"วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดใหญ่บางขลัง" พระมหาธาตุเมืองบางขลัง จังหวัดสุโขทัย

แก้

ที่ตั้งในอดีตและปัจจุบัน

แก้

ในอดีตวัดใหญ่ชัยมงคล พระมหาธาตุเมืองบางขลัง ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองบางขลังทางทิศเหนือ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปานามนที(แม่น้ำฝากระดานหรือลำน้ำแม่มอกปัจจุบัน) ฝั่งตะวันตก ห่างจาก ถนนพระร่วงไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร[1]

ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย รหัสไปรษณ๊ 64230 พิกัดในแผนที่ 17°15′33″N 99°40′37″E

ประวัติ

แก้

วัดใหญ่ชัยมงคล หรือวัดใหญ่บางขลัง อดีตเป็นวัดมหาธาตุหรือวัดหลวง ประจำเมืองบางขลัง ซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัยกับเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย เริ่มสร้างมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จากหลักฐานทางโบราณคดี คาดการณ์ว่าสร้างขึ้นในช่วงปีพุทธศักราช 1800 โดยมีโบราณสถานแรกเริ่มคือ เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และเจดีย์ประจำทิศทั้ง 4 ทิศ ต่อจากนั้นได้มีการ สร้างพระวิหารและเจดีย์รายต่าง ๆ ขึ้นในภายหลัง

ที่มาของคำว่า "บางขลัง"

แก้

คำว่า "บางขลัง" เป็นคำสนธิของคำว่า "บาง" ที่หมายถึง “สาขาทางน้ำที่ ไหลขึ้น-ลง ระดับของน้ำในแม่น้ำลำคลองอันเป็นแหล่งต้นน้ำหรือเป็นแหล่งปลาย ของสายน้ำ ของสาขาน้ำแห่งนั้น ๆ (ซึ่งมีความหมายถึงภาคพื้นบริเวณที่ถึงแม้ว่าจะ เป็นภาคพื้นดินแต่ก็ ตั้งอยู่ใกล้อาณาบริเวณสองฟากฝั่งของ "บาง" นั้น ๆ ด้วย) กับคำว่า "ขลัง" ที่หมายถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง หรือ “อำนาจของความ ศักดิ์สิทธิ์ อำนาจของความขลัง” ดังนั้น เมืองบางขลัง จึงหมายถึง “เมืองแห่งลุ่ม น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ใกล้ลุ่มน้ำ"[2]

จากความหมายดังกล่าวได้มีความสอดคล้อง กับที่ตั้งของวัดใหญ่ชัยมงคล โดยด้านทิศตะวันออกของกำแพงวัดห่างออกไป ประมาณ 3-5 เมตร จะเป็นที่ตั้งของแม่น้ำโบราณชื่อว่า "ปานามนที" ที่ไหลผ่านบริเวณนี้ เป็นเวิ้งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมในอดีต(ปัจจุบันได้เปลี่ยน ทิศทางการไหลแล้ว) นอกจากนี้วัดใหญ่ชัยมงคลยังตั้งอยู่ระหว่างเมืองศรีสัชนาลัย กับเมืองสุโขทัย มีระยะห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยตามทางถนนพระร่วง 23 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเมืองสุโขทัยไปตามถนนพระร่วงประมาณ 27 กิโลเมตร[1]

วัดใหญ่ชัยมงคลในด้านโบราณคดี[3]

แก้

นางสาวนาตยา ภู่ศรี นักโบราณคดี 4 สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ 5 สุโขทัย ได้เขียนรายงานใน "โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล" ปี 2544 ว่าวัดใหญ่ชัยมงคล ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย โดยตั้งอยู่นอกเมืองบางขลังทางด้านทิศเหนือ ห่างจากแนวกำแพง เมืองด้านทิศเหนือประมาณ 150 เมตร

ในปี 2544 สำนักงานโบราณคดีฯ ที่ 5 ได้ดำเนินการขุดค้นชุดแต่งโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล จากการขุดค้นขุดแต่ง พบว่า โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคลเป็นวัดขนาดใหญ่ที่มีองค์ประกอบของ โบราณสถานดังนี้คือ

1.เจดีย์ประธาน (โบราณสถานหมายเลข 2) จากการขุดแต่งพบฐานเจดีย์ประธานขนาดใหญ่ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 11x 11 เมตร ที่ถึงเจดีย์ทางด้านทิศตะวันออกมีแท่นพระก่อยื่นออกไป เหลือแต่ฐาน ขนาด 2.30 x 2.80 เมตร ใช้ศิลาแลงปนกับอิฐฐานรากลึก 40 เซนติเมตร ส่วนทางด้านทิศตะวันตกมีแท่นพระก่อยื่นออกไปเช่นกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า คือ 1.20 เมตร x 1.80 เมตร ฐานรากก่อด้วยศิลาแลงวางตามด้านยาวซ้อนกัน 5 ขั้น ศิลาแลงยาว 40 เซนติเมตร หนา 12 เซนติเมตร ลึก 60 เซนติเมตร พบเม็ดพระศก และกระเบื้องมุงหลังคาในบริเวณแท่นพระทั้งสองด้านเป็นจำนวนมาก[3]

2. วิหารด้านทิศเหนือ (โบราณสถานหมายเลข 1) ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเจดีย์ประธาน วิหารหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก เป็นวิหารที่มีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีบันไดทางขึ้นทางด้านทิศตะวันออก จากการชุดแต่งได้พบอิฐปูพื้นวิหารโดยจะวางอิฐในลักษณะวางตามด้านกว้างทุกแถวและวางให้ชอบเสมอกัน ขนาดของวิหารกว้าง 12 เมตร ยาว 18.5 เมตร สูงจากพื้น 30 เซนติเมตร ฐานรากก่อด้วยอิฐเตี้ย ๆ โดยใช้อิฐวางเรียงตามด้านยาวซ้อนเหลื่อมกันแต่ละขั้นฐานรากของวิหารมีความลึกเพียง 15 เซนติเมตร ฐานชุกชีอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ใช้ศิลาแลงก่อเป็นแท่นพระขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 6.2 x 6.8 เมตร ด้านบนยังมีร่องรอยของศิลาแลงซึ่งก่อเป็นรูปครึ่งวงกลม ซึ่งเป็นลักษณะของพระประธานในลักษณะประทับนั่ง พบเม็ดพระศกเป็นจำนวนมาก ทางด้านหลังของวิหารยังพบแนวอิฐส้ม ซึ่งเป็นผนังของวิหารด้านทิศตะวันตกแต่ไม่พบร่อยรอยของเสา จึงสันนิษฐานว่าวิหารหลังนี้น่าจะใช้ระบบผนังรับน้ำหนัก จากค่าระดับของวิหารทำให้ทราบว่า วิหารเป็นส่วนที่สร้างขึ้นในภายหลัง เนื่องจากค่าระดับพื้นของวิหาร ต่างจากระดับพื้นทั่วไปถึง 80 เซนติเมตร[3]

3. เจดีย์ราย หลังการขุดแต่งพบเจดีย์รายเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่ก่อด้วยอิฐ และ ศิลาแลง ดังนี

3.1. เจดีย์รายประจำมุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (โบราณสถาน #3)

3.2. เจดีย์รายประจำมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (โบราณสถาน #4)

3.3 เจดีย์ประจำมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ (โบราณสถาน #5)

3.4 เจดีย์รายประจํามุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ (โบราณสถาน #6)

เจดีย์ประจำมุมทั้ง 4 องค์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในคราวเดียวกัน เพราะมีรูปแบบที่คล้ายกัน รวมถึงระดับพื้นและฐานรากก็ใกล้เคียงกัน สำหรับรูปทรงของเจดีย์รายทั้ง 4 องค์นี้ จึงน่าจะเป็นรูปแบบเดียวกัน โดยเจดีย์ราย #5 เป็นเจดีย์ที่มีหลักฐานมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย พบว่ามีรูปแบบใกล้เคียงกับเจดีย์รายองค์หนึ่งที่มียอดเป็นทรงดอกบัวตูม[4]

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ราย (โบราณสถาน #6 ถึง #34 ) ที่ตั้งเรียงรายทั่วไปในบริเวณกำแพงแก้วอีก จำนวน 27 องค์

4.วิหารด้านทิศตะวันออก (โบราณสถาน #35) เป็นโบราณสถานที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ เป็นแนวอิฐ ที่วางเป็นรูปตาราง โดยใช้อิฐวางตะแคง ภายในช่องสี่เหลี่ยมไม่พบโบราณวัตถุใด ๆ แนวอิฐนี้อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นแนวอิฐที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ ขนาด 1x 1 เมตร[3]

ในอีกแง่หนึ่งโบราณสถาน #35 มีการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวิหารด้านทิศตะวันออก แต่ไม่เหลือหลักฐานใด ๆ พบเพียงชิ้นส่วนซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องประดับ หลังคาสังคโลกลายเขียนสี กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ว่างด้านหน้าเจดีย์ประธานแต่ไม่พบกระเบื้องดินเผา หลังคาจึงน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น หลังคา แป้นเกล็ดไม้ เป็นต้น รูปทรงหลังคาน่าจะเป็นทรงจั่วมีหลังคาปีกนกด้านข้าง ตามสัดส่วนวิหารที่พบโดยทั่วไปในสุโขทัย ส่วนพื้นวิหารไม่เหลือหลักฐานใด ๆ จึงน่าจะใช้วัสดุธรรมชาติ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่พบฐานชุกชีในตำแหน่งที่น่าจะเป็นวิหารของวัดหลายแห่งในเมืองบางขลัง เช่น วัดก้อนแลง วัดไร่ถั่ว เป็นต้นลักษณะเชียงชั้นแรกของฐานชุกชีมีความสูงไม่มากนัก ดังนั้นระดับพื้นวิหารจึงน่าจะใกล้เคียงกับผิวดินและน่าจะไม่ใช่พื้นไม้ เนื่องจากอาจผุกร่อนได้ง่ายจากความชื้นของผิวดินและน้ำฝน อาจเป็นไปได้ว่าเป็นพื้นไม้ไผ่สานเป็นโครงและดาดด้วยปูนหมักหนาประมาณ 5-10 ซม. ขึ้นไป ซึ่งวัสดุปูนหมักนี้ยังใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน[5]

5.กำแพงแก้ว (โบราณสถาน # 36) สร้างโดยใช้ศิลาแลงเป็นท่อนยาวปักเรียงเป็นแถวรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน โดยมีทับหลังวางทับด้านบนอีกชั้นหนึ่ง จากการขุดแต่งพบว่าความยาวของแท่งศิลาแลงที่นำมาปักเป็นกำแพงแก้วนั้นยาวประมาณ 220 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 35-40 เซนติเมตร ทับหลังซึ่งจะทับอยู่ด้านบนอีกชั้นหนึ่งนั้นส่วนใหญ่ตกอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ขนาดของทับหลังกว้าง 40-50 เซนติเมตร ยาว 1.20-1.40 เมตร

กําแพงแก้วด้านทิศเหนือยาว 52 เมตร ด้านทิศตะวันออกยาว 57 เมตร ด้านทิศใต้ ยาว 50 เมตร และด้านทิศตะวันตกยาว 57 เมตร โดยมีช่องประตู ทางเข้า-ออกเพียงทางเดียวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยปรากฏในโบราณสถานสมัยสุโขทัย ทั้งนี้อาจมาจากการที่ทางด้านทิศตะวันตกเป็นด้านที่มีคลองยางไหลผ่านห่างจากวัดประมาณ 30 เมตรเท่านั้น เนื่องจากเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญจึงจำเป็นต้องมีประตูเข้า - ออกอยู่ทางด้านที่ติดกับคลองยาง ลักษณะของกำแพงแก้วเช่นนี้คล้ายกับที่วัดโบสถ์ เมืองบางขลัง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองศรีสัชนาลัย และที่วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร[3]

แต่ในรายงานการขุดค้นและบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย โดย บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน(1935) จำกัด จากการรขุดหลุมขุดตรวจแนวคูน้ำทางด้านทิศตะวันออก (หลุมขุดตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาแนวคูน้ำเดิม) รายงานว่าจากการขุดค้นหลุมทดสอบทางโบราณคดีทั้ง 2 หลุม พบว่าเดิมบริเวณด้านทิศตะวันออกนอกเขตกำแพงวัดมีลำคลองพาดผ่านตามแนวทิศเหนือ ใต้ และในการก่อสร้างกำแพงวัดในส่วนของด้านทิศตะวันออกนี้ (ด้านหน้าวัด) จึงสร้างกำแพงเพื่อเลี่ยงแนวคลองและมีประตูทางออกเป็นประตูขนาดเล็ก เพราะอุปสรรคเรื่องความสะดวกในการเดินทางในฤดูน้ำหลาก[6]

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาโดยอิงตามแผนผังการขุดค้นทางโบราณคดีจะพบว่ากำแพงแก้วของวัดใหญ่ชัยมงคล มีทางเข้าจำนวน 3 ทาง คือทางทิศตะวันตกตามที่เขียนรายงานใน "โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล" โดย นางสาวนาตยา ภู่ศรี ทางทิศตะวันออกตามที่เขียนรายงานใน "รายงานการขุดค้นและบูรณะวัดใหญ่ชัยมงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย" โดย บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน(1935) จำกัด และทางทิศใต้(เป็นประตูเล็กๆ) ที่ปรากฎในผังกรีดโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคลใน "โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล" โดย นางสาวนาตยา ภู่ศรี

โดยสรุป[3]

แก้

น่าสังเกตว่าแผนผังที่สร้างเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูม โดยให้มีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ทิศ รวมทั้งมีเจดีย์ประจำด้านด้วยนั้น เป็นลักษณะที่ใกล้เคียงกับแผนผังของวัดเจดีย์เจ็ดแถว นอกจากนี้รูปทรงของเจดีย์ก็มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์ที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว เมืองศรีสัชนาลัย คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 1951

นอกจากนี้ คติความเชื่อในเรื่องจักรวาล ซึ่งมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง โดยมีเขาวงแหวนล้อมรอบอยู่ 7 ชั้น (เขาสัตตบริภัณฑ์) จึงอาจมีความเกี่ยวข้องกับแผนผังของวัดใหญ่ชัยมงคลด้วยเช่นกัน (สันติ เล็กสุขุม : เจดีย์สมัยสุโขทัยที่วัด เจดีย์เจ็ดแถว หน้า 31)

ส่วนโบราณสถานที่มาสร้างเพิ่มเติมในระยะหลังนั้นพบว่ามักจะสร้างด้วยอิฐ และหากยึดถือเอาหลักฐานที่พบจากอิฐที่มีตัวเลข ๑ กับเลข ๓ เป็นตัวกำหนดอายุ จึงสันนิษฐานได้ว่ามีการสร้างเพิ่มเติมในระยะพุทธศตวรรษที่ 21-22 นอกจากนี้มีหลักฐานเกี่ยวกับการฝังภาชนะบรรจุกระดูกที่อยู่ติดกับฐาน เจดีย์รายที่น่าสนใจ กล่าวคือ ภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกที่เป็นภาชนะประเภท เนื้อแกร่ง (ไหปากแตร) จะพบอยู่กับเจดีย์ประธานและเจดีย์รายที่สร้างด้วยศิลาแลง และเป็นเจดีย์ประจำด้าน

ส่วนเจดีย์รายที่สร้างด้วยอิฐและมีระดับพื้นใช้งานที่สูงกว่าเจดีย์กลุ่มแรกนั้น จะพบว่ามีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกที่เป็นภาชนะประเภทเนื้อดินธรรมดา (earthernwares)

ดังนั้นจึงสามารถสรุปในเบื้องต้นนี้ได้ว่าโบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล มีอายุสมัย 2 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 มีการสร้างโบราณสถานหลักของวัดคือเจดีย์ประธาน และเจดีย์ รายที่มุมทั้งสี่ ของเจดีย์ประธาน เจดีย์รายบางองค์ที่เป็นเจดีย์ประจำด้านซึ่งเป็น เจดีย์ที่สร้างด้วยศิลาแลง รวมทั้งกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุในราวพุทธ ศตวรรษที่ 19 - 20

ระยะที่ 2 มีการสร้างโบราณสถานเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่เจดีย์ รายองค์อื่น ๆ ที่สร้างด้วยอิฐและวิหาร สันนิษฐานว่ากลุ่มโบราณสถานในระยะที่ 2 นี้น่าจะมีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 21 -22 โดยพบหลักฐานเป็นก้อนอิฐที่มีตัวเลข ๑ กับเลข ๓ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ ของกรมศิลปากรได้วิเคราะห์ว่าเป็น ตัวเลขในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 21 - 22 (ผู้เชี่ยวชาญก่อง แก้ว วีระ ประจักษ์)[3]

เมืองบางขลังในศิลาจารึก[1]

แก้

ด้านภูมิศาสตร์ของเมืองบางขลัง ในอดีตมีความสำคัญคือ เป็นที่รวมทัพ หรือชุมนุมพลกันของพ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมืองเพื่อเข้าตีเมืองสุโขทัย ขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง ตามหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม ได้จารึกไว้ว่า “...พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดเอาพลมา ตบกันที่บางขลง ได้เวนบางขลงแก่ พ่อขุนผาเมืองแล้วพ่อขุนผาเมืองเอา พลเมือ เมืองราดเมืองสคาได้.สบ. ล..บศรี เสชนาไลสุโขทัยขอมสบาด โขลญลําพง รบกัน. แล้วพ่อขุนบางกลางหาวไป ...... พลพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดมาที่นี้ ให้ผชุม พล๐พ่อขุนบางกลางหาวแลพ่อขุนผา เมืองขี่ช้างสราย........พระยาผสบกันแลกัน คืนให้ขี่ด้วยกันเหนือหัวช้าง๐บรคน แล้วพ่อขุนบางกลางหาวแลขอมสบาดโขลญลําพงรบกัน๐พ่อขุนบางกลางหาวให้ ไปบอกแก่พ่อขุนผาเมือง พ่อขุนผาเมือง.......ขอมสบาดโขลญลําพงห..พายพง๐พ่อ ขุนผาเมืองจึงยังเมืองสุโขทัยเข้าได้๐เวนเมืองแก่พ่อขุนบางกลางหาว๐พ่อขุนกลาง หาวมิสู้เข้า เพื่อเกรงแก่พระสหายพ่อขุนผา เมืองจึงเอาพลออก พ่อขุนกลางหาวจึง เข้าเมือง๐พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษก พ่อขุนบางกลางหาวให้เมื่องสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตน แก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์…” [1]

ด้านระบบการปกครอง เมืองบางขลังเป็นเมืองบริวารของเมืองสุโขทัย มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองยศระดับ“ขุน” ซึ่งเทียบเท่ากับเมืองต่างๆ เช่น เมืองบาง คนที(อำเภอบางคนที จังหวัดกำแพงเพชร) เมืองพระบาง(นครสวรรค์) เมืองเชียง ทอง(เป็นเมืองร้าง ในหนังสือของลาลูแบร์บันทึกว่าตั้งอยู่ระหว่างเมืองตากกับเมือง กำแพงเพชร) เมืองบางพาน(อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร) ตามที่ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ 3 วัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม ของพระมหาธรรม ราชาที่ 1 (พญาลิไท) ว่า “นกเป็นขุน หนึ่งเมืองคนที พระบาง หาเป็นขุนหนึ่ง...เมืองเชียงทอง หาเป็น ขุนหนึ่ง เมือง...หา เป็นขุนหนึ่ง เมืองบางพานหาเป็นขุนหนึ่งเมือง...หาเป็นขุนหนึ่ง... เมืองบางฉลังหาเป็นขุนหนึ่ง...”[1]

ด้านพระพุทธศาสนา ในอดีตเมืองบางขลังถือว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยถือเป็นหนึ่งในสามเมืองที่สมเด็จพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ได้ทรงแสวงหาพันธุ์กล้าต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูกเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา (สันนิษฐานว่าน่าจะนำต้นกล้ามาจากลังกาทวีป) ซึ่งปรากฎอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 2 วัดศรีชุม ว่า “...ปรารถนาเป็นพระพุทธมหาอุดม จึงภิเนษกรม ออกจากรัตนภูมิสพาย บาตร....ทั้งหลายมุ่งดงจงเดินหาพระศรีรัตนมหาธาตุ ปรารถนาเพื่อจักกระทํากุศล ....แก่สรรเพญุเดญาณ อิง ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิจึงแสวงหา....นครสุโขทัย บางฉ ลัง ศรีสัชนาลัย ใคร่ใจจักให้เป็นธรรมบูรา ลางแห่งก.....พระศรีรัตนมหาธาตุ ปลูก เนาวรัตนพระศรีมหาโพธิสร้างพิหารอาวาสอัน”

ที่สำคัญเมืองบางขลังยังเป็นเมืองที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ พระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโมริยะ แคว้นมคธ อินเดีย พระราชทานมาเพื่อประดิษฐาน ณ เจดีย์แห่งนี้ (น่าจะได้รับพระราชทานมาจากกษัตริย์ผู้สืบราชสมบัติต่อมาในสมัยหลัง แต่ยังคงเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงรวบรวมไว้) ตามที่ได้มีการปรากฎหลักฐานตามตำนานมูลศาสนา ฉบับ พ.ศ.2380 (รจนา ระหว่าง พ.ศ.1999-2053) ตอนหนึ่งว่า “...เจ้าไทมาสู่สั่งสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายในประเทศที่นั้นชื่อว่า ปางจา นั้นแล เจ้าไทมาอยู่สงเคราะห์สรรพสัตว์ไม่นานเท่าใด ธาตุพระพุทธเจ้า องค์หนึ่งแต่ครั้ง พระยาอโศกราชให้มาฐาปนาในเจดีย์องค์นั้น...”[1]

และตามตำนานมูลศาสนา ฝ่ายวัดยางควง เชียงตุง ฉบับวัดบ้านเอื้อม ลำปาง คัดไว้เมื่อ พ.ศ.2463 ปรากฎตอนหนึ่งว่า “...เมื่อก่อนนั้น นับ ๑ ธาตุพระเจ้าอันพระยาธัมมอโสกก่อเจดีย์ไว้ในเมือง ปลางรจา...” ซึ่งหลังจากที่วัดใหญ่ชัยมงคลได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์มาแล้วประมาณ 100 ปี น่าจะมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิดขึ้นจนทำให้ยอดเจดีย์พังทลายลงมา เนื่องจากเมืองบางขลังตั้งอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนอุตรดิตถ์และรอยเลื่อนเถิน ซึ่งนำไปสู่การแสวงหาพระบรมสารีริกธาตุของพระมหาสุมนเถร[1]

ตำนานพระบรมสารีริกธาตุวัดใหญ่บางขลังสู่ยอดพระธาตุดอยสุเทพ และพระธาตุวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่[1]

แก้

การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ

แก้

ประมาณปีพุทธศักราช 1905-1911 หลังจากที่พระมหาสุมนเถรได้เดินทาง มาจากเมืองพัน พำนักอยู่ที่วัดอัมพวนาราม เมืองสุโขทัย ในราตรีหนึ่งยามใกล้รุ่ง ได้นิมิตว่ามีรุกขเทวดา ถือเอาเพศเป็นมหาพราหมณ์มาบอกให้ไปขุดเอาพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้พระราชทานมาประดิษฐานไว้ ณ เจดีย์เมืองบางขลัง โดยพระบรมสารีริกธาตุนั้นฝังอยู่ใต้กอดอกเข็มสีเหลืองสัณฐานรูปม้านั่งติดกับจอมปลวก หลังจากออกจากนิมิตพระมหาสุมนเถรจึงได้เข้าเฝ้าพระมหาธรรมราชาที่ 2 เจ้าเมืองสุโขทัยในขณะนั้น กราบบังคมทูลลาเพื่อเดินทางไปค้นหาพระบรมสารีริกธาตุตามที่นิมิต โดยเริ่มต้นจากเมืองสุโขทัยไปยังเมืองศรีสัชนาลัย ใช้เส้นทางตามถนนพระร่วง[1]

เมื่อเดินทางมาได้ครึ่งทางถึงเมืองบางขลังริมแม่น้ำปานามนที พระมหาสุมนเถรได้หยุดพักและโปรดชาวเมืองในบริเวณนั้น ซึ่งขณะอยู่เทศนาสั่งสอนชาวเมืองก็ได้รับข่าวลือว่า ในเมืองบางขลังมีวัดโบราณโดยพระบรมธาตุเจดีย์ในวัด ได้พังทลายลงมาเสียแล้ว และพระบรมสารีริกธาตุนั้นก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์ บ่อยครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน เมื่อพระมหาสุมนเถรได้ยินดังนั้นจึงเดินทาง ขึ้นมาตามแม่น้ำปานามนทีไปจนถึงวัดใหญ่บางขลัง เมื่อไปถึงจึงได้พำนักและสร้าง ร้านอันเป็นปรัมพิธีบวงสรวงสักการะด้วยข้าวตอกดอกไม้ เครื่องหอม พอถึงเวลากลางคืนพระมหาสุมนเถรจึงได้บอกกล่าวสักการะให้พระบรมสารีริกธาตุได้แสดง ปาฏิหาริย์เพื่อจะได้ขุดเอามาสักการะบูชา ทันใดนั้นพระมหาสุมนเถรก็เห็นกอดอก เข็มสัณฐานเป็นรูปม้านั่ง และเห็นพระบรมสารีริกธาตุได้กระทำปาฏิหาริย์เป็นดั่งรูป ลูกพูพระมหาสุมนเถรจึงได้นำช่อธุงไพไปปักไว้ทำเป็นสัญลักษณ์ โดยพระบรมสารีริกธาตุก็ยังทรงแสดงปาฏิหาริย์ซ้ำจนถึงตอนเช้า[1]

ในวันรุ่งขึ้นพระมหาสุมนเถรจึงได้ให้ผู้คนที่จะได้ขุดเอาพระบรมสารีริกธาตุนั้น มาสมาทานศีล 5 และศีล 8 เพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ จากนั้นก็ทำการขุดลงไปยังบริเวณนั้นจนเจอก้อนดิน เจอก้อนอิฐ และเจอก้อนหินถูกเรียงเป็นจตุรมณฑล จำนวน 4 ก้อน ทำเป็นเสาด้านในพบโกศดินอันหนึ่ง คนขุดจริงได้นำโกศนั้นมา ให้แก่พระมหาสุมนเถร เมื่อเปิดดูพบว่าด้านในเป็นโกศสัมฤทธิ์ โกศเงิน โกศทองคำ และโกศแก้วประพาฬรัตนหรือแก้วปวาฬ ซึ่งเป็นรัตนะชนิดหนึ่งที่มีปรากฎในบันทึกพระไตรปิฎก เป็นหนึ่งในรัตนชาติมงคล 7 ชนิด[7] มีสีแดงอ่อน เกิดจากหินปะการังใต้ท้องทะเลขนาดเท่าหมากกอ(ลูกเกาลัดป่า) เมื่อได้โกศแก้วประพาฬรัตนพระมหาสุมนเถรพยายามที่จะหาช่องทางในการเปิดโกศเพื่อดูพระบรมสารีริกธาตุนั้น แต่ทำอย่างไรก็ไม่เห็นช่องทางเลยจนทำให้พระมหาสุมนเถรสงสัย ว่ามิใช่โกศแก้วพระบรมสารีริกธาตุ หากแต่เป็นแก้วธรรมดาเท่านั้น เมื่อไม่สามารถ เปิดโกศแก้วประพาฬรัตนได้พระมหาสุมนเถรจึงได้ให้มีการกระทำสักการะบูชา ด้วยเครื่องคัทธของหอม ข้าวตอกดอกไม้ แล้วจึงอธิษฐานเพื่อให้เห็นช่องทางใน การเปิดแก้วรัตนประพาฬอีกครั้ง เมื่ออธิษฐานเสร็จก็ปรากฏเป็นที่ไข พระมหา สุมนเถรจึงได้ไขแก้วประพาฬรัตนนั้นออก ด้านในพบพระบรมสารีริกธาตุ 1 องค์ มีขนาดเท่ากับเมล็ดถั่วถิม(ถั่วเขียว) มีวรรณะดั่งทองคำ แล้วพระมหาสุมนเถรจึงได้ นำพระบรมสารีริกธาตุลงในสลุงคำและกระทำการสรงน้ำด้วยสุคนโธทก พระบรม สารีริกธาตุได้กระทำปาฏิหาริย์อีกครั้งโดยการแตกตัวออกเป็นพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 80 องค์ ลอยบนผิวน้ำใน สลุงคำ พระมหาสุมนเถรจึงกระทำการสักการะ จนครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ[1]

เมื่อทำการสักการะจนครบถ้วนแล้ว พระมหาสุมนเถรได้ให้คนไปบอก ข่าวสารการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ แก่พญาไสยลือไทย เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยใน ขณะนั้น พระองค์ทรงมีจิตใจเลื่อมใสศรัทธาโดยโปรดให้สร้างปราสาทขึ้นกลาง เมืองศรีสัชนาลัย โปรดให้ขุดปรับหนทางให้ราบเรียบและฝังต้นกล้วยต้นอ้อย ตลอดทั้งสองข้างทางที่จะอัญเชิญจากเมืองบางขลังไปยังเมืองศรีสัชนาลัย อีกทั้งยังโปรดให้ประโลมคันธะ ของหอม ข้าวตอกดอกไม้ ประทีป ดุริยดนตรีและให้ผู้คน ยืนรอเรียงรายตามข้างทางเป็นระยะ ๆ ตลอดทางของการอัญเชิญด้วย พญาไสยลือไทยได้ตีกลองป่าวประกาศให้ชาวเมืองศรีสัชนาลัยได้รวมตัวกันเดินทางไปยังเมืองบางขลัง เพื่ออัญเชิญเอาพระบรมสารีริกธาตุมายังเมืองศรีสัชนาลัย[1]

ครั้นขบวนมาถึงยังชานเมืองศรีสัชนาลัย พญาไสยลือไทยได้เสด็จออกจากเมือง ไปรับการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ โดยให้ตั้งขบวนช้าง ขบวนม้า ขบวนขุนนาง ขบวนชาวเมืองในเมืองและขบวนชาวเมืองนอกเมือง เข้าขบวนอัญเชิญกันอย่างเป็นระเบียบ เมื่อขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองบางขลังมาพบกัน กับขบวนต้อนรับของพญาไสยลือไทยนอกเมืองศรีสัชนาลัย พระมหาสุมนเถรได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกมาให้พญาไสยลือไทยได้ชม พระบรมสารีริกธาตุก็ทรงแสดง ปาฏิหาริย์ออกมาต่อหน้าพญาไสลือไทยและชาวเมืองที่อยู่ ณ มณฑลแห่งนั้น ยังนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาและความปลาบปลื้มยินดียิ่งแก่พญาไสยลือไทย เมื่อถึงเวลา อันสมควรก็ได้อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสู่กระโจมคำเหนือหลังช้างมงคล ประจำพระองค์เคลื่อนขบวนเสนาไปยังปราสาทพญาไสยลือไทยได้ทรงอุ้มอัญเชิญ กระโจมคำอันประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนปราสาท ประโคม ดุริยดนตรีและนันทเภรี อุ่นเมือง(กลองปูจา) เป็นระยะ เมื่อนั้นพระบรมสารีริกธาตุ ก็กระทำปาฏิหาริย์อย่างน่าอัศจรรย์อีกครั้ง หลังจากนั้นพญาไสยลือไทยได้อาราธนาพระมหาสุมนเถรอยู่ที่ตีนดอยสิริบาทกับพระบรมสารีริกธาตุ[1]

โดยหลังจากที่พระมหาสุมนเถรอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังเมืองศรีสัชนาลัย ข่าวการพบพระบรมสารีริกธาตุของพระมหาสุมนเถรได้แพร่กระจาย ไปถึงราชสำนักแห่งเมืองสุโขทัย พระมหาธรรมราชาที่ 2 เจ้าเมืองสุโขทัยในขณะนั้น จึงได้ให้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้นมายังเมืองสุโขทัย เพื่อพระองค์จักได้กระทำการสักการะ โดยเมื่อพระบรมสารีริกธาตุมาถึงแล้วพระองค์ทรงทำการ สักการะบูชาและอธิษฐานขอให้พระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์ให้แก่ตน โดยหากมีการแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นเป็นประจักษ์พระองค์จะทรงสร้างพระ มหาธาตุเจดีย์ถวายให้ยิ่งใหญ่อยู่กลางเมืองสุโขทัย แต่พระบรมสารีริกธาตุกลับไม่มีการแสดงปาฏิหาริย์ต่อหน้าพระองค์ จึงทำให้พระองค์ไม่ทรงศรัทธาและขอให้ พระมหาสุมนเถรเป็นผู้รักษาพระบรมสารีริกธาตุองค์นั้นต่อไป[1]

การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของวัดใหญ่บางขลังไปเมืองเชียงใหม่[1]

แก้

ปีพุทธศักราช 1912 พระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ทรงส่งพระราชสาส์น และอมาตย์ทูต ลงมากราบอาราธนานิมนต์พระมหาสุมนเถร แต่ท่านไม่รับนิมนต์ เพียงส่งแก่พระสัทธาสเถรซึ่งเป็นศิษย์ไปแทน พระเจ้ากือนาจึงส่งอมาตย์ทูตเชิญ พระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการไปถวายแก่พระมหาธรรมราชาที่ 2 เจ้าเมืองสุโขทัยอีกครั้ง เพื่อทูลขออาราธนานิมนต์พระสุมนเถร ที่สถิต ณ วัดอัมพวันวนาราม ขึ้นไปเผยแพร่พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ที่เมืองเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 2 ทราบแล้ว พระองค์ทรงได้อนุญาตด้วยความยินดี แต่พระองค์ทรงให้อมาตย์ทูตไปกราบอาราธนาเจรจากับพระมหาสุมนเถรเอาเอง ครั้นคณะอมาตย์ทูตได้เข้ากราบอาราธนาพระมหาสุมนเถรแล้ว ได้ความว่าพระมหาสุมนเถรปฏิญญาณขานรับอาราธนานิมนต์มาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังเมืองเชียงใหม่ อันเป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา[1]

พระมหาสุมนเถรได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พบที่วัดใหญ่บางขลังและพระไตรปิฎก ติดตัวไปด้วยโดยหลังจากที่ท่านทรงออกเดินทางจากเมืองสุโขทัย มายังเมืองลำพูน ได้มีการปรากฏหลักฐานถึงความอัศจรรย์ของพระบรมสารีริกธาตุซึ่งพระมหาสุมนเถรได้ประพันธ์ไว้เป็นโตฎกฉันท์ แปลความว่า “เมื่อพระเถระออกจากเมืองสุโขทัย ไม่ว่าจะนอนในที่ใด ๆ พระบรมธาตุของพระพุทธเปล่งรัศมีอันประเสริฐ แสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง บางคราวเป็นพายุ บางคราวเป็นเหมือนสีทอง บางคราวเป็นเหมือนแสงดาว บางคราวแผ่รัศมีกว้างขวาง พระชินธาตุ(บรมธาตุของพระพุทธ) อันประเสริฐ งดงาม ทำความปลาบปลื้มให้เกิดขึ้นในระหว่างสาธุชน กระทำปาฏิหาริย์ทุกวันฯ” [1]

พระเจ้ากือนาได้เสด็จมารอรับพระมหาสุมนเถรและคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ด้วยตนเอง บริเวณหน้าวัดพระธาตุหริภุญไชย เมืองลำพูน โดยมีชาวเมืองต่างพากันมา ต้อนรับ เมื่อพระมหาสุมนเถรมาถึงพระเจ้ากือนา ได้อาราธนาพระมหาสุมนเถระ ไปพำนักที่วัดพระยืน พระมหาสุมนเถรได้ ทำการสมมติสีมากลางแม่น้ำระมิงค์ (แม่น้ำกวง) และทำการอุปสมบทกุลบุตร เมืองลำพูลและเมืองเชียงใหม่เป็นจำนวน กว่า 8,400 รูป ต่อมาในปี พ.ศ. 1913 พระ เจ้ากือนาได้โปรดเกล้าฯสถาปนาพระสุมน เถรเป็น “สุมนบุปผารตนมหาสวามี” พระสังฆราชองค์แรกของอาณาจักร ล้านนา ซึ่งในระหว่างที่พระมหาสุมนเถร อยู่จำพรรษาที่วัดพระยืนในปี พ.ศ. 1913 ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์องค์เดิม โดยได้สร้างพระพุทธรูปยืนเพิ่มอีก 3 องค์[1]

วันหนึ่งพระมหาสุมนเถรได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดได้จากวัดใหญ่ บางขลังมาถวายแด่พระเจ้ากือนาได้ชม พระเจ้ากือนาจึงได้สรงน้ำด้วยเครื่องหอม และเมื่อพระองค์สรงน้ำสุคันโธทกแด่พระบรมสารีริกธาตุในโกศแก้ว ได้เกิด ปาฏิหาริย์มีแสงฉัพพรรณรังสีเรืองรองดั่งทองคำ ลอยวนอยู่เหนือผิวน้ำ ในบัดดล ท้องฟ้าได้บังเกิดความมืดครึ้มฝนโปรยปรายลงมามิได้ขาด จึงทำให้พระเจ้ากือนาและเหล่าเสนาอมาตย์มีความศรัทธาต่อพระบรมสารีริกธาตุมาก หลังจากนั้น พระเจ้ากือนาจึงได้ให้นำสวนดอกไม้พยอม อันเป็นอุทยานในราชสำนักครั้งพญา เม็งราย ถวายสร้างเป็นพระอารามเพื่อให้เป็นที่พำนักของพระมหาสุมนเถร เมื่อสร้างเสร็จจึงได้อาราธนาพระมหาสุมนเถรจากวัดพระยืน เมืองลำพูน เข้ามา พำนักอยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 1915 โดยมีการพระราชทานนามว่า “วัดบุปผาราม” หรือ “วัดสวนดอก” ในปัจจุบัน โดยได้มีการบันทึกการสร้างวัดสวนดอกเอาไว้ ดังนี้[1]

“...พระเจ้ากือนาจักมักใคร่สร้างวัดในสวนทรายแม่ข่า เทวดามาหื้อนิมิตบ่ดี พญาฝันหันสวนดอกไม้มาลีเป็นที่ดีแท้ทัดสมควรยิ่งนักกว่าที่ทุกแหงหน พญา เจ้ากือนาจิ่งนิมนต์มหาเถรเจ้าไปดูสวนบุปผา มหาเถรเจ้าเล็งหันแล้วก็ถวายพระ พรเมตตาว่า ที่นี้ดีนักหนาเป็นแม่นมั่น ภายลุนแต่นั้นพญาก็ได้นิมิตฝันแถมใหม่ว่า ดอกบัวหลวงดอกนึ่งใหญ่เท่ากงจักรบาน มีกลิ่หอมยิ่งนัก บ่รู้เหยหาย มีดอกบัว ทั้งหลายเป็นบริวารก็บังเกิดมีในสวนอุทยานแห่งนั้น ได้นิมิตดีสันนั้น พระเจ้ากือนา จิ่งจักปลงอาชญาหื้แก่อามาตย์ ประชาณาราษฎร์คนการหื้อเบิกสวนอุทยานใหญ่ กว้าง หื้อสร้างเท่าอารามเชตวันอันนายอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีสร้างหื้อเป็นทาน แก่พระพุทธเจ้าในเมืองสาวัตถีโดยลวงยาวมี 331 วา เขตอากาศ โดยลวงกว้าง 311 วาขาดแท้ดีหลี ในเมื่อปีรวงไค้ จุลศักราชได้ 733 ปี ดีงามจิงใสชื่อนามว่า วัด บุปผารามสวนดอกไม้...”[1]

เจดีย์วัดสวนดอกและพระธาตุดอยสุเทพที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ วัดใหญ่บางขลัง

แก้

ในปีพุทธศักราช 1916 พระมหาสุมนเถรได้ร่วมกันกับพระเจ้ากือนาสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นที่วัดสวนดอก แต่ก่อนที่จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าบรรจุก็ได้มีการถวายน้ำสรงอีก ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุก็ได้สำแดงปาฏิหาริย์อีกครั้ง เมื่อเสร็จจากการสรงน้ำพระมหาสุมนเถรจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นจากน้ำ พระบรมสารีริกธาตุก็ได้กลายเป็น 2 องค์ องค์หนึ่งมีขนาดเล็กกว่าปกติ อีกองค์มีขนาดเท่าเดิม มีวรรณะงามเสมอกัน พระมหาสุมนเถรและพระเจ้ากือนาได้อาราธนาองค์ที่ขนาดเท่าเดิมบรรจุลงในโกศแก้วประพาฬอันเก่า แล้วอัญเชิญลงในโกศทองคำ โกศเงิน โกศทองเหลือง และโกศดินซ้อนกันตามลำดับ จากนั้นก็อัญเชิญบรรจุไว้ในองค์พระมหาเจดีย์ของวัดสวนดอกมาจนปัจจุบัน ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์ที่ขนาดเล็กกว่า พระมหาสุมนเถรและพระ เจ้ากือนาดำริร่วมกันที่จะสร้างมหาเจดีย์อีกองค์เป็นที่ประดิษฐาน แต่ก็ยังไม่เห็นที่ ใดเหมาะสม จึงได้ใช้วิธีอัญเชิญผอบพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสถิตเหนือเศวตคชาธารช้างมงคลแล้วอธิษฐานเสี่ยงช้างพระที่นั่งปล่อยไป หากพระบรมธาตุประสงค์จะสถิตอยู่ ณ ที่ใด ก็ขอให้ช้างมงคลหยุด ณ ที่แห่งนั้น ในระหว่างทางที่ช้างมงคลเดินทางไป ก็ได้หยุดเดินถึงสามครั้ง ทำให้เกิดชื่อของดอยช้างนูนและ ดอยงาม ครั้งที่สามซึ่งถือเป็นครั้งสำคัญ เนื่องจากช้างมงคลได้ไต่เขาไปจนถึงยอดดอยวาสุเทพบรรพต แล้วร้องเสียงดังจนก้องสะท้านไปทั่วภูเขา เมื่อเดินประทักษิณ 3 รอบแล้วจึงคุกเข่าหมอบลง และทันทีที่อาราธนาพระบรมธาตุลงจากหลังแล้ว ช้างมงคลนั้นล้มลงตายในทันทีซึ่งหมายความว่า จะไม่ยอมเป็นพาหนะของผู้ใดอีก การสร้างเจดีย์ประดิษฐานพระบรมธาตุ เริ่มจากการขุดยอดดอยลึก 3 ศอก แล้วเอาแท่งหินใหญ่ 7 ก้อน มากรุเป็นผนังเหมือนหีบใบใหญ่ เมื่อนำพระบรมธาตุ ลงวางแล้ว ใช้หินถมทับให้แน่นหนาจนถึงปาก จึงก่อสถูปสูง 5 วา ครอบปากหลุม ไว้อีกชั้นหนึ่ง พระเจดีย์องค์นี้ สร้างเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 1928 โดยมีฐานเป็น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสด้านละ 3 วา สูง 7 วา รูปทรงเป็นแบบรามัญ และขนานนามว่า "เจดีย์พระธาตุดอยสุเทพ"

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 พิเชษฐ สร้อยวงศ์คำ. ประวัติวัดใหญ่ชัยมงคล.
  2. มนต์ชัย เทวัญปกรณ์. (2549). ประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง. ในย้อนหลังสู่เมืองบางขลัง.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 นาตยา ภู่ศรี. โบราณสถานวัดใหญ่ชัยมงคล. (มปท.,2544).
  4. สันติ เล็กสุขุม : ศิลปะสุโขทัย หน้า 45
  5. จีรนันท์ ภูมิวัฒน์, รูปแบบสันนิษฐานสามมิติเมืองบางขลัง จากการวิเคราะห์หลักฐาน โบราณคดีและศิลปกรรม (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศิลปากร, 2559). หน้า 121.
  6. บริษัท นอร์ทเทิร์นซัน(1935) จำกัด. (2546). รายงานการขุดค้นและบูรณะวัดใหญ่ชัย มงคล อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย. หน้า 44.
  7. รัตนชาติมงคล 7 ชนิดที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ได้แก่ 1.สุวณฺณํ คือ ทอง 2.รชตํ คือ เงิน 3.ปวาฬ คือ แก้วประพาฬ 4.มณิ คือ แก้วมณี 5.เวฬุริยํ คือ แก้วไพฑูรย์ หรือ เพชรตาแมว 6.มุตตา คือ แก้วมุกดา 7.วชิรํ คือ เพช