคุณกลับไปยังหมู่บ้านคุณ คงยากที่จะไม่มีใครไม่รู้จักคุณอีกแล้วล่ะ" ขณะที่พิแอส์กล่าวว่า "เมื่อคุณบอกว่าอยากเป็นเหมือนนักร้องเอเลน เพจ ทุกคนหัวเราะเยาะคุณ แต่ตอนนี้ไม่มีใครหัวเราะเยาะคุณอีกแล้ว...นี่เป็นการพูดคำว่า 'ผ่าน' อย่างยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมเคยพูดมา"[25]

การเป็นข่าว แก้

รายการตอนดังกล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2552 ปรากฏสถิติผู้ชมรายการทางโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักร ณ วันนั้นเป็นจำนวนสิบล้านสามแสนคนโดยประมาณ การร้องเพลงดังกล่าวของซูเซินได้รับการรายงานเป็นข่าวไปทั่วโลก และมีการนำวีดิทัศน์การประกวดร้องเพลงลงเผยแพร่ทางเว็บไซต์หลายแห่ง โดยเฉพาะเว็บไซต์ยูทูบนั้น เพียงหนึ่งสัปดาห์นับแต่วันนำลงเว็บไซต์ก็มีผู้เข้าชมมากกว่าสี่พันสามร้อยล้านครั้งทั่วโลก[10]

ลำดับนั้น หนังสือพิมพ์และสำนักข่าวทางอินเทอร์เน็ตสัญชาติบริเตนและนานาชาติหลายฉบับและสำนักพากันตีข่าวและเรื่องราวเกี่ยวกับซูเซิน บอยล์ อาทิ นิวยอร์กเดลีนิวส์ (อังกฤษ: New York Daily News) และเดอะลอสแอนเจลิสไทมส์ (อังกฤษ: The Los Angeles Times) ของสหรัฐอเมริกา, เฮโรลด์ซัน (อังกฤษ: Herald Sun) ของออสเตรเลีย, แม็กลีนส์ (อังกฤษ: Maclean’s) ของแคนาดา, แดร์ชปีเกิล (เยอรมัน: Der Spiegel) ของเยอรมนี, สำนักข่าวซินหัว (อังกฤษ: Xinhua News) ของจีน, มาเก๊าโพสต์เดลี (อังกฤษ: Macau Post Daily) ของมาเก๊า, กอร์เรโอดามานฮา (อังกฤษ: Correio da Manhã) ของโปรตุเกส, เซโรโฮรา (อังกฤษ: Zero Hora) ของบราซิล, เดอะโชซุนอิลโบ (เกาหลี: The Chosun Ilbo) ของเกาหลีใต้, เดเตเลกราฟ (ดัตช์: De Telegraaf) ของเนเธอร์แลนด์, ยีเน็ต (อังกฤษ: Ynet) ของอิสราเอล, เฮตลาสต์นิวส์ (ดัตช์: Het Laatste Nieuws) ของเบลเยียม และอัลอาราบิยา (อาหรับ: Al-Arabiya) ของโลกอาหรับ

ในบรรดาสื่อมวลชนดังกล่าว หนังสือพิม์เดอะซัน (อังกฤษ: The Sun) ให้สมญาเธอว่า "พอลา พอตส์" (อังกฤษ: Paula Potts) แปลงมาจากชื่อของ "พอล พอตส์" (อังกฤษ: Paul Potts) ผู้โด่งดังมาจากการประกวดขับร้องเพลงอุปรากรในรายการเดียวกัน[26] ขณะที่นิตยสารฟอบส์ (อังกฤษ: Forbes) ว่าซูเซินสามารถตามรอยพอล พอตส์ และสนุกสนานไปกับอาชีพที่ประสบความสำเร็จในระยะยาวได้ ส่วนสำนักข่าวเอบีซีว่า ซูเซินเป็นกระแสความฮือฮาล่าสุดแห่งเกาะบริเตน และพาดหัวข่าวในเว็บไซต์ว่า "สตรีผู้ทำให้ไซเมิน คาวเวล หยุดพูดได้" ทั้งนี้ ไซเมิน คาวเวล เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินทั้งสามของรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" ดังกล่าว

มีรายงานว่า ซูเซินถึงกับประหลาดใจและตะลึงกับปฏิกิริยาครั้งนี้ เธอกล่าวด้วยว่าไม่ต้องการให้ชื่อเสียงมาเปลี่ยนแปลงเธอ[27]

การได้รับเชิญไปในรายการโทรทัศน์ แก้

หลังจากกระแสความสนใจของชาวโลกที่พุ่งไปยังซูเซิน บอยล์ เธอได้รับเชิญเป็นแขกในรายการ "เดอะไฟฟ์เธอร์ทีโชว์" (อังกฤษ: The Five Thirty Show) ของสถานีโทรทัศน์แห่งสกอตแลนด์[28] ตลอดจนได้ให้สัมภาษณ์ผ่านดาวเทียมแก่รายการ "เออร์ลีโชว์" (อังกฤษ: Early Show) ของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส[20] กับทั้งผ่านโทรศัพท์แก่รายการ "กึดมอร์นิงอเมริกา" (อังกฤษ: Good Morning America) ของสถานีโทรทัศน์เอบีซี[29] และรายการ "เอ็นบีซีส์ทูเดย์" (อังกฤษ: NBC's Today) ของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีซี[30] นอกจากนี้ ในการให้สัมภาษณ์ของไซเมิน คาวเวล หนึ่งในกรรมการตัดสินทั้งสามของ รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" เขาแถลงว่าซูเซินได้ตอบรับการเชิญให้ปรากฏตัวในรายการ "ดิโอปราห์วินฟรีย์โชว์" (อังกฤษ: The Oprah Winfrey Show) ของโอปราห์ วินฟรีย์แล้ว เขายังกล่าวอีกว่า มีโอกาสมากที่ซูเซินจะมีอัลบัมติดอันดับหนึ่งในสหรัฐอเมริกา[29]

ซูเซินยังปรากฏตัวผ่านดาวเทียมในรายการ "แลร์รีคิงลีฟ" (อังกฤษ: Larry King Live) ของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น พร้อมกับแอชเทิน คุตเชอร์ (อังกฤษ: Ashton Kutcher) และภรรยา เดมี มัวร์ (อังกฤษ: Demi Moore) คู่รักดาราซึ่งได้รับชมการร้องเพลงของซูเซินในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" และกล่าวว่าเขาทั้งสองขอเป็นแฟนเพลงของซูเซิน[31] โดยซูเซินได้ขับร้องท่อนหนึ่งของเพลง "มายฮาร์ตวิลโกออน" (อังกฤษ: My Heart Will Go On) ของนักร้องเซลีน ดิออน (อังกฤษ: Celine Dion) ในรายการด้วย นอกจากนี้ พิแอส์ มอร์เกิน หนึ่งในกรรมการตัดสินทั้งสามของ รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" ซึ่งมาร่วมรายการด้วยและได้ฟังการร้องเพลง "มายฮาร์ตวิลโกออน" ดังกล่าว เผยว่า "การร้องเพลงแบบนั้นโดยไม่มีดนตรีประกอบช่างน่าทึ่งอย่างสุดซึ้งเลยครับ" พร้อมกับเชิญซูเซินไปรับประทานอาหารค่ำกับเขาสักมื้อที่กรุงลอนดอน และเธอก็ตอบตกลงผ่านรายการแล้ว[32]

ปฏิกิริยาทางสังคม แก้

ไฟล์:Audience-susnaboyle.jpg
"แม่หญิง ณ หนึ่งนาทียี่สิบสี่วิฯ"

เลห์ ฮอล์มวูด (อังกฤษ: Leigh Holmwood) เขียนบทความในนิตยสาร "เดอะการ์เดียน" (อังกฤษ: The Guardian) เชิงวิพากษ์ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเว็บไซต์ยูทูบ เว็บไซต์เฟสบุ๊ก และเว็บไซต์ทวิตเทอร์ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยกระพือชื่อเสียงของซูเซิน บอยล์[18] เนื่องจากวีดิทัศน์การร้องเพลง "ไอดรีมด์อะดรีม" ของซูเซินที่มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบนั้น เจ็ดสิบสองชั่วโมงแรกนับแต่การเผยแพร่ปรากฏว่ามีผู้เข้าชมกว่าสองล้านห้าแสนครั้ง[33] โดยในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2552 วีดิทัศน์ดังกล่าวยังกลายเป็นบทความที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนเว็บไซต์ดิกก์[34] และเว็บไซต์เรดดิต[35] โดยหนึ่งสัปดาห์หลังการเผยแพร่ดังกล่าว เฉพาะในเว็บไซต์ยูทูบมีผู้เข้าชมวีดิทัศน์มากกว่าสี่พันสามร้อยล้านครั้งทั่วโลก นับเป็นสถิติใหม่ทางอินเทอร์เน็ต[10] ขณะที่บทความเรื่อง "Susan Boyle" ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษมีผู้เข้าชมในวันหนึ่งมากกว่าห้าแสนครั้ง หนังสือพิมพ์เดอะลอสแอนเจลิสไทมส์เสนอเหตุผลสำหรับปรากฏการณ์บนเว็บไซต์ยูทบดังกล่าวว่า น่าจะเป็นเพราะว่าวีดิทัศน์ดังกล่าว แม้จะมีระยะเวลาสั้น แต่บรรจุอารมณ์ความรู้สึกอันมหาศาลและหลากหลายรูปแบบไว้อย่างสมบูรณ์[36]

นอกจากนี้ การที่แอชทัน คุตเชอร์ กับ เดมี มัวร์ คู่รักดารา ได้เขียนยกย่องซูเซินไว้ยังเว็บไซต์ทวิตเทอร์ซึ่งมีการลงวีดิทัศน์เช่นเดียวกับเว็บไซต์ยูทูบ ยังเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยให้ซูเซินเป็นที่สนใจมากขึ้น เมื่อมีผู้เล่าเรื่องนี้ให้ซูเซินฟัง เธอบอกว่าไม่เคยได้ยินชื่อ "แอชทัน คุตเชอร์" มาก่อน หากคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยได้ยินชื่อ "เดมี มัวร์" บ้าง แต่มิได้รู้เรื่องเกี่ยวกับเดมี มัวร์ มากนัก กระนั้น เธอก็ขอบคุณน้ำใจและการสนับสนุนของพวกเขาทั้งสอง

อนึ่ง ครั้งที่ซูเซินปรากฏตัวในรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" และกล่าวตอนหนึ่งว่า เธอมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องเพลงอุปรากรอย่างเอเลน เพจ นั้น นักร้องเอเลน เพจ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า เธอก็ได้รับชมรายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" ในวันนั้นเช่นกัน และประทับใจการร้องเพลงของซูเซินมากจนหลั่งน้ำตา เอเลน เพจ ยังสรรเสริญซูเซินว่าเป็น "ต้นแบบสำหรับทุกคนที่มีความฝัน"[37] และกล่าวว่าเธอและซูเซินน่าจะได้มาร้องเพลงคู่กันสักคราอ้างอิงผิดพลาด: พารามิเตอร์ในป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ นักแสดงฮิว แจ็กเมิน ยังเขียนไว้ในหน้าเว็บไซต์ทวิตเทอร์ของตนว่า "ซูเซิน บอยล์ ไปไหน ผมพร้อมจะร้องเพลงคู่กับคุณแล้วนะ"[38]

มีรายงานด้วยว่า แคเมอรัน แมกอินทอช (อังกฤษ: Cameron Mackintosh) ผู้สร้างละครเพลงเรื่อง "เลมีเซราบล์" (ฝรั่งเศส: Les Miserables) ที่ซูเซินนำเพลงมาขับร้องประกวด กล่าวว่าการขับร้องเพลงของซูเซินนั้น "จับใจ น่าตื่นเต้น และยกระดับอารมณ์ของเพลงอย่างยิ่ง"[39]

อนึ่ง มีรายงานอีกว่า ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2552 หญิงสาวคนหนึ่งที่ปรากฏในวีดิทัศน์รายการ "บริเทนส์กอตแทเลินต์" อันนำลงเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเธอได้กลอกตา ยกไหล่ และแสดงอากัปกิริยาเหยียดหยามซูเซิน บอยล์ ก่อนร้องเพลงในรายการนั้น ได้รับจดหมายและพัสดุภัณฑ์เขียนด่าและข่มขู่เป็นจำนวนมากถึงบ้าน ทั้งนี้ หญิงสาวคนนี้ได้รับสมญาว่า "แม่หญิง ณ หนึ่งนาทียี่สิบสี่วิฯ" (อังกฤษ: 1:24 girl) ตามช่วงเวลาที่เธอปรากฏตัวในวีดิทัศน์[40] โดยซูเซิน บอยล์ แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า หญิงสาวคนนี้ "เพียงแต่มีปฏิกิริยาเฉกเช่นคณะกรรมการตัดสินและทุกผู้ทุกคนในโถงประกวด เราไม่ควรไปปฏิบัติต่อเธอเช่นนั้นเลย"[41]

เชิงอรรถ แก้

  1. Ben McConville, 2009 : Online.
  2. Susan Boyle's Astrology Horoscope, 2009 : Online.
  3. "Boyle 'just turned 48' : Suddenly Susan!", 2009 : 52.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 "Profile: Susan Boyle - Britain's got the unlikeliest angel", 2009 : Online.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 "Profile: Susan Boyle - Britain's got the unlikeliest angel", 2009 : Online.
  6. "Talent show singer is online hit", 2009 : Online.
  7. Karla Adam, 2009 : Online.
  8. "Simon talking about Susan Boyle phenomenon", 2009 : Online.
  9. "Susan Boyle", n.d. : Online.
  10. 10.0 10.1 10.2 "The voice of an angel's face is from the UK has attracted a world ... 'ordinary woman'", 2009 : Online.
  11. Jose Antonio Vargas, 2009 : Online.
  12. "อินเทอร์เน็ตช่วยให้สาวเฉิ่มเสียงดีดังทั่วโลกใน 1 สัปดาห์", 2552 : ออนไลน์.
  13. Mike Celizic, 2009 : Online.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 Gillian Harris, 2009 : Online.
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 "Susan Boyle 'has been kissed', neighbour claims", 2009 : Online.
  16. Jill Lawless, 2009 : Online.
  17. Natalie Clarke, 2009 : Online.
  18. 18.0 18.1 18.2 Leigh Holmwood, 2009 : Online.
  19. "Fringe Facts", 2008 : Online.
  20. 20.0 20.1 Harry Smith, 2009 : Online.
  21. Ben Leach, 2009 : Online.
  22. "Britain's Got Talent star Susan Boyle proves big hit on YouTube", 2009 : Online.
  23. Mike Celizic, 2009 : Online.
  24. Stuart MacDonald, 2009 : Online.
  25. "Susan Boyle - Singer - Britains Got Talent 2009 (With Lyrics)", 2009 : Online.
  26. Colin Robertson, 2009 : Online.
  27. "Scottish singer 'gobsmacked' by overnight stardom", 2009 : Online.
  28. "Britain's Got Talent star Susan Boyle's promise to mum", 2009 : Online.
  29. 29.0 29.1 Richard Simpson, Paul Revoir & Lizzie Smith; 2009 : Online.
  30. Bill Hemmer & Megyn Kelly, 2009 : Online.
  31. Ian Youngs, 2009 : Online.
  32. Jean Smith, 2009 : Online.
  33. Urmee Khan, 2009 : Online.
  34. Raju Mudhar, 2009 : Online.
  35. QueenZ, 2009 : Online.
  36. Scott Collins & Janet Stobart, 2009 : Online.
  37. "Paige salutes Talent star Boyle", 19 April 2009 : Online.
  38. "Hugh Jackman wants to record a duet with Britain’s Got Talent star, Susan Boyle", 2009 : Online.
  39. Mark Shenton, 2009 : Online.
  40. Lindsay Britney, 2009 : Online.
  41. Mark Macaskill, 2009 : Online.

อ้างอิง แก้

ภาษาไทย แก้

ภาษาต่างประเทศ แก้